การสอนเพศศึกษาในวัยต่างๆ


การสอนเพศศึกษาในวัยต่างๆ 

 

ระยะขวบปีแรก  

เด็กยังเล็กมาก  การให้ความรู้เรื่องเพศยังไม่มีความจำเป็น  แต่ควรให้การเลี้ยงดูที่ส่งเสริมความมั่นคงในจิตใจและอารมณ์  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษยสัมพันธ์ในวัยต่อมา  ควรให้การดูแลและช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะใน  6  เดือนแรกของชีวิต  ควรตอบสนองความต้องการของเด็ก  ได้แก่  เวลาเด็กหิว  หรือขับถ่าย  หลังจาก  6 เดือนแรก  เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะรอคอยได้บ้าง 

การสัมผัสเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุดใน  ขวบปีแรก  เด็กต้องการพ่อแม่อุ้ม  กอด  สัมผัสทางผิวหนัง  การพูดคุยแม้เด็กจะไม่เข้าใจ  แต่ก็สื่อสารความหมายของการเอาใจใส่  ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงทางจิตใจและอารมณ์

 

ระยะเด็กอายุ1-3  ปี

1.       พัฒนาการทางเพศ  เด็กเริ่มรู้จักเพศของตนเอง(core  gender) พ่อแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักเพศตนเอง  และเพศของผู้อื่น  ให้พอใจและภูมิใจในเพศของตนเอง

2.       สัมพันธภาพ  เด็กต้องการพ่อแม่ที่มั่นคง  แน่นอน  เพื่อให้เด็กเกิดความผูกพัน  มั่นคงในความสัมพันธ์ 

3.       ทักษะส่วนบุคคล เด็กสามารถควบคุมตนเองได้  โดยเฉพาะการขับถ่าย  ควรฝึกให้เด็กช่วยตัวเอง  ขับถ่ายเป็นที่ทาง  และเป็นเวลา

4.       พฤติกรรมทางเพศ พ่อแม่ควรกำกับให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับเพศตนเอง  เช่น  การแต่งกาย การพูด  การเล่น  ควรกำกับดูแลให้ตรงตามเพศของเด็ก

5.       สุขอนามัยทางเพศ สอนการทำความสะอา[คำไม่พึงประสงค์]วัยวะเพศตนเอง  การระวังรักษาอวัยวะเพศตนเอง  ไม่ให้เด็กเล่นอวัยวะเพศตนเอง 

6.       สังคมและวัฒนธรรม เด็กเริ่มเรียนรู้กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ  พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กรู้จักกฎเกณฑ์กติกาในบ้าน อะไรอันตราย  อะไรเล่นไม่ได้  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของระเบียบวินัย  และการควบคุมตนเอง  และควบคุมเรื่องพฤติกรรมทางเพศ

 

ระยะเด็กอายุ 3-6  ปี

พ่อแม่มีบทบาทส่วนใหญ่  และเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนอนุบาล  ครูจะช่วยสอนเรื่องเพศให้สอดคล้องกัน

1.  พัฒนาการทางเพศ  เด็กสนใจอวัยวะเพศตนเอง  และของผู้อื่น  พ่อแม่ควรเริ่มต้นจากการสอนให้เด็กรู้จักการดูแลรักษาอวัยวะเพศตนเอง 

2.  สัมพันธภาพ เด็กผู้ชายจะถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศจากพ่อ  เด็กผู้หญิงจากแม่  พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างทางเพศที่ดี  ใกล้ชิดกับลูก  พ่อควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกชาย  แม่ควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกสาว  เมื่อลูกมีพฤติกรรมผิดเพศ  เช่นลูกชายเล่นแต่งหน้าทาปากเหมือนแม่  หรือเอาเสื้อผ้าแม่มาสวมใส่  ควรห้ามอย่างสงบ แนะนำการเล่นที่ถูกต้องทางเพศแทน  หรือเบนความสนใจไปเรื่องอื่น  พ่อแม่เป็นแบบอย่างของบทบาทพ่อแม่  ทำหน้าที่ให้เด็กเห็นและซึมซับพฤติกรรมที่เหมาะสม  ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเขาเป็นพ่อแม่ในเวลาต่อมา   เด็กวัยนี้สามารถพึ่งพาตัวเองได้  ช่วยตัวเองได้  สามารถแยกตัวเองจากพ่อแม่ไปเรียนรู้  เข้าโรงเรียนอนุบาลได้  เด็กจะเรียนรู้บทบาททางเพศจากคนอื่นนอกครอบครัว  เช่น  ครู  เพื่อน  เพื่อนบ้าน  มากขึ้น

3.   ทักษะส่วนบุคคล  เด็กเริ่มเข้าใจเหตุผลง่ายๆ  เวลาอธิบายเรื่องเพศควรใช้คำอธิบายด้วยเหตุผลง่ายๆ  ไม่ควรหลีกเลี่ยง  หรือพูดไม่จริง   เด็กสามารถช่วยตัวเองได้  ควบคุมตัวเองได้  อยู่ในกฎกติกาของโรงเรียน  และสิ่งแวดล้อมได้

4.  พฤติกรรมทางเพศ  เด็กเริ่มมีพฤติกรรมเหมาะสมตามเพศของตน  ได้แก่  กิริยาท่าทาง  การแต่งกาย  การเล่น วัยนี้เด็กอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ  แอบดูอวัยวะเพศผู้อื่น เล่นอวัยวะเพศตนเอง  สอบถามพ่อแม่เรื่องเพศ  ในโรงเรียน  พ่อแม่และครูควรสอนพฤติกรรมที่เหมาะสมทางเพศ  ไม่ส่งเสริมให้เด็กแสดงออกผิดเพศ  เช่นการแต่งกาย  ท่าทาง  หรือการเล่นผิดเพศ 

5. สุขอนามัยทางเพศ พ่อแม่ควรสอนให้เด็กทำความสะอา[คำไม่พึงประสงค์]วัยวะเพศได้ด้วยตนเอง   สอนการใช้ห้องน้ำห้องส้วม  การแยกห้องน้ำหญิงชาย   วัยนี้ยังอาจปกป้องตนเองได้น้อย  อาจเกิดการถูกล่วงเกินละเมิดทางเพศได้ง่าย  ต้องมีการสอนการระวังรักษาอวัยวะเพศไม่ให้ใครมาละเมิด สอนทักษะในการปฏิเสธการล่วงละเมิดทางกาย  หรือปฏิเสธความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น  เช่น  การปฏิเสธการไปไหนกับคนแปลกหน้า  การรับของ  ขนม  หรือของเล่นจากคนที่ไม่รู้จัก  ถ้ามีคนแปลกหน้ามาพูดคุยด้วยให้รีบแจ้งพ่อแม่หรือครู    ฝึกให้เด็กปฏิเสธมิให้ผู้อื่นแตะต้องร่างกาย  โดยเฉพาะอวัยวะเพศของตนเอง  ฝึกให้ร้องตะโกนขอความช่วยเหลือเมื่อไม่แน่ใจในความปลอดภัย  ฝึกให้หลีกเลี่ยงไปไหนตามลำพัง  การสอนควรให้ทำจริงจังต้องฝึกทักษะให้ปฏิบัติได้จริงๆ  แต่ไม่ควรให้น่ากลัวเกินไป

6.       สังคมและวัฒนธรรม ทัศนคติของผู้ใหญ่ต่อเรื่องเพศควรเป็นกลาง  และยอมรับได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ  ให้เด็กเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา  ที่เรียนรู้ได้  พูดได้  สอนได้  แต่พฤติกรรมทางเพศต้องควบคุมให้เหมาะสม  การเป็นเพศหญิงชายไม่ควรมีความแตกต่างกัน  หรือเพศใดดีกว่ากัน  ทั้งสองเพศมีข้อดีทั้งคู่  ให้เด็กภูมิใจในเพศของตนเอง  ไม่ควรทำให้เด็กรังเกียจอวัยวะเพศตนเองว่าเป็นของต่ำ  หรือสกปรก  ควรสอนให้รู้จัก  ควรสอนให้เด็กรู้ว่าพฤติกรรมทางเพศแบบใดที่เป็นที่ยอมรับ  แบบใดไม่เป็นที่ยอมรับ  เช่น  เราไม่แอบดูร่างกายหรืออวัยวะเพศกัน  เรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยกันได้  ถามได้  แต่ควรพูดกันส่วนตัว เมื่อเด็กถาม พูดเรื่องเพศ  หรือสนใจอยากรู้เรื่องเพศ  พ่อแม่อธิบายให้เด็กเข้าใจตามสมควร  การตอบคำถามเด็กวัยนี้  ควรใช้คำตอบง่ายๆ  ตรงไปตรงมา  สั้นๆ  ไม่จำเป็นต้องอธิบายยืดยาวเกินความสามารถทางสติปัญญา  หรืออาจทำให้เด็กสับสนมากขึ้น  การอธิบายอาจมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ในชีวิตจริง  จะช่วยให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น  ตัวอย่างเช่น  การเกิดของสัตว์เลี้ยงในบ้าน  จะช่วยให้เด็กเข้าใจการเกิดของคนได้เช่นกัน  เมื่อเด็กสนใจหรือแสดงออกเรื่องเพศไม่เหมาะสม  พ่อแม่ควรบอกเด็กว่าอะไรทำได้  อะไรทำไม่ได้สั้นๆ    อย่างนุ่มนวลและสงบ       

                เมื่อเด็กอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ  เช่นแอบดูเพื่อนต่างเพศในห้องน้ำ  ควรห้ามอย่างสงบและจริงจัง  ให้เด็กรู้ว่าพฤติกรรมทางเพศเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม  ไม่ละเมิดผู้อื่น  ขณะเดียวกันไม่ให้ใครมาละเมิดตนเอง

                เมื่อเด็กสนใจหมกมุ่น  หรือกระตุ้นตัวเองทางเพศ  ผู้ใหญ่ควรบอกสั้นๆด้วยท่าทีสงบว่า  เราไม่เล่นอย่างนี้  แต่ควรเล่นอย่างอื่นแทน  และช่วยหากิจกรรมเบนความสนใจเด็ก  หรือจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กไม่อยู่คนเดียว  หรือเหงาจนหันมาเล่นอวัยวะเพศตนเองตนเอง  ไม่ควรขู่หรือทำให้เด็กกลัวจนเกินไป  และถ้าเด็กยังทำอยู่ให้พาเด็กไปทำกิจกรรมอื่นอย่างสงบ 

 

ระยะเด็กอายุ  6-12  ปี

                เด็กเรียนรู้เรื่องเพศจากโรงเรียน  สังคมสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ครูมีบทบาทมากขึ้น

1.       พัฒนาการทางเพศ  ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางเพศชัดเจน  เด็กดูเหมือนสนใจอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศน้อยลง 

2.       สัมพันธภาพ เด็กจะจับกลุ่มเล่นแยกเพศ  ควรให้เด็กเล่นตามเพศที่เหมาะสม  เด็กบางคนเข้ากับเพศตนเองไม่ได้  อาจสนิทสนมกับเพื่อนต่างเพศมากเกินไป  ทำให้เกิดพฤติกรรมผิดเพศได้  ควรแก้ไขตั้งแต่เริ่มเห็นพฤติกรรมนี้  โดยพยายามให้เด็กเข้ากันได้กับเพศเดียวกันเอง  เด็กวัยนี้อาจมีการล้อเลียนเรื่องเพศ  จับคู่เป็นแฟนกัน  ผู้ใหญ่ควรนำมาสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องของการชอบพอกันแบบเพื่อนและแบบแฟน  แตกต่างกันอย่างไร  ไม่ควรห้ามการรู้จักกันกับเพื่อนต่างเพศ  แต่การคบกันเป็นแฟนควรมีขอบเขตที่เหมาะสม  ในขณะเรียนควรคบกันแบบเป็นเพื่อนก่อน  และระวังอย่าให้ความสัมพันธ์รบกวนหน้าที่ตามปกติ  เช่น  ไม่เสียการเรียน  ไม่

3.       ทักษะส่วนบุคคล   เข้าใจเหตุผลที่เป็นรูปธรรม  เข้าใจจิตใจผู้อื่นมากขึ้น  รู้จักรับผิดชอบต่อส่วนรวม  การเรียนมักชอบแข่งขัน

4.       พฤติกรรมทางเพศ วัยนี้เด็กจะเรียนรู้จากการสังเกตและจดจำพฤติกรรมของพ่อแม่  ครู  เพื่อน  และคนอื่นในสังคม  ควรสอนให้เด็กมีพฤติกรรมเหมาะสมกับเพศตนเอง  ควรสอนเรื่องสถานการณ์เสี่ยงทางเพศ  ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้  เช่น  การหลอกลวงหรือละเมิดทางเพศ  เพื่อให้เด็กระมัดระวังตนเอง 

5.       สุขอนามัยทางเพศ ในตอนปลายของวัยนี้  เด็กบางคนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว  ควรเริ่มให้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงตนเองสำหรับวัยรุ่น  เช่น  การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย  ในเพศหญิงจะมีประจำเดือน 

6.      สังคมและวัฒนธรรม พฤติกรรมทางเพศ  ควรสอนให้เด็กให้เกียรติกันทางเพศ  ไม่ละเมิด  ให้มีพฤติกรรมเหมาะสมตามเพศ  เช่นเพศชายแข็งแรงกว่า  ต้องรู้จักเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเพศหญิง  เป็นต้น

 

ระยะเด็กอายุ  12-18  ปี 

                วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด การเรียนรู้ในวัยนี้มีความจำเป็นมาก  เด็กเรียนรู้เรื่องเพศจากการหาความรู้ด้วยตัวเอง  จากกลุ่มเพื่อน  และจากครูมากขึ้น  การสอนสามารถจัดเป็นกลุ่มในโรงเรียน  ให้ครอบคลุมสิ่งที่วัยรุ่นต้องรู้  ก่อนจะเป็นผู้ใหญ่ต่อไป(10)   แบ่งเป็น  2  ช่วงอายุ  คือ

วัยรุ่นตอนต้น(12-15 ปี)

วัยนี้เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น  พฤติกรรมทางเพศเห็นมากขึ้นและชัดเจนขึ้น  เนื่องจากเด็กเริ่มมีความรู้สึกทางเพศ  และความสนใจทางเพศ  จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ  วัยนี้ต้องการความรู้เรื่องเพศที่แตกต่างกันระหว่างวัยรุ่นตอนต้นและตอนปลาย  และมักแสวงหาจากแหล่งที่ไม่เหมาะสม  เช่น  ตามหนังสือหรือ  เว็บไซต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน  ส่วนใหญ่เป็นสื่อที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ  หรือเป็นเพศวิปริต  ทำให้วัยรุ่นเรียนรู้ไม่ถูกต้อง  หรือหมกมุ่นเรื่องเพศมากเกินไป  วัยนี้ควรมีเวลาพูดคุยให้ความรู้  และเปิดโอกาสให้วัยรุ่นซักถามข้อสงสัยเรื่องเพศ

ในโรงเรียน  ควรมีกิจกรรมที่สอนเรื่องเพศอย่างชัดเจน  โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่น  และการจัดการกับอารมณ์เพศตนเอง  ควรสอนบทบาททางเพศที่เหมาะสม  ตามขนบธรรมเนียมประเพณีด้วย

1.       พัฒนาการทางเพศ  วัยนี้ควรสอนให้เด็กเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ  อิทธิพลของฮอร์โมนส์ที่มีต่อร่างกายและจิตใจ  การเกิดประจำเดือน  ฝันเปียก  อารมณ์เพศ  ความรู้สึกและความต้องการทางเพศ  สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ  ปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศเมื่อมีอารมณ์เพศ  ได้แก่  การแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย  และการมีสิ่งหล่อลื่นออกมาในช่องคลอดหญิง 

วัยนี้เริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกัน  หรือกับเพศตรงข้าม  เรียกว่า  ความพึงพอใจทางเพศ(sexual  orientation)  ถ้าชอบเพศตรงข้ามเรียกว่า  รักต่างเพศ(heterosexuality)  ถ้าชอบเพศเดียวกันเรียกกว่า  รักร่วมเพศ(homosexuality)  ในกลุ่มรักร่วมเพศยังแบ่งออกเป็น รักร่วมเพศชาย(gay)  และรักร่วมเพศหญิง(lesbian) 

ในเด็กผู้หญิงควรสอนการดูแลเรื่องประจำเดือน  การปวดประจำเดือน  การจัดการกับอารมณ์ที่แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน  ประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ

2.       สัมพันธภาพ วัยนี้ควรสอนให้มีเพื่อนต่างเพศ  ทักษะสังคมในการคบเพื่อนต่างเพศ  การแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อสนใจเพศตรงข้าม  ใช้เวลาโดยไม่รบกวนหน้าที่ประจำของตนเอง  ไม่ให้ความสัมพันธ์มากระทบการใช้เวลาในการเรียน  หรือความรับผิดชอบอื่นๆ  ยังไม่ควรคบใครแบบแฟน  แต่ใช้ความสัมพันธ์แบบเพื่อนเพื่อเรียนรู้นิสัยใจคอ  และการปรับตัวเข้าหากัน  การระมัดระวังในการใกล้ชิดกัน  ความแตกต่างระหว่างความรู้สึกของหญิงชายเวลาใกล้ชิดกัน  เพศชายมีแนวโน้มจะเกิดความรู้สึกทางเพศรุนแรงและอยากมีเพศสัมพันธ์  ในขณะที่ฝ่ายหญิงรู้สึกอบอุ่นใจ  ไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์มากเท่า การใกล้ชิดกันทำให้มีโอกาสเกิดเพศสัมพันธ์ได้ง่าย

3.       ทักษะส่วนบุคคล  ทักษะในการสื่อสารเจรจา  การสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนาน  การควบคุมตนเอง  ควบคุมอารมณ์  จัดการกับอารมณ์และความต้องการทางเพศ 

4.       พฤติกรรมทางเพศ ทัศนคติและบทบาททางเพศ  ควรได้รับการปลูกฝังให้เป็นกลาง  สามารถสนใจและศึกษาเรื่องเพศได้ในกรอบที่พอเหมาะ  ทัศนคติถูกต้องต่อการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ไม่รู้สึกผิดบาปที่ทำ  แต่ควบคุมให้มีพอสมควรไม่หมกมุ่นจนเกินไป   มีการแต่งกายที่เหมาะสม  ถูกต้องตามเพศ  มีความความสนใจเพศตรงข้ามได้แต่แสดงออกถูกต้อง  ไม่ละเมิดหรือฉวยโอกาสทางเพศต่อผู้อื่น

5.       สุขอนามัยทางเพศ  ได้แก่  การรักษาความสะอาดเวลามีประจำเดือน  การทำความสะอา[คำไม่พึงประสงค์]วัยวะเพศอย่างถูกต้อง  เมื่อมีอารมณ์เพศ  มีการจัดการกับอารมณ์เพศอย่างถูกต้อง ทางออกทางเพศ(sexual  outlet)  ได้แก่  การระบายด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง  ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน  ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการทางเพศ   นอกจากนี้ยังมีวิธีการระบายอารมณ์เพศด้วยวิธีอื่น  ได้แก่  การออกกำลังกาย  การเล่นกีฬา  กิจกรรมกลุ่ม  งานอดิเรก  การป้องกันการหมกมุ่นทางเพศมากเกินไป  โดยการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม  หลีกเลี่ยงการอยู่ตามลำพัง  อยู่คนเดียว  หรืออยู่กับเพื่อนต่างเพศตามลำพัง  หลีกเลี่ยงเหล้าและยาเสพติด  หลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงต่างๆ  เก็บสิ่งกระตุ้นยั่วยุทางเพศ  เช่น  รูปภาพ  ปฏิทินที่มีรูปกระตุ้นทางเพศ

6.       สังคมและวัฒนธรรม ความเสี่ยงทางเพศ  ควรให้เด็กมีพฤติกรรมเหมาะสมกับสังคมประเพณี  เช่น  การแต่งกาย  ไม่ควรยั่วยวนทางเพศ  ควรให้ถูกต้องตามเพศตนเอง  ไม่ส่งเสริมให้เด็กแต่งกาย  หรือมีกิริยาท่าทางผิดเพศ  แม้ว่าเด็กจะเริ่มรู้ตนองว่าเป็นรักร่วมเพศ  ก็ไม่ควรให้แสดงออกมากจนคนอื่นๆเห็นชัดเกินไป  จนอาจถูกล้อเลียน

 

วัยรุ่นตอนปลาย (15-18 ปี)

                วัยนี้โตพอที่จะเรียนรู้เรื่องเพศได้ด้วยตนเอง  ผู้ใหญ่ควรมีคำแนะนำในการหาความรู้เรื่องเพศ  โดยการมีสื่อที่ถูกต้อง  เช่น  หนังสือ  เทปโทรทัศน์  หรือเว็บไซต์ที่ให้ความรู้อย่างมีคุณภาพ  ให้วัยรุ่นได้ศึกษาได้ด้วยตัวเอง  แต่ก็ควรมีโอกาสพูดคุย  แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เพื่อสำรวจว่าวัยรุ่นเรียนรู้อย่างถูกต้องหรือไม่  หรือเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้ซักถามในเรื่องเพศเป็นครั้งคราว

                ในโรงเรียน  การสอนเรื่องเพศในชั้น  หรือเป็นกลุ่ม  จะช่วยให้วัยรุ่นปรับทัศนคติทางเพศได้ถูกต้องขึ้น  เช่น  การให้เกียรติกันทางเพศ  การไม่มีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เป็นต้น

                สิ่งที่สอนในวัยรุ่นตอนปลายนี้  ควรช่วยเขาสามารถมีชีวิตครอบครัวได้อย่างมีความสุข  ป้องกันความเสี่ยงต่างๆทางเพศได้  การสอนค่อยเพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมของวัยรุ่น  ดังนี้

1.       พัฒนาการทางเพศ  วัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย  จิตใจและสังคมเต็มที่  บอกผู้อื่นได้ชัดเจนว่า  ตนเองมีความพึงพอใจทางเพศกับเพศเดียวกัน  หรือเพศตรงข้าม  หรือ ทั้งสองเพศ   มีเอกลักษณ์ทางเพศแน่นอน  ชัดเจน  และพึงพอใจต่อเอกลักษณ์นี้  วัยนี้อาจเรียนรู้เรื่องเพศมาไม่ถูกต้องจากเพื่อนๆ  หรือสื่ออื่นๆ จึงควรหาโอกาสพูดคุยกับวัยรุ่น เพื่อสอบถามความรู้  ความเชื่อ  หรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง  และแก้ไขให้ถูกต้อง  วัยนี้ควรยอมรับเอกลักษณ์ทางเพศของตน 

2.       สัมพันธภาพ วัยนี้เริ่มสนใจทางเพศอย่างจริงจัง  ต้องการมีแฟน  ควรสอนให้รู้จักการเลือกแฟน  การคบแบบแฟน  การสังเกตนิสัยใจคอ  ความเข้ากันได้ทั้งร่างกาย  จิตใจอารมณ์  แยกแยะข้อดีข้อเสียของตนเองและแฟนได้  มีทักษะในการปรับตัวเข้าหากัน  เมื่อพบว่าไม่เหมาะสมกัน  ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก่อนที่ความสัมพันธ์จะลึกซึ้งยาวนานเกิดไป จนอาจเลิกคบกันไม่ได้ ควรสอนเรื่องชีวิตครอบครัว  การเลือกคู่ครอง  การแต่งงาน  และปรับตัวในชีวิตสมรส

3.       ทักษะส่วนบุคคล   มีทักษะในการปรับตัว  สื่อสารบอกความต้องการตนเอง  ให้สามารถตอบสนองความต้องการของกันและกันได้อย่างสมดุล  มีการปรับเปลี่ยนตนเองแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองบ้าง  เพื่อให้พึงพอใจด้วยกัน  มีทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกัน  วางแผนอนาคต  ควบคุมตนเองให้รับผิดชอบต่อครอบครัว  ทำหน้าที่สามี ภรรยา  พ่อและแม่ที่ดี  การรับผิดชอบต่อครอบครัวต้องทำอย่างไร  การเลี้ยงลูกที่ดีทำได้อย่างไร

4.       พฤติกรรมทางเพศ   ควรสอนวิธีปฏิเสธเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน  เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ควรสอนเรื่อง  การเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน  การตรวจทางร่างกายละโรคหรือภาวะที่จำเป็นก่อนแต่งงาน  เรื่องการตอบสนองทางเพศปกติ (normal  sexual  response)  การมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข ในกรณีที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน  หรือเพศสัมพันธ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอา[คำไม่พึงประสงค์]วัยวะเพศหลังเพศสัมพันธ์  ผลที่จะเกิดจากเพศสัมพันธ์  การวางแผนครอบครัว  การคุมกำเนิด

5.       สุขอนามัยทางเพศ ควรสอนการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่จะเกิดในขณะตั้งครรภ์ เพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์  การคลอดบุตรและการดูแลหลังการคลอดบุตร  การคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร การทำหมันและการเลี้ยงดูบุตร  การวางแผนครอบครัว การแท้งบุตร  ความผิดปกติทางเพศเช่น รักร่วมเพศโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

6.       สังคมและวัฒนธรรม      ควรสอนให้ยับยั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรส  การซื่อสัตย์ต่อคู่ครองตนเอง บทบาทที่ดีของพ่อแม่  เป็นอย่างไร การแสดงออกทางเพศให้เหมาะสมอยู่ในประเพณีที่ดี  และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ  เช่น  การแต่งงานทำได้ในอายุใด  การทำผิดทางเพศมีโทษอย่างไรบ้าง 

 

แหล่งอ้างอิง

http://www.radompon.com/webboard/index.php?topic=33.0

หมายเลขบันทึก: 426535เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2011 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท