อาสาสมัครเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนชีวิต


สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน ต้องการให้อาสาสมัครได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ชีวิต โดยองค์กรฯ จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนที่มีโอกาสกับคนที่ด้อยโอกาส ให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้ชีวิตคนด้อยโอกาส และในทางกลับกัน คนด้อยโอกาสก็จะได้เรียนรู้ชีวิตของคนที่มี เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเกิดพลังที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ในเวลากลางวันท้องสนามหลวงจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาชื่นชมกับความงดงามในวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของวัดต่างๆ พระราชพิธีอันดีงามของไทยก็จัดขึ้น ณ ที่นั้น รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่บรรจุรากเหง้าแห่งความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นเมื่อตะวันลับฟ้าพื้นหญ้าที่โล่งกว้างของท้องสนามหลวง จะกลายเป็นแหล่งพักพิงให้แก่คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ผู้คนหนุนนอนกระเป๋าเสื้อผ้าต่างหมอน หลายคนไม่มีเงินติดกระเป๋า ก็เดินเข้ามาใช้สนามหญ้าเป็นแหล่งพักพิง บางคนมากันทั้งครอบครัว เพราะยังคิดไม่ตกว่าจะเอาเงินที่ไหนกลับบ้าน ใครที่วิกลจริตก็เดินไปเดินมาอย่างไร้จุดหมาย พร้อมสบถคำพูดต่างๆ นานา หญิงชายหลายคนเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจปรนเปรอความสุขชั่วข้ามคืน

สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน ต้องการให้อาสาสมัครได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ชีวิต โดยองค์กรฯ จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนที่มีโอกาสกับคนที่ด้อยโอกาส ให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้ชีวิตคนด้อยโอกาส และในทางกลับกัน คนด้อยโอกาสก็จะได้เรียนรู้ชีวิตของคนที่มี เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเกิดพลังที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

         การทำงานนั้นจะต้องลงพื้นที่จริง เพื่อให้อาสาสมัครได้เข้าไปทำงานช่วยเหลือ เรียนรู้พวกเขาเหล่านั้น “ในกรณีเรื่องของครอบครัวเร่ร่อนนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเด็กวัยรุ่นที่เร่ร่อนออกจากบ้านโดยที่ยังไม่ทำบัตรประชาชน พอเติบโตขึ้นก็มามีครอบครัวอาศัยอยู่บริเวณสนามหลวง ดังนั้นลูกของพวกเขาที่คลอดในสนามหลวง ก็จะกลายเป็นคนไร้สัญชาติ เราจึงพยายามพลักดันให้เขาเข้าไปคลอดในโรงพยาบาล เพื่อเด็กที่เกิดมาจะได้มีเลข 13 หลักที่ยังไม่ระบุสัญชาติ และยังมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องเผชิญกับภาวะล้มเหลวและบีบคั้นในสังคม ละทิ้งบ้านมาอาศัยอยู่ที่นี่ เพราะเสียค่าเสื่อแค่วันละ 30 บาท ตื่นเช้ามาก็พับเสื่อแล้วไปทำงาน แต่ยังมีบางกลุ่มที่ทำงานไม่ไหว แก่มากแล้ว ก็จะคอยช่วยพระบิณฑบาต แล้วนำอาหารมาทานร่วมกัน”

“การทำงานตรงนี้มีเป้าหมายให้พวกเขาได้กลับบ้านตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน โดยจะมีกระปุกออมสินสำหรับค่าเดินทางกลับบ้านของพวกเขา เพื่อให้ลูกได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งหลายครอบครัวเมื่อกลับบ้านไป ทางเราก็จะต้องไปอยู่กับเขา 3-4 วัน เพื่อประสานงานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดให้มาดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีข้อกำหนดให้เขาอยู่กับลูกจนครบ 3 เดือน ก่อนที่จะกลับไปทำงานหาเงินเลี้ยงลูก งานที่พวกเขาทำนั้น มีทั้งรับเหมาก่อสร้าง ขายลูกอม บุหรี่แบ่งขาย น้ำอัดลม หรืออาจมีอาชีพเก็บของเก่ามาขาย จนกระทั่งขายบริการ หากใครเร่ร่อนไร้บ้าน พวกเขาต่างก็มานอนกันที่นี่”

 

         หญิงบริการในบริเวณคลองหลอดจะเป็นการขายบริการแบบเสรี ไม่ขึ้นกับใคร หรือแหล่งใด ยืนตามพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีทั้งที่เป็นคนเร่ร่อนและไม่เร่ร่อน มีอายุตั้งแต่ 25 จนถึง 74 ปี ซึ่งมีจำนวน 40 – 50 % ที่ติดเชื้อเอชไอวี “การทำงานกับหญิงบริการจะทำในเรื่องเกี่ยวกับโรคเอดส์ ซึ่งจะนำถุงยางอนามัยไปแจกให้ใช้ครั้งละหนึ่งชิ้น เพื่อให้ป้องการการติดเชื้อ นอกจากนั้นก็จะให้ความรู้เรื่องเอดส์อย่างถูกต้อง รวมถึงข้อควรระวัง ซึ่งอาสาสมัครก็จะต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ด้วย หลังจากที่รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยก็มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และเมื่อพวกเขามีความรู้เรื่องเอดส์ เขาก็เริ่มเรียนรู้ที่จะป้องกัน หากแขกคนไหนไม่ยอมใส่ถุงยางอนามัย เขาก็ไม่ยอมเหมือนกัน เพราะไม่อยากเอาชีวิตมาเสี่ยงกับค่าตอบแทนเพียง 50 – 100 บาท แล้วในทุกๆ ปีก็จะมีการตรวจเลือด ตรวจสุขภาพ หากใครมีอาการรุนแรงมาก ก็จะประสานงานกับศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นโครงการที่ทางองค์กรฯ ทำงานร่วมกับรัฐบาล”

หากจุดเริ่มต้นของปัญหาของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะครอบครัวเร่ร่อนและหญิงขายบริการนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาครอบครัวในชุมชน ทางองค์กรฯ จึงเข้าไปทำกิจกรรมเสริมสร้างให้เหล่าเยาวชนในชุมชนเกิดความเข้มแข็ง “เป้าหมายของการทำงานจะเป็นส่วนของการป้องกันไม่ให้เด็กออกมาเร่ร่อน และเสริมพลังให้กับครอบครัว เพราะว่าครอบครัวส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก บางบ้านจะมีเครื่องเล่นวีซีดี แต่เวลาดูคนเดียวก็ไม่สนุกเท่ากับดูกันหลายๆ คน เราจึงจัดกิจกรรมอย่างโรงหนังเร่ เพื่อสร้างความสนุกสนาน เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็ให้เขาได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว ได้นั่งดูกับเพื่อนๆ แลกเปลี่ยนกัน บรรยากาศก็จะเหมือนกับงานวัดเลย นอกจากนั้นเรายังมีโครงการที่จะนำสื่อการศึกษาเข้าไปยังชุมชน ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ คอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์ สื่อการพัฒนาเด็ก บรรจุในรถที่สามารถขนย้ายไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้คนในชุมชนได้เรียนรู้”

         เมื่อย้อนถามถึงปัญหาโดยรวมที่เกิดขึ้นในย่านนี้ เธอก็เล่าให้ฟังว่า “ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คือ ภาวะปัญหาที่แต่ละคนเผชิญมานั้นมีความแตกต่างกัน บางคนเคยมีกินแต่วันหนึ่งต้องล้มละลาย บางคนถูกทำร้ายจากสังคมจนชีวิตไม่เหลืออะไร ณ เวลานั้นถ้าเป็นตัวเราเองจะสามารถตั้งสติได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเขามาอยู่ที่นี่ เราก็ต้องพยายามรู้ชื่อและที่อยู่จริงของเขา เพื่อจะพาเขากลับบ้าน หรือหากใครเสียชีวิตที่นี่ เราก็จะสามารถตามหาญาติเขาได้ ในอีกมุมหนึ่งคือบ้านที่อยู่นั้นไม่เป็นบ้าน เป็นแค่สถานที่ที่หนึ่งเท่านั้น มีบางคนที่มาอยู่ที่นี่ แต่เป็นคนมีฐานะร่ำรวย มีบ้านอยู่ต่างจังหวัด มีวัวเนื้อสองร้อยตัว ยกกิจการทุกอย่างให้น้อง แล้วตัวเองก็มาอยู่ที่นี่ เพราะเขาอยู่บ้านแล้วไม่สบายใจ ออกมาอยู่กับเพื่อน มาอยู่กับคนที่สบายใจดีกว่า”

หมายเลขบันทึก: 427026เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2011 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท