เรื่องกินเรื่องใหญ่


“เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องตายเรื่องกลาง เรื่องตะรางเรื่องเล็ก”

เรื่องอาหารการกิน

           “เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องตายเรื่องกลาง เรื่องตะรางเรื่องเล็ก” จำได้เป็นสำนวนใครไม่รู้แต่ “ต๊ะ ท่าอิฐ” นักเขียนนวนิยายบู๊ชื่อดังในนิตยสารบางกอกเคยเขียนให้เห็นถึงความสำคัญของการกินว่าสำคัญกว่าเรื่องใดทั้งหมด และในสำนวนกลอนของท่านสุนทรภู่ ยังเคยเขียนไว้ว่า “อดข้าวดอกนะเจ้าชีวาวาย แต่ไม่ตายเพราะอดเสน่หา” ยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญเรื่องอาหารการกิน แต่พอเกี่ยวกับการกินอาหาร คนไทยในชนบทส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือรู้ค่าของอาหารจึงมักใช้คำพูด หรือมีสำนวนที่หลอกเด็กๆว่า อย่าให้กินมากโดยเฉพาะเรื่องของกับข้าว ในสำนวนภาษาใต้ของชาวบ้านมักบอกเด็กๆว่า เช่น “อย่ากินแต่กับเดี๋ยวอิเป็นเดือน” หรือ “อย่ากินกับเปล่าอิเป็นเดือน” หรือ “อย่ากินกับเล่นอิเสียดพุง” หรือ “กินหัวปลาทูตะจะฉลาด” อาจเป็นเพราะความไม่รู้ หรือความขี้ชิดขี้เหนียวของผู้ใหญ่ หรือเป็นเพราะฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว หรือเป็นคติความเชื่อของครอบครัวหรือท้องถิ่น ความคิดความเชื่อเช่นนี้ ที่ให้เด็กกินข้าวมากๆกินกับน้อยๆ หรือกินแต่ข้าวเปล่า แล้วจะให้เด็กมีสุขภาพดี มีปัญญาได้อย่างไร เพราะในกับข้าว หรือรายการอาหารของชาวชนบทจะมีปลาเป็นกับข้าวหลัก มีผักกับน้ำชุบเป็นของแนม ดังจะเห็นได้ว่าชาวบ้านชาวชนบทจะกินข้าวมาก กินกับน้อย

น้ำพริกปลาทูอาหารไทยยอดฮิตติดอันดับโลกตั้งแต่ครัวชาวชนบทถึงในวัง

     เหตุที่พูดถึงสุขภาพ และปัญญาของคนเรา คือ ความฉลาดที่เกิดจากมันสมองของบุคคลจะขึ้นอยู่กับ พฤติกรรม(การถ่ายทอด,การสั่งสอน,การเรียนรู้,การเลียนแบบ) กรรมพันธุ์(สัณชาติญาณ,สายเลือด,สันดาน) และอาหารการกิน(ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ฐานะของครอบครัว) สุขภาพดี แต่ไม่มีปัญญา หมายถึงความเฉลียวฉลาดทำให้ชาติไม่เจริญ อาหารซึ่งเป็น ๑ ในสิ่งจำเป็นต่อชีวิตอย่างยิ่งยวด ๔ ประการจึงมีส่วนสำคัญ อาหารที่ช่วยบำรุงสมองจะเป็นอาหารจำพวก “ปลา” เนื่องจากในปลาจะมีกรดไขมัน โอเมก้า-๓ สูง ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ ที่ร่างกายของคนเราไม่สามารถผลิตเองได้ ไขมันปลา หรือกรดไขมันโอเมก้า-๓ ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท ช่วยควบคุมการทำงานต่างๆของร่างกาย ทั้งความดันเลือด การแข็งตัวของเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด การหลั่งน้ำย่อย จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจเป็นหลักอีกทั้งช่วยให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปวดหัวไมเกรนอีกด้วย

    ปลาทะเลที่มี โอเมก้า-๓ สูงได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ แต่จริงๆแล้วปลาทะเลตระกูลแมคคอลเรล ทั้งหลายแหล่ อย่างเช่น ปลาลัง ปลาทูไทย ปลาแถ็กหล้า หรือปลาหางแข็ง ปลาอินทรีย์ ที่มีขายในราคาถูกตามท้องตลาดบ้านเรากลับมีไขมันโอเมก้า-๓ มากกว่าปลาแซลมอน ส่วนปลาทูน่า ที่มีโอเมก้า-๓ สูงกว่าปลาชนิดไหนๆแต่มีราคาแพง ส่วนปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลาสำลี ปลาจะระเม็ด ฯลฯ และปลาอื่นที่หลายคนรู้จักจะมี กรดไขมันโอเมก้า-๓ อยู่ในระดับปานกลาง

ปลาทูไทยสุดยอดของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่ราคาต่ำ

    มหาวิทยาลัยพิตสเบิร์กของสหรัฐฯ ศึกษาพบว่า การกินปลาไม่แต่เพียงแค่บำรุงหัวใจเท่านั้น หากยังช่วยปลุกอารมณ์ความรู้สึกให้แจ่มใสขึ้นอีกด้วย เพราะได้พบว่ากรดไขมันโอเมก้า-๓ ที่มีอยู่อุดมในปลาอย่างปลาแซลมอน มีผลต่อสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความคิด

ดร.ซาราห์ เอ็ม.คอนกลิน เสนอรายงานผลการศึกษา ในที่ประชุมประจำปีของแพทยสมาคมโรคทางกายที่เนื่องมาแต่อาการทางจิตแห่งอเมริกันว่า คณะนักวิจัยเคยสังเกตพบมาว่า ผู้ที่มีระดับของกรดไขมันโอเมก้า-๓ ในเลือดต่ำ มักจะเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ค่อนข้างจะเลือดร้อน ในขณะที่ผู้ที่มีในระดับสูง จะใจอ่อน และไม่ค่อยจะแสดงอารมณ์บูด

 

หมายเลขบันทึก: 427659เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2011 05:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะครู

"ปลาทะเลที่มี โอเมก้า-๓ สูงได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ แต่จริงๆแล้วปลาทะเลตระกูลแมคคอลเรล ทั้งหลายแหล่ อย่างเช่น ปลาลัง ปลาทูไทย ปลาแถ็กหล้าหรือปลาหางแข็ง ปลาอินทรีย์ ที่มีขายในราคาถูกตามท้องตลาดบ้านเรากลับมีไขมันโอเมก้า-๓ มากกว่า ปลาแซลมอน"

ความรู้นี้ดีเหลือเกินค่ะ เพราะเหมาะกับยุคที่ต้องรู้จักอยู่กันอย่างประหยัดสุดๆ แล้วค่ะ

ขอบคุณ..อาจารย์ที่เข้ามาเยี่ยมชม-แลกเปลี่ยน และให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท