เอกสารความรู้เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของภาษา (language change) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม


ภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ

  

              เฉลิมลาภ  ทองอาจ[*]

 

          มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์  ที่ว่ามหัศจรรย์นั้นก็ด้วยเหตุว่า  มนุษย์มีศักยภาพในการคิดแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น  มนุษย์สามารถที่จะสร้างเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในโลกและ   ในจิต ซึ่งเรียกว่าการคิดมโนทัศน์  (conceptual thinking)  สามารถแยกแยะเพื่อหาสาเหตุของปัญหาและตัวแปรที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งเรียกว่าการคิดวิเคราะห์  (analytical  thinking)  สามารถสร้างสรรค์แนวทางหรือนวัตกรรมสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ซึ่งเรียกว่าการคิดสังเคราะห์หรือ     การคิดสร้างสรรค์  (creative  thinking) แต่การคิดทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากมนุษย์ไม่มีกระบวนการในการประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับสัญลักษณ์และความหมายของสิ่งต่างๆ หรือที่เรียกว่าภาษา  เพราะเหตุนี้ ภาษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนามนุษย์และสังคม  ดังที่  Chomsky (อ้างถึงใน  Stark, 1998) นักภาษาศาสตร์คนสำคัญของโลก ได้กล่าวถึงภาษาสรุปได้ว่า  ภาษาเป็นธรรมชาติอันสร้างสรรค์ของมนุษย์  เพราะแม้กระทั่งประโยคที่บุคคลใช้สื่อสารกัน ณ ขณะปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นประโยคที่มิได้ปรากฏว่ามีการใช้มาก่อนในประวัติศาสตร์  ด้วยเหตุนี้ การสื่อสารในชีวิตประจำวัน จึงเป็นกระบวนการสร้างสรรค์อยู่เสมอ   

๑.  ภาษาคืออะไร

          เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าภาษาจากรากคำในภาษาสันสกฤต พบว่าที่มีมาจาก “ภาษฺ” คือ เสียงพูด หรือการพูดจากัน ด้วยเหตุนี้ โดยทั่วไปจึงกำหนดความหมายของภาษาว่า  ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๖)  จะเห็นได้ว่านัยสำคัญของความหมายอยู่ที่คำว่า “ถ้อยคำ” (word)  ว่าหมายถึงอย่างไร  สำหรับคำนี้นั้น หมายถึง “เสียงที่มีความหมาย” ด้วยเหตุนี้ ภาษา จึงหมายถึง การใช้เสียงเพื่อสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างมนุษย์นั่นเอง  อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยากลุ่มที่ให้ความสำคัญกับภาษากลับมิได้มองว่า  ภาษาเป็นแต่เพียงเครื่องมือหนึ่งสำหรับการสื่อสารข้อมูลระหว่างมนุษย์เท่านั้น แต่ภาษายังเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล  ซึ่งทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้อีกด้วย แนวคิดนี้แสดงให้เห็นอำนาจหรือพลังของภาษาที่มีต่อบุคคล  นักจิตวิทยา  เช่น Gardner  (1983) ได้กล่าวถึงพลังของภาษา ไว้ในหนังสือ  “Frames of Mind: The Theory of Multiple Intelligences” สรุปได้ว่า  ภาษามีพลังถึง     4  ประการ ได้แก่  

                   ๑)  ภาษามีอำนาจในการชักนำให้เกิดพฤติกรรมของมนุษย์  ตัวอย่างเช่น  เมื่อบุตรหลานขอร้องให้ผู้ปกครองซื้อของเล่นให้  แล้วผู้ปกครองก็ซื้อให้ตามที่ร้องขอ  หรือการใช้ข้อความในป้ายหรือการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อบังคับให้บุคคลปฏิบัติตาม  เป็นต้น 

                   ๒)  ภาษาเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ  และทำให้บุคคลจำสิ่งนั้นได้  พลังของภาษาในข้อนี้  ถือว่าเป็นความสามารถทางสติปัญญา  (cognitive abilities) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างมโนทัศน์และหลักการ เช่น เราสามารถจำได้ว่า คำเป็นคำตายคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร  หรือหลักการใช้คำว่า “ทรง” เพื่อสร้างคำกริยาราชาศัพท์มีอะไรบ้าง     

                   ๓)  ภาษาเป็นสิ่งที่ใช้ส่งผ่านความรู้และขยายความรู้ของมนุษย์  เมื่อมนุษย์คิดค้นองค์ความรู้ต่างๆ ได้  ก็มักจะมีความพยายามในการส่งผ่านความรู้นั้นไปสู่บุคคลอื่นๆ  ตัวอย่างเช่น       ครูบรรยายหรืออธิบายความรู้ให้แก่นักเรียน  บิดามารดาบอกวิธีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ แก่บุตร  ความสำคัญของภาษาข้อนี้สามารถที่จะก่อให้เกิดวิวัฒนาการของวัฒนธรรม  (cultural evolution)  ได้ 

                   ๔)  ภาษาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการคิดเกี่ยวกับภาษาเอง  ซึ่งเรียกว่า  metalinguistic  เช่น การที่เด็กเล็กๆ ใช้ภาษาเพื่อถามผู้ปกครองเกี่ยวกับความหมายของคำ วิธีการแต่งประโยค  หรือไวยากรณ์ต่างๆ  หรือการที่นักภาษาศาสตร์พยายามที่จะศึกษาภาษาใดภาษาหนึ่ง 

          ด้วยเหตุนี้ การสรุปความหมายของภาษาว่าเป็นกระบวนการสื่อสารนั้นยังไม่เพียงพอ ในฐานะผู้ที่ศึกษาภาษา เราจะต้องเข้าใจว่า ภาษา หมายถึง เสียงที่ใช้เพื่อการสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆ สำหรับใช้ในการสื่อสารและการควบคุมพฤติกรรมของตนเองและผู้อื่น  ด้วยเหตุนี้ การใช้ภาษาจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก วิชาการที่เกี่ยวกับการใช้ภาษา อาทิ วิชาความเรียงชั้นสูง  วิชาวาทวิทยา    จึงเป็นวิชาสำคัญของนักศึกษาตั้งแต่ยุคกรีกเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน 

๒.  ภาษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

          ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาษาก็คือหน่วยเสียงและหน่วยความหมาย  แต่ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า เมื่อเสียงและความหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในบุคคล  ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการแปรเปลี่ยนของเสียงและความหมายนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย  การเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเสียงนี้ อาจจะเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงจากภายใน เพราะเกิดจากปัจจัยด้านชีววิทยา  อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของภาษาอาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ ซึ่งหากมองในระดับกว้าง การเปลี่ยนแปลงของภาษาก็อาจเกิดจากการที่บุคคลที่ใช้ภาษาตอบสนองต่อสภาพสังคม  เศรษฐกิจ  และการเมือง  หรือในด้านประวัติศาสตร์  เช่น  การเปลี่ยนแปลงของภาษาอาจเกิดการอพยพหรือย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเหล่านี้รวมเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก  (Mahoney, 2008)  หรือการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากปัจจัยทางสังคม 

          ดังที่กล่าวแล้วว่า  การเปลี่ยนแปลงของภาษาอาจเกิดจากปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก   ก็ได้  สำหรับนักภาษาศาสตร์นั้น มองว่า การเปลี่ยนแปลงของภาษาจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลง  กลไกดังกล่าวได้แก่  การกลายเสียง  การเทียบแบบและการยืมภาษาอื่น  (ปราณี  กุลละวณิชย์, ๒๕๔๕:  ๓๘๔-๓๙๙)  สำหรับในภาษาไทยนั้น  กลไกสำคัญที่ทำให้ภาษาไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้คือกลไกการยืมภาษาอื่น (borrowing)  ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ใช้ภาษาที่แตกต่างกันอย่างน้อย ๒ ภาษาที่จะต้องสื่อสารกัน  ด้วยความจำเป็นอันเนื่องมาจากการต้องติดต่อสัมพันธ์กันทั้งในด้านธุรกิจ การค้าหรือการเมือง  ทำให้ผู้ใช้ภาษาหนึ่งจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ 

                   ๑.  การบัญญัติศัพท์  หมายถึง การสร้างคำในภาษาเพื่อแทนคำในอีกภาษาหนึ่ง  ส่วนใหญ่วิธีการบัญญัติศัพท์จะใช้วิธีการประสมคำทั้งแบบไทยและคำสมาสแบบคำบาลีสันสกฤต  เช่น  น้ำแข็ง บัตรเติมเงิน  ห้างสรรพสินค้า  โทรศัพท์มือถือ  โทรทัศน์  ประชาธิปไตย รัฐบาล  โศกนาฏกรรม  วิสัยทัศน์ 

                   ๒.  การแปลศัพท์  หมายถึง  การแปลความหมายของคำศัพท์ในภาษาหนึ่ง มาใช้เป็นคำในอีกภาษาหนึ่งโดยตรง  เช่น  right hand  แปลว่า  มือขวา,  sea food แปลว่า อาหารทะเล,  tea spoon แปลว่า  ช้อนชา,  cold war  แปลว่า  สงครามเย็น,  black market  แปลว่า  ตลาดมืด, solar cell แปลว่า  เซลล์สุริยะ  เป็นต้น 

                   ๓.  การทับศัพท์  หมายถึง  การใช้อักษรของภาษาหนึ่งแทนเสียงของคำในอีกภาษาหนึ่ง  ทั้งนี้เพื่อคงเสียงของคำนั้นไว้  สำหรับในภาษาไทย มีทั้งคำทับศัพท์ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร  อังกฤษ  จีน  ญี่ปุ่น  คำทับศัพท์เหล่านี้เรียกว่า  คำยืมภาษาต่างประเทศ 

          ผลจากการที่ในภาษามีการหยิบยืมคำระหว่างกัน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาษาที่เป็นฝ่ายยืมหรือรับคำจากภาษาอื่นเข้ามาใช้ใน ๓  ลักษณะ ได้แก่ ผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงระบบเสียง  ผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงความหมาย และผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงในด้านไวยากรณ์  ดังนี้ 

                   ๑.  ผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงระบบเสียง 

                    ตัวอย่างผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงระบบเสียง เช่น การยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ เช่น  Bromine  โบรมีน,  Fluorene  ฟลูออรีน, Drum Major ดรัมเมเยอร์, treatment ทรีตเมนต์  คำเหล่านี้ ทำให้ในภาษาไทยมีเสียงพยัญชนะต้นควบเพิ่มขึ้น จากที่มีอยู่เดิม ๑๕ เสียง  ได้แก่  /บร/,     /ฟล/, /ดร/, /ทร/ หรืออย่างคำว่า  gas แก๊ส,  tennis เทนนิส facebook  เฟสบุ๊ค  ทำให้เกิดหน่วยเสียงพยัญชนะท้าย /s/  ซึ่งไม่มีปรากฏในภาษาไทย  และทำให้บางครั้งการออกเสียงคำบางคำในภาษาไทย ซึ่งเดิมไม่ออกเสียง /s/ เปลี่ยนมาออกเสียง /s/ เช่นคำว่า ปารีส 

                   ๒.  ผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงความหมาย    

                    การยืมคำภาษาอื่นมาใช้ในภาษาอาจทำให้ความหมายของคำในภาษาเดิมแคบลงหรือกว้างขึ้นกว่าเดิม  เช่น เดิมไทยใช้คำว่า  “ดั้ง” หมายถึงจมูกทั้งหมด แต่เมื่อยืมคำว่า “จมูก” จากภาษาเขมรมาใช้  คำว่า  “ดั้ง”  ซึ่งเป็นคำไทยแท้กลับลดความหมายเป็นเพียงส่วนของสันจมูกเท่านั้น โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงในด้านความหมายเกิดได้ใน ๓ ลักษณะ ได้แก่  ความหมายแคบเข้า (narrowing)  ความหมายกว้างออก (widening)  และความหมายย้ายที่  (transference)  ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของคำยืมภาษาบาลี-สันสกฤตที่เมื่อไทยยืมมาใช้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงความหมาย      (ศุภรางศุ์  อินทรา, 2548)

                             ๑)  ความหมายแคบเข้า (narrowing of meaning) คำยืมที่นำมาใช้แล้วความหมายแคบหรือจำกัดลงจากความหมายในภาษาเดิม  ซึ่งแบ่งได้เป็นความหมายแคบเข้าในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง เช่น 

 P          kiriyā  'ท่าทาง'                                              TH   /ki-ri-ya:/  'ท่าทางเรียบร้อย'                                                                           ในคำว่า มีกิริยา

 SKT     cārika  ‘เดินทาง’; SKT P  cārikā  ‘การเดินทาง’          TH   /ca:-rík/  ‘เดินทางไปแสวง                                                                              บุญทางศาสนา’   

 P          nimanta  ‘การเชิญ’                                          TH   /ni-mon/  ‘เชิญ (เฉพาะ                                                                                  พระสงฆ์)’   

 SKT P  vāsana  ‘การนุ่งห่ม,  สิ่งที่สะสมไว้แต่ปางก่อน’            TH   /wâ:t-sa-nǎ:/  ‘ความดีที่                                                                                สะสมไว้แต่ปางก่อน’   

 SKT P  harsฺa  ‘ขนลุก, ตื่นเต้น’                                        TH   /hǎn-sǎ:/  ‘รื่นรมย์ยินดี                                                                                  (ตื่นเต้นในทางดี)’   

 SKT P  sakula  'ร่วมตระกูล'                                           TH   /sa-kun/  'มีตระกูลดี, มาจาก                                                                           ครอบครัวที่ดี' ในคำว่า มีสกุล 

 SKT     karman  ‘การกระทำ’                                         TH   /kam/  ‘การกระทำที่ไม่ดี’   

 P          ditฺtฺhi  ‘ความเห็น’                                            TH   /thít-thìʔ/  ‘ความดื้อดึง                                                                                 (ความเห็นผิด)’   

 SKT     sādhāranฺa  ‘ทั่วไป’                                           TH   /sǎ:-tha:n/  ‘ชั่วช้าเลวทราม                                                                             (ทั่วไปในทางไม่ดี)’   

 SKT     sāmānya  ‘ทั่วไป’                                             TH   /sǎ:-ma:n/  ‘ชั่วช้าเลวทราม                                                                             (ทั่วไปในทางไม่ดี)’   

 SKT     sthūla  'หยาบ'                                                TH   /sa-thǔn/  'หยาบคาย, ต่ำช้า'

 SKT     apriya  'ไม่เป็นที่รัก'                                           TH   /àp-pri:/  ‘ชั่วช้า’

 SKT     ājñā  'คำสั่ง, คำอนุญาต'                                    TH   /ʔà:t-ya:/  ‘คำสั่งลงโทษ’

                             ๒)  ความหมายกว้างออก (widening of meaning) หมายถึง ความหมายของคำที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย ขยายออกจากความหมายของคำในภาษาเดิม ตัวอย่างเช่น 

SKT P  nātฺa  ‘การร่ายรำ, ผู้ร่ายรำ’                                    TH   /nâ:t/  ‘นางรำ > ผู้หญิงทั่วไป’   

 SKT P  vedī  ‘ยกพื้นที่เป็นที่บูชา’                                     TH   /we:-thi:/  ‘ยกพื้นทั่วไป’   

 SKT     sutā  ‘ลูกสาว’                                                 TH   /su-da:/  ‘ผู้หญิงทั่วไป’   

 SKT     himavant  ‘ภูเขาหิมาลัย’                                      TH   /hı̌m-ma-pha:n/  ‘ป่าเขาใน                                                                   วรรณคดี’   

 SKT     āirāvata  ‘ชื่อช้างของพระอินทร์'                            TH   /ʔay-ya-ra:/  ‘ช้างทั่วไป’       

 SKT     meru ‘ชื่อภูเขาที่เป็นหลักของโลกในตำนาน’                 TH   /me:n/  ‘ภูเขาทั่วไป’   

 SKT     pravāla  ‘หินมีค่าสีแดงเกิดจากปะการัง’                    TH   /pra-pha:n/  ‘หินมีค่าสีแดง’ 

 P          bārānฺasī  SKT  vārānฺasī  ‘ชื่อเมืองในอินเดีย’          TH   /pha:-ra:/   ‘เมืองทั่วไป’   

 P          sata-aṅga  ‘ส่วนของร้อย’                                 TH   /sa-ta:ŋ/  ‘เศษของบาท  >                                                                              เงินตราทั่วไปไม่ว่าประเทศใด'

                             ๓)  ความหมายย้ายที่  (transference of meaning) หมายถึง  ความหมายของคำในภาษาเดิมสูญหายไป และคำนั้นได้นำมาใช้ในภาษาไทยโดยกำหนดความหมายใหม่ ตัวอย่างเช่น 

SKT P  aparājaya  'ความไม่แพ้'                                       TH  /ʔà(p)-pa-ra:-chay/  '(ความ)                                                                          พ่ายแพ้'   

 SKT P  añjana  ‘การทา, สีทาตา’                                      TH   /ʔan-chan/  ‘ชื่อดอกไม้,                                                                                ชื่อนก’ 

 SKT P  anātha  ‘ไม่มีที่พึ่ง’                                             TH   /ʔa-na:-thǎ:/  ‘ยากจน’   

 P          ājāneyya  ‘(ผู้) มีตระกูลดี’                                 TH   /ʔa:-cha:-nay/, /ʔa:-cha:/                                                                             ‘ม้า’   

SKT     karavīka  ‘ชื่อเทือกเขาเทือกหนึ่ง                             TH   /ka(:)–ra-wík/  ‘ชื่อนก’ ;ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ’                                             /ka:-ra-wê:k/  'ชื่อนก, ชื่อต้นไม้’ 

 SKT     taskara  ‘ขโมย’                                                TH   /dàt–sa-kɔ:n/  ‘ข้าศึก’   

 SKT     dvesฺa  ‘ความเกลียดชัง’                                      TH   /tha-wê:t/  ‘ความเศร้าโศก’   

 P          nissita  ‘ผู้อาศัย’                                             TH   /ní-sìt/  ‘นักศึกษาใน                                                                                     มหาวิทยาลัยบางแห่ง’   

SKT     śaśi-dhara  ‘ผู้ทรงไว้ซึ่งพระจันทร์  คือพระศิวะ’           TH   /sà-si-thɔ:n/  ‘พระจันทร์’   

SKT P  santāna  ‘การแผ่ไป’                                            TH   /sǎn–da:n/  ‘นิสัยที่ติดตัว                                                                                ถาวร’   

 SKT     smara  ‘ความระลึกถึง'                                       TH   /sa-mɔ̌:n/  ‘ผู้หญิง’   

 SKT     horā  ‘ชั่วโมง, เวลา’                                          TH   /hǒ:n/  ‘หมอดูดวงชะตา’   

                   ๓.  ผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงในด้านไวยากรณ์ 

                   การเปลี่ยนแปลงไวยากรณ์  เกิดจากการใช้ประโยคหรือกลุ่มคำที่แปลในลักษณะที่เลียนแบบโครงสร้างของภาษาต่างประเทศ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงด้านไวยากรณ์อันเนื่องมาจากการเลียนแบบระบบประโยคภาษาต่างประเทศ เช่น 

                             In my  opinion                               ตามความเห็นของผม

                             We just found that…               เราเพิ่งพบว่า...

                   ตัวอย่างประโยคที่ได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างไวยากรณ์ของภาษาต่างประเทศ เช่น

                    ๑.  เขาถูกเชิญไปรับประทานอาหาร (ผิด)

                         เขาได้รับเชิญไปรับประทานอาหาร (ถูก)

                    ๒. เขาได้รับการลงโทษอย่างหนัก (ผิด)

                        เขาถูกลงโทษอย่างหนัก (ถูก)

                    ๓. เขาจับรถไฟไปเชียงใหม่ (ผิด)

                        เขาโดยสารรถไฟไปเชียงใหม่ (ถูก)

                        เขาไปเชียงใหม่ทางรถไฟ  (ถูก)

                    ๔. วาสิฏฐีแต่งโดยเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป (ผิด)

                        เสฐียรโกเศศและนาคะประทีปแต่งวาสิฏฐี (ถูก)

                        วาสิฏฐีเป็นนิพนธ์ของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป (ถูก)

                    ๕. กำหนดนัดตรงกับ ๒๐ นาฬิกา แต่เขามาสายไป ๑๕ นาที (ผิด)

                        กำหนดนัดตรงกับ ๒๐ นาฬิกา แต่เขามาช้าไป ๑๕ นาที (ถูก)

                    ๖. เธอพบตัวเองอยู่ในห้องคนเดียว  (ผิด)

                        เธอรู้สึกตัวว่าอยู่ในห้องคนเดียว  (ถูก)

                    ๗. สนามเต็มไปด้วยหญ้า (ผิด)

                         ในสนามมีหญ้าเต็ม (ถูก)

                         สนามมีหญ้าเต็ม  (ถูก)

                    ๘. กองทัพไทยภายใต้การนำของสมเด็จพระนเรศวร มีชัยชนะแก่กองทัพพม่า (ผิด)

                        กองทัพไทยซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงนำ ชนะกองทัพพม่า (ถูก)

                    ๙. ในอนาคตอันใกล้นี้ ฉันจะได้เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยแล้ว (ผิด)

                        ฉันจะได้เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเร็วนี้  (ถูก)

                    ๑๐. พอทราบผลการสอบไล่ เขาก็ตกอยู่ในห้วงแห่งความระทมทุกข์ (ผิด)

                          พอทราบผลการสอบไล่เขาก็เกิดความระทมทุกข์  (ถูก)

          แม้ว่าภาษาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้หลายลักษณะดังที่กล่าวมา แต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นักภาษาศาสตร์ถือว่าเป็นธรรมชาติของภาษาที่ยังไม่ตาย  เพราะภาษาที่พูดจากันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปร  (variation) ซึ่งหากการเปลี่ยนแปรนั้นเกิดขึ้นอย่าง     ถาวรแล้ว ก็จะเรียกว่าภาษามีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นสำหรับการใช้ภาษาในรูปแบบสมัยนิยม     เช่น คำคะนอง หรือสำนวนภาษาของวัยรุ่น นักภาษาศาสตร์จะถือว่าเป็นแค่การเปลี่ยนแปร แต่ยังไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับภาษา   

________________________________

รายการอ้างอิง

ภาษาไทย

ปราณี  กุลละวณิชย์.  ๒๕๔๕.  กลไกที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลง.  การเปลี่ยนแปลงของภาษา ใน     เอกสารการสอนชุดวิชา  ภาษาไทย ๓ หน่วยที่ ๗-๑๕.  พิมพ์ครั้งที่  ๑๐.  นนทบุรี:          มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.

ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๖.  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ:           นานมีบุ๊คส์.

ศุภรางศุ์  อินทรา.  2548.  การเปลี่ยนแปลงความหมาย [Online]. แหล่งที่มา: http://www.huso.           buu.ac.th/thai/web/personal/subhrang/208322/208322chap7.htm [8 กุมภาพันธ์ 2554]

 

ภาษาอังกฤษ

Gardner, H. 1983.  Frames of mind: The theory of multiple intelligences. New York: Harper      Collins.

Mahoney, N.  2008. Language change [Online]. Available from: http://www.nsf.gov/news/           special_reports/linguistics/change.jsp [2011, Feb 8]

Stark, A.  1998. Noam Chomsky on language [Online]. Available from: http://www.chomsky.    info/onchomsky/199812--.pdf [2011, Feb 8]

 



[*] ค.บ. (เกียรตินิยมอันดับ ๑) ภาษาไทย (จุฬาฯ)

  ค.ม. การสอนภาษาไทย (จุฬาฯ)

  อาจารโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาิวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม 

หมายเลขบันทึก: 425373เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2011 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบพระคุณคะ ดิฉันเรียนวิชาภาษาศาสตร์เบื้องต้นอยู่พอดี ได้ความรู้ เข้าใจง่าย คุณครูเก่งค่ะ

ขอบคุณคะได้ความรู้เพิ่มขึ้นที่จะเอาไปทำการบ้านคะ ขอบคุณครูมากๆคะ

ขอบคุณค่ะมีรายงานของภาษาไทยพอดี ขอบคุณมากๆค่ะ

ขอบใจมาก 

เป็นประโยชน์ต่อครูที่สอนไม่่ตรงวิชาเอกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท