ครูไทยภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ครูไทยกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ครูไทยภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

                  ความเป็นครูของทุกคนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่  พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546       พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546   พระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม     และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ    พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2545

                   กฎหมายดังกล่าวข้างต้น  ครูทุกคนต้องศึกษา เรียนรู้และทำความเข้าใจ  เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ให้มีความสมบูรณ์  ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  โดยเฉพาะ  สาระสำคัญในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546  ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2546 แล้ว  และต่อไปนี้   ตามมาตรา 4 แห่งกฎหมายนี้  ครู  ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น  ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

                   การที่ให้บุคคลดังกล่าวมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  มีหลักการและเหตุผลที่สำคัญคือ  ต้องการยกระดับวิชาชีพครูให้สูงขึ้นทัดเทียมกับวิชาชีพแขนงอื่น ต้องการได้คนดี  คนเก่งมาเป็นครู  และต่อไปผู้ใดคิดจะมาเป็นครูแบบง่าย ๆ ไม่ได้อีกแล้ว  หรืออยากจะให้ผู้ใดมาสอนหนังสือก็ได้  ซึ่งผิดกับวิชาชีพแพทย์   ที่ไม่สามารถให้ผู้อื่น  ทำหน้าที่ผ่าตัด  วินิจฉัยโรคแทนกันได้   สิ่งเหล่านี้ต่อไปวิชาชีพครูต้องมีการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น   นับเป็นแนวทางปฏิบัติให้ครูไทยต้องประกอบอาชีพ    หรือสอนหนังสือให้ความรู้แก่ผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล  นั่นคือให้เป็นไปตามเป้าหมาย (Goal) และจุดประสงค์ (Objective) ของการจัดการศึกษาทุกระดับ  ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การอาชีวศึกษา  การอุดมศึกษา  ตามแนวทาง การปฏิรูปการศึกษาและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ    ให้เป็นที่พึงพอใจของผู้ปกครองและสังคม  ที่ส่งบุตรธิดาเข้าศึกษาในระบบการศึกษาของชาติ

                  ในมาตรา 43 กำหนดให้ วิชาชีพครู  ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา  และบุคลากรทางการศึกษาอื่น เป็นวิชาชีพควบคุม  ซึ่งหาก ครู  ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารการศึกษา  มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 44  คือ (1) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี  (2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ และ(3) เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ  ซึ่งเป็นข้อบ่งบอกถึงไม่ต้องการคนที่ประพฤติชั่วให้เข้ามาประกอบวิชาชีพครู  และมาตรา 45 ให้มีคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาวินิจฉัย  ไม่ออกใบอนุญาต  ไม่ต่ออายุใบอนุญาต  หรือไม่ออกใบแทนใบอนุญาตให้  ซึ่งใบอนุญาตนับมีความสำคัญ  ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา  และมาตรา 54  คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง กรณีที่ครู หรือผู้บริหาร ได้รับการกล่าวโทษให้เสียหาย   คือ (1) ยกข้อกล่าวหา (2) ตักเตือน (3) ภาคทัณฑ์ (4)  พักใช้ใบอนุญาต และ (5) เพิกถอนใบอนุญาต  แต่ในวาระเริ่มแรกตามมาตรา 85 กำหนดให้คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่ ครู  ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่นได้   ในระยะเวลาต่อไปต้องมีการขอต่อใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพตามที่คุรุสภากำหนด

                  ดังนั้น  ครู  ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารการศึกษา  รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาอื่นจะทำงานแบบสบาย ๆ ไม่ได้อีกแล้ว  ต้องมีการปฏิรูปตนเอง  ปฏิรูปการทำงาน   ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม  เพราะต่อไปผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ   ต้องประพฤติปฏิบัติตนตาม   มาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพตามที่คุรุสภากำหนด  เพราะใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะเป็นตัวควบคุม  ส่งผลทำให้ยกระดับวิชาชีพครูและคุณภาพการศึกษาของชาติให้สูงยิ่งขึ้น


 

หมายเลขบันทึก: 428875เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2011 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมมีโอกาสได้ไปร่วมฟังบรรยายที่ ม.ศิลปากร เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 54 ทราบมาว่าต่อไปการขอต่อใบประกอบวิชาชีพจะไม่ง่ายเหมือนปัจจุบันแล้วครับ ครูต้องพัฒนาตัวเองตลอด ขอบคุณท่านรองฯ นะครับ ที่นำสาระดี ๆ มาแบ่งปันให้ทราบนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท