แด่ครูผู้สอนวิชชาธรรมกาย


ครูสอนธรรมกาย

แด่ครูผู้สอนวิชชาธรรมกาย

 

วิชชาธรรมกาย ได้แก่การฝึกสมาธิให้เข้าถึงกายในกายตั้งแต่กายโลกีย์ อันได้แก่ กายมนุษย์หยาบ-กายฝัน(มนุษย์ละเอียด) กายทิพย์(ทั้งหยาบ-ละเอียด) กายพรหม(ทั้งหยาบ-ละเอียด) กายอรูปพรหม(ทั้งหยาบ-ละเอียด) และกายโลกุตตระ ได้แก่ กายธรรมโคตรภู(ทั้งหยาบ-ละเอียด) กายธรรมพระโสดา(ทั้งหยาบ-ละเอียด) กายธรรมพระสกิทาคามี(ทั้งหยาบ-ละเอียด) กายธรรมพระอนาคามี(ทั้งหยาบ-ละเอียด) กายธรรมพระอรหัต(ทั้งหยาบ-ละเอียด) รวม ๑๘ กาย ทั้งกายโลกีย์และกายโลกุตตระนี้เป็นสื่อเป็นเครื่องมือให้เข้าถึงส่วนแห่งวิชชา ๒ อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา เพราะกายในกายทั้ง ๑๘ กายมี “ตา” คือมี “ญาณทัสสนะ” ที่ละเอียดไปตามภูมิหรือคุณสมบัติของแต่ละกายในการเข้าไปรู้-เห็น ธรรมวิเศษของวิชชา ๒ คือในส่วนของ  สมถะ-วิปัสสนานั่นเอง  นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำไมเราต้องฝึกให้เห็นกายในกายทั้ง ๑๘ กายให้จงได้ก่อนที่จะเรียนปฏิบัติในระดับของสมถะและวิปัสสนานั่นเอง

 

เมื่อครู  วิทยากร  พระอาจารย์  หรือวิปัสสนาจารย์ ผู้สามารถฝึกสอนให้ผู้อื่นเข้าถึงกายในกายทั้ง ๑๘ กายได้  แปลว่า ท่านได้สร้างบารมียิ่งใหญ่และสำคัญ  ท่านได้ทำหน้าที่เปิดทางมรรคผลแก่ผู้เข้าถึงกายในกายเหล่านั้น  หลวงพ่อวัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า  ถ้าเราสอนให้เขาเห็นเพียงดวงใส(ดวงปฐมมรรค)เพียงอย่างเดียว ได้บุญมากกว่าบวชพระสงฆ์ ๑๐,๐๐๐ รูป  ถ้าเราสอนให้เขาเดินวิชชา ๑๘ กายได้  ได้บุญมากกว่าบวชพระสงฆ์ ๔๐,๐๐๐ รูป แปลว่า การเห็นดวงปฐมมรรค  และการเดินวิชชา ๑๘ กายได้นี้  เป็นบารมีเป็นบุญใหญ่  ได้ทั้งผู้ฝึกและผู้รับการฝึกทีเดียว  การสอนให้ผู้อื่นเข้าถึงกายในกายได้  แปลว่า  เรามีสิทธิเฉียบขาทางวิชชา  แปลว่าเราเรียนรู้ทางวิชชามาได้อย่างถูกธาตุถูกธรรมจริงๆ

 

ดังนั้นเราผู้เป็นวิทยากรจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องสอนให้ถูกหลักถูกเกณฑ์  ถูกวิธีการ  ก็จะทำให้ผู้ฝึกเข้าถึงกายในกายได้ในที่สุด  แต่ปัจจุบันนี้  เราอาจเคยได้พบเห็นครูสอนวิชชาธรรมกายบางท่าน  สอนแบบหวานเย็น  โดยกล่าวไปในทำนองว่า...  “ให้ขยันนั่งสมาธิเป็นประจำแล้วจะเห็นธรรมกายเอง  ไม่ต้องรีบร้อน  ทำไปเรื่อยๆ  ดีแล้ว ถูกแล้ว ผู้รู้ทั้งหลายเขาก็บอกเช่นนี้”  คำกล่าวลักษณะนี้  ส่งผลเสียต่อค่านิยมที่ถูกต้องในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง  แปลว่า  ผู้สอนไม่มีความรู้ตลอดจนเทคนิควิธีที่จะสอนให้ผู้ฝึกเห็นธรรมได้โดยง่ายแล้วนั่นเอง  แทนที่จะแก้ไขที่เทคนิคการสอนของตน  กลับไปสร้างค่านิยมให้ผู้คนวางใจให้ล่าช้าต่อการเข้าถึงธรรมกาย  ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเมื่อจะสอนวิชชาเบื้องต้นก็ไปสอนให้ติดสุขบ้าง  ให้ติดสร้างอุปาทานบ้าง แม้ไม่ตรงหลักวิชชาแต่ก็ไปกล่าวเอาเองว่าถูกหลักวิชชาแล้วบ้าง  อย่างนี้คือสร้างความสับสนให้เกิดแก่ผู้เรียนเป็นอย่างมาก 

 

สรุปง่ายๆ ก็คือ  ครู วิทยากร พระอาจารย์หรือวิปัสสนาจารย์ไม่มีความรู้ในการสอนให้ผู้ฝึกเข้าถึงธรรมกายอย่างถูกต้องและง่ายดายนั่นเอง  ซึ่งสวนทางกับยุคสมัยที่วิชชาเปิดแล้ว  องค์ความรู้ทางวิชชาทั้งภาคปริยัติ  ปฏิบัติ  และปฏิเวธมีครบถ้วนแล้ว  แต่อาจารย์สอนสมาธิวิชชาธรรมกายกลับไม่มีการพัฒนาเทคนิคขั้นตอนการสอนให้สอดคล้องกับยุคที่วิชชาเปิด  ยุคที่ควรจะเข้าถึงวิชชาธรรมกายได้โดยง่าย  ยุคที่ต้องเดินวิชชา ๑๘ กายได้โดยง่าย  นั่นเป็นเพราะอะไร  เป็นเพราะหาครูอาจารย์ที่รู้จริงในการสอนให้ผู้ฝึกเข้าถึงธรรมกายไม่ได้แล้วนั่นเอง  ทั้งๆ ที่เทคนิคที่ช่วยให้ผู้ฝึกเข้าถึงกายในกายได้ง่ายขึ้นก็มีอยู่  จะขอยกตัวอย่างกว้างๆ โปรดพิจารณาดังนี้

 

๑. วิทยากร  ครู  พระอาจารย์หรือวิปัสสนาจารย์ต้องสอนโดยเริ่มต้นให้ผู้ฝึกเดินใจตามฐานทางเดินของใจทั้ง ๗ ฐานก่อนเสมอ  โดยเฉพาะผู้ฝึกใหม่  ถามว่าทำกันบ้างหรือเปล่า  นำเดินใจตามฐานทางเดินของใจทั้ง ๗ ฐานได้หรือเปล่า

 

๒. ต้องมีการวัดผลในระหว่างการฝึกทุกครั้ง  เพื่อต่อวิชชาให้แก่ผู้ทำดวงใส(ดวงปฐมมรรค)ได้แล้วนั่นเอง  ถามว่ามีการวัดผลในขณะการฝึกบ้างหรือเปล่า  การสอนเบื้องต้นเพียงไม่กี่นาทีก็วัดผลได้แล้ว  ถ้าสอนอย่างถูกวิธี  ไม่ต้องมานั่งกันเป็นชั่วโมงๆ หรือครึ่งค่อนวันแต่ก็ไม่มีการวัดผลในระหว่างการฝึกแต่ประการใด  ถ้าไม่วัดผลเมื่อผู้ฝึกเขาเห็นดวงใสในท้องได้  เขาก็ทำอะไรไม่ถูก  พอจบการฝึกเขาบอกพระอาจารย์ว่า เขาเห็นดวงใสในท้อง  แทนที่พระอาจารย์จะต่อวิชชาให้เขาเห็นกายในกาย  พระอาจารย์กลับตอบว่า  “ดีแล้ว  ถูกแล้ว รักษาไว้ อย่าให้หายนะ” แปลว่า  พระอาจารย์ต่อวิชชาไม่ได้  ต่อวิชชาไม่เป็น  อย่างนี้ก็จบกัน

 

๓. การต่อวิชชาควรทำในทันทีเมื่อเราวัดผลว่า  “ขั้นตอนนี้ท่านใดทำดวงใสในท้องได้แล้ว โปรดยกมือขวาขึ้น” เมื่อมีคนยกมือเพราะเขาทำดวงใสในท้องได้  พระอาจารย์ต้องเข้าไปตรวจสอบแล้วจึงนำต่อวิชชาเดี๋ยวนั้นเลย  การที่เรามีบุคลากรมาก  มีเครื่องมือไฮเทคทันสมัย  มีสถานที่กว้างขวาง  แต่วัดผลและต่อวิชชาให้เขาไม่ได้  การเห็นดวงของเขาก็ถูกดองด้วยคำพูดที่สวยหรูว่า  “ดีแล้ว  ถูกต้องแล้ว  รักษาไว้  อย่าให้หายนะ”  ก็แปลว่า  ครูผู้สอนไม่เห็นคุณค่าของการฝึกให้ผู้รับการฝึกได้เข้าถึงกายในกาย  แทนที่จะทำให้การเข้าถึงกายในกายง่ายขึ้นกลับไปดองเขาไว้ให้ล่าช้าต่อการเข้าถึงกรุวิชชา  เป็นการไปต่อยอดเสริมความยากเข้าไปอีก  แล้วก็ไปสร้างค่านิยมผิดๆ ว่า  ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็นเอง  “เมื่อเห็นดวง  เห็นพระธรรมกาย  ดีแล้ว  ถูกแล้ว  รักษาไว้  อย่าให้หายนะ”  แล้วก็ต่อวิชชา ๑๘ กายให้เขาไม่ได้  การสอนเช่นนี้สวนทางกับนโยบายของธรรมภาคขาวที่ต้องการเปิดรู้เปิดญาณให้ผู้ฝึกเข้าถึงกายในกายและเดินวิชชา ๑๘ กายได้ทุกคน  ก็เมื่อผู้ฝึกเขามีศรัทธาถึงขนาดนั่งสมาธิทุกวัน  เมื่อเขาทำได้ในระดับหนึ่ง  เช่น เห็นดวงใสในท้อง  เราผู้เป็นครูสอนต้องเรียกเขาผู้นั้นมาต่อวิชชาให้เขาเข้าถึงกายในกาย  จนกระทั่งได้ ๑๘ กาย  และฝึกต่อเนื่องจนกว่าเขาจะเดินวิชชา ๑๘ กายได้เอง  นี่คือหลักวิชชา  นี่คือนโยบายของธาตุธรรมภาคขาว 

 

๔. ต้องสนับสนุนให้ผู้สนใจอ่านตำราทางวิชชาธรรมกายทุกเล่ม  ทุกหลักสูตร  เพื่อให้เกิดปัญญาบารมี  และต้องบอกไปด้วยว่าถึงอ่านยังไม่รู้เรื่องก็ควรอ่าน  สงสัยก็ถามได้  เพราะตำราทางวิชชาธรรมกายเป็นปิฎกวิชชาที่ยากที่ผู้ใดจะได้เกิดมาพานพบ  เพราะภาคมารเขาหวงแหนยิ่งนัก  เกิดมาชาตินี้พบตำราความรู้แล้วต้องตักตวงให้อ่านเพื่อให้ความรู้ติดไปในดวงบารมี ในเห็น-จำ-คิด-รู้ ของเราตั้งแต่ในชาตินี้ให้จงได้ 

 

๕. ต้องฝึกวิทยากร  ครูหรือวิปัสสนาจารย์สอนวิชชาธรรมกายได้ทุกหลักสูตร  โดยเฉพาะหลักสูตรเบื้องต้น  คือหลักสูตร ๑๘ กาย  เรามีบุคลากรเป็นร้อยเป็นพันทั้งพระทั้งฆราวาส  ถ้าเขาสามารถสอนได้อย่างน้อยสอนได้จนกระทั่งถึงหลักสูตรวิชชา ๑๘ กาย  แล้วส่งไปสอนทั่วประเทศหรือทั่วโลก ไม่นานเลยก็จะมีผู้คนเห็นธรรมเข้าถึงกายในกายกันทั้งโลกได้  ที่แปลกก็คือ  ไม่มีวิทยากรหรือพระอาจารย์สอนวิชชา ๑๘ กายได้  คือมีคนอยู่ในสำนักฝึกต่างๆ มาก  แต่สอนไม่ได้  สอนไม่เป็น  ทำไมจึงเป็นเช่นนี้  ทั้งๆ ที่หลักสูตรนี้  คือ หลักสูตรวิปัสสนาจารย์หลักสูตรสอนวิชชา ๑๘ กาย  ทาง “ชมรมพัฒนาใจให้สว่างใส” เปิดรับสมัครให้มาฝึกหลักสูตรนี้มานานแล้ว  ทำไมท่านไม่มาฝึกฝนไม่มาเรียนรู้  ทำไมจึงไม่เพิ่มพูนคุณค่าและความรู้ให้กับตนเองในฐานะที่เกิดมาพบวิชชาธรรมกายแล้ว  บารมีสำคัญอยู่ตรงนี้  วิชชาความรู้นั้นสำคัญที่สุด  บารมีใดๆ ก็ไม่เท่าการมีวิชชาครูสอนธรรมกายได้ติดตัวไปทุกภพทุกชาติ  นี่คือวิถีทางของพระโพธิสัตว์หรือนักสร้างบารมีของธรรมภาคขาวที่แท้จริง  นี่คือบารมีนิพพานกายมนุษย์  ดวงบารมีจะพัฒนาเป็น ธาตุชนะธรรมชนะ  ธาตุเป็นธรรมเป็น  ธาตุขาวธรรมขาว  ธาตุใสธรรมใส  ความรู้เท่านั้นที่จะทำลายความไม่รู้ลงได้  วิชชาเท่านั้นที่จะกำจัดอวิชชาได้  ทำไมเราไม่เรียนรู้กันเช่นนี้เล่า...???

 

ทุกวันนี้เราเรียนรู้วิชชาธรรมกายเพื่อสนองกิเลสตนเองหรือไม่...?  ถามใจตัวเราเองก่อน  คำว่าสนองกิเลสตัวเราเองก็คือ  เรียนเพื่ออยากได้บุญมากๆ อยากรวยมากๆ อยากได้สวรรค์วิมานสวยหรู  นั่นคือเรียนรู้แบบสนองกิเลสตนเอง  สุดท้ายธรรมภาคกิเลสเขาก็เข้ามาสอดละเอียดในจิตใจของเรา  แทนที่จะได้บารมีเพื่อกำจัดกิเลส  แต่กลับกลายเป็นบารมีที่กิเลสเข้ามาปนเป็นเสียหมดสิ้น  ทั้งนี้เป็นเพราะ  เราไม่ให้ความสำคัญ  ไม่ให้ความสนใจต่อหลักวิชชาธรรมกายที่ถูกต้อง  นั่นก็คือ  ต้องถือความรู้ทางวิชชาเป็นใหญ่  เราต้องเอาความรู้ทางวิชชาออกหน้า  อย่าเอากิเลส อยากได้ อยากมี อยากเป็น  อยากใหญ่  อยากเด่น อยากดังออกหน้าเป็นอันขาด

 

ครู  วิทยากร  พระอาจารย์หรือวิปัสสนาจารย์ต้องเป็นตัวจักรและฟันเฟืองที่สำคัญในการสอนให้ผู้ฝึกเข้าถึงธรรมกายได้โดยง่าย  ด้วยหลักเทคนิควิธีการสอนที่ถูกต้อง  ถ้าสอนให้เขาเข้าถึงดวงปฐมมรรคไม่ได้  หรือต่อวิชชาให้เขาเข้าถึงกายในกายไม่ได้  ท่านจะได้ชื่อว่ากระทำในสิ่งที่สวนกระแสยุคที่วิชชาเปิด  ยุคที่ต้องสร้างบารมีนิพพานเป็นกายมนุษย์  ยุคที่ต้องเรียนรู้ตามหลักวิชชาโดยยึดตำราทางวิชชาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าความรู้ของท่านที่มีอยู่ถูกตรงหรือไม่  ท่านจะทำงานให้พระพุทธเจ้าภาคขาวกล่าวคือเป็นผู้เปิดรู้เปิดญาณให้ผู้ฝึกเห็นธรรมกายได้โดยง่าย  หรือท่านจะทำงานสวนทางนโยบายของธาตุธรรมภาคขาวนั่นคือไปเส้นทางการเข้าถึงกายในกายให้ยากยิ่งขึ้นเพราะไม่มีการวัดผลในขณะฝึก  ไม่มีการต่อวิชชาให้ในขณะฝึก  ไม่มีการฝึกวิชชา ๑๘ กายอย่างเปิดเผยชัดเจน  ไม่มีการอ้างอิงการสอนให้ตรงตามตำราวิชชาธรรมกายทุกหลักสูตร  ถ้ารูปการเป็นเช่นนี้  โปรดถามใจตนเองว่า  ความเป็นครู  เป็นวิทยากร  เป็นพระอาจารย์หรือวิปัสสนาจารย์ของท่านนั้น....ท่านดำเนินการสร้างบารมีการสอนวิชชาธรรมกายตามหลักของพระพุทธเจ้าภาคขาวแล้วหรือ...????

 

หมายเลขบันทึก: 424513เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

                                     

สำหรับ “ชมรมพัฒนาใจให้สว่างใส” ได้เปิดหลักสูตรการฝึกเป็นวิปัสสนาจารย์สำหรับทุกท่าน  ทุกเพศ  ทุกวัย  ให้ได้เรียนรู้วิชชาครูติดตัวไป  และเป็นการสร้างบารมีพุทธภูมิไปในตัวด้วย  การเรียนรู้แบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ นั่นคือ

๑.ภาคปริยัติ
๒.ภาคปฏิบัติ

สำหรับในส่วนของการฝึกวิทยากรหรือวิปัสสนาจารย์ในภาคปริยัตินั้น  ได้แก่  การฝึกท่องเนื้อวิชชาสำหรับใช้ในการสอน  เนื้อวิชชามีดังนี้

หลักสูตรภาคปริยัติ

๑. ท่องเนื้อวิชชาการเดินใจไปตามฐานทางเดินของใจทั้ง ๗ ฐาน ให้ถูกต้องชัดเจน  และเรียนรู้ถึงเทคนิคการบอกวิชชาให้เกิดสิทธิเฉียบขาดในการสอนด้วย  เทคนิคการบอกวิชชาแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ

- ภาคอธิบายวิชชา
- ภาคสั่งวิชชา 

๒. ท่องเนื้อวิชชาการต่อวิชชาเจาะดวงธรรมให้เกิดกายธรรมเบื้องต้น  ท่านต้องเรียนรู้วิธีการต่อวิชชาและการแก้ไขปัญหาในการต่อวิชชาได้ด้วย

๓. ท่องเนื้อวิชชาหลักสูตร ๔ กายธรรม  หรือวิชชาครึ่งหลักสูตร เพื่อให้ผู้ฝึกเดินลำดับฐาน-ลำดับดวง-ลำดับกาย และเข้ากลางของกลางคือจุดเล็กใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรมได้

๔. ท่องเนื้อวิชชาหลักสูตรวิชชา ๑๘ กายทั้งอนุโลม-ปฏิโลม  ต้องเรียนรู้เทคนิคการเดินกายในกายทั้ง ๑๘ กายให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฝึก  ว่าเดินวิชชาอย่างไรจึงจะทำให้กายในกายใสยิ่งขึ้น  เรียนรู้เทคนิคการทำให้ใจหยุด-นิ่ง-แน่น ให้เห็นวิชชาชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

๕. ท่องเนื้อวิชชาการเดินวิชชาเข้าหายกายธรรมต้นธาตุ  ต้นธาตุคือหลวงพ่อวัดปากน้ำ  กายธรรมของท่านอยู่ระหว่างนิพพานกับภพ ๓

๖. ท่องเนื้อวิชชาการเดินวิชชาเข้านิพพานเบื้องต้น เพื่อไปกราบมนัสการพระพุทธเจ้าในนิพพานได้ 

ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาในภาคปริยัติ  เมื่อท่องเนื้อวิชชาได้อย่างถูกต้องแม่นยำดีแล้ว  ท่านจะต้องสอบท่องวิชชาให้ครูอาจารย์ฟัง  เมื่อท่องได้ครบถ้วนถือว่า  ท่านผ่านหลักสูตรสอบเป็นวิทยากรหรือวิปัสสนาจารย์ภาคทฤษฎีหรือภาคปริยัติแล้ว  ต่อไปคือการลงสู่สนามฝึกจริงในขั้นภาคปฏิบัติ  เมื่อสอบผ่านภาคปริยัติ  ครูอาจารย์ก็คือ คุณลุงการุณย์  บุญมานุช  ท่านจะมอบอุปกรณ์การสอนให้ ๓ อย่างด้วยกัน  คือ

๑. แผนภูมิทางเดินของใจทั้ง ๗ ฐาน 
๒.ดวงแก้วใส
๓. พระผงรุ่นต้นปราบ

                                         

ภาคปฏิบัติ

การฝึกภาคลงสนามเพื่อเป็นวิทยากรหรือวิปัสสนาจารย์ภาคปฏิบัตินั้น  แบ่งหลักสูตรการเรียนรู้เป็น ๓ ระดับ  ได้แก่

๑. วิทยากรตรี  ทำหน้าที่ช่วยเหลืองานสอนทุกอย่างตามที่วิทยากรเอกสั่ง  หน้าที่หลักคือ  ต้องต่อวิชชาเจาะดวงธรรมให้เห็นกายธรรมหนึ่งกายให้แก่ผู้มารับการฝึกได้

๒. วิทยากรโท  ทำหน้าที่ช่วยเหลืองานสอนทุกอย่างตามที่วิทยากรเอกสั่ง  หน้าที่หลักคือ  ต้องต่อวิชชา ๔ กายธรรมให้แก่ผู้มารับการฝึกได้

๓. วิทยากรเอก  ทำหน้าที่วางแผนการสอน  ประชุมก่อนสอนเพื่อแจกจ่ายงานให้วิทยากรอื่นๆ ทำหน้าที่สอนตั้งแต่ต้นจนจบการฝึก  และทำหน้าที่ประชุมหลังสอนเพื่อแก้ไขปรับปรุงหรือสรุปผลงานการสอนในครั้งนั้นๆ แปลว่าอำนาจในการสอนทุกอย่างอยู่ที่วิทยากรเอก  ถือว่าวิทยากรเอกมีสิทธิเฉียบขาดในการสอนครั้งนั้นๆ

 

วิทยากรท่านใดที่มีความสามารถเป็นวิทยากรเอกได้  แปลว่าท่านต้องเรียนรู้ผ่านหลักสูตรวิทยากรตรี และวิทยากรโทมาแล้ว  ไม่เช่นนั้นท่านจะไม่รู้หน้าที่ของวิทยากรระดับต่างๆ ท่านจะแจกจ่ายงานไม่ถูก  ท่านจะวางแผนการสอนไม่เป็น  นี่คือการเรียนรู้อย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน  ทุกคนสามารถเป็นวิทยากรเอกได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิทยากรรุ่นพี่ที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงที่จะช่วยให้ท่านฝึกฝนจนกระทั่งสร้างบารมีถึงขั้นเข้าสู่การเป็นวิทยากรเอกได้  และเมื่อท่านเป็นวิทยากรเอกได้แล้ว  ต่อไปท่านก็จะก้าวสู่วิทยากรผู้ชำนาญการต่อไป

 

การฝึกเป็นวิทยากรหรือวิปัสสนาจารย์นอกจากจะเรียนรู้ในภาคปริยัติและปฏิบัติแล้ว  ท่านต้องเรียนในขั้นปฏิเวธอีกด้วย  นั่นคือ  เมื่อท่านสอบท่องเนื้อวิชชาผ่านแล้ว  ท่านได้ขึ้นเป็นวิทยากรหรือวิปัสสนาจารย์ฝึกหัดแล้ว  หน้าที่ของท่านก็คือต้องนั่งสมาธิเดินวิชชา ๑๘ กายตามที่ท่านท่องเนื้อวิชชาไปสอบนั้นทุกวัน  อย่างน้อยวันละ ๒ เวลา  คือ  ก่อนนอนรอบหนึ่ง  และตื่นนอนตอนเช้าอีกรอบหนึ่ง  ทำอย่างนี้ทุกวันก็จะทำให้ใจของท่านเกิดผลหรือเกิดปฏิเวธธรรม  คือ  ใจหยุด-นิ่ง-แน่น-ใสได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งที่ไม่เห็นวิชชาก็จะเห็นวิชชาเพราะท่านเป็นวิชชามาก่อนแล้ว  ที่เห็นวิชชามาก่อนแล้วก็จะเห็นได้ดียิ่งขึ้นเกิดการพัฒนาทางวิชชาเรื่อยไปเพราะเราฝึกเดินวิชชาส่วนตัวทุกวัน  แปลว่าเราฝึกแบบบัณฑิต นั่นคือ  เรียนไป  ทำไป  เกิดประโยชน์ทุกสถาน  ความรู้ก็ได้  บารมีก็ได้  ได้ทุกทางอย่างไม่เสียเวลาเปล่านั่นเอง

 

สำหรับการสอนผู้อื่นให้เข้าถึงธรรมกายตามหลักสูตรการฝึกวิทยากรนั้น  เมื่อเราสอนได้ถูกต้อง  เป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจน  เราสามารถทำให้ผู้มารับการฝึกเห็นธรรมกายและเข้าถึงกายในกายได้อย่างมหัศจรรย์  อย่างที่ตัวของเราเองก็ไม่นึกไม่ฝันว่าเราจะทำได้มาก่อน  ทั้งนี้เกิดจากการเรียนรู้เทคนิคการสอนที่ถูกต้อง  และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปฏิเวธธรรมนั่นก็คือเราเดินวิชชาได้ถูกธาตุถูกธรรมจริงๆ การสอนจึงได้ผลอย่างไม่คาดคิด 

 

ในส่วนละเอียด  ธาตุธรรมภาคขาวจะเข้ามาซ้อนวิชชาที่ศูนย์กลางกายของเราเพื่อให้เรามีสิทธิเฉียบขาดเวลาขึ้นสอน  ไม่ว่าเราจะทำหน้าที่เป็นวิทยากรในตำแหน่งใด  แต่ทั้งนี้มีเกณฑ์อยู่ว่า  วิทยากรต้องเดินวิชชา ๑๘ กายและเดินวิชชาเข้าหาต้นธาตุและเข้านิพพานด้วยทุกครั้งก่อนสอน  ถ้าท่านทำเช่นนี้เกิดผลคือเกิดปฏิเวธธรรมทันที  การสอนจะได้ผลดียิ่ง  เพราะพระพุทธเจ้าหรือธาตุธรรมภาคขาวก็ดี  ทิพย์  พรหม  อรูปพรหม  รวมทั้งจักรพรรดิกายสิทธิ์ของธรรมภาคขาวก็ดี  ก็จะมาชูช่วยให้การสอนในครั้งนั้นๆ เกิดสิทธิเฉียบขาดสอนได้ผลทำให้ผู้ฝึกเห็นและเข้าถึงธรรมกายได้นั่นเอง  แปลว่า  การสอนทุกครั้งเราไม่ได้ทำงานคนเดียว  ในส่วนหยาบเราทำงานร่วมกับวิทยากรท่านอื่นๆ ในส่วนละเอียดเราทำหน้าประสานกับธาตุธรรมภาคขาวทั้งหมด  เป็นการระดมสรรพกำลังมาช่วยเปิดรู้เปิดญาณฯให้ผู้ฝึกได้เข้าถึงธรรมกายนั่นเอง  นี่คือหน้าที่ของเราผู้เป็นวิทยากรหรือวิปัสสนาจารย์สอนสมาธิวิชชาธรรมกาย

 

ทั้งหมดที่ได้บรรยายมานี้  ท่านเคยได้ยินได้ฟังเช่นนี้หรือไม่  ท่านเคยทราบเหตุทราบผลอย่างนี้หรือไม่  ท่านเกิดความเข้าใจว่าทำไมวิทยากรของคุณลุงการุณย์  บุญมานุชจึงสอนให้ผู้ฝึกเข้าถึงธรรมกายได้อย่างได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นนี้หรือยัง  ถ้าท่านเกิดความเข้าใจแล้ว  ท่านจะนิ่งเฉยอยู่ทำไม  มาเรียนรู้  มาฝึกฝนให้ตนเองเป็นวิทยากรผู้ชำนาญการกันดีกว่า  โลกต้องการคนอย่างท่าน  วิทยากรรุ่นพี่พร้อมแล้วที่จะร่วมทางเดินไปกับท่าน  คุณลุงการุณย์กล่าวว่า  “วิทยากรทุกท่านต้องสร้างบารมีได้สำเร็จเสร็จสิ้นในชาตินี้  ไม่ต้องรอชาติอื่น  ชาตินี้โชคดีเกิดมาพบวิชชาแล้ว  ชาติอื่นไม่แน่นอน  เราต้องสร้างบารมีให้สำเร็จเสร็จสิ้นกันในชาตินี้นี่แหละ”

 

“ในลักษณ์นั้นท่านว่า  น่าประหลาด  เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า

เหตุไฉนจึ่งย่อท้อรอรา  หรือจะกล้าแต่เพียงวาที

เห็นแก้วแวววับที่จับจิต  ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้ถึงที่

เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี  อันมณีหรือจะโลดมาถึงมือ”

 

 

                     ขอประชาสัมพันธ์โครงการเปิดบ้านสอนสมาธิวิชชาธรรมกาย

 

เปิดอ่านข้อมูลที่นี่  http://forums.212cafe.com/samatha/board-14/topic-16.html

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท