การอ่านจับใจความ


การอ่านจับใจความคือทักษะพื้นฐานของการอ่านทุกประเภท

เรียบเรียงโดย เฉลิมลาภ ทองอาจ 

 

                การอ่านจับใจความ  เป็นความสามารถในการอ่านขั้นพื้นฐาน  มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อความหรือเรื่องราวที่อ่านว่าเกี่ยวกับสิ่งใด  มีจุดประสงค์เพื่อจะเสนอความคิดเรื่องใด  มีเหตุการณ์ที่สำคัญอะไรบ้าง  มีบุคคลหรือตัวละครใดบ้างที่เกี่ยวข้อง  บุคคลหรือตัวละครเหล่านั้นแสดงพฤติกรรมอย่างไรและได้รับผลอย่างไร  การพัฒนาความสามารถในการอ่าน           จับใจความจึงมีความสำคัญยิ่ง  เนื่องจากในชีวิตประจำวัน  นักเรียนจะต้องใช้การอ่านเพื่อรับข้อมูลต่างๆ จำนวนมาก  เช่น  การอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์  การอ่านประกาศของโรงเรียน  การอ่านหนังสือและตำราเรียนต่างๆ  เป็นต้น  ดังนั้น  หากนักเรียนไม่สามารถจับใจความหรือเข้าใจเรื่อง     ที่อ่าน  นักเรียนก็จะไม่มีข้อมูลสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาหรือปฏิบัติงาน  ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง 

หลักการอ่านจับใจความ   

นักวิชาการด้านการอ่านได้เสนอหลักการอ่านจับใจความ   ซึ่งนักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านจับใจความและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านได้  ดังนี้

                ๑.  ควรขยายฐานประสบการณ์ของตนเอง  ผู้ที่สามารถอ่านจับใจความได้ดี  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ  ดีพอสมควร  เนื่องจากข้อมูลที่อ่านมีหลากหลายประเภท  เช่น  ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์  ศาสนา  ปรัชญา  วรรณคดี  เป็นต้น  สาเหตุที่ทำให้นักเรียนอ่านเรื่องเหล่านี้แล้วไม่เข้าใจเป็นเพราะนักเรียนไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพียงพอ  ที่สำคัญคือขาดการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม  นักเรียนสามารถแก้ปัญหาเรื่องการขาดประสบการณ์ได้ด้วยการเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ  อาทิ  การอ่านหนังสือพิมพ์  นิตยสาร  กระดานสนทนา บล็อก   Hi5  การชมรายการข่าวทั้งในและต่างประเทศ  เป็นต้น 

               ๒.  ควรสร้างแรงจูงใจและความสนใจในการอ่าน  การสร้างแรงจูงใจสามารถกระทำได้โดย  การอ่านเรื่องอย่างคร่าวๆ  การตั้งคำถามนำถามตนเอง  เช่น  เรื่องที่อ่านมีเนื้อหากล่าวถึงสิ่งใด  มีบุคคลหรือตัวละครใดเกี่ยวข้องบ้าง  เหตุการณ์ที่สำคัญในเรื่องคืออะไร  เกิดขึ้น     ที่ไหน  เวลาใด  และเหตุการณ์ใดเป็นเหตุเป็นผลกัน  เป็นต้น  ขณะที่อ่านเรื่อง นักเรียนควรพยายามตอบคำถามเหล่านี้  ซึ่งจะทำให้นักเรียนรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องได้อย่างครบถ้วน      ส่วนการสร้างความสนใจในการอ่าน  นักเรียนสามารถกระทำได้โดยการสนทนาหรืออภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดสำคัญของเรื่องกับเพื่อนร่วมชั้น  ครู  หรือผู้ที่อ่านเรื่องเดียวกัน  เป็นต้น  ซึ่งหากนักเรียนสนใจเรื่องที่อ่านมากเพียงใด  นักเรียนก็จะสามารถจับใจความและเข้าใจเรื่องที่อ่านได้มากขึ้นเพียงนั้น

                ๓.  ควรสังเกตและพิจารณาโครงสร้างของย่อหน้า  การเขียนข้อความเป็นย่อหน้า  ผู้เขียนที่ดีจะต้องเข้าใจกลวิธีการสร้างและเรียบเรียงย่อหน้าให้ชัดเจน ซึ่งย่อหน้าแต่ละย่อหน้าจะมีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว  ดังนั้น  วิธีการที่นิยมที่สุดในการสร้างย่อหน้าคือการวางประโยคที่กล่าวถึงใจความสำคัญไว้เป็นประโยคแรก  นักเรียนจึงต้องสังเกตประโยคแรกของย่อหน้าทุกครั้งที่อ่านจับใจความ  เพราะเมื่อนำใจความของทุกประโยคในแต่ละย่อหน้ามาสัมพันธ์กัน  นักเรียนก็จะสามารถจับใจความของทั้งเรื่องได้อย่างครบถ้วน      

                ๔.  ควรพิจารณาโครงสร้างการเขียนแสดงเหตุผล  นักเรียนควรพิจารณาข้อความหรือเรื่องที่อ่านว่า  ผู้เขียนมีวิธีสัมพันธ์แต่ละย่อหน้าเข้าไว้ด้วยกันอย่างไร  วิธีการสัมพันธ์ย่อหน้าที่สำคัญ  ได้แก่  การอุปนัย  หมายถึง  การกล่าวถึงข้อมูลตัวอย่างหรือรายละเอียดต่างๆ  ก่อน  แล้วจึงสรุปเป็นหลักการ  แนวคิด  หรือข้อค้นพบ  และการนิรนัย  หมายถึง  การกล่าวถึงหลักการ แนวคิดหรือข้อค้นพบก่อน แล้วจึงแสดงหรืออธิบายตัวอย่างหรือรายละเอียดต่างๆ  โครงสร้างการแสดงเหตุผลทั้งสองวิธีนี้มีผลต่อการอ่านจับใจความ กล่าวคือ  ข้อความที่โครงสร้างแบบอุปนัย  ใจความสำคัญจะอยู่ตอนท้ายของข้อความ  ส่วนข้อความที่มีโครงสร้างแบบนิรนัย  ใจความสำคัญจะอยู่ต้นข้อความ  นักเรียนควรพิจารณาโครงสร้างการแสดงเหตุผลดังกล่าว  เพื่อให้สามารถจับใจความได้อย่างแม่นยำ  ถูกต้องและเป็นพื้นฐานของการอ่านอย่างมีวิจารญาณต่อไป

              ๕.  ควรคาดการณ์หรือทำนายความคิดของผู้เขียน  นักเรียนควรคาดการณ์หรือทำนายความคิดของผู้เขียนด้วยการตั้งคำถามเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่อ่าน    ตัวอย่างคำถาม  ที่สำคัญ  ได้แก่  ผู้เขียนต้องการเสนอเรื่องใด  ผู้เขียนมีเจตนา  วัตถุประสงค์และความรู้สึกอย่างไรต่อการเขียนข้อความดังกล่าว  ผู้เขียนต้องการให้เกิดสิ่งใดต่อไปจากข้อเขียนของตนเอง  เป็นต้น             สิ่งเหล่านี้อาจมิได้ปรากฏในข้อเขียนโดยตรง  แต่นักเรียนจะต้องสังเกตการณ์ใช้ถ้อยคำ  สำนวนภาษาและน้ำเสียงของผู้เขียน  การคาดการณ์และทำนายความคิดของผู้เขียน  นอกจากจะทำให้จับบใจความได้แล้ว  ยังทำให้นักเรียนเข้าใจความคิดเบื้องหลังของผู้เขียนอีกด้วย

                ๖.  ควรสังเกตข้อมูลที่เป็นตัวบ่งชี้ใจความสำคัญ  นักเรียนควรสังเกตและจดจำข้อมูลที่เป็นตัวบ่งชี้ใจความสำคัญ  ซึ่งได้แก่  รูปภาพ  แผนภาพ  แผนภูมิ   หัวข้อหลัก  หัวข้อรอง     ที่ปรากฏในเรื่องที่อ่าน  เนื่องจากตัวบ่งชี้เหล่านี้จะแสดงเนื้อหาหรือข้อมูลที่สำคัญของเรื่อง  และทำให้นักเรียนเข้าใจภาพรวมของเรื่องที่อ่านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

                ๗.  ควรใช้เทคนิคสร้างความเข้าใจและการจำ  หากข้อมูลหรือเรื่องที่อ่านมี      ขนาดยาว  การใช้เทคนิคสร้างความเจ้าใจและการจำ  จะช่วยให้นักเรียนจับใจความสำคัญของเรื่องได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น  เทคนิคที่นักเรียนสามารถนำมาใช้  ได้แก่  การจดบันทึกสรุป  การวาดแผนภาพหรือแผนผังสรุป  การทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ลงบนข้อความ  เป็นต้น  ตัวอย่างแผนผังที่นักเรียนสามารถวาดเพื่อสรุปใจความสำคัญเรื่องที่อ่าน เช่น  ๑)  แผนผังก้างปลา  ๒)  แผนผังต้นไม้  ๓)  แผนผังลำดับเหตุการณ์    ๔)    แผนผัง  ๕  คำถาม  (๕ W’s)  ๕)    แผนผังโครงเรื่อง

                ๘.  ควรพิจารณาและจดจำความหมายของคำศัพท์ที่สำคัญในเรื่อง  เนื่องจากนักวิจัยด้านการอ่านพบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการอ่านจับใจความหรือการเข้าใจเรื่องที่อ่านคือความเข้าใจคำศัพท์ของผู้อ่าน  ดังนั้นนักเรียนจึงควรพัฒนาความเข้าใจคำศัพท์ด้วยการศึกษาความหมายของคำศัพท์ที่ปรากฏในเรื่องจากพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  ๒๕๔๒  อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากพจนานุกรมฉบับดังกล่าวมีขนาดไม่เหมาะแก่       การพกพา ดังนั้น นักเรียนจึงควรจัดหาพจนานุกรมนักเรียน ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นโดยบุคคลและสำนักพิมพ์ต่างๆ  เพื่อให้สามารถค้นความหมายของคำศัพท์ได้ทันทีที่ต้องการ หรือค้นหาความหมายของคำศัพท์จากเว็บไซต์  http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp  ซึ่งเป็นเวบไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน 

              ๙.  ควรอ่านทบทวนใจความสำคัญของเรื่องอย่างสม่ำเสมอ  นักเรียนควรทบทวนใจความสำคัญของเรื่องที่อ่าน   หากระลึกถึงเรื่องที่เคยอ่านแล้วเกิดภาวะลืมหรือจำไม่ได้             การทบทวนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้นักเรียนจดจำเรื่องที่อ่านได้คงทนยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม           การทบทวนในที่นี้  มิได้หมายถึงการอ่านใหม่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง  แต่ให้นักเรียนทบทวนประเด็นหรืออใจความที่ได้บันทึก  ทำสัญลักษณ์  เครื่องหมายหรือวาดเป็นแผนภาพ แผนผัง  ไว้แล้วไตร่ตรองว่าสัญลักษณ์หรือแผนผังเหล่านั้นสื่ออะไร  มีความหมายว่าอย่างไร  การจดจำสัญลักษณ์หรือภาพเหล่านี้จะทำให้นักเรียนระลึกข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น

              

 

                               

                    

                               

หมายเลขบันทึก: 424756เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นประโยชน์มากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท