ทวดเท่ง....ทวดใคร...


“แหลงรูปไม่กิน” หมายถึง พูดเสียง ทำนอง ลีลา ของตัวตลกที่ตัดเป็นรูปหนังไม่เหมือนตัวจริง..จึงไม่ได้รับความนิยมจากคนแลหนังหน้าโรง...

หนังตะลุง

หนังตะลุง เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งใช้หุ่นมีลักษณะแบน ทำจากแผ่นหนังวัวหรือหนังควายประดิษฐ์เป็นรูปแบบต่างๆทาสีสวยงาม ชักให้เคลื่อนไหวตามบทพากย์และเสียงดนตรี ใช้แสงไฟส่องผ่านตัวหนังมาจากด้านหลังโรง ให้เงาไปปรากฏบนจอ นิยมเล่นทางภาคใต้ของประเทศไทย หนังตะลุงแฝงไว้ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น บทที่ใช้แสดงเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทย มีลักษณะเฉพาะตัว มีอายุยืนยาวมาหลายร้อยปี เรื่องที่นิยมเล่นในสมัยโบราณ คือ เรื่องรามเกียรติ เพลงที่ใช้ประกอบมีทั้งเพลงช้าและเพลงเร็วร่วมกันใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว เรียกว่า “นายหนัง” ทำหน้าที่พากย์และชักเชิด เครื่องดนตรีใช้ประกอบการละเล่น ได้แก่ ปี่ใน กล้องโหม่ง กับและกลอง ผู้เล่นเรียกว่า “ลูกคู่” หนังวัวและหนังควายที่ทำหนังตะลุง ต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆจนหนังบางใส และระบายสี วิธีทำหนังตะลุงเหมือนกับหนังใหญ่แต่ตัวเล็กกว่า มีไม้ประกบคาบตัวหนังเรียกว่า “ตับคีบรูปหนัง” เลยลงมามีที่จับเชิด ลำตัวหนังตะลุงฉลุโปร่งใส ประกอบลวดลายไทย ตัวหนังบางตัวเลียนแบบท่าของตัวพระ นาง ยักษ์ ลิง จากภาพไทยอันงดงาม

การพากย์และเชิดรูปหนังตะลุงของนายหนัง

การแกะตัวหนังตะลุงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตหนังตะลุง ได้เริ่มมีขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๓ กล่าวคือการผลิตหนังตะลุงสมัยโบราณ ช่างแกะหนังตัดรูปให้นายหนังนำไปแสดงเพียงอย่างเดียว ช่างแกะหนังตะลุงของตัวเอง โดยไม่มีการลอกเลียนกันเหมือนในปัจจุบันนี้

การแกะรูปหนังตลุงของนายหนังเพื่อใช้ในการแสดงของคณะตนเอง

      ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นต้นมามีชาวต่างชาติ เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น ภาพหนังตะลุงกลายเป็นสินค้าของภาคใต้และประเทศไทย ทำรายได้ให้ประเทศปีละรายพันร้อยล้าน ในขณะที่การแสดง หนังตะลุงซบเซาลงไป แต่การผลิตหนังตะลุงยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เห็นคุณค่าของตัวหนังตะลุง ได้นำมาประดับตกแต่งบ้านเรือน ช่างแกะหนังจึงมีมากขึ้น และปัจจุบันสามารถเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดีเช่นอาชีพอื่น

การแกะหนังเพื่อเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว

เพื่อเสริมรายได้เป็นภูมิปัญญาด้านศิลปการของชาวใต้

        หนังสัตว์ที่ช่างนิยมนำมาแกะรูปหนังมี ๒ อย่าง คือ หนังวัวและหนังควาย เพราะหนังมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน เมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง ระบายสีและนำออกเชิดบนจอ จะให้สีสันสวยงาม หนังวัว หนังควายไม่บิดงอหรือพับง่ายๆ เมื่อออกเชิดจึงบังคับการเคลื่อนไหวให้ ตัวหนังแสดงอิริยาบถได้ดี และสมจริง การหมักหนังจะใช้เวลา ๓-๔ วันให้กรดจากน้ำหมักกัดหนังให้ขาวและหนังนิ่มคืนสภาพเหมือนหนังสดๆ จากนั้นจึงนำหนังมาล้างเพื่อขูดขนออก วิธีฟอกหนังทั้งสองแบบแบบที่หมักน้ำสับปะรดลงทุนสูงกว่า แต่สะดวกและรวดเร็ว เพราะวิธีนี้เนื้อเยื่อและขนจะหลุดออกจากหนังได้โดยง่ายการฟอกหนังในปัจจุบันสะดวกและรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก คือ ช่างจะแช่หนังที่ตากแห้งแล้วในน้ำส้มสายชูซึ่งผสมน้ำให้พอมีรสเปรี้ยวแช่ไว้ชั่วโมงเศษๆ หนังก็จะคืนตัวนิ่มอย่างหนังสดๆจากนั้นจึงนำไปขูดขนออก

ตัวตลกเอกของหนังตลุง..ภาคใต้ 

    ตัวตลกเอก..หมายถึง ตัวตลกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป นายหนังคณะต่างๆนิยมนำไปแสดง อาทิ นายเท่ง นายหนูนุ้ย นายสีแก้ว นายยอดทอง บังสะหม้อ และนายขวัญเมือง ฯลฯ

ตัวตลกเอกที่หนังทุกคณะมีและจะออกฉากในทุกท้องเรื่องของหนังตลุงคือ เท่ง และ หนูนุ้ย

      แต่ในที่นี้จะกล่าวเล่าแหลงถึง นายเท่ง หรือบางคนอาจเรียก ลุง ตาเท่ง หรือทวดเท่ง เพราะ นายเท่ง มีผู้ตัด คือหนังกี่จ้วน ทิพย์ดนตรี บ้านท่าเภา ตำบลคูขุด เป็นหนังในท้องถิ่นนี้เมื่อ ๑๐๐ กว่าปี เกิดเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ ประมาณ พ.ศ.๒๓๘๗  มีพ่อเป็นชาวจีนแม่คนไทยที่ตั้งรกรากอยู่คูขุด หนังกี่จ้วนได้ตัดรูปหนังตัวตลกโดยเลียนรูปร่างลักษณะ และถอดนิสัยมาจากคนจริง เอาเค้ามาจากนายเท่ง (ไม่ทราบนามสกุล) ชาวบ้านคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งเพื่อนเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับหนังกี่จ้วน มีอาชีพทำน้ำตาลโตนด ทำหวาก(ทำกระแช่) และรุนกุ้งฝอยให้เมียขาย หนังจ้วนบ้านคูขุด นำมาตัดรูปตลกเป็นครั้งแรก หนังคณะอื่นๆนำไปเลียนแบบ อ.ทรงวุฒิ ทิพย์ดนตรี หลานของปู่กี่จ้วน บอกว่า.."เดิมทีเดียวทวด คือ หนังกี่จ้วน ตั้งใจตัดตัวตลก ที่ชื่อ "คงรอด" ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน พร้อมๆกับตัดรูปนายเท่ง แต่เมื่อนำไปเล่นที่ใด งานไหน ปรากฏว่าไม่ได้รับความนิยมเนื่องจาก"แหลงรูปไม่กิน" (หมายถึงพูดเสียง ทำนอง ลีลา ของตัวตลกที่ตัดเป็นรูปหนังไม่เหมือนตัวจริง..จึงไม่ได้รับความนิยมจากคนแลหนังหน้าโรง..ผู้เขียน.) แต่รูปนายเท่งที่หนังกี่จ้วนตัดโดยไม่ได้ตั้งใจให้เป็นตัวตลกเอกประจำคณะ กลับได้รับความนิยมจากคนแลหน้าโรง.ทุกที่.ทุกงานที่ไปแสดง เรียกว่าตั้งใจปั้นอีกคน แต่อีกคนกลับดังโด่งมีชื่อเสียงเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่าน แม้หนังกี่จ้วนจะตัดรูปทวดเท่ง แต่หนังที่ทำให้ทวดเท่งดังขึ้นมาคือ หนังเอี่ยม เสื้อเมือง จนกลายเป็นตัวตลกเอกที่หนังทุกคณะจะต้องมี และจะต้องออกในฉากแรกๆของการแสดงในคืนนั้น ชนิดที่เรียกว่าหากการแสดงคืนไหน ถ้าไม่ออกเท่ง ผู้คนจะถามหา ลองคิดว่าดังขนาดไหน..พี่เบิร์ด ก็พี่เบิร์ด เถอะ..

ทวดเท่ง ทวดใคร..ถ้าไม่ใช่ทวดของ...อาจารย์ทรงวุฒิ   

     ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ วันมหาสงกรานต์ของตำบลคูขุดปีนี้เดินเรื่องด้วยทวดเท่ง บรรพชนของคนที่นี่ ด้วยการการเสวนา ตามรอยทวดเท่ง มีผู้สนใจเข้าร่วมราว ๑๕๐คน อาจารย์ทรงวุฒิ ทิพย์ดนตรี จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ ในฐานะลูกหลานคนหนึ่งของทวดเท่งเล่าว่า "หลายคนยังไม่รู้ แม้จะเป็นลูกหลานแท้ๆ ยังไม่รู้ว่าทวดเท่งเป็นคนที่นี่ ตอนที่คุณอเนก นาวิกมูล มาสัมภาษณ์เรื่องนี้ผม เองก็งงว่าคนที่อื่นมาถามว่าไม่รู้หรือว่า ทวดเท่งเป็นคนที่นี่ หนังกี่จ้วนเป็นคนตัดรูป เดิมรูปอยู่ที่บ้านลุงมา ลุงมารับต่อมาจากลุงลับลูกนายลิ ซึ่งนายลิเป็นปู่ผม นายลิเป็นลูกหนังจ้วน” อาจารย์ทรงวุฒิลำดับสาแหรกความสัมพันธ์ และในแผงเก็บรูปหนังตะลุงของตระกูลมีรูปหนังตลุง ๓ รูปที่ไม่มีใครกล้าเอามาเล่น คือ รูปฤาษีตาไฟ รูปทวดคงรอด

"คงรอด" รูปตัวตลก ที่หนังกี่จ้วน คูขุด ตัดขึ้นมา จากซึ่งคนจริงเป็นเพื่อนของตัวเอง เพื่อใช้แสดงหวังเป็นตัวตลกเอกประจำคณะ พร้อมทวดเท่ง เมื่อ ๑๕๐ กว่าปีที่ผ่านมา แต่ดังไม่เท่าทวดเท่ง ที่โด่งดังเป็นตลกเอกอันดับหนึ่งมาเท่าทุกวันนี้

รูปทวดเท่งตัวแรกของเมืองไทยและของโลกตัดโดยหนังกี่จ้วน  คูขุดเมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้ว ปัจจุบันอยู่ที่ อ.ทรงวุฒิ  ทิพย์ดนตรี เหลนของทวดกี่จ้วน

  “ผมเองไม่กล้าเอามาเล่น เพราะว่าผมเรียกทวด” และแม้หนังจ้วนจะตัดรูปทวดเท่ง แต่หนังที่ทำให้ทวดเท่งดังขึ้นมาคือ หนังเอี่ยม เสื้อเมือง หลังจากนั้นทุกคนทำเสียงทวดเท่ง ซึ่งเสียงต้นฉบับที่เหมือนทวดเท่งมากที่สุดคือ ลุงมาของอาจารย์ทรงวุฒินั่นเอง
   ลักษณะรูปร่างของทวดเท่งผอมบางสูง ท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก ผมงอหยิก ใบหน้าคล้ายนกกะฮัง นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย เนื่องจากเป็นโรคคุดทะราด นิ้วชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก คาดพุงด้วยผ้าขาวม้า ไม่สวมเสื้อ ที่สะเอวเหน็บมีดอ้ายครก (มีดปลายแหลมด้ามงอ โค้ง มีฝัก) ชอบพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจใคร ขู่สำทับผู้อื่น ล้อเลียนเก่ง เป็นคู่หูกับอ้ายหนูนุ้ยและมี อุปนิสัย พูดช้าๆ แต่ไม่ชัดคำ เกือบติดอ่าง มีอารมณ์ขันอยู่ในที มักมีเสียงหัวเราะแทรก บางครั้งพูดโผงผางแบบขวานผ่าซากไม่เกรงใจใครจะด่าว่าใครไม่ยั้งคิด เมื่อพลั้งผิดมักด่าตัวเอง ชอบทำท่าประกอบคำพูดและจ้องหน้าคู่สนทนา และมักใช้มือทั้ง ๒ ข้างทำท่าด่าแม่ผู้อื่นแทนถ้อยคำอย่างที่ภาษาใต้เรียกว่า "ฉับโขลก" หรือ "ฉับขลก" ในบางถิ่น

  

รูปตาเท่ง,ทวดเท่ง ของหนังคณะต่างๆที่ตัดแล้วรูปลักษณ์เปลี่ยนไปจากของหนังกี่จ้วนขึ้นอยู่กับการจินตนาการและฝีมือของช่างแต่ละถิ่น

การแสดงตามบุคลิก ลุงเท่งจะถูกกำหนดให้เป็นตัวตลกที่ออกแสดงคู่กับ ลุงหนูนุ้ย ในฉากแรกๆโดยเป็นตัวตลกที่นิยมให้เดินตามหลังเจ้าชาย หรือตัวพระเอกในท้องเรื่องของหนังตะลุงภาคใต้

หมายเลขบันทึก: 427903เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2011 07:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท