สองเพศ สามพันธุ์


มีเรื่องราวที่น่าสนใจน่าศึกษาเป็นอย่างมาก เช่น การงอกที่พิสดารกว่าพันธุ์ไม้อื่นๆ โดยมีสายสะดือหยั่งลงไปใต้ดินเพื่อหาที่เหมาะสมเสียก่อนจึงงอกขึ้นมาเป็นต้นใหม่

ความรู้เรื่องตาลโตนด

    ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของภาคใต้  โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงพัทลุง สงขลาและปัตตานี  โดยมากพืชชนิดนี้จะปลูกตามแนวคันนา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พื้นที่นา ๑ ไร่ จะมีต้นตาลโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐ ต้น แต่บางแห่ง เช่น บริเวณที่นาบ้านดอนคันเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลคูขุด พบมีต้นตาลขึ้นเป็นจำนวนมากพื้นที่ ๑ ไร่มีต้นตาลขึ้นตามคันนาหนาแน่นถึง ๑๑๐ ต้น  และเมื่อปี ๒๕๒๕ นายสมพงศ์  กุลวิจิตร นายอำเภอสทิงพระ สมัยนั้นได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในหมู่บ้าน ตำบลต่างๆของอำเภอสทิงพระ สำรวจนับจำนวนต้นตาลโตนด เฉพาะอำเภอนี้แห่งเดียวมีต้นตาลโตนด ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ต้น และในปัจจุบัน(๒๕๕๐) ต้นตาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประมาณ ๑ ล้านต้น และหากนับรวมๆทั้งจังหวัดสงขลา มีต้นตาลโตนดประมาณ ๓ ล้านต้น ด้วยความหนาแน่นของต้นตาลโตนด เช่นนี้ซึ่งปรากฏในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆได้ใช้ตาลโตนดให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางจนกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

 เมื่อปี ๒๕๒๕ อำเภอสทิงพระมีจำนวนต้นตาลโตนด  ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ต้น และในปัจจุบัน (๒๕๕๔) ต้นตาลมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า ๑ ล้านต้น

    การปลูกตาลโตนด

การปลูกตาลโตนดมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปี จากการค้นพบจารึก ตาลังตูโวที่เมืองปาเล็มบัง กล่าวถึงการปลูกตาลโตนดในการสร้างสวนเกษตรหรือสวนสาธารณะของพระราชา ศรีชัยนาศ หรือ ศรีชยนาถ เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๒๗ ดังคำอุทิศความว่า “สิ่งที่พระองค์ทรงปลูกลงที่นี่คือ มะพร้าว หมาก ตาล สาคู และต้นไม้อื่นอีกหลายชนิดที่มีผลรับประทานได้ รวมทั้งต้นไผ่ เพื่อเป็นหนทางอันดีที่สุดแก่พวกเขาในอันที่จะได้ความสมบูรณ์พูนสุข หากเมื่อใดเขาหิวในขณะหยุดหรือระหว่างทางก็สามารถจะหาอาหารและน้ำดื่มได้ (ตามรอยศรีวิชัย,นงคราญ ศรีชาย,๒๕๔๔ : ๒๓)

       จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านบนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา(อำเภอสิงหนคร,สทิงพระ,ระโนด และกระแสสินธุ์) ถึงการปลูกตาลโตนดเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสันยังไม่มีใครคิดที่จะปลูกตาลโตนดเป็นแปลงใหญ่ๆเหมือนพืชสวนอื่นๆ จากการบอกเล่าของชาวบ้านว่า “ในอดีตส่วนใหญ่เป็นการปลูกโหนดเพื่อบอกอาณาเขตที่นา ที่ทำกินว่ามีความกว้างยาวเท่าใด ต่อมาปลูกตามคันนาเพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตคันนาเมื่อมีการขุดถากชายหัวนาในฤดูกาลทำนา” ต่อมาจึงมีการปลูกเพื่อเอาผลผลิตและอาศัยร่มเงาในการทำนา ส่วนใหญ่การขยายพันธุ์เพิ่มของตาลโตนดเป็นการงอกของลูกตาลที่สุกหล่นโดยธรรมชาติ ส่วนการปลูกตาลโตนดครั้งสำคัญอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่มีการบันทึก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กรมป่าไม้ ขณะนั้น มี  พันเอก เพียร สฤษฏ์ยุทธศิลป์ พิริยะโยธิน เป็นอธิบดี ได้ริเริ่มให้มีการปลูกต้นไม้ประจำปีขึ้นทำนองเดียวกันกับ Arbor Day ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากระยะเวลานั้นเป็นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และแผ่กระทบมาถึงเมืองไทยในรูปสงครามมหาเอเชียบูรพา ป่าไม้เมืองไทยได้รับการกระทบกระเทือนไปด้วยหลายประการ กรมป่าไม้จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตามส่วนภูมิภาคร่วมกับคณะกรรมการจังหวัด และคณะกรรมการอำเภอ(สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการอำเภอในยุคต่อมา) จัดปลูกต้นไม้ตามสถานที่ราชการ และโรงเรียนต่างๆ (วารสารบางกอก,คอลัมน์ : ณ บางกอก,ศรี  ชัยพฤกษ์.๒๕๔๕) และเท่าที่ได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้จากชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสทิงพระ อาทิ นายฉิ้น  สุวรรณลอยล่อง อายุ ๖๙ ปี หมู่ที่ ๓ ต.คูขุด อ.สทิงพระ, พระมหาวรรณ ธมฺมสิริ,อายุ ๗๒ ปี เจ้าคณะอำเภอสทิงพระ, นายแหลม โชติธรรมโม.ข้าราชการบำนาญ(เสียชีวิตแล้ว),นางเพ็ญศิริ  ลั่นคีรี,บุตรสาวนายอรุณ ปลื้มใจ บอกว่า “ ทางอำเภอจะทิ้งพระสมัยนั้น ได้ให้ ครู – นักเรียนโรงเรียนต่างๆ และชาวบ้าน ซึ่งนำโดยนายอรุณ ปลื้มใจ เป็นผู้นำในการปลูกต้นตาลโตนดคนละ ๕ ต้น (สัมภาษณ์โดย ไพฑูรย์  ศิริรักษ์ ,พฤศจิกายน ๒๕๔๔ )

     ตาลโตนด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Borassus  flabellifer Linn. อยู่ในวงศ์  Palmae เป็นพืชตระกูลปาล์มพันธุ์หนึ่งที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์เป็นอันดับสองรองจากพืชตระกูลหญ้า มีเรื่องราวที่น่าสนใจน่าศึกษาเป็นอย่างมาก เช่น การงอกที่พิสดารกว่าพันธุ์ไม้อื่นๆ โดยมีสายสะดือหยั่งลงไปใต้ดินเพื่อหาที่เหมาะสมเสียก่อนจึงงอกขึ้นมาเป็นต้นใหม่ เมื่อต้นนั้นเจริญดีแล้ว สายสะดือก็จะขาดจากเมล็ดและเปื่อยไป จึงทำให้ต้นตาลโตนดมีลำต้นและรากอยู่ใต้ดินลึกมาก สามารถยืนหยัดสู้แดดสู้ลมอยู่ได้โดยไม่โค่นไม่ล้มเหมือนพันธุ์ไม้อื่นๆ เป็นพืชที่มีต้นเพศผู้ และต้นเพศเมีย ดอกเพศหนึ่งก็อยู่กับต้นหนึ่ง ดอกตัวผู้เป็นดอกช่อเล็กๆเรียงติดกันแน่นตามความยาวของแขนงก้านช่อดอก ส่วนดอกตัวเมียเป็นดอกช่อเช่นเดียวกันแต่มีขนาดใหญ่มาก ดอกติดแน่นกับก้านช่อดอก ผลมีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มาก ผลมีเมล็ดภายในผล ๑-๓ เมล็ด ผลแก่หรือสุกเมล็ดจะไม่แตกกระเด็นออก ผลประกอบด้วยเปลือก(Excarp)ผิวเรียบเป็นมัน เนื้อหรือเส้นใยสด ( Mesocarp) ขณะผลอ่อนจะมีสีขาวนวล ผลสุกจะมีสีเหลือง เนื้อชั้นในสุด(Endocarp) ขณะผลยังอ่อนมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆลักษณะเป็นฝ้าหนาๆ เมื่อผลแก่จะเป็นกะโหลกแข็งทำหน้าที่เป็นเปลือกหุ้มเมล็ด  นักชีววิทยาส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ทางตอนใต้ของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย ในคริสต์ศตวรรษต้นๆ ตาลโตนดได้แพร่พันธุ์ไปสู่ดินแดนใกล้เคียงโดยเฉพาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป และเชื่อว่าแพร่พันธุ์ไปพร้อมกับศาสนาฮินดู  เพราะมักจะพบดงตาลในบริเวณที่เคยเป็นแหล่งอารยะธรรมฮินดูโบราณ เช่น นครวัด ในประเทศกัมพูชา และอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น (ปาล์ม,ปิฏฐะ  บุนนาค,ฉบับปรับปรุงใหม่ ,๒๕๒๔ : ๓-๒๐)

   ตาลโตนด (Borassus Flabellifer Linn)หรือ Palmyra palm หรือ Deleb palm  เป็นไม้ที่มีทั้งต้นเพศผู้และต้นเพศเมีย ช่อดอกต้นเพศผู้จะแตกแขนงออกเป็น ๒-๔ งวงต่อช่อ งวงยาวประมาณ ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร ในแต่ละงวงมีดอกเล็กๆเป็นจำนวนมาก ต้นเพศผู้ต้นหนึ่งมีช่อดอก ๓-๙ ช่อ (ในเขตสทิงพระออกช่อดอกส่วนใหญ่เดือนธันวาคม) ต้นเพศเมียจะออกช่อหลังต้นเพศผู้เล็กน้อย มีประมาณ ๑๐ กว่าช่อ มีขนาดใหญ่กว่าและมีน้ำหวานมากกว่า ในแต่ละช่อจะมีดอกน้อยกว่าดอกตัวผู้ (ประมาณ ๑๐ ดอกในช่อกลุ่มที่มี ๓ งวง) ทั้งต้นเพศผู้และต้นเพศเมีย จะทยอยออกช่อเรื่อยๆ แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็สามารถคงเก็บน้ำหวานได้ตลอดปี

 

ต้นตาลโตนดเพศผู้                    ต้นตาลโตนดเพศเมีย 

     สายพันธุ์ ผลของตาลโตนดจะมีสีและลักษณะตามสายพันธุ์ บนคาบสมุทรสทิงพระ เท่าที่ค้นพบสายพันธุ์ตาลโตนดมีดังนี้

พันธุ์กา มีลักษณะผลรี มีสีดำทั้งผล และผิวแตกลายงาโดยรอบ มีผลขนาดใหญ่กว่าอีก ๒ สายพันธุ์  โหนดกาพบมากที่สุดประมาณร้อยละ ๘๕ ในพื้นที่

โหนดพันธุ์กา มีลักษณะผลรี มีสีดำทั้งผล และผิวแตกลายงาโดยรอบ

   พันธุ์ข้าว จะมีลักษณะผลกลมป้อม ผิวเรียบเป็นมัน สีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อเมล็ดอ่อนมีลักษณะป้อมตามรูปทรงผล มีรสชาติหวานมันกว่าสายพันธุ์อื่น นิยมนำเนื้อมาทำขนม หัวลูกอ่อนมาทำอาหาร ประเภท ยำ แกง คั่ว และต้ม โหนดข้าว ค่อนข้างหายากพบประมาณร้อยละ ๑๐ ในพื้นที่

 โหนดพันธุ์ข้าว จะมีลักษณะผลกลมป้อม ผิวเรียบเป็นมัน สีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อเมล็ดอ่อนมีลักษณะป้อมตามรูปทรงผล มีรสชาติหวานกว่าสายพันธุ์อื่น

                           

พันธุ์ขมิ้น มีลักษณะผลกลมป้อมคล้ายโหนดข้าว ผิวเปลือกนอกแตกลายงาโดยรอบคล้ายโหนดกาแต่น้อยกว่า จะมีผิวสีเหลืองอมน้ำตาลเข้ม ส่วนก้นมีสีเหลืองเข้มคล้ายขมิ้นภายในขณะยังไม่สุกมีสีเหมือนสีเนื้อขมิ้น โหนดขมิ้นหายากพบน้อยมากพบบางแหล่งพบประมาณร้อยละ ๕ ในพื้นที่ ภายในผลของตาลโตนดมีเมล็ด ๒-๓ เมล็ด เมล็ดมีเปลือกสีขาวขุ่นห่อหุ้มเนื้อเมล็ด ซึ่งเป็นอาหารเลี้ยงต้นอ่อน (Endosperm) เมล็ดเหล่านี้อยู่ถัดจากเนื้อเยื่อที่เป็นเส้นใย เมื่อผลแก่จัดเส้นใยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดเรียกว่า“ลูกตาลสุก”

 

พันธุ์ขมิ้น มีลักษณะผลกลมป้อมคล้ายโหนดข้าว ผิวเปลือกนอกแตกลายงาโดยรอบคล้ายโหนดกาแต่น้อยกว่า จะมีผิวสีเหลืองอมน้ำตาลเข้ม ส่วนก้นมีสีเหลืองเข้มคล้ายขมิ้นภายในขณะยังไม่สุกมีสีเหมือนสีเนื้อขมิ้น

 ตาลโตนดเป็นพืชมหัศจรรย์ ที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น

  • เป็นพืชตระกูลปาล์มที่มี ๒ เพศ ๓ สายพันธุ์
  • ใช้ประโยชน์ได้ทังในวิถีอยู่วิถีกิน(อาหาร-ขนม และเครื่องใช้ในครัวเรือน)แบบภูมิปัญญาได้นับ ๑๐๐ ประโยชน์ทุกส่วนของตาลโตนด
  • เป็นพืชไม่ชอบน้ำ และทนแล้งได้ดี เพราะมีรากโจทย์หรือรากแก้วที่หยั่งลึกมาก
  • เป็นพืชที่อายุยืน และแข็งแรงกว่าพืชตระกูลปาล์มอื่นๆ
  • เจริญงอกงามได้ดีทุกสภาพดิน ทุกสภาพภูมิประเทศในเขตร้อน
หมายเลขบันทึก: 427960เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2011 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับครู (ผมเอาน้ำชุบโจรไปจิ้มสะเดาดินที่บ้านผม หรอยราสา)

มีเรื่องอยากขอความรู้เรื่อง ลูกโหนดจากครู คือว่า"  แรกก่อนตอนเด็กๆที่บ้านทำหนมลูกโหนด เขาหยำเยื่อลูกโหนดแล้วกรองด้วยผ้าขาวผูกไว้ ทีนี้เอาโคมมารองน้ำที่กรองออกจากผ้าขาว น้ำนี้ผมเคยทำกับมือคือเอาน้ำปูนแดงที่กินกับหมาก  ใส่ลงไปประมาณ สามสี่ชั่วโมงมันก็จะแข็งเป็นวุ้น จากน้นก็ใส่น้ำผึ้งเหลวลงไป ร้อนๆ หรอยแบบบ้านๆราคาถูก ...(ที่นี้ผมจำไม่ได้ว่าน้ำที่กรองออกมาสักเท่าได ใส่น้ำปูนขาวกี่ช้อนนานกี่ชั่วโมงจึงจะแข็งเป็นวุ้น)  ถึงตรงนี้หากครูมีประสบการณือยากให้ได้เล่าไว้ให้ลูกหลาน

ด้วยความขอบคุณ และคารวะครับครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท