มโนทัศน์สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน (2)


สิ่งที่ถูกประกอบสร้างสะสมความเชื่อมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมแต่เราเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

ในการสำรวจมโนทัศน์สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนอย่างไร ขอนำเสนอดังนี้                                               

1. ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรี                                                                                 

1.1  กรอบความคิดสิทธิมนุษยชนเพื่อสตรี                      

สิทธิมนุษยชนเป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อม ๆ กับการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1945 โดยการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมัชชาใหญ่ในปี ค.ศ. 1948 คำนี้ได้นำมาใช้เพื่อแทนที่คำว่า “natural rights” เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่าสิทธิธรรมชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากแนวคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติ อันเป็นที่มาของ “สิทธิธรรมชาติ” นั้นถูกโต้แย้งและคัดค้านอย่างมากและคำนี้ใช้แทนที่คำว่าสิทธิของมนุษย์ (rights of man) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคนั้น ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมถึงสิทธิสตรีในยุคของสหประชาชาติที่เน้นถึงการไม่เลือกปฏิบัติ[1]  อย่างไรก็ตาม แม้คำว่าสิทธิมนุษยชนจะเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นกว่าหกสิบทศวรรษมาแล้วก็ตาม แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนมีรากฐานมานานตั้งแต่สมัยกรีก เนื่องจากสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นสิทธิธรรมชาติ (Natural Rights) ที่มีที่มาจากกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) โดยกลุ่มปรัชญา Stoic ซึ่งอธิบายเรื่องสิทธิธรรมชาติว่ามีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่เกิด สิทธิเหล่านี้มิใช่อภิสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่เป็นความชอบธรรมที่มนุษย์ทั่วทุกหนทุกแห่งจะพึงมี โดยเหตุที่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์และเป็นผู้มีเหตุผล[2]        

แม้ว่านักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนเชื่อว่าการที่ชาวกรีกและชาวโรมันโบราณเป็นผู้มอบมรดกล้ำค่านั่นคือปรัชญาการเมือง การปกครองและกฎหมายไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง แต่ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจจากคำบอกกล่าวของ G. Oestreich ผู้ซึ่งทำการศึกษาเรื่องประวัติความเป็นมาของสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้งก็คือ  

“จากถ้อยคำที่มีการบันทึกไว้ทั้งหมด เกี่ยวกับเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และที่เกี่ยวกับความเคารพในความเป็นมนุษย์ที่ได้มีการศึกษามา เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการ     เรียกร้องสิทธิที่ไม่อาจละเมิดได้สำหรับมนุษย์ทุกคน แม้แต่คำสอนของพวก  stoic ในสมัยโรมัน       ซึ่งสอนเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็เป็นเพียงแนวความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม ทางสังคมเท่านั้น หาได้มุ่งสู่การสร้างสรรค์ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจแต่อย่างใดไม่”[3]      

 

ตามคำกล่าวข้างต้นนั้น เป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจ  แต่ไม่ว่าแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจะมีมายาวนานมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ผู้วางรากฐานทฤษฎีสิทธิธรรมชาติสมัยใหม่อันเป็นแนวคิดที่มาของสิทธิมนุษยชน ซึ่งมักได้รับการกล่าวขวัญถึงก็คือ John Locke จากการประกาศว่าปัจเจกบุคคลโดยธรรมชาติเป็นผู้ครอบครองสิทธิในชีวิต อิสรภาพ และทรัพย์สิน ในทรรศนะของ Locke สิทธิธรรมชาติเป็นสิ่งที่ในเชิงศีลธรรมไม่อาจล่วงละเมิดได้ในภาวะธรรมชาติ แต่ก็บังคับใช้ได้จริงก็แต่ในประชาคม (Civil Society) ซึ่งมีพันธะรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิดังกล่าวผ่านทางสัญญาประชาคม (Social Contract)[4] หลักการสำคัญที่อยู่ในแนวคิดสิทธิธรรมชาติของ Locke ประการแรกคือปัจเจกบุคคลคือสภาพชีวิตที่มีความเป็นอิสระ มีความสามารถที่จะกำหนดการเลือกการตัดสินใจ และประการที่สองคือความชอบธรรมของรัฐบาลมิได้ดำรงอยู่โดยขึ้นกับเจตจำนงของประชาชนเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องสิทธิธรรมชาติเชิงปัจเจกชนด้วย[5]   โดยนัยนี้ แสดงให้เห็นว่าสิทธิธรรมชาติของปัจเจกบุคคลจะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองโดยรัฐเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการปกป้องคุ้มครอง และรัฐที่ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีก็จะได้เป็นแบบอย่างให้อีกหลายรัฐได้เจริญรอยตาม เนื่องจากเรื่องสิทธิธรรมชาติที่ถูกสถาปนาเป็นสิทธิมนุษยชนนี้มิได้เป็นเป็นเรื่องของประเทศใดโดยเฉพาะ แต่เป็นสิทธิไร้พรมแดนที่เป็นที่จ้องมองของนานาอารยประเทศไปแล้ว

 

เนื่องจากกรอบความคิดสิทธิมนุษยชนมีพัฒนาการมาหลายยุคสมัย มีความซับซ้อนและ กว้างขวางครอบคลุมในหลายเรื่อง ได้แก่ การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ   การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี/ทางเพศทุกรูปแบบ การกระทำทารุณและการลงโทษที่โหดร้าย การปกป้องคุ้มครองเด็ก อาชญากรรมอันเป็นการทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ การคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน การคุ้มครองชนกลุ่มน้อยและชาวพื้นเมือง เป็นต้น  แต่ในรายงานฉบับนี้ ผู้เขียนมีเจตนารมณ์ที่จะศึกษาสิทธิมนุษยชนที่มีความเชื่อมโยงกับสิทธิสตรี จึงขอมุ่งเน้นเฉพาะกรอบความคิดสิทธิมนุษยชนเพื่อสตรี  โดยเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิธรรมชาติที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ดังนั้น สิทธิสตรีซึ่งถูกมองว่าเป็นประเด็นคนชายขอบหรือเสียงส่วนน้อยนั้น ควรที่จะถูกชูขึ้นโดยมองในกรอบของสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือขณะนี้เราต้องมองเห็นว่าประเด็นปัญหาสิทธิสตรีมิใช่ปัญหาเฉพาะผู้หญิงและมิใช่ปัญหาที่แยกส่วนอีกต่อไป เพราะหากมองภาพรวมแล้วเราไม่อาจมองข้ามระเบียบของสังคมโลกปัจจุบันซึ่งเสริมสร้าง ตอกย้ำ และอุ้มชู การเลือกปฏิบัตินานาชนิดในสังคม[6] โดยจากการสำรวจบทความและงานวิจัยต่างประเทศ ส่วนใหญ่พบว่าจะกล่าวถึงเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979        ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนสำหรับสตรีที่เป็นยอมรับระดับสากล โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและชายในทุกรูปแบบ                            

ตามคำนิยาม “การเลือกปฏิบัติต่อสตรี” ที่กำหนดไว้ในมาตรา 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ สรุปความหมายได้ว่าคือการแบ่งแยก การกีดกัน หรือการจำกัดใด ๆ เพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีผลทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับ การได้อุปโภค หรือใช้สิทธิโดยสตรี โดยไม่เลือกสถานภาพด้านการสมรสบนพื้นฐานของความเสมอภาคของผู้ชายและผู้หญิงของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมือง   หรือด้านอื่น ๆ[7]   ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการนำหลักการไปปฎิบัติในแต่ละประเทศ จึงมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 2 ว่าให้บรรจุหลักการของความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งชาติ หรือในบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เหมาะสมอื่น ๆ ตามความเป็นไปได้ของแต่ละประเทศ และออกมาตรการด้านนิติบัญญัติที่เหมาะสมในเรื่องการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อผู้หญิง รวมถึงยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบ ประเพณี และแนวปฏิบัติ (รวมทั้งบทบัญญัติที่เป็นการลงโทษ) ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย[8]  โดยอนุสัญญาฯ มีบทบัญญัติทั้งหมด 30 มาตรา ซึ่งในที่นี้จะสรุปสาระสำคัญที่มีการรับรองสิทธิสตรีให้เท่าเทียมกับชายเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในด้าน  ต่าง ๆ ดังนี้

  1. ความเสมอภาคทางด้านการเมือง                                                              

  2. ความเสมอภาคทางด้านกฎหมาย

  3. ความเสมอภาคทางด้านการศึกษา

  4. ความเสมอภาคทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจและสังคม

  5. ส่งเสริมสถานะและบทบาทของสตรีในชนบท

โดยประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979 โดยวิธีภาคยานุวัติ เมื่อวันที่  8 กันยายน พ.ศ. 2528 ประเทศไทยจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ และให้หลักประกันว่าผู้หญิงจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และโอกาสต่าง ๆ จากรัฐบนพื้นฐานของความเสมอภาคกับผู้ชาย โดยตั้งข้อสงวนไว้ 7 ข้อ

ข้อ 7     เรื่องความเสมอภาคทางการเมืองและการรับตำแหน่งราชการ                                 

ข้อ 9    การถือสัญชาติของบุตร                             

ข้อ 10   ความเสมอภาคทางการศึกษา                                                                          

ข้อ 11   สิทธิและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานชนิดเดียวกัน                                               

ข้อ 15   การทำนิติกรรม                                                         

ข้อ 16   ความเสมอภาคในครอบครัว                                        

ข้อ 29   การตีความและการระงับข้อพิพาท                                                  

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 ไทยได้เพิกถอนข้อสงวนต่อข้อ 7 ข้อ 9  ข้อ 10 และข้อ 15 และยังคงข้อสงวนต่อข้อ 16 (ความเสมอภาคในครอบครัว)  และข้อ 29 (การตีความและการระงับข้อพิพาท)[9] ไว้  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 อันมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงอันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภาพรวม โดยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเสนอข้อเรียกร้องได้เมื่อถูกเลือกปฏิบัติ        

สำหรับพิธีสารเลือกรับฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มกลไกการคุ้มครองสิทธิผู้หญิงจากเดิมที่มีอยู่ เช่น การเสนอรายงานการดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ทุก 4 ปีเพื่อเป็นมาตรการภายในประเทศในการคุ้มครองสิทธิผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย การยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนค่านิยมทางวัฒนธรรมและสังคมที่มีต่อผู้หญิงตามแบบฉบับดั้งเดิม โดยอาจกล่าวได้ว่าพิธีสารเลือกรับฯ นี้เป็นกลไกในการเรียกร้องของผู้หญิงฉบับแรก ซึ่งทำให้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบอยู่ในระดับเดียวกันกับตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่มีกระบวนการเรียกร้องเช่นเดียวกัน และนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  ตัวอย่างบางประเทศที่กำลังเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศเพื่อสอดคล้องกับมาตรา 16 ของอนุสัญญาฯ  “การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการสมรสและความสัมพันธ์ของครอบครัว” ได้แก่ กฎหมาย นิกรากัว ค.ศ. 1981 ให้บิดาและมารดามีหน้าที่ต่อบุตรอย่างเท่าเทียมกันและการร่วมกับทำงานบ้าน[10] ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่ส่วนตัวเพื่อสลายลำดับชั้นระบบอำนาจผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคม นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ยังคงตั้งข้อสงวน ข้อ 16 (ความเสมอภาคในครอบครัว)  เอาไว้


[1]ดูรายละเอียดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย, โครงการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สาขานิติศาสตร์ สุโขทัยธรรมธิราช พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 2.

[2]ดูรายละเอียด นพนิธิ สุริย  “สิทธิมนุษยชน”  สรุปคำบรรยายวิชาสิทธิมนุษยชน, LA 253 มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2520.

[3] G. Oestreich, Die Entwicklung der Menschenrechte und Grundfreiheiten, in: Bettermann-Neumann- Nipperday (Hrsg.), Die Grundrechte, Bd.1, 1.Hbd., 1966, S. 13. อ้างใน บุญศรี  มีวงศ์อุโฆษ, รายงานการวิจัยเรื่อง “หลักการใช้อำนาจขององค์กรที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ,” หน้า 94.

[4] จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมาย และความเป็นจริงทางสังคม, หน้า 63.  

[5] Davidson, Scott. Human Right, p. 28.

[6]วิระดา สมสวัสดิ์, คู่มือกฎหมายสำหรับผู้หญิง, หน้า 11-12.

[7] Article 1 of  The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women:                        “any distinction, exclusion, or restriction made on the basis of sex which has the effect or purpose of impairing or nullifying the recognition, enjoyment or exercise by women, irrespective of their marital status, on a basis of equality of men and women, of human rights and fundamental freedoms in the political, economic, social, cultural, civil or any other field.”

[8]Article 2  of  The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women:            “States parties to the Convention agree to establish equality of women through their national legal systems in a variety of ways: by conforming national constitutions or appropriate legislation to the principles of the Covenant, by enacting legal sanctions against discrimination, by prohibiting discrimination by public authorities and institutions, by establishing de jure equality of women and men, and by abolishing existing laws, regulations, customs, and practices (including penal provisions) which are discriminatory.”

[9] กนกวรรณ ภิบาลชนม์, “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ,” หน้า 105.

[10] Cook, “Enforcing Women's Rights through Law,” p.12.

                               -----------------------------------------

มีต่อข้อ 1.2  ข้อโต้เถียงประเด็นสิทธิสตรีใดที่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน    ในบันทึกต่อไปค่ะ

"สิ่งที่ถูกประกอบสร้างสะสมความเชื่อมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมแต่เราเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้"

หมายเลขบันทึก: 425578เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2011 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

 ต้องขอใช้เวลาอ่านมากๆ ทำความเข้าใจสักหน่อยนะคะ  ยอมรับว่าด้านวิชาการ ด้านกฎหมายไม่ค่อยแจ่มแจ้ง   ขอบคุณที่นำความรู้มาแบ่งปันค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • สุขสันต์วันวาเลนไทน์ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                        

ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคนนะครับ

การส่งเสริมความเท่าเทียมในสถาบันครอบครัว..ระหว่างหญิงชาย..น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกับการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ..คงต้องเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุดก่อน..บ้านเราก็มีปัญหาเรื่องนี้เยอะพอสมควร..ในวัฒนธรรมอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่..แต่สิ่งเรานี้ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนพอสมควร..ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเพราะหลายฝ่ายช่วยกันสร้างคุณค่าใหม่ขึ้นมา เพื่อยกระดับคุณค่าและการเข้าถึงอาชีพของผู้หญิงในหลายลักษณะที่ไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย

หลายวันที่แล้วผมไปมหิดล ศาลายา เห็นคนขับรถรางรับส่งคนภายในมหาวิทยาลัย มีแต่ผู้หญิงขับรถรางทั้งนั้น ล้วนแล้วแต่มีทักษะและความสามารถไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชายเลย หรือ กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ผ่านมา ผู้ตัดสินกีฬามวยสากลสมัครเล่น หลายครั้งกรรมการบนเวทีก็เป็นผู้หญิง ทั้งที่สองคนที่ต่อยกันบนเวทีเป็นผู้ชาย

หลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมในมิติที่ริดรอน ปิดกั้น หรือการกดทับในการเข้าถึงสิทธิสตรีในหลายๆ รูปแบบ..ผมคิดว่าเราควรช่วยกันสลายมายาคติต่างๆ..ที่ครอบงำความเชื่อ จนปราศจากการตั้งคำถามกับสรรพสิ่งรอบตัว ที่ปราศจากความเป็นธรรม ให้ลดลงน้อยถอยลงไป เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท