จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ : ๘. ครูฝึกฝนตนเองอย่างไร (๑)


หนังสือ Why don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willingham ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนียบททึ่ ๙ เรื่อง What About My Mind?เป็นคำแนะนำว่าด้วยการพัฒนาตนเองของครู

ผมเขียนเล่าถอดความหนังสือเล่มนี้ต่อเนื่องมาเป็นตอนที่ ๘ แล้วคิดว่าตอนที่ ๘ นี้ยิ่งมีความสำคัญขึ้นไปอีกเป็นความรู้เกี่ยวกับเคล็ดลับในการฝึกฝนตนเองเพื่อเป็นครูเพื่อศิษย์อย่างทรงพลังที่สุดคือ

เนื่องจากการทำหน้าที่ครูเป็นทักษะด้านการเรียนรู้ (Cognitive Skills)ครูจึงต้องฝึกฝนตนเองด้วยแนวคิดและวิธีการที่ใช้ในการทำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์ที่กล่าวแล้วทั้ง ๗ ตอน รวมทั้งตอนที่ ๘ และ ๙ นี้ด้วย

ครูที่ดีต้องเรียนรู้เคี่ยวกรำฝึกฝนตนเอง ยิ่งกว่าศิษย์ จึงจะเป็นครูที่ดีได้ต้องไม่ใช่แค่เอาใจใส่และรักศิษย์ แต่ต้องศึกษาฝึกฝนหาวิธีการเป็นโค้ช หรือ facilitator ของการเรียนรู้ของศิษย์ ที่ดีหรือเหมาะสมยิ่งๆขึ้นไป โดยต้องตระหนักว่า ในโลกยุคใหม่ เด็กและสังคมเปลี่ยนทฤษฎีการเรียนรู้เก่าๆ บางทฤษฎีล้าหลังหรือใช้ไม่ได้ผลครูจึงต้องเรียนรู้ ทดลองใช้ทฤษฎีใหม่ๆ ที่มีการวิจัยพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากความก้าวหน้าด้าน neuroscience และ cognitivepsychology

นั่นคือครูต้องเป็น “นักเรียน” ยิ่งกว่าตัวนักเรียนที่ครูสอน

เป้าหมายคือ การเรียนรู้อย่างลึก ทั้งของครูและของนักเรียนต้องไม่ใช่การเรียนรู้อย่างตื้น หรือผิวเผินซึ่งมองในมุมหนึ่งการสอนเด็กให้หยุดอยู่แค่การเรียนรู้อย่างตื้นเท่ากับเป็นการทำร้ายศิษย์เพราะเป็นการสร้างนิสัยให้เป็นคนผิวเผินไปตลอดชีวิต

การสอนหรือการทำหน้าที่ครู เป็นกิจกรรมที่เรียกร้องพลังในส่วน“ความจำใช้งาน” (Working Memory) เป็นอย่างมากในส่วนกล่องสีเขียวของแผนผังที่เราคุ้นเคย

หากมองผังข้างบนเป็นกระบวนการสอนของครูส่วนที่ครูต้องใช้พลังสมองมากและทำให้เหน็ดเหนื่อยคือส่วนกล่องสีเขียวที่สมองของครูจะต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันคือมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสภาพในห้องเรียนนำเอาสิ่งที่รับรู้มาเป็นข้อมูลประกอบการคิดร่วมกับการดึงเอาความรู้ในความจำระยะยาวมาใช้ความจำในระยะยาวสำหรับการทำหน้าที่ครูนี้ มี ๓ ส่วน คือ (๑)ความรู้เชิงสาระวิชา (๒) ความรู้เชิงเทคนิคการสอนสาระวิชา และ (๓)ความรู้เชิงความรู้ทั่วๆ ไป

ครูที่มีความรู้เชิงสาระวิชามาก จะทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนชั้นมัธยมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาคณิตศาสตร์ นอกจากนั้นความรู้ด้านการสอนวิชานั้นๆ ก็มีความสำคัญเช่นครูที่จะสอนวิชาฟิสิกส์ได้ดีนอกจากรู้สาระวิชาฟิสิกส์อย่างดีแล้วต้องเรียนรู้วิชา Physcis Teaching หรือ Science Teaching ด้วยและเป็นที่รู้กันว่า ครูที่มีความรู้มาก มีเกร็ดความรู้กว้างขวางจะสอนสนุก ดึงดูดความสนใจ และความศรัทธาจากนักเรียนได้ดี

ครูจึงต้องเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง เพื่อขยายขีดความสามารถตามผังข้างบนคือความสามารถในการสังเกตเก็บเอาบรรยากาศหรือเหตุการณ์ในห้องเรียนนำมาใช้ในการจัดการสอนความสามารถในการใช้พื้นที่ “ความจำใช้งาน”ของตนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำหน้าที่ครู และการสะสม“ความจำระยะยาว” สำหรับการทำหน้าที่ครู ไว้ใช้งาน

นี่คือสาระสำคัญที่สุดของบันทึกชุดนี้ ตอนที่ ๘ และต่อไปจนถึงตอนที่ ๙ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้าย ศัตรูร้ายของการเป็นครูคือทำงานตามความเคยชินหรือความชำนาญไม่มีความคิดหรือความตั้งใจที่จะเรียนรู้ฝึกฝนตนเองให้เพิ่มพูนขีดความสามารถตามผังข้างบน

เน้นคำว่า“ฝึกฝน”

การฝึกฝนที่จะได้ผลดีต่อการปรับปรุงตนเอง ต้องมี feedbackและครูก็ได้รับ feedback จากศิษย์อยู่แล้วในชีวิตการทำงานแต่ไม่เพียงพอ ครูยังต้องการ feedback ที่เป็นระบบยิ่งกว่านั้น และfeedback ที่หาได้ง่ายที่สุด คือจากเพื่อนครูด้วยกัน ศ. Willinghamจึงแนะนำให้ครูหา “บั๊ดดี้” สำหรับ feedback ซึ่งกันและกัน วิธีการfeedback ช่วยปรับปรุงซึ่งกันและกันตามที่ ศ. Willingham แนะนำนี้มีความละเอียดอ่อนมาก จะขอยกไปบันทึกในตอนสุดท้ายของบันทึกชุดนี้

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.พ. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 430171เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2011 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิธีการ feedback ที่ soft และไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดทั้ง ๒ ฝ่ายคือ การมีโอกาสสอนร่วมกัน ในเนื้อหาเดียวกัน

ผมสังเกตการอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่มีการบรรยายร่วมกัน ทั้ง ๒ ท่านจะจัดคิว แบ่งเนื้อหาและกิจกรรม ในเวลาเดียวกันก็จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  และมีการเติมเต็ม

หลังจากนั้นเขาจะ feedback ซึ่งกันและกันได้ 

อีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียนได้มากคือ การโยงกับสิ่งใกล้ตัวในชีวิตจริงที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาได้

ความรู้ตรงนี้  จะเป็นความรู้เชิงประยุกต์  ครูต้องคิดเชิงวิเคราะห์ได้ หรืออาจจะหาอ่านมากๆจากตัวอย่างที่ครูท่านอื่นคิดไว้ก็ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท