อย่างไร...คือผู้นำการเปลี่ยนแปลง


                ผู้บริหารโรงเรียนในท่ามกลางภาวะความเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับผู้ร่วมงานและผู้ตามให้มองเห็นงานในแง่มุมใหม่ โดยมีการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นทางปัญญาหรือการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล โดยผู้นำจะยกระดับวุฒิภาวะและอุดมการณ์ของผู้ตาม กระตุ้น ชี้นำ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาความสามารถของผู้ตามและผู้ร่วมงานไปสู่ระดับความสามารถที่สูงขึ้น มีศักยภาพมากขึ้นทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภารกิจและวิสัยทัศน์ขององค์กร จูงใจให้ผู้ร่วมงานและผู้ตามมองให้ไกลเกินกว่าความสนใจของพวกเขาไปสู่ประโยชน์ขององค์กรและสังคม ซึ่งผู้นำจะกระทำโดยผ่านองค์ประกอบของพฤติกรรมต่าง ๆ 4 ประการ ดังนี้

                1. การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ คือ การที่ผู้นำประพฤติตัวเป็นแบบอย่างหรือเป็นโมเดลสำหรับผู้ตาม ผู้นำจะเป็นที่ยกย่อง เคารพนับถือ ศรัทธา ไว้วางใจ และทำให้ผู้ตามเกิดความภาคภูมิใจเมื่อได้ร่วมงานกัน ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์และสามารถถ่ายทอดไปยังผู้ตาม ผู้นำจะมีความสม่ำเสมอมากกว่าการเอาแต่อารมณ์ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ในสถานการณ์ต่างๆ  ผู้นำต้องแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาด ความมีสมรรถภาพ ความตั้งใจ ความเชื่อมั่นในตนเอง ความแน่งแน่ในอุดมการณ์ ผู้นำจะต้องเสริมความภาคภูมิใจ ความจงรักภักดีและความมั่นใจของผู้ตาม ทำให้ผู้ตามมีความเป็นพวกเดียวกันกับผู้ตาม โดยอาศัยวิสัยทัศน์และการมีจุดประสงค์ร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อการบรรลุตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กร

                2. การสร้างแรงบันดาลใจ  เป็นการสร้างแรงจูงใจภายในแก่ผู้ตามโดยผู้นำจะกระตุ้นจิตวิญญาณของทีม ให้มีชีวิตชีวา มีการแสดงออกซึ่งความกระตือรือร้น โดยสร้างเจตคติที่ดีและการคิดในแง่บวก ผู้นำจะสร้างและสื่อความหวังที่ผู้นำต้องการอย่างชัดเจน ผู้นำต้องแสดงการอุทิศตัวหรือความผูกพันต่อเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน ผู้นำต้องแสดงความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ผู้นำจะช่วยให้ผู้ตามมองข้ามผลประโยชน์ของตนเองเพื่อวิสัยทัศน์และภารกิจขององค์กร โดยการสร้างแรงบันดาลใจนั้นต้องคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคลและการกระตุ้นทางปัญญา ทำให้ผู้ตามมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าทำให้พวกเขาสามารถจัดการกับภารกิจและปัญหาที่ตนเองเผชิญได้

                3. การกระตุ้นทางปัญญา เป็นการกระตุ้นให้ผู้ตามตระหนักถึงภารกิจและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน ทำให้ผู้ตามมีความต้องการหาแนวทางใหม่ๆ มาแก้ปัญหาในหน่วยงานเพื่อหาวิธีการและข้อสรุปใหม่ที่ดีกว่าเดิม เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่และสร้างสรรค์ ผู้นำจะต้องมีการคิดและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการตั้งสมมติฐาน การเปลี่ยนกรอบ การมองปัญหาและการเผชิญกับสถานการณ์เก่าๆ ด้วยวิถีทางใหม่ๆ มีการจูงใจและสนับสนุนความคิดริเริ่มใหม่ๆ  มีการให้กำลังใจผู้ตามให้พยามยามหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อดำเนินงานและแก้ปัญหา ผู้นำจะต้องกระตุ้นให้ผู้ตามได้แสดงความคิดและเหตุผล  พยายามทำให้ผู้ตามรู้สึกว่าภารกิจและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งท้าทาย และเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมงานร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน โดยผู้นำจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ตามว่า ปัญหาทุกปัญหาต้องมีวิธีการแก้ไข แม้จะมีอุปสรรคมากมายแต่ผู้นำต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้จากความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาของผู้ร่วมงานทุกคน

                4. การคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล โดยผู้นำจะให้การดูแล เอาใจใส่เป็นรายบุคคล และทำให้ผู้ตามรู้สึกมีคุณค่า มีความสำคัญ ผู้นำต้องเป็นที่ปรึกษาของผู้ตามทุกคน ผู้นำจะเอาใจใส่เป็นพิเศษในความต้องการของปัจเจกบุคคล เพื่อความเจริญเติบโตของผู้ตามแต่ละคน นอกจากนี้จะต้องให้โอกาสผู้ตามแต่ละคนในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สร้างบรรยากาศของการให้การสนับสนุน คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านต่างๆ ผู้นำต้องแสดงให้เห็นว่าเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้ตาม  ผู้นำจะมีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ผู้นำมอบหมายงานเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้ตาม เปิดโอกาสให้ผู้ตามได้ใช้ความสามารถพิเศษอย่างเต็มที่และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายความสามารถ ส่งผลให้ผู้ตามมีความก้าวหน้าในการทำงาน

                 แนวปฏิบัติสำหรับผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

  1. การเตรียมแผน

1.1   การสำรวจข้อมูล

1.2   การจัดทำสารสนเทศ

1.3   การกำหนดวัตถุประสงค์  เป้าหมาย

1.4   การกำหนดนโยบาย

1.5   การกำหนดกลวิธี

1.6   การกำหนดกิจกรรม

1.7   กำหนดวิธีปฏิบัติ

1.8   กำหนดระยะเวลา

1.9   กำหนดการควบคุมและติดตาม

1.10 กำหนดการประเมินผล

 2. การสร้างแผน

 2.1 จัดเตรียมชี้แจงหลักการและเหตุผล

 2.2 จัดประชุมแถลงข่าวสาร

 2.3 จัดระบบสื่อสารเพื่อการสื่อกลับ

 2.4 ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสารจากการสื่อกลับ

 2.5 ประเมินผลการประชาสัมพันธ์

 2.6 ปรับปรุงรูปแบบการประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

 2.7 สรุปผลรายงานและสื่อกลับไปยังขั้นตอนเตรียมแผน

 3. การนำแผนออกไปสู่การปฏิบัติ

 3.1 ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติที่ถูกต้อง

 3.2 ฝึกอบรมในงานด้วยการสอนงาน

 3.3 เพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ กิจกรรมทางบริหาร

 3.4 การศึกษาดูงาน ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง

 3.5 การให้ศึกษาส่วนตัวจากการอ่าน และนำความเข้าใจมาร่วมประชุมสัมมนาในหน่วยงาน

 3.6 การจัดฝึกอบรม สัมมนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมทัศนคติที่ดี

4. การประเมินผล

4.1 พิจารณารูปแบบการประเมินผล

4.2 กำหนดวิธีการประเมินผล ติดตามผล

4.3 เปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหรือมาตรฐานของงาน

4.4 ประเมินค่าความแตกต่าง

4.5 สรุปผลและจัดทำรายงาน

                     ผู้บริหารที่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและสามารถบริหารความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรู้เท่าทันเท่านั้นที่จะสามารถนำพาองค์กรให้ก้าวสู่ความสำเร็จที่พึงปรารถนาได้ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแห่งโลกปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 428228เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 05:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท