KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๑๓. ปัญญาปฏิบัติรวมหมู่เพื่อนวัตกรรมต่อเนื่อง


          นี่คือหัวข้อการบรรยายพิเศษของ ศ. คูอิจิโร โนนากะ ที่เป็นปาฐกถาเกียรติยศเปิดการประชุมมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ย. ๕๓ ที่บางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว

          ย้ำนะครับ ว่า Prof. Ikujiro Nonaka มองว่า KM คือเครื่องมือสร้างและใช้ปัญญาปฏิบัติ แบบที่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม ไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

          ผมตีความว่า การสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง คือการเรียนรู้   องค์กรเรียนรู้ บุคคลเรียนรู้ แสดงออกโดยมีการสร้างนวัตกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง ในภารกิจหลักของตน

         ท่านให้ชื่อการบรรยายของท่านว่า Towards a Dynamic Knowledge-Based Management : Collective Practical Wisdom as a Source of Sustainable Innovation   โดยสามารถ ดาวโหลด PowerPoint ประกอบการบรรยายของท่านได้ที่นี่

          ท่านเตือนว่า อย่าหลงผิด คิดว่า KM คือการใช้ ICT อย่างชาญฉลาด   จริงๆ แล้ว KM เน้นที่คน   อย่าหลงผิดคิดว่า KM เป็นเรื่องของหัวหน้าเท่านั้น   จริงๆ แล้ว KM เป็นเรื่องของทุกคน ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และการสร้างความรู้หรือปัญญาเป็นหัวใจ

         ตีความคำว่า “ความรู้” ตามแนว KM   ท่านบอกว่าความรู้ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในตำราหรืออยู่ในตัวครูอาจารย์   แต่เป็น “กระบวนการในคน”  และผมตีความต่อ ว่าเป็นกระบวนการระหว่างคน  เป็นกระบวนการตัดสินความเชื่อของตนไปสู่ความเป็นจริง 

          จะเห็นว่า “ความรู้” เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในคนต่างคน   เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ขึ้นกับความเชื่อ อารมณ์ และยังขึ้นกับสถานการณ์ในขณะนั้น ที่เรียกว่า context-specific   ซึ่งหมายความว่า แม้ในคนๆ เดียวกัน การตีความเรื่องใดเรื่องหนึ่งยังแตกต่างออกไปตามสถานการณ์หรือบริบท

          KM จะมีพลังมาก หากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน (social interaction) มีชีวิตชีวา   เพราะนั่นคือบ่อเกิดของ “ความรู้”

          KM จะมีพลังมาก หากมีมิติของสุนทรียภาพ คือความจริง ความดี ความงาม

        ทั้งหมดนี้เกิดได้ง่ายดาย ผ่านการลงมือทำ หรือการปฏิบัติ

          เราจะเข้าใจข้อความข้างต้นได้ดีขึ้น ลึกขึ้น หากเราเข้าใจว่า “ความรู้” มี ๒ ชนิด คือ ความรู้ฝังลึก กับความรู้แจ้งชัด   และความรู้ ๒ ชนิดนี้สามารถหมุนเวียนส่งเสริมซึ่งกันและกันเป็นวงจรหรือเกลียวความรู้ ยกระดับขึ้นไปไม่สิ้นสุดหรืออย่างต่อเนื่อง   ผ่านกระบวนการ socialization, externalization, combination, และ internalization  โดยทำผ่านปัจเจกบุคคล  กลุ่มคนหรือทีมงาน  องค์การ   โดยมีบรรยากาศแวดล้อมที่มีอิสรภาพและมิตรไมตรีเป็นตัวสนับสนุน 

          ศ. โนนากะบอกว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่งความไม่แน่นอน จึงต้องการภาวะผู้นำแบบใหม่ คือภาวะผู้นำที่มี “ปัญญาปฏิบัติ” ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า practical wisdom  และคำที่มาจากภาษากรีกว่า phronesis

         ผู้นำที่มี ปัญญาปฏิบัติ แสดงออกที่  (๑) รู้ว่าต้องทำอะไร เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม  เป็นคนที่ “จิตใหญ่”  มองเห็นสิ่งดี ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่สังคม ในภาพใหญ่   แต่ในขณะเดียวกันก็มองเห็นและดำเนินการที่รายละเอียดตรงจุดรอยต่อที่กำลังเปลี่ยนแปลง   (๒) ผู้นำที่ใช้วิจารณญาณโดยตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นกับบริบท   ตัดสินใจโดยรู้ว่าทุกสิ่งเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง   ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับกาลเทศะ

         ผู้นำคือผู้มีปัญญาเกี่ยวกับ เทศะ และกาละ   นำมาใช้ในการตัดสินใจได้อย่างพอดี พอเหมาะ

         ปัญญาปฏิบัติ ประกอบด้วย ขีดความสามารถหลัก ๖ ประการ   ซึ่งได้บันทึกไว้แล้วที่นี่

         ผู้นำคือผู้มีความสามารถดึงเอาความรู้ของทุกคนในหน่วยงานหรือองค์กร ออกมาสร้างคุณค่า   เพื่อสร้างนวัตกรรมต่อเนื่อง   เป็น distributed innovation หรือนวัตกรรมแนวเปิดช่องหรือสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนสร้างสรรค์   ไม่ใช่นวัตกรรมรวมศูนย์หรือผูกขาดอยู่ที่ระดับผู้บริหาร   ปัญญาปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงต้องเป็นปัญญาปฏิบัติรวมหมู่ (collective practical wisdom) และเป็นปัญญาปฏิบัติกระจายโอกาส กระจายบทบาท (distributed practical wisdom)

 

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ม.ค. ๕๔
 
                

 

คำสำคัญ (Tags): #km วันละคำ#nonaka#540214
หมายเลขบันทึก: 425229เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2011 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมมีคำถามครับ  การจัดการความรู้กับการจัดการข้อมูลต่างกันอย่างไร เนื่องจากที่มาของคำถามที่ผมพยามยามจะหาคำตอบคือ รัฐวิสาหกิจกำลังทดลองระบบประเมินคุณภาพแบบใหม่ที่เรียกว่าState Enterprise Performance Appraisal:SEPA ซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดการความรู้แต่ที่ผมเห็นเป็นปัญหาคือความเข้าใจในกระบวนการจัดการความรู้ขององค์กรต่างๆดูคลุมเครือ ในลักษณะของ"ความรู้"ที่ระบบประเมินใหม่ต้องการดู้เหมือนเขาต้องการข้อมูลมากกว่าความรู้ยกตัวอย่างข้อมูลความต้องการลูกค้า หรือvoice of costomer  นำไปปรับปรุงการบริการหรือความรู้ที่เขาบอกว่าต้องมีควาถูกตรวจสอบได้

เหล่านี้มันจะก่อเกิดเกียวความรู้ได้หรือไม่อย่างไรครับขอถามด้วยความไม่เข้าใจจริงขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท