๗๑.การให้ข้อมูลการเรียนรู้และให้วิธีคิดที่บูรณาการกับมิติสุนทรียภาพในการแสดงงานศิลปะ ๖๗ ปีกมล ทัศนาญชลี


การจัดแสดงผลงานเดี่ยวของกมล ทัศนาญชลีเนื่องในวาระครบรอบอายุ ๖๗ ปีของตนในประเทศไทยอันเป็นแผ่นดินมาตุภูมิ ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ระหว่างวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งผลงานที่เลือกสรรมาจัดแสดงเป็นบางส่วนของผลงานทั้งหมดที่กระจายอยู่ในกลุ่มผู้สะสมหลายแห่งของโลก ได้ขนมาและจัดแสดงเต็มทั้ง ๔ ชั้นของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์

การจัดแสดงผลงานในครั้งนี้ นอกจากคุณค่าของงานซึ่งเป็นผลงานที่จัดแสดงด้วยตนเองและหลายชิ้นเป็นผลงานติดตั้งกระจายอยู่หลายแห่งของโลกที่ผู้ชมทั่วๆไปยากจะสามารถเข้าถึงและไปชมได้ด้วยตนเองแล้ว รูปแบบและวิธีจัดแสดงงานก็นับว่าน่าสนใจเรียนรู้สำหรับนำไปจัดงานต่างๆมากเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมทางวิชาการและการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ 

การจัดแสดงงานศิลปะ พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ และการจัดกิจกรรมวิชาการ เช่น การอบรม เวิร์คช็อปและประชุมสัมมนา มักขาดการให้ความสำคัญต่อมิติการให้ข้อมูลการเรียนรู้และการให้วิธีคิดที่บูรณาการอยู่กับองค์ประกอบต่างๆของการทำงานดังกล่าวนี้ ทำให้งานพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงแหล่งสะสมและจัดแสดงสิ่งของ ขาดมิติการให้ความรู้และการเชื่อมโยงไปสู่มิติอื่นอย่างรอบด้านให้กลุ่มผู้สนใจทั่วไปเข้าถึงได้

หากเป็นกิจกรรมทางวิชาการก็มักจะขาดองค์ประกอบเพื่อเชื่อมโยงแง่มุมความน่าสนใจเข้ากับสิ่งรอบตัวที่ผู้คนจะสามารถใช้การมีประสบการณ์ต่อสังคมและการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตมาหาความสนใจกระทั่งสามารถเข้าถึงสาระสำคัญได้ด้วยบรรยากาศสบายๆ ทำให้เป็นพิธีกรรมที่เข้าถึงกันได้จำเพาะกลุ่มความสนใจเล็กๆ

ส่วนการจัดแสดงงานศิลปะก็จะมีเพียงผลงานจัดแสดงที่เข้าถึงกันได้เพียงกลุ่มคนในแวดวงการทำงานศิลปะด้วยกันซึ่งเมื่อเทียบกับสังคมทั่วไปแล้วก็นับว่าเป็นวงการแคบๆ แต่คนทั่วไปอาจจะไม่สามารถเห็นกระบวนการทางความคิดและไม่สามารถนำเอาวิธีคิดกับการเรียนรู้เหล่านั้นไปสะท้อนสู่การดำเนินชีวิตอันเป็นเป้าหมายการก่อเกิดสุขภาวะสาธารณะร่วมกันของทุกภาคส่วนสังคม

บันทึกนี้จึงนำเอาแง่มุม'การให้ข้อมูลการเรียนรู้และให้วิธีคิดที่บูรณาการกับมิติสุนทรียภาพในการแสดงงานศิลปะ' มาบันทึก แบ่งปัน และรวบรวมไว้สำหรับการศึกษาเรียนรู้ เพื่อผู้สนใจจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานเชิงสังคมด้วยการจัดแสดงทางศิลปะและการเคลื่อนไหวการเรียนรู้ทางสังคมตามความต้องการต่อไป อาจารย์กมล ทัศนาญชาลี จัดว่าเป็นผู้ที่ได้ประสบการณ์ไว้กับตนเองมาอย่างโชกโชนทั้งในระดับชาติและระดับโลก รูปแบบการจัดแสดงงานและสิ่งต่างๆที่สะท้อนอยู่ในงาน จึงนับว่าสามารถเป็นกรณีศึกษาเพื่อเห็นแบบอย่างของการทำงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดีที่สุดกรณีหนึ่งเลยทีเดียว

                          

                         

หัวข้อนิทรรศการและการจัดวางแนวคิดหลัก : การแสดงหัวข้อหลัก เหมือนชื่อหนังสือ และธีมหลักของการจัดแสดงงาน

                         

ประวัติศิลปิน การให้ข้อมูลแนวคิด และบทสรุปภาพรวมของงาน : การให้ข้อมูลประวัติและความเป็นมาของศิลปินด้วยสื่อผสม รวมทั้งประเด็นเชิงแนวคิด วิธีคิด และภาพรวมโดยสรุป เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าถึงสิ่งที่ศิลปินนำเสนอและได้การเรียนรู้รอบด้านอย่างดีที่สุดจากการชมงานศิลปะตามที่ตนเองต้องการ

                         

                         

หัวข้อย่อยแสดงขอบเขตการแสดงงานและการอำนวยความสะดวกเพื่อปฏิบัติตน :  ธีมย่อย หัวข้อย่อย ซึ่งเปรียบเสมือนหมวดหมู่ของหน่วยประสบการณ์ในการออกแบบและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ หรือเป็นบทต่างๆในหนังสือเล่มเดียวกัน รวมทั้งการจัดทำข้อแนะนำสำหรับผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จัดวางและติดตั้งอยู่ด้านหน้าก่อนเข้าชมงาน

                         

                         

                         

แรงบันดาลใจและข้อมูลการทำงานศิลปะ : การนำเข้าสู่การจัดแสดงตามหัวข้อย่อย ผสมผสานด้วยสื่อและมุมจัดแสดงเพื่อให้ข้อมูล ให้การเรียนรู้ จนสามารถเห็นรายละเอียดการทำงาน เห็นชีวิตและความคิด ตลอดจนเห็นบริบทของการทำงาน ซึ่งจะทำให้ได้รู้จักชีวิตและความคิดของศิลปิน ตลอดจนแนวคิดเบื้องหลังและแรงบันดาลใจของการสะท้อนมวลประสบการณ์ลงสู่ผลงานศิลปะแต่ละชิ้น

                         

                         

                         

                         

                         

                         

การสนทนาและสื่อสะท้อนวิธีคิดของศิลปินกับผู้ชมที่ผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตกับการทำงาน : การให้บทเรียนและวิธีคิดของการทำงาน ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ อำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าถึงแนวคิดเบื้องหลังของการทำงาน เห็นองค์ประกอบของสิ่งที่เป็นนามธรรมและได้ความลึกซึ้ง รวมทั้งได้การเรียนรู้ที่กว้างขวางจากการชมงานศิลปะอย่างดี่ที่สุด

                          

                         

มิติศิลปะวิชาการและการทำงานเพื่อปฏิบัติการเชิงความคิด : การแสดงวิธีทำงานวิจัย ทำงานความคิด ทดสอบความลงตัว ด้วยงานสตั๊ดดี้ การเสก๊ตช์ ครุ่นคิดและตรวจสอบองค์ประกอบต่างๆอย่างเป็นระบบ

                         

                         

มิติศิลปะวิชาการในสังคมศิลปะของโลก : การให้มิติวิชาการแสดงความรู้และความเชื่อมโยงอันกว้างขวางกับมิติต่างๆที่ร่วมยุคสมัยกับชีวิตและการทำงานของศิลปิน รวมทั้งให้ข้อมูลอย่างรอบด้านในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับชิ้นงานศิลปะ

                         

                         

                          

                         

Space : การจัดพื้นที่ว่าง ระยะห่าง ช่องว่าง ทำให้ผู้ชมสามารถมีระยะของการอยู่กับภาวะภายในตนเองในสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงานศิลปะ ทำให้มีจิตละเอียดและมีกำลังต่อการเข้าถึงสิ่งที่มีความลึกซึ้งได้ดีที่สุด

วิพากษ์ เรียนรู้ และข้อเสนอแนะเพื่อนำไปใช้พัฒนาการทำงาน

ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดแสดงงานศิลปะและกิจกรรมทางวิชาการนั้น โดยทั่วไปแล้วมักอยู่ในรูปของสูจิบัตรและเอกสารประกอบการร่วมกิจกรรม ซึ่งก็นับว่าเพียงพอที่จะออกแบบให้มีบทบาทต่อกิจกรรมที่จัดขึ้นได้อย่างหลากหลายพอสมควร แต่โดยมากแล้ว การทำสูจิบัตรกับการทำเอกสารกิจกรรมวิชาการ มักเน้นให้มีบทบาทเป็นการบันทึกและรวบรวมผลงานไว้ในสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเก็บรักษาและเพิ่มโอกาสหมุนเวียนเผยแพร่ไปยังกลุ่มผู้สนใจให้มากยิ่งขึ้นภายหลังการจัดแสดงงานได้ผ่านไปแล้ว มีสูจิบัตรเพียงส่วนน้อยที่จะทำให้มีบทบาทเป็นคู่มือศึกษาและดูงานศิลปะอย่างลึกซึ้งโดยเพิ่มส่วนที่เป็นเนื้อหาข้อมูลทั้งเกี่ยวกับศิลปิน ประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางความคิด แนวคิดและความบันดาลใจ เทคนิคและวิธีการทำงาน ภาพสะท้อนทางสังคม ตลอดจนโลกทัศน์และชีวทัศน์ของศิลปินที่อยากสื่อสารกับผู้ชมผ่านปฏิบัติการทางศิลปะ

แต่จากรูปแบบที่พบในงาน ๖๗ ปีของกมล ทัศนาญชลีนี้ การทำสูจิบัตรอันเป็นรูปแบบทั่วไปก็ทำขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งทำถึง ๒ ขนาด คือสำหรับแจกจ่ายฟรีเมื่อซื้อบัตรเข้าชมงาน ๓๐ บาท และสูจิบัตรเป็นเล่มเพื่อจำหน่ายแก่นักสะสมงานศิลปะ ขณะเดียวกัน ก็จัดวางระบบและองค์ประกอบอีกด้านหนึ่งของการแสดงผลงานขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่ให้ข้อมูล สื่อสารความคิด แสดงการศึกษาและพัฒนามิติศิลปะวิชาการ และให้การศึกษาเรียนรู้แก่ผู้ชมอย่างกว้างขวาง โดยมีความหมายที่สำคัญ คือ :

  • แสดงแง่มุมเพื่อช่วยการเข้าถึงแก่นเนื้อหาที่รอบด้านให้แก่ผู้ชม  สะท้อนธีมหลักของการแสดงงาน อันได้แก่การเชื่อมโยงและผสมผสานทางสังคมวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายของโลก โดยใช้สังคมวัฒนธรรมไทยและอเมริกาเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราวซึ่งวัตถุดิบที่สำคัญก็คือประสบการณ์ชีวิตและการเข้าถึงแหล่งประสบการณ์ ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าข้อมูลการทำงานอย่างเข้มข้นของศิลปิน
  • ทำหน้าที่สื่อสาร สนทนา และสร้างปฏิสัมพันธ์กับของผู้ชมกับศิลปินเจ้าของผลงาน สื่อและแผ่นป้ายเพื่อให้ข้อมูลและการเรียนรู้แก่ผู้ชมที่ทำขึ้น กระจายอยู่เป็นระยะๆ ทั่วทั้ง ๔ ชั้นของการจัดแสดงงาน ซึ่งรูปแบบของการกระจายเชิงพื้นที่และเนื้อหาซึ่งเป็นความคิดของศิลปิน อีกทั้งใช้วิธีถ่ายทอดในเครื่องหมายคำพูด ซึ่งให้นัยของการพูดคุยของศิลปิน เหล่านี้ ทำให้เป็นสื่อแทนการเฝ้างานเพื่อนำผู้ชมดูงานด้วยตนเองโดยตรงของศิลปินซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินและการจัดแสดงงานโดยทั่วไปถือว่าเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ แต่ในการแสดงงานของกมล ทัศนาญชลีในครั้งนี้ เป็นการจัดงานขนาดใหญ่เกินกว่าศิลปินจะทำในลักษณะนั้นได้ ดังนั้น การทำสื่อและแผ่นป้ายให้ข้อมูลทั่วทั้งงาน จึงเป็นการทำให้ผู้ชมยังคงสามารถมีโอกาสเข้าถึงความคิดและข้อมูลการชมงานให้ซาบซึ้งได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยิ่งนับว่าเป็นการดีที่ทำให้ผู้ชมมีความอิสระ ได้อยู่กับตนเอง และมีแหล่งข้อมูลจากศิลปินให้เข้าถึงได้อย่างเหมาะสมตลอดเวลา
  • เป็นงานศิลปะและเป็นองค์ประกอบศิลปะที่ลงตัวและกลมกลืนไปด้วยกัน การทำสื่อและแผ่นป้ายให้ข้อมูลที่พบ เป็นการทำขึ้นอย่างสวยงาม พิถีพิถัน และมีความเป็นศิลปะในสาขานิเทศน์ศิลป์ไปด้วย ทำให้ไม่แปลกแยกกับการจัดแสดงงาน

การจัดระบบให้ข้อมูลและสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งประสบการณ์อันหลากหลาย ให้ผู้ชมได้เกิดการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ทางศิลปะไปตามอัธยาศัยในงานครั้งนี้ ได้ใช้สื่อและวิธีจัดการที่หลากหลาย ผสมผสาน ที่สำคัญคือ สื่อมัลติมีเดียทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือและตำราทางศิลปะ แผ่นป้าย แผ่นพับ สูจิบัตรและคู่มือการชมงาน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในลักษณะนี้อาจจะเป็นข้อจำกัดของคนทำงานศิลปะและผู้จัดกิจกรมทางวิชาการโดยทั่วไป ทั้งในด้านงบประมาณ ทรัพยากร และทีมงาน Creative สื่อ และออกาไนเซอร์ โดยทั่วไป การนำไปทำให้เหมาะสมจึงอาจจะต้องเน้นในด้านการให้ข้อมูลและสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้อย่างกว้างขวางแก่ผู้ชมงานศิลปะและผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการต่างๆที่ได้ริเริ่มจัดขึ้น ซึ่งจะสามารถดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้ข้อจำกัดของศิลปินและผู้จัดงานโดยทั่วไป

การพัฒนาองค์ประกอบทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้นในการจัดแสดงงานศิลปะและการจัดกิจกรรมทางวิชาการ จะทำให้คนทำงานทางศิลปะบางส่วนสามารถทำงานศิลปะให้ไม่เพียงเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างรสนิยมทางศิลปะในวงสังคมของกลุ่มผู้สนใจเท่านั้น แต่จะเป็นการสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมและเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมอีกด้านหนึ่งที่สามารถให้ความบันดาลใจเพื่อริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งที่พึงประสงค์ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี ส่งเสริมให้วงสังคมวิชาชีพศิลปะ สร้างบทบาทความเป็นผู้นำความคิดและความเคลื่อนไหวทางสังคม รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางสังคมในวิถีที่แตกต่างหลากหลายร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆของสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น

ที่สำคัญคือ ศิลปะเป็นสื่อความคิดและจินตนาการที่เข้าถึงจิตใจร่วมกันได้อย่างข้ามกรอบความแยกส่วน จึงสามารถจัดวางวาระและประเด็นร่วมอันนำไปสู่กระบวนการสื่อสารและเรียนรู้กันด้วยพื้นอารมณ์และทรรศนะที่น้อมเข้าสู่ความดีงามได้ดีไม่น้อยไปกว่าวิธีอื่นๆ จึงจัดว่าเป็นการพัฒนาวิธีจัดการตนเองด้วยพลังความสำนึกและจิตใจใหม่ๆเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสมมากยิ่งๆขึ้นของสังคม ที่น่าสนใจมากวิธีหนึ่ง.

หมายเลขบันทึก: 425869เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2011 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอ. วิรัตน์

สุขสันต์วันวาเลนไทน์ค่ะ

 

สวัสดีครับคุณท้องฟ้าครับ
ขอให้มีความรัก ได้รัก ถูกรัก
มีความสุขและได้ความงดงามจากสิ่งที่รักเยอะๆครับ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับการนำชมศิลปะที่น่าประทับใจ..เป็นแรงบันดาลใจที่พี่ใหญ่จะต้องหาโอกาสไปเยี่ยมชมงานศิลป์เชิง functional เช่นนี้บ้างแล้ว..

 

         Large_universe-cosmic-in-colour-art-4  

สภาศิลปกรรมไทย-อเมริกัน รวมทั้งงานและบทบาทของกมล ทัศนาญชลีนี้
น่าจะเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเครือข่ายโครงการพัฒนาเด็กเยาวชนรุ่นใหม่
ของมูลนิธิสยามกัมมาจลและหลายเครือข่ายโครงการที่เห็นพี่ใหญ่ให้ความสนใจสนับสนุนอยู่นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท