ปฏิรูปการศึกษาแบบยิงผิดเป้า



          บทความเรื่อง Improving Teachers : Lessons Learned  ในThe Economist ฉบับวันที่ ๖ ม.ค. ๕๔  ที่ผมเข้าไปค้นหลังจากอ่านจดหมายถึงเพื่อนสมาชิก ของ สสค. ฉบับวันที่ ๑๖ ม.ค. ๕๔   ทำให้ผมเขียนบันทึกนี้

          ในช่วงเวลาประมาณ ๒ – ๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา  ผมเกิดความเข้าใจว่า ความผิดพลาดในการจัดการระบบการศึกษาไทย ในช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ที่เรียกว่าการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษแรก   แล้วมีผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้อยลง   ทั้งๆ ที่เราลงทุนด้านการศึกษาสูงมาก คือประมาณร้อยละ ๕ ของ จีดีพี   สูงพอๆ กับประเทศกลุ่ม โออีซีดี หรือเราอาจลงทุนสูงกว่าด้วยซ้ำ  

          ใช้เงินมาก ได้ผลน้อย คิดแบบกำปั้นทุบดินได้ว่าต้องมีความผิดพลาดในระบบ   แล้วผมก็ได้ข้อสรุปว่า เพราะเราออกแบบให้ทรัพยากรไปที่ “ตัวแทน” (proxy)   แทนที่จะไปที่เป้าหมายโดยตรง คือที่เด็กนักเรียน

          เป้าจริงคือนักเรียน ดูที่ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของเด็ก   เป้าตัวแทน (proxy) คือครู และผู้บริหารในกระทรวงศึกษาฯ   เวลานี้เงินหมดไปกับ proxy แทนที่จะไปที่เด็กหรือผลสัมฤทธิ์ของเด็ก  

          ข้อสรุปนี้สนับสนุนโดยบทความใน The Economist ข้างต้น  หลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาเข้าใจเส้นผมบังภูเขาข้อนี้ และปฏิรูประบบโดยเน้นให้รางวัลและผลประโยชน์ที่ “เป้าจริง” คือผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของเด็กที่สูงตามเป้าหมายที่ต้องการ   ครูและโรงเรียนที่มีผลงานตามเป้าจริงเข้าขั้น จะได้รับการตอบแทนต่างๆ สูงมาก   ครูที่ผลงานไม่เข้าเป้า ต้องพัฒนาตัวเอง โดยทางการจะช่วยเหลือ   แต่ถ้าลงท้ายพัฒนาตนเองไม่สำเร็จ ผลงานที่ตัวเด็กยังต่ำ ก็จะถูกปลด

          รายงานของ McKinsey เรื่อง How the world's most improved school systems keep getting better ก็บอกชัดเจนว่า วิธีการที่สำคัญคือ ให้ผลประโยชน์แก่ผลสัมฤทธิ์ที่ตัวเด็ก   โดยต้องมีการตั้งเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ แล้วมีการช่วยกันทำงานเป็นทีม   มีการวัดผลเพื่อพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนที่ตั้งเป้าไว้  

          ผมเชื่อว่า หากระบบการศึกษาไทยไม่ดำเนินการแนวนี้   ยังให้ผลประโยชน์แก่ครูและผู้บริหารการศึกษาแบบไม่แยกแยะผลงาน   ไม่คำนึงถึงผลงานที่ตัวเด็ก   การศึกษาไทยในศตวรรษที่ ๒ ของการปฏิรูป จะยิ่งดิ่งตกเหวลงไปอีก

 

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ม.ค. ๕๔
 
        
              

 

หมายเลขบันทึก: 424834เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเห็นจุดนี้มานานแล้วครับ แต่ไม่เห็นมีนักการศึกษาหรือผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการออกแบบวิธีปฏิรูปการศึกษาคนไหนพูดถึง มีแต่สนับสนุนกันให้เร่งพัฒนาตัวแทนโดยไม่มีใครให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่แท้จริงเลย

อีกเรื่องที่ย้ำกันซ้ำๆซากๆก็คือการบอกว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากระบบ ระบบดีอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว

อยากจะถามว่าถ้าระบบมันดีอยู่แล้ว ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กไม่ถึงร้อย ปัญหาขาดครูจากกระบวนการบริหาร ไม่ใช่ขาดจริงตามปริมาณ ตามสัดส่วน ซึ่งเป็นแค่หนึ่งในร้อยของปัญหาทั้งหมดมันเกิดจากอะไร ?

ธรรมชาตินักวิชาการอาจคิดแคบ แต่ไม่ควรใจแคบ เมื่อเข้ามาแล้วหาทางออกไม่เจอ ก็ควรออกไปทางที่เข้ามาได้

หรือจะถือทิษฐิยอมพากันตายอยู่ในรูนี่ดีครับ !

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

    ปัญหามากมายก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ ที่ว่าใหม่คือแค่ในเชิงเทคนิคหรือวิธีการที่พัฒนาในเชิงปริมาณ แต่เชิงคุณภาพก็ไม่ชัดเจน เป็นกระบวนทัศน์ที่เหมือนเดิม "คิดใหม่แต่ทำเหมือนเดิม" กระบวน ทัศน์ที่อยู่ขอบเขตแสนจะธรรมดา แต่ทิฐิมานะสูงลิ่ว ผลแห่งกรรมจึงไปตกกับนักศึกษา เสียเงินเรียนมากมาย ทักษะต่างๆที่จะมีตนเป็นพึ่งกลับตกต่ำมากจนน่าใจหาย เสียเวลาก็มาก เสียเงินก็มาก บางคนเงินเรียนจบไปหลายปีก็ยังมีหนี้มากมาย ทั้งนอกและในระบบ บางครอบครัวถึงกับต้องขายที่ ขายนา ขายวัว ขายควายเรียน เช่นกระผมก็มี ที่กระผมยังโชคดีที่เจอครู เจอปราชญ์ เจอของจริง ที่บูรณาการความรู้มาใช้ได้ก่อนที่จะขายนาผืนสุดท้ายไป  เพราะรอดทันหวุดหวิด หากเจอ  “ตัณหาและความบ้าที่มากมาย จากขยะทางวิชาการที่เอาแต่ท่องจำสุดโต่ง” เอา ความรู้จากตะวันตกมาแบบทั้งดุ้น ยิงสายตรงมาเลย ไม่เข้าใจบริบทตัวเอง จากวงการศึกษาที่ทำๆกันอยู่แบบปัจจุบัน อันแสนจะแห้งแล้งผาก ไร้ชีวิตชีวา สงสัยป่านนี้ ที่นาดอนคงต้องขาย บ้านแตกสาแหรกขาดเป็นแน่ เพราะหมดที่ หมดทรัพย์ที่พอทำกินไม่มากมาย จากการเล่าเรียนที่แสนแพง เสียเงินเรียนเพื่อแสวงหาปัญญาจากใบปริญญาเพื่อรับรองตัวเอง ว่าคือ “ผู้มีปัญญา” ตอนนี้ผมตอบตัวเองได้แล้วว่า ภาพรวมมันมีแต่วิชาการแห้งๆ วิชาแห่งมายา (ฝันนั้น ฝันนี่ คิดไปเอง วาดวิมานในอากาศ จะเอาความรู้ ข้อแนะนำจริงๆไปใช้ก็ไม่ค่อยได้)  และชอบเอาความรู้ ข่าวสารแบบแยกส่วน มาท่องจำอันแสนจะมึนงงอยู่มาก (ในความรู้สึกผมเรียกได้ว่าเกินครึ่งของปลอมทั้งนั้น) ตกลงทำแล้วได้อะไรเพื่ออะไร ไม่เคยชัด สอบเสร็จจบแล้วก็ลืม  “เลิกสร้างสัญญาปลอมได้ไหมครับผม”  วิงวอนท่านที่เกี่ยวข้อง ท่านผู้ทรงภูมิ ทรงคุณวุฒิ นักการเมืองและผู้เกี่ยวข้อง โปรดพิจารณาถึงผลการกระทำด้วย เปิดจิต เปิดใจ สู่การสร้างเส้นทางแห่งการสร้างสรรค์ดีกว่าไหมครับ สรุปบทเรียนที่ผ่านมาว่าที่ท่านกำลังทำอยู่ เป็นการสร้าง “professional diploma” หรือ “dummy diploma”  ผมเชื่อว่าคนเราอยากทำดี อยากเป็นคนดี มีคนยอมรับความสามารถ อยากพัฒนาสิ่งที่ดี สังคมเรามีผู้รู้มากมายในสังคมและในระดับสังคมโลก มีปราชญ์หลายท่านจะช่วยท่านได้ ยิ่งผู้หลักผู้ใหญ่ท่านยิ่งมีเครือข่ายมาก บารมีมาก ที่จะช่วยทำงานได้ หาคนทำงานจริงในแต่ละเรื่องครับผม เอาของจริงเลยครับผม ผมเชื่อมั่นว่าผลงานเกิดแน่นอน ท่านเสาะแสวงหาดีๆครับผม หากท่าน "คิดใหม่แต่ทำเหมือนเดิม" จะได้ผลแบบเดิมครับผม มันก็มีทางออกอยู่ครับผมเปิดจิต  เปิดใจ ดับทิฐิมานะในใจท่าน สู่การสร้างเส้นทางแห่งการสร้างสรรค์  ขอเรียนว่าท่านที่เกี่ยวข้องโปรดเห็นใจ เด็กนักเรียน นักศึกษา และสังคมที่กำลังเสื่อมโทรมด้วยวิธีการสร้าง “บัณฑิตไร้ปัญญา” ด้วยเถิดครับผม อย่าเอาข่าวสารแบบแยกส่วน มาท่องจำ สร้างสัญญาปลอมให้นักศึกษาเลยมันจะจนท่วมท้นกับการวาดวิมานในอากาศ ยุคต่อไปเขาต้องเจอสิ่งที่หลากหลายในโลกแห่งความสับสน ยุ่งเหยิง ที่ทั้งข่าวสารและการแข่งขันที่สูงมากเป็นเงาตามตัว ตามเศรษฐกิจ สังคม ข่าวสาร ตลอดจนศิลปะและวัฒนธรรม ความไม่ตระหนักรู้ในบางเรื่องแม้ไม่มาก บางอย่างอาจจะทำให้เกิดผลเสียหายสูง เพราะขาดทักษะที่จะมีตนเป็นที่พึ่ง ทั้งตัวเขาเอง ครอบครัว สังคมก็จะตกทุกข์ไปด้วย ตอนนี้มันสุดโต่งมากไปทางเสื่อมมากแล้ว สังคมเราเสื่อมลงมากแล้วในหลายมิติและหนักลงทุกวันครับผม  ช่วยเปลี่ยนกระบวนทัศน์เข้าสู่ทางแห่งการสร้างสรรค์ด้วยเถิด ท่านผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ช่วยกันคนละไม้คนละมือครับผม ก่อนที่จะเสียหายหนักกว่านี้ ขอให้กำลังใจในความพยายามในการทำหน้าที่โดยธรรมทุกท่านครับผม

 

ด้วยความเคารพครับผม

   นิสิต                                                                                                                                    

อาจารย์วิจารณ์ครับ  การปฏิรูปการศึกษารอบ ๒ นี้ ก็คงไปไม่ถึงไหน  เพราะว่าจนปานนี้แล้วอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หลายคนยังไม่เคยได้ยินเลย  การปฏิรูปการศึกษาอันแรกสุดต้องลดอำนาจส่วนกลาง  คือจะต้องปฏิรูปการปกครอง  โดยการกระจายอำนาจก่อนแล้วกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาไปอยู่ตามท้องถิ่น และต้องทำอื่นๆ อีกมาก แต่ขอแค่นี้ก่อนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท