แรงลม และ เรือใบ


คุ้มแล้วหรือ ที่สองพ่อลูกนักบันทึกประวัติศาสตร์จีน เอาชีวิตของตนเข้าแลก เพื่อปกป้องความเที่ยงตรงนั้น

เห็นบนเฟสบุ๊ค เป็นข้อความน่าสนใจ กล่าวว่า "ทิศทางลมไม่อาจหันเหด้วยมือเรา  แต่ใบเรือเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้"

 

เลยอดถามตัวเองไม่ได้ว่า ถ้างานวิชาการจะเป็นไปเพื่อ ประโยชน์สุขของสังคม  "นักวิชาการควรทำตัวเหมือน เรือใบที่ไม่ปล่อยให้แล่นไปตามทิศทางลมได้สักเพียงใด"

 

เหตุการณ์สลดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา บนถนนลอยฟ้า กลางมหานครแห่งหนึ่งในเอเชีย นำไปสู่กระทู้โต้ตอบกัน ด้วยความรู้อันจำกัดในเวลานั้น  ด้วยระบบคุณค่าที่ยึดถือต่างกัน 

 

ด้านหนึ่ง ยึดถือ ว่า อำนาจเงินคือ พลังเหนือสิ่งอื่นใด ยกเว้นผลประโยชน์ของผู้กุมอำนาจ  อำนาจเงินจึงเป็นเครื่องมือเพื่อการสืบทอดอำนาจไม่สิ้นสุด

 

อีกด้านหนึ่ง  ยึดถือว่า ความเป็นธรรมคือ เสาหลักแห่งการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ อำนาจใดๆมิอาจ มิควร เป็นไปเพื่อบั่นทอนความเป็นธรรม

 

รูปธรรม แห่งการใช้อำนาจเงินได้ปรากฎแก่สังคม ชักนำให้เกิด....

......ท่าทีของนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ ออกมายืนยันโดยยังมิทันหาหลักฐานให้ถ้วนถี่ว่า กรณีนี้ ไม่มีใครเป็นจำเลย เพราะรถไม่ได้ชนกัน  

.....แรงกดดันต่อเหยื่อที่ยังรอดชีวิต ให้สงวนการให้ปากคำใดๆ จนเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของฝ่ายวิชาการ

 

เช่นเดียวกัน ฝ่ายยึดหลัก "เป็นธรรม"  ก็เคลื่อนไหว ตอบโต้ ด้วยการติดตามคดี อย่างใกล้ชิด ด้วยเกรงจะสลายกลายเป็นสายลมด้วยกำลังแรงลมแห่งอำนาจเงิน  การเคลื่อนไหวนี้ ก็มีผลต่อเหยื่อผู้รอดชีวิตในลักษณะเดียวกัน  คือ ไม่กล้าปริปากใดๆ

 

ท่ามกลางแรงลมสองทิศเช่นนี้  วิชาการควรวางตัวอย่างไร  

 

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เล่าประวัติศาสตร์ ของนักบันทึกประวัติศาสตร์จีนโบราณให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า....

 

ในยุคนั้น  ประวัติศาสตร์ได้ถุกจารึกด้วยคนหัวรั้น ที่มุ่งแสดงความจริง โดยไม่สนใจทิศทางลม  มีครั้งหนึ่ง พวกเขาบันทึกว่า ฝ่ายขุนนางตงฉิน วางแผนโค่นล้มฮ่องเต้กังฉิน(ทรราชย์)  ด้วยการลอบสังหาร จนสำเร็จ และสืบอำนาจแทน

 

เมื่อเรื่องราวในบันทึกรู้ถึงหู ผู้ครองอำนาจใหม่ฝ่ายตงฉิน  จึงได้มีการร้องขอให้แก้ไขบันทึกนั้น ด้วยเกรงว่า จะเป็นฉนวนให้มีการล้างแค้นในอนาคต  แต่ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ก็ไม่ใส่ใจ  และแล้ว....

 

การล้างแค้น ชนิดกวาดเรียบทั้งโคตร ก็เกิดขึ้นจริงๆในกาลต่อมา   

 

บุตรผู้สืบทอดภารกิจบันทึกประวัติศาสตร์อย่างสัตย์ซื่อตามบิดา ก็บันทึกความจริงนี้ โดยไม่แยแสต่อการท้วงติงของผู้ครองอำนาจและล้างแค้นได้สำเร็จ  .....ตนเองเลยถูกประหาร

 

นักบันทึกประวัติศาสตร์ ก็คือ นักวิชาการ  ความเที่ยงตรงต่อความจริง คือ ภารกิจของพวกเขาใช่หรือไม่

 

คุ้มแล้วหรือ ที่สองพ่อลูกนักบันทึกประวัติศาสตร์จีน  เอาชีวิตของตนเข้าแลก เพื่อปกป้องความเที่ยงตรงนั้น

 

ในระยะยาว สังคมได้อะไรหากนักวิชาการ หาญกล้ารักษาความเที่ยง  

 

สังคมเสียอะไร หากนักวิชาการ ทำตัวเหมือนเรือใบ ที่เลื่อนไหลไปตามกระแสลม

 

สังคมควรจรรโลง ความเที่ยงตรงของพลังวิชาการอย่างไร หากจะดำรงอยู่อย่างสันติในระยะยาว

 

การลาออกจากตำแหน่งคณบดี ของ London School of Economics เมื่อประจักษ์ชัดความเป็นทรราชย์ของ กัดดาฟี่ ผู้ให้ทุนแก่สถาบันนี้ ในสมัยที่อดีตคณบดีท่านนี้รับผิดชอบ  คงจะเป็นคำตอบว่า สังคมแห่งสหราชอาณาจักร ยังมีคนสรรเสริญ ยึดมั่น ความเที่ยงตรง เป็นแน่แท้

หมายเลขบันทึก: 429770เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2011 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท