ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๘๘. จินตนาการทักษะครูเพื่อศิษย์ ๙. แรงต้านที่อาจต้องเผชิญ


          หนังสือ 21st Century Skills : Learning for Life in Our Times ระบุแรงต้านต่อการเรียนการสอนแบบใหม่ไว้อย่างครบถ้วนดีมาก   ผมจึงเก็บความมาเป็นรายข้อ เพื่อให้ครบถ้วนที่สุด   จะเห็นว่าแรงต้านที่เขาเขียนไว้นี้เป็นจริงยิ่งนักในสังคมไทย
•   นโยบายการศึกษายังเป็นนโยบายสำหรับยุคอุตสาหกรรม   เน้น mass education และเน้นประสิทธิภาพ   ซึ่งเคยใช้ได้ผล  แต่บัดนี้ตกยุคเสียแล้ว

•   ระบบตรวจสอบ และระบบวัดผลแบบ standardized testing systems ที่เน้นวัดความสามารถด้านทักษะพื้นฐาน เช่นการอ่าน การคิดเลข   แต่ไม่วัด 21st Century Skills

•   แรงเฉื่อย หรือความคุ้นเคยกับระบบการสอนแบบครูบอกเนื้อหาวิชาให้นักเรียนจดจำ ที่ทำต่อๆ กันมาหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี   แม้จะมีครูจำนวนหนึ่งเปลี่ยนไปแล้ว โดยเปลี่ยนไปทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กให้สร้างและประยุกต์ใช้ความรู้ผ่านการค้นพบ การสำรวจ และการเรียนจากโครงงาน (PBL – Project-Based Learning)

•   ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมพิมพ์จำหน่ายตำราเรียน

•   ความหวั่นกลัวว่าความรู้เชิงทฤษฎีจะถูกละเลย  หันไปให้ความสำคัญต่อทักษะมากเกินไป   ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้ ๒ แนวนี้ต้องเกื้อกูล (synergy) ซึ่งกันและกัน

•   อิทธิพลของพ่อแม่ ที่ยึดติดกับการเรียนแบบดั้งเดิมที่ตนเคยเรียนมา   และทำให้ตนประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน   จึงอยากให้ลูกหลานได้เรียนตามแบบที่ตนเคยเรียน สอบข้อสอบที่ตนเคยสอบ   และรู้สึกไม่สบายใจที่โรงเรียนทดลองวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ตนไม่คุ้นเคย  และอาจทำให้ลูกหลานของตนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
          ผมขอเพิ่มอีกข้อหนึ่ง ที่เป็นแรงต้านการเปลี่ยนแปลงสำหรับประเทศไทย คือพลังราชการรวมศูนย์  และจัดการแบบควบคุมและสั่งการ (command & control)   ทำให้วงการศึกษาขาดอิสรภาพ  ทั้งๆ ที่หลักการสำคัญของการศึกษาคืออิสรภาพ   เพื่อให้การศึกษากับการสร้างสรรค์อยู่ด้วยกัน  เป็นพลังส่งเสริมซึ่งกันและกัน
         แม้จะมีแรงต้านตามที่ระบุข้างบน  แต่การศึกษาโลกก็กำลังเปลี่ยนไปทางจัดการแบบ 21st Century Skills มากขึ้นเรื่อยๆ   ประเทศที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีเด่นในโลก ต่างก็เดินแนวทางนี้ทั้งสิ้น 
          ในประเทศไทย ชร.คศ. (ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์) หรือเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ จะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่แนวทาง 21st Century Skills ในที่สุด  ครูเพื่อศิษย์ต้องไม่ท้อถอยหากมีแรงต้าน   การรวมตัวกันเป็นชุมชนและเครือข่ายดำเนินการเพื่อพิสูจน์ผลดีต่อเด็ก  พิสูจน์ที่ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของเด็ก จะช่วยลดแรงต้าน
วิจารณ์ พานิช
๕ ธ.ค. ๕๓
                   
หมายเลขบันทึก: 426768เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ธรรมสวัสดี มาฆะบูชา แด่ครูในดวงใจ ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนางานต่อ.....
วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์

เห็นด้วยมากๆค่ะ การรู้ปัญหาและสาเหตุ จะช่วยทำให้ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เห็นลู่ทางการทำงานง่ายขึ้นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท