การบริหารการวิจัย (research management)


การขับเคลื่อนการวิจัยสู่เป้าหมาย

มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีิวิต
 

                                                                                     เฉลิมลาภ ทองอาจ[*] 

          จุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ำทำให้การวิจัยด้านศาสตร์การสอนภาษาไทยดูจะไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ก็ืคือ ความขาดแคลนระบบของการบริหารการวิจัยในสถาบันการศึกษา จะได้เห็นได้ชัดว่า หน่วยงานในโรงเรียน หรือในระดับเขตพื้นที่การศึีกษาที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนั้น แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกัีบเรื่องการวิัจัยอยู่มาก แต่ระบบของการสนับสนุนและการบริหารการวิจัยของหน่วยงานหรือเขตฯ ยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ความจริงที่พบคือ ครูจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษาด้านการวิจัยด้วยตนเอง การกำกับและติดตามผลการวิจัย ล้วนแต่เป็นไปตามยถากรรม ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่ควรกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศที่กล้าประกาศว่าจะจัดการศึกษาให้เป็นมาตรฐานสากล บทความนี้ึจึงนำเสนอภารกิจเกี่ยวกับการบริหารการวิจัย ซึ่งหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตพื้นที่การศึกษาของชาติ ควรให้ความสำคัญและถือเป็นหน้าที่่ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพราะการวิจัยเท่านั้น ที่จะพัฒนาการศึกษาของชาติได้  และแท้จริงแล้ว การวิจัยมิใช่การสร้างงานใหม่ แต่คือความพยายามอย่างบริสุทธ์ใจที่จะแก้ปัญหาผู้เรียนที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนทุกวัน  ซึ่งหากเราสามารถปรับความเข้าใจของครูภาษาไทย เชื่อได้ว่า การเรียนการสอนภาษาไทยก็จะเกิดคุณภาพอย่างแท้จริงได้  

          ภาระงานที่สำคัญที่สุด ที่หน่วยงานทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับเขตพื้นที่การศึุกษาจะต้องถือเป็นพันธกิจในการพัฒนาครูและคุณภาพการศึกษาก็คือ  การสนับสนุนให้เกิดการวิจัย และอำนวยความสะดวกให้การวิจัยสามารถดำเนินการไปได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  หรือที่เรียกว่า “การบริหารงานวิจัย”  (research management)  แม้ว่านักวิจัยจะมีความรู้ความสามารถในวิธีวิทยาการวิจัยมากเพียงใดก็ตาม แต่หากไม่มีหน่วยสนับสนุน เช่น การให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ด้านทรัพยากร ด้านการเผยแพร่ หรือการขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์ทางปัญญาแล้ว  การวิจัยย่อมเกิดขึ้นไม่ได้  เพราะในปัจจุบันนี้ การวิจัยมีความซับซ้อนและไม่อาจใช้แต่เพียงกำลังของนักวิจัยเพียงฝ่ายเดียว  สำหรับหน่วยงานที่ต้องสร้างงานวิจัยจำนวนมาก เช่น  สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ซึ่งมีพันธกิจเกี่ยวกับการวิจัยโดยตรง จะมีหน่วยงานเช่นสถาบันวิจัยหรือหน่วยบริหารการวิจัยทั้งในระดับคณะ หรือในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการบริหารและจัดการระบบ  งานวิจัยทั้งหมดของสถาบัน  ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการบริหารงานวิจัย ทั้งในด้านความหมายของการบริหารการวิจัย  ความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารการวิจัย  ขอบเขตหรือภาระกิจการบริหารการวิจัย ซึ่งมีรายละเอียดในแต่ละประเด็นดังนี้ 

1.  ความหมายของการบริหารงานวิจัย 

          คำว่าการบริหาร (management)  หมายถึง  การดำเนินการใดๆ เพื่อให้ระบบที่ดำเนินการอยู่นั้น สามารถให้ผลอันเป็นเป้าหมายของระบบ หรือบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของระบบนั้น  ด้วยเหตุนี้ การบริหารการวิจัยจึงหมายถึง การดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การวิจัยสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้ อย่างไรก็ตาม ความหมายของการบริหารการวิจัยได้ขยายขอบเขตที่กว้างขึ้น กล่าวคือ หมายรวมถึงการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้มีการผลิตหรือสร้างสรรค์การวิจัย  การวางแผนการวิจัย  การติดตามและควบคุมดูแลการวิจัยให้ดำเนินไปตามแผน  การเผยแพร่และใช้ผลงานวิจัย  ดังที่ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (2550: online)  ได้กำหนดความหมายของการบริหารการวิจัยไว้ว่า  การบริหารการวิจัย หมายถึง  การจัดการงานวิจัยให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล     เช่น  การพิจารณาข้อเสนอการวิจัย การติดตามประเมินผล  การประชุมสัมมนาหรือฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการวิจัย การพัฒนาระบบสารสนเทศการวิจัย การเผยแพร่ผลงานวิจัยและกิจกรรม  อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. ความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารการวิจัย   

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องมีการบริหารการวิจัยนั้น เนื่องจากการขยายตัวของการสนับสนุนให้มีการวิจัย ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเภท หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้สนับสนุนให้หน่วยงานหรือนักวิจัยผลิตงานวิจัยเพื่อรอบรับกับการพัฒนา ทั้งที่เป็นการวิจัยในระดับนโยบาย รวมถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาหรือสร้างนวัตกรรมต่างๆ  เมื่อความต้องการในการใช้ผลวิจัยอยู่ในระดับสูง  ย่อมเป็นเหตุให้หน่วยงานต่างๆ จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนให้มีการวิจัยมากยิ่งขึ้นไปด้วย  และเมื่อการวิจัยมีจำนวนมาก และนักวิจัยรุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่หน่วยงานด้านการวิจัย จะต้องมีระบบสำหรับบริหารและจัดการให้การวิจัยในสามารถเกิดขึ้นและดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังจะสังเกตได้จากมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการผลิตและสร้างผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ ได้จัดตั้งฝ่ายวิจัยหรือสถาบันวิจัย เพื่อทำหน้าที่หลักโดยตรงในการจัดการกับ      การวิจัยที่จะเกิดขึ้นในสถาบัน  ซึ่งฝ่ายวิจัยหรือสถาบันเหล่านี้ จะมีคณะกรรมการฝ่ายวิจัยหรือคณะกรรมการบริหารงานวิจัย เป็นผู้ควบคุมและบริหารงานวิจัยของสถาบันทั้งระบบ 

          ตัวอย่างหนึ่งของหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารงานวิจัย คือ  สำนักวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (2547: online)  ซึ่งได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ต้องมี   การบริหารจัดการงานวิจัยขององค์กรตนเองไว้สรุปได้ว่า การบริหารงานวิจัยเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้อาจารย์และบุคลากรในทุกหน่วยงานของมหาวิทยาลัย  มีผลงานวิจัยตามเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งผลงานวิจัยจะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสถาบัน  และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องมีการบริหารงานวิจัยสรุปได้        5 ประเด็นปัญหา ดังนี้ 

                   1)  ปัญหาการคิดริเริ่มในการทำวิจัย ปัญหานี้เกิดจากนักวิจัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์หรือบุคลากรรุ่นใหม่ ประสบปัญหาในการหาหัวข้อหรือประเด็นการวิจัย ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดความรู้และประสบการณ์  หน่วยงานบริหารการวิจัยจึงจะต้องจัดที่ปรึกษาวิจัยไว้สำหรับให้คณาจารย์และนักวิจัยได้ขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องของวิธีวิทยาการวิจัย  สถิติการวิจัย เป็นต้น 

                   2)  ปัญหาการทำวิจัยไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด  ปัญหานี้เกิดจากการที่ได้มีการอนุมัติให้มีการทำวิจัยไปแล้ว  แต่เนื่องจากนักวิจัยไม่สามารถที่จะดำเนินการวิจัยได้ทันกับกำหนดเวลา  หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารงานวิจัยจึงจะต้องจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้งานวิจัยเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด   ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้การติดตามและประเมินผลเป็นระยะ ก่อนที่จะได้มีการอนุมัติทุนสนับสนุนการวิจัยในรอบต่อไป 

                   3)  ปัญหาการเขียนรายงานการวิจัย  การเขียนรายงานผลการวิจัย       เป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัย  เพราะเป็นการแสดงคุณภาพของงานวิจัยในระดับอุดมศึกษา  ซึ่งหน่วยงานบริหารการวิจัยจะต้องมีหน้าที่ในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะการเขียนรายงานการวิจัย  โดยจัดเป็นโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ

                    4)  ปัญหาขาดการวิพากษ์เพื่อประเมินคุณภาพผลงานวิจัย   ปัญหานี้เกิดจากการที่ผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นตามกระบวนการแล้ว  ไม่ได้รับการวิพากษ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ   จึงเป็นเหตุให้ผลการวิจัยที่จัดทำขึ้นขาดการประเมินคุณภาพงานวิจัยผลงานวิจัยจึงไม่ได้รับการยอมรับ  และจะมีผลอย่างมากต่อการเผยแพร่ต่อไป  ดังนั้นในการบริหารจัดการวิจัย จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารการวิจัยจะต้องจัดให้มีการวิพากษ์หรือการตรวจสอบคุณภาพของการวิจัยนั้น โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับสาขาของการวิจัย 

                   5)  ปัญหาการเผยแพร่งานวิจัย  ปัญหานี้มักเกิดจากเมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จแล้ว นักวิจัยมิได้เผยแพร่งานวิจัยด้วยการนำไปเสนอในที่ประชุมวิชาการ หรือมิได้เขียนบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่  ด้วยเหตุนี้สาบันที่ทำหน้าที่บริหารการวิจัย มักจะมีการส่งเสริมทั้งในรูปแบบของการให้เงินสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัย  การจัดให้มีการประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งให้นักวิจัยได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัย  หรือการจัดพิมพ์วารสาร หรือการใช้พื้นที่เว็บไซต์ในการเผยแพร่ผลงานวิจัย  เป็นต้น 

          ปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวมา ล้วนแต่ต้องอาศัยกลไกของการบริหารการวิจัยในการ     เข้ามาดำเนินการทั้งสิ้น  ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัญหาดังกล่าวแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนการวิจัย ขณะดำเนินการวิจัย และหลังจากที่ได้ดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว ด้วยเหตุนี้ ขอบเขตหรือภาระงานของการบริหารการวิจัย จึงอาจแบ่งได้ตามระยะหรือขั้นตอนสำคัญในการวิจัยเป็น     3  ระยะได้แก่  1)  ระยะการบริหารก่อนการวิจัย  2)  ระยะการบริหารระหว่างการวิจัย      และ  3)  ระยะการบริหารหลังการวิจัย  ซึ่งในแต่ละระยะฝ่ายสนับสนุนจะต้องเข้าไปดำเนินการ เพื่อให้การวิจัยผ่านอุปสรรคและดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ โดยจะได้กล่าวถึงขอบเขตหรือภาระงานสำคัญในแต่ละระยะเป็นลำดับต่อไป 

 3. ขอบเขตหรือภาระกิจการบริหารการวิจัย

          การบริหารจัดการกิจการวิจัยของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน มักจะดำเนินการในรูปของคณะกรรมการบริหารงานวิจัย  ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งหรือสรรหาจากหน่วยงานนั้น เพื่อให้มีหน้าที่ในการบริหารและจัดการงานวิจัยของหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับนโยบายไปกระทั่งถึงระดับของการปฏิบัติ  ตัวอย่างของคณะกรรมการและภาระงาน เช่น  คณะกรรมการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารงานวิจัย  พ.ศ. 2547  มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้  (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2547: online)

                    1.  ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย  แผนงาน มาตรการและกลยุทธ์ในการบริหารงานวิจัยและเงินอุดหนุนการวิจัย 

                    2.  กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนานักวิจัยในมหาวิทยาลัย ให้มีความสามารถและศักยภาพระดับสูง

                    3.  กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนการวิจัย

                    4.  พิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรองข้อเสนอโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัย

                    5.  พิจารณาจัดสรรประเภทเงินอุดหนุนวิจัยและจำนวนเงินที่สมควรได้รับ

                    6.  คัดเลือกนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่น  หรือนักวิจัยในนามของมหาวิทยาลัย  เพื่อรับรางวัลภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัย

                    7.  พิจารณาการขออนุมัติเบิกเงิน   ขอขยายเวลา  การขออนุมัติ เปลี่ยนหัวหน้าโครงการวิจัย การขอจัดซื้อ  จัดจ้าง  การตีพิมพ์  หรือเรื่องอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด

                    8.  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารงานวิจัย

                    9.  ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ทางปัญญาและการวิจัยมอบหมาย 

          นอกจากนี้  คณะกรรมการบริหารการวิจัยจะต้องมีหน้าที่ในจัดทำและออกประกาศมหาวิทยาลัย ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้รับเงินอุดหนุนวิจัย  หลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนวิจัย  หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนวิจัย หน้าที่ของผู้ขอรับเงินอุดหนุนวิจัย  วิธีการรับและการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนวิจัย  วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อวัสดุหรือครุภัณฑ์ด้วยเงินอุดหนุนวิจัย  การเผยแพร่วิจัยข้อมูลหรือข่าวสารอันเกี่ยวกับผลงานของโครงการในการลงพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ 

          ทั้งนี้เมื่อพิจารณาขอบเขตภาระงานด้านการบริหารการวิจัยและพันธกิจที่สำคัญแล้ว สามารถสรุปขอบเขตภาระงานการบริหารการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งมีภาระงานสำคัญ    สรุปได้ดังนี้ 

                    1.  การบริหารการวิจัยก่อนการดำเนินการวิจัย  ประกอบด้วย 

                              1.1  การประกาศเชิญชวนให้ทำวิจัย

                              1.2  การอบรมหรือการให้ความรู้เกี่ยวกับการวิจัย

                              1.3  การพิจารณาหัวข้อการวิจัยและโครงร่างการวิจัยโดยคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ 

                              1.4  การให้ข้อเสนอแนะแก่โครงร่างการวิจัย

                              1.5  การประกาศอนุมัติหัวข้อวิจัยและการทำสัญญา

                    2.  การบริหารการวิจัยระหว่างการดำเนินการวิจัย

                              2.1  การมอบเงินอุดหนุนการวิจัย

                              2.2  การกำกับ ดูแล  ติดตามและประเมินการดำเนินการวิจัย

                              2.3  การวางแผนดำเนินการวิจัย  

                              2.4  การจัดทำบัญชีและหลักการการใช้จ่ายเงินอุดหนุนการวิจัย   

                              2.5  การให้คำปรึกษาหรือความช่วยเหลือในการดำเนินการวิจัย

                    3.  การบริหารการวิจัยหลังการดำเนินการวิจัย 

                              3.1  การนำเสนอผลงานวิจัยแก่คณะกรรมบริหารการวิจัย

                              3.2  การประเมินคุณภาพของรายงานวิจัย

                              3.3  การเผยแพร่ผลงานวิจัย

                                        3.3.1  การประชุมทางวิชาการ

                                        3.3.2  การตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการหรือเว็บไซต์

                              3.4   การจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร

                              3.5   การกำกับและนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

          โดยทั่วไป แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารการวิจัยมักจะมุ่งไปที่การบริหารงานในระดับหน่วยงานหรือองค์กร  แต่แท้จริงแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารการวิจัยส่วนบุคคลก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน  นักวิจัยจะต้องมีความสามารถในการบริหารงานวิจัยของตนเอง อย่างน้อยก็คือ การทำวิจัยให้ถูกต้องตามหลักวิธีวิทยาการวิจัย และการใช้ระยะเวลาและทรัพยากรต่างๆ ตามที่กำหนดไว้อย่างคุ้มค่า  และตรงกับที่ขอไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยและหน่วยงานที่มอบหมายทุนวิจัย  ทั้งนี้เพื่อยังประโยชน์จากผลการวิจัยแก่ทั้งสองฝ่าย      และสังคมซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการวิจัยมากที่สุด

 

____________________________________

 

รายการอ้างอิง

ตรวจบัญชีสหกรณ์, กรม.  2550.  ระเบียบกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ว่าด้วยการใช้จ่ายเงิน     อุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อการวิจัยและการบริหารงานวิจัย .ศ. 2550  [Online]. แหล่งที่มา: http://203.154.183.18/ewt/statistic/download/raw_res.pdf  [4 กุมภาพันธ์ 2554]

ราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัย.  สำนักวิจัยและบริการวิชาการ.  2547.  นโยบายการ      บริหารงานวิจัย [Online]. แหล่งที่มา: servnet.pnru.ac.th/offi/research/html_or/or1.doc  [4 กุมภาพันธ์ 2554]

ศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัย.  ระเบียบมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย การบริหารงานวิจัย พ.ศ. 2547.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

 



[*] อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเลขบันทึก: 424637เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท