เรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจแบบยั่งยืนจากหนังเรื่อง “อินทรีแดง” อย่างแสลงใจ


ใครก็เป็นฮีโร่ได้ อยู่ที่เจตนาและความปราถานาดีต่อโลกและมวลมนุษย์ชาติ

 

หลังจากที่ได้ลาโรงไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่องอินทรีแดงจาก DVD เมื่อไม่นานมานี้เอง ภาพและเนื้อเรื่องที่สื่อออกมาก็ทำได้ดีระดับหนึ่ง ตามประสาของหนังสไตล์นี้ (อ่านรายละเอียด ข้อมูลและเรื่องย่อ ได้ที่นี่ http://www.majorcineplex.com/movie_detail.php?mid=633) ภาพในหนังที่ออกมามีโฆษณาแฝงค่อนข้างมากและไม่เนียนเอาเสียเลย ตัวหนังได้เรท น18+  ซึ่งก็มีฉากที่รุนแรงและฉากล่าแหลมพอสมควร ฉากโฆษณาแฝงหลายฉากดูจงใจจนน่าเกลียด โดยเฉพาะฉากที่กล้อง PAN และ ZOOM ให้เห็นถึงบุหรี่ยี่ห้อหนึ่ง ที่นายตำรวจหยิบมาออกมาจากซ่องให้เห็นอย่างจงใจ  เนื้อหาของหนังเรื่องนี้ที่ผมจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในบันทึกนี้ งจะกล่าวถึงเรื่องของการพัฒนาประเทศให้ก้าวไกลไปกับสิ่งที่เชื่อว่าความเจริญ ความมั่งคั่งมั่นคงทางพลังงาน

 

ภาพจาก http://www.majorcineplex.com/popup_poster.php?mid=633&wid=4369

 

ส่วนตัวผมเองเป็นคนหัวโบราณครับ ไม่ค่อยชอบแนวคิดที่พยายามนำความเจริญทางด้านความมั่งคั่งมั่นคงทางพลังงาน มาเป็นดัชนีชี้วัดความสุขความเจริญของมวลมนุษยชาติ หลายครั้งที่เราดูเหมือนจะตกลงกันไม่ได้ถึงเรื่องความเจริญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เหมือนดังไก่กับไข่ ผมคิดว่าถ้าเราน้อมนำเอาพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของพวกเราในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดเศรษฐกิจแบบยั่งยืนของ "ฟริจอฟ คราปรา" ที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ “โยงใยที่ซ่อนเร้น” เราก็จะหาคำตอบได้ไม่ยาก แนวคิดเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียงผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องเดียวกันนั่นเอง ในแง่ของการใช้พลังงาน แนวคิดเหล่านี้มีความสอดคล้องและมองไปในทิศทางเดียวกัน ฟริจอฟ คราปรา กล่าวไว้ว่า พลังงานที่จะนำมาใช้ในอนาคตต้องเป็นพลังงานสะอาดและนำกลับมาใช้หมุนเวียนได้ไม่มีวันหมดสิ้น นั่นคือพลังงานแสงอาทิตย์นั่นเอง เพราะพลังงานที่ได้การทำการเกษตรเช่น พลังงานจากไบโอดีเซล หรือแกสโซฮอลล์ ถึงแม้จะเป็นพลังงานค่อนข้างสะอาดและการนำกลับมาใช้หมุนเวียนยังทำได้ไม่ดีนัก เพราะยิ่งปลูกและผลิตมากก็ยิ่งทำให้ดินและโลกเสื่อมลงมากเพราะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมาก แทนที่จะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารกลับเอาไปใช้เป็นพลังงงาน ทำให้ขาดแคลนอาหารได้

ภาพจาก http://www.suan-spirit.com/products_book_more.asp?prod_type=book&code=P-SM-0048-3

 

แนวคิดเศรษฐกิจแบบยั่งยืนสนันสนุนให้คนในชุมชนมีชีวิตที่กลมกลืนอยู่กับชุมชน พึ่งพาตนเองได้ แหล่งผลิตอาหาร และสิ่งของทั้งทางด้านอุปโภคและบริโภคต้องอยู่ไม่ไกลจากชุมชน แนวคิดนี้ไม่ใช่ทฤษฎีเลื่อนลอยที่มีอยู่ในกระดาษเท่านั้น คนไทยเราได้นำมาปฏิบัติจนเห็นผลชัดเจนแล้ว เห็นได้จากวิถีการดำเนินชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลาย เช่น “แหลมอรหันต์ชาวนา” ,“ตุหล่าง แก่นคำหล้าพิลาน้อย” เป็นต้น เขาเหล่านี้ดำเนินชิวิตได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย มีตู้กับข้าวอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้านที่อยู่อาศัยเป็นเรือกสวนไร่นาขนาดใหญ่ อาหารสมบูรณ์พร้อม ไม่ต้องเดินทางไปหาแหล่งอาหารไกลๆ ไม่ต้องทำงานแลกกับเงินเพื่อนำไปซื้ออาหารอีกครั้ง เปรียบเทียบกับเศรษฐีพันล้านที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ถึงแม้มีเงินมากมาย ก็ไม่อาจซื้ออาหารสดๆ ไร้มลพิษมากินได้ง่ายๆ  เพราะอย่างน้อยอาหารต้องเดินทางจากแหล่งของมัน และกว่าพ่อครัวแม่ครัวจากร้านอาหารชื่อดัง หรือจ้างมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะก็ต้องเสียเวลาเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้มาด้วยวัตถุดิบที่ดีที่สุด ซึ่งกว่าจะถึงมันก็ไม่สดใหม่เสียแล้ว

 

 

ส่วนตัวผมเอง พยายามจะใช้ชีวิตตามแนวคิดเหล่านี้บ้าง ทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัด ก็จะได้สัมผัสบ้างแต่ก็ไม่เต็มที่ ได้มีโอกาสทำอาหารจากวัตถุดิบที่เก็บมาใหม่ๆ ไม่ต้องซื้อหา นอกจากจะมีรสชาติดีแล้วยังเป็นผลดีต่อสุขภาพด้วย วิถีชีวิตการทำมาหากินของคนชนบท ที่กินอาหาร พืชผักตามฤดูกาลเป็นวิถีชีวิตที่มองว่าเรียบง่าย แต่ผมอยากใช้คำว่า “สร้างสรรค์” มากกว่า เพราะพืชผักธัญญาหารที่หามาได้ ต้องนำมาคิดปรุง ประกอบเป็นอาหารให้เหมาะสมกับฤดูกาลและข้อจำกัดที่มีอยู่ ทำให้ได้อาหารที่หลากหลาย อาหารที่ทำาถึงแม้จะซ้ำใน Concept ในเรื่องลักษณะการปรุง แต่ก็จะไม่ซ้ำในเรื่องของวัตถุดิบ เช่น การทำแกงคั่ว หรือ ห่อหมก (ผมเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับการทำอาหารเหล่านี้ไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/424676 และ http://gotoknow.org/blog/attawutc/423340)  ขั้นตอนวิธีการทำไม่ยุ่งยาก แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่หามาได้ปรับเปลี่ยนตามสภาพตามความพอใจ ไม่จำเป็นต้องเสาะแสวงหาวัตถุดิบอันเลอเลิศ ผลที่ออกมาดูเหมือนจะไร้ระเบียบแต่ก็เป็นระเบียบอยู่ในที เพราะมีเรื่องของฤดูกาลสภาพแวดล้อม สภาพอากาศคอยควบคุมไว้

 

 

การดำเนินชีวิตในแนวคิดเหล่านี้ ผมคิดว่าทุกคนสามารถทำได้ แม้อยู่ในเมืองหลวงก็ตาม โดยใช้แนวคิดการรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมด้วยช่วยกัน เปลี่ยนจากการซื้อกับข้าวถุง หรือไปกินข้าวนอกบ้านตามร้านอาหาร มาลองทำกับข้าวกินเองบ้าง เช่น ในวันหยุดอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ลองชวนลูกๆ ไปเดินตลาดในละแวกที่อยู่อาศัย แล้ววางแผนทำกับข้าวง่ายๆ ร่วมกัน ผมคิดว่านอกจากเราจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว ยังมีโอกาสสอนลูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องพึงประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษา โดยเชื่อมโยงตั้งแต่การเดินทางไปตลาด ซื้อของ คำนวณราคา ปริมาณ จนกระทั่งกลับมาทำกับข้าวเป็นอาหารออกมา ทั้งนี้ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ผมคิดว่าเด็กก็จะเกิดการเรียนรู้เองโดยที่ไม่รู้ตัว เป็นการนำความรู้เข้าสู่ตัวเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเรียนรู้จากการปฏิบัติและเห็นจริง เท่านี้ทุกคนก็จะเกิดความสุขขึ้นได้ เด็กๆ ก็จะมองพ่อแม่อย่างชื่นชมอย่างฮีโร่ ดังนั้นใครๆ ก็เป็นฮีโร่ได้อยู่ที่เจตนาและความปราถานาดีต่อโลกและมวลมนุษย์ชาติ ในที่นี่พ่อแม่คือฮีโร่ของลูกนั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 426275เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2011 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท