ประวัติเมืองสงขลา (7) สันทรายชายหาด


ป่าก่อตัวขึ้นบนสันทราย ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน กลายเป็นระบบนิเวศที่เรียกว่า ป่าสันทรายชายหาด

เจ็ดสิบกว่าปีก่อน เมื่อแรกตั้งเทศบาลเมืองสงขลาใหม่ๆ นั้น นอกเขตกำแพงเมืองสงขลา โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ ฝั่งที่ติดกับทะเลอ่าวไทย ยังเป็นป่า

ป่าแบบนี้ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของสันทรายชายหาด

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดสันทราย ธรรมชาติได้สร้างชายหาดของจังหวัดสงขลาให้มีความกว้างพอเหมาะ ขณะที่น้ำขึ้นได้พัดพาทรายละเอียดมาทิ้งไว้ และเมื่อน้ำลงก็ปล่อยให้ทรายได้อาบแสงแดดร้อนแรง จนแห้งสนิท ปลิวตามลมได้

ลมที่พัดสม่ำเสมอตามฤดูกาล มีความแรงพอดี พัดเอาทรายแห้งปลิวมากองทับถมกันริมชายหาด วันละเล็กวันละน้อย จนกลายเป็นเนินหรือสันทราย

ผมจำได้ว่าเมื่อก่อนจะมีถนนชลาทัศน์เลียบริมหาดสมิหลาไปจนถึงเขาเก้าเส้งนั้น เด็กๆ จะสนุกมากกับการวิ่งไต่เนินทรายลงไปในทะเล ขากลับก็ต้องออกแรงไต่เนินทรายขึ้นมา

ป่าก่อตัวขึ้นบนสันทราย ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน กลายเป็นระบบนิเวศที่เรียกว่า ป่าสันทรายชายหาด

วัดชัยมงคล พระอารามหลวง ซึ่งว่ากันว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระอาจารย์ชัย พระภิกษุชาวเมืองกลันตันนั้น มีที่ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเสม็ด ตามชื่อบ้านบ่งบอกสภาพภูมิศาสตร์สมัยนั้นได้ดี ตอนเริ่มสร้างวัดคงต้องหักร้างถางพง โค่นป่าเสม็ดที่ขึ้นเต็มเนินทรายอย่างแน่แท้

ถัดจากวัดชัยมงคลลงมาทางทิศใต้ไม่ไกลนัก มีวัดอีกวัดหนึ่งคือ วัดเพชรมงคล น่าจะสร้างในสมัยเดียวกัน โดยพระอาจารย์เพชร ชาวเมืองกลันตัน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับพระอาจารย์ชัยนั่นเอง

วัดเพชรมงคล เดิมชื่อวัดโคกขี้หนอน นี่แหละแสดงว่าสร้างขึ้นบนเนินทรายที่เต็มไปด้วยป่าต้นขี้หนอน ไม้ในป่าชายหาดอีกชนิดหนึ่ง

เมื่อทางรถไฟสร้างมาถึงเมืองสงขลาในปี พ.ศ.2456 นั้น หน้าสถานีรถไฟสงขลาคงเต็มไปด้วยป่าสันทรายชายหาด

กว่าจะเริ่มใช้พื้นที่สร้างสนามบินสงขลา สร้างสถานที่ราชการ สถานศึกษา ถนนทะเลหลวงและการเกิดขึ้นของชุมชนวชิรา ก็คงหลังจากนั้นหลายสิบปี

โรงเรียนวชิรานุกูล น่าจะเป็นผู้บุกเบิกยุคแรก ราวปี 2478 ซึ่งเป็นปีที่ตั้งเทศบาลเมืองสงขลา ส่วนวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ ซึ่งพัฒนามาเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยในปัจจุบันนั้น สร้างขึ้นในปี 2497

สำหรับสถานีทหารเรือสงขลา (ฐานทัพเรือสงขลาในปัจจุบัน) นั้น สร้างเสร็จสมบูรณ์ราวช่วงปี 2510 โดยใช้พื้นที่รอบสนามบินสงขลา ซึ่งอยู่ในการปกครองของกรมการบินพาณิชย์เดิม

วันนี้ ร่องรอยของป่าสันทรายชายหาด ในเขตเทศบาลนครสงขลา ไม่มีเหลือให้เห็นอีกแล้ว คงต้องไปดูที่อำเภอจะนะ ทะเลที่นั่นยังมีร่องรอยของป่าสันทรายชายหาดให้เห็นอยู่บ้าง

ตำบลตลิ่งชัน เป็นตำบลชายทะเลแห่งหนึ่งของอำเภอจะนะ ชื่อตำบลบ่งบอกถึงสภาพที่มีสันทรายก่อตัวเป็นเนินสูงชัน ก่อให้เกิดป่าสันทรายชายหาดเป็นแนวแคบๆ

ป่าสันทรายทอดยาวตามแนวชายฝั่งเป็นระยะทางยาวราว 20 กิโลเมตร ตั้งแต่ปากคลองนาทับไปจนถึงปากคลองสะกอม เป็นป่าปฐมภูมิ พัฒนามาตั้งแต่เริ่มมีสันทราย เต็มไปด้วยพืชที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เสม็ดชุน หว้า ยางนา ตำเสา ตลอดจนเฟินและกล้วยไม้ป่าชนิดต่างๆ ไม่เหมือนป่าทดแทน ที่มีให้เห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ที่ถูกบุกเบิกและปล่อยทิ้งร้าง

ทุกวันนี้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าสันทรายชายหาดยังมีน้อยมาก ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนอาจไม่เหลือให้ศึกษาอีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 428653เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จังหวัดทางภาคใต้คนแต่แรกเขาแหลงเราไม่รู้ว่าอยู่ตรงใหน เช่น

บ่อยาง สงขลา

เสกัก พัทลุง

ทับเที่ยง  ตรัง

ปกาสัย  กระบี่

ท๋องคา  ภูเก็ต

ท่าข้าม สุราษฎร์  ฯ ว่ากันมาอย่างนั้นครับ

บ่อยางนั้น ว่ากันว่าที่วัดยางทอง มีบ่อน้ำโบราณอยู่ เลยเรียกบ่อยางครับ

ชื่อเมืองอื่น ๆ น่าสนใจค้นคว้าครับว่าพอจะหาที่มาได้หรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท