เชิญเข้าร่วมประชุม วิธีการไทเทรตหาแมกนีเซียมในน้ำยางโดยไม่ใช้สารไซยาไนด์


การประชุมถ่ายทอดเทคโนโลยีในการวิเคราะห์คุณภาพน้ำยางพารา

เรียน ทุกท่าน

ตามที่หน่วยวิจัยเคมีวิเคราะห์และสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ม.สงขลานครินทร์ ได้รับทุนวิจัย เรื่อง

การไทเทรตหาแมกนีเซียมในน้ำยางโดยไม่ใช้สารไซยาไนด์  จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

บัดนี้งานวิจัยได้แล้วเสร็จ และหน่วยวิจัยฯ ได้รับการสนับสนุนการจัดงาน
Bridge (Bring research and innovation development gathering event) ครั้งที่ 4
เพื่อเผยแผ่ผลงานวิจัยดังกล่าว โดยศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ม.สงขลานครินทร์

ในวันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554
ณ ห้อง Ch503 ชั้น 5 อาคารภาควิชาเคมี (ติดกับตึกฟักทอง)
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา

จึงขอเรียนเชิญผู้สนใจแจ้งชื่อ-หน่วยงาน เข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทางอีเมล์ที่ [email protected]
ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2554
ขอสงวนสิทธิ์บริษัท/หน่วยงานละ 1 ท่าน

รายละเอียดดังเอกสารแนบ

โครงการ Bridge ครั้งที่ 4

“วิธีการไทเทรตหาแมกนีเซียมในน้ำยางพาราโดยไม่ใช้ไซยาไนด์”

 1.       หลักการและเหตุผล 

ข้อกำหนดคุณภาพน้ำยางข้นรายการหนึ่งที่ผู้ใช้น้ำยางข้นส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้ผลิตน้ำยางข้นตรวจหาคือ ปริมาณแมกนีเซียม เพราะธาตุแมกนีเซียมมีผลต่อความเสถียรของน้ำยางเป็นอย่างมาก ปัจจัยด้านความเสถียรเชิงกล (Mechanical Stability Time, MST) ของน้ำยางข้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่งชี้คุณภาพของน้ำยางข้น โดยปริมาณแมกนีเซียมในน้ำยางจะทำให้น้ำยางสูญเสียความเสถียรเชิงกล หรือมีค่า MST ลดลง ปริมาณก้อนยางจับตัวสูงขึ้น ดังนั้นในกระบวนการการผลิตน้ำยางข้นจากน้ำยางสดโดยเทคนิคการปั่นเหวี่ยงต้องมีการกำจัดโลหะแมกนีเซียมออกจากน้ำยาง

                ก่อนการกำจัดแมกนีเซียมต้องทำการวิเคราะห์หาปริมาณโลหะแมกนีเซียม โดยทั่วไปนิยมใช้เทคนิคการไทเทรตแบบการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนระหว่างโลหะกับสารอีดีทีเอ (Ethylene diamine tetraacetic acid, EDTA) แต่เนื่องจากอีดีทีเอเป็นสารที่ไม่ทำปฏิกิริยาจำเพาะกับโลหะแมกนีเซียมเพียงชนิดเดียว ทำให้ต้องเติมสารไซยาไนด์ เพื่อป้องกันการรบกวนของโลหะตัวอื่นๆ ในการเข้าทำปฏิกิริยาของ        อีดีทีเอ ซึ่งหากไม่ทำการป้องกันโลหะอื่นๆ ออก ปริมาณอีดีทีเอที่ใช้จะเท่ากับปริมาณโลหะทั้งหมดที่สามารถจับกับอีดีทีเอได้ ทำให้ค่าที่วิเคราะห์ได้มีค่าสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น (Positive error)

                อย่างไรก็ตามสารไซยาไนด์ที่ใช้ในการป้องกันการรบกวนของโลหะตัวอื่นๆ ในการเข้าทำปฏิกิริยากับอีดีทีเอเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง โดยข้อมูลจาก Material Safety Data Sheet (MSDS) ระบุว่า สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารที่มีความเป็นพิษสูง (Very toxic) โดยอาจทำให้เสียชีวิตได้หากสูดดม หรือกลืน หรือดูดกลืนผ่านผิวหนัง (May be fatal if inhaled, swallowed or absorbed through skin) มีอำนาจในการทำลายเยื่อเมือกสูง (Extremely destructive of mucous membranes) และหากสัมผัสอาจทำให้เกิดผิวหนังไหม้ (Causes burns)

                เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารไซยาไนด์ดังกล่าว หน่วยวิจัยเคมีวิเคราะห์และสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาหาสารอื่นมาใช้ทดแทน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บัดนี้งานวิจัยได้แล้วเสร็จ ทางหน่วยวิจัยฯ จึงใคร่ขออนุมัติจัดงาน Bridge เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ได้ออกสู่ผู้ประกอบการต่อไป

วัตถุประสงค์ 

เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการไทเทรตหาแมกนีเซียมในน้ำยางพาราโดยไม่ใช้สารไซยาไนด์ ให้แก่ผู้ประกอบการด้านยางพาราและผู้สนใจ

 2.       หัวหน้าโครงการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิไลรัตน์ ชีวะเศรษฐธรรม

3.    วัน เวลา สถานที่

                วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

ห้อง Ch503 ชั้น 5 อาคารภาควิชาเคมี (ติดกับตึกฟักทอง)

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา

4.    ผู้เข้าร่วมโครงการ

ผู้ประกอบการด้านยางพาราและผู้สนใจ จำนวน 100 คน

5.    ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1)    ผู้ประกอบการด้านยางพาราและนักวิชาการได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้

2)      คณาจารย์สามารถนำประสบการณ์ที่ได้มาใช้ในการปรับปรุงการวิจัยและการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในภาคอุตสาหกรรมยิ่งขึ้น

 

ผู้สนใจแจ้งชื่อ-หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทางอีเมล์ที่ [email protected]

ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2554

ขอสงวนสิทธิ์บริษัท/หน่วยงานละ 1 ท่าน


กำหนดการ

โครงการ Bridge ครั้งที่ 4

“วิธีการไทเทรตหาแมกนีเซียมในน้ำยางพาราโดยไม่ใช้ไซยาไนด์”

ห้อง Ch503 ชั้น 5 อาคารภาควิชาเคมี (ติดกับตึกฟักทอง)

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา

 

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

09.00 – 09.15 น. ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดงาน

09.15 - 09.35 น.   ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแห่งชาติ: ยางพารา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ชี้แจงที่มาของการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย

09.35 - 10.30 น. ผศ.ดร.วิไลรัตน์ ชีวะเศรษฐธรรม บรรยายหัวข้อ “วิธีการไทเทรตหาแมกนีเซียมในน้ำยางพาราโดยไม่ใช้ไซยาไนด์”

10.30 - 10.45 น. รับประทานอาหารว่าง

10.45 - 11.45 น. ปฏิบัติการการไทเทรตหาแมกนีเซียมในน้ำยางพาราโดยไม่ใช้ไซยาไนด์ ณ ห้องปฏิบัติการ

                           ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์

11.45 – 11.55 น. ตอบข้อซักถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

12.00 – 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวันและเดินทางกลับ

หมายเลขบันทึก: 426775เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
กอล์ฟ ศูนย์เครื่องมือกลาง

มีให้กำลังใจครับ แต่คงไปร่วมงานไม่ได้ ขอให้งานประสบความสำเร็จนะครับ

พึ่งกลับมาจากที่อบรมมาครับ ได้ความรู้มาเพียบครับ

งานก็เข้าตามมาครับ ต้องไปนั่งคุยผู้บริหารให้ตัดสินใจ

เปลี่ยนวิธีการทดสอบ ไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องมาเสี่ยง

กับสารละลายไซยาไนด์

ขอบคุณอาจารย์มากครับสำหรับความรู้(เกือบอดไปเหมือนกัน)

คุณอนุรัตน์คะ รบกวนส่ง line contact ให้ อาจารย์ที่ [email protected] เรากำลังจะจัดอบรมด้านระบบคุณภาพของน้ำยางพาราค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท