อุดมการณ์ของคนเล็กๆ (๒)


 

พาให้คนเดินเข้าไปใกล้ฝันที่มีร่วมกัน

 

การนำพาให้ความคิดของสมาชิกกว่า ๒๓๐ คน  ดำเนินไปในเรื่องเดียวกันตลอดสองวันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  คณะทำงานจึงต้องทำงานกับผู้เข้าร่วมประชุมในหลายขั้นตอน ได้แก่

 

  • ขั้นเตรียมความคิดของผู้เข้าร่วม ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมให้เห็นความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ที่จัดเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการย่อยๆ ในทุกกลุ่มงาน เพื่อสำรวจทุกข์-สุข ของบุคลากร ในเบื้องต้น รวมถึงการเลือกเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในยุทธศาสตร์ที่แต่ละคนมีความสนใจ

 

  • ขั้นจัดการประชุมให้มีบรรยากาศแบบเปิด ที่เอื้อให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทั้งการทำความเข้าใจกับวิสัยทัศน์ ตลอดจนการร่วมคิดร่วมสร้างยุทธศาสตร์ที่ตนสนใจให้เป็นยุทธศาสตร์ของการพิชิตเป้าหมาย คือ วิสัยทัศน์ที่ทุกคนมุ่งหวัง

 

  • ขั้นทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมสัมฤทธิ์ผลได้จริง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

 

ขั้นเตรียมความคิดของผู้เข้าร่วม  

ในขั้นนี้ ครูส้ม – วีณา ว่องไววิทย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบ และดำเนินกระบวนการร่วมกับครูมล – วิมลรัตน์ ศีลธรรมพิทักษ์ ผู้จัดการส่วนบุคคล โดยการประสานงานกับช่วงชั้น และส่วนงานต่างๆ

 

ประเด็นที่คุณส้มเตรียมไปนำเสนอ และสร้างความสนใจให้กับครูและบุคลากรได้เป็นอย่างดีคือ สถานการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสังคมในอนาคตต้องเผชิญกับเรื่องใดบ้าง

 

ขั้นจัดการประชุมให้มีบรรยากาศแบบเปิด ที่เอื้อให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม

ในขั้นนี้มี พี่ติ่ง - สุภาวดี หาญเมธี  ประธานกรรมการบริหารฯ เป็นหัวเรือใหญ่ พี่ติ่งมาร่วมคิดตั้งแต่ขั้นทบทวนวิสัยทัศน์  ออกแบบกระบวนการ (ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้) และเป็นผู้ดำเนินกระบวนการหลักในวันประชุม

 

ขั้นทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมสัมฤทธิ์ผลได้จริง  

ในขั้นนี้มี คุณทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นหัวเรือใหญ่

 

การออกแบบการเรียนรู้ 

พี่ติ่งเริ่มต้นจากการนำวัตถุประสงค์ของการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นตัวตั้ง นั่นคือ

  • ได้ shared vision
  • ได้แผนปฏิบัติการ
  • ได้พลังใจในการทำงานร่วมกัน

 

จากนั้นจึงวางเนื้อหาว่าในการประชุมเชิงปฏิบัติการใน ๒ วัน จะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ตั้งแต่เรียนรู้สถานการณ์ร่วมกัน  แบ่งปันความฝัน  สำรวจสถานการณ์ที่มีทั้งบวกและลบ  ศึกษายุทธศาสตร์  และทำแผนปฏิบัติการ  เมื่อวางเนื้อหาครบถ้วนแล้วจึงวางกิจกรรม กำหนดเวลา พร้อมทั้งกำหนดตัวบุคคลที่จะมารับผิดชอบ และสื่ออุปกรณ์ที่ต้องใช้

 

ประเด็นที่พี่ติ่งเน้น คือ ช่วงของการนำคนเข้าสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ ด้วยบรรยากาศการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ก่อนการเข้าสู่เนื้อหา 

 

การเชื่อมร้อยเนื้อหา หมายถึงการกอบความเข้าใจของทุกคนเข้าหากัน และนำพาความคิดทั้งหมดไปด้วยกัน 

 

การให้คุณค่ากับทุกความคิดก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน กระบวนการสร้างความเข้าใจจึงต้องเกิดขึ้นเป็นระยะ

 

หลักคิดคือในการประชุมรวมครั้งนี้ “เรามารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ได้ยินเสียงของทุกคน” ขนาดของกลุ่มจึงใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตามความเหมาะสมของโจทย์ที่เข้ามาเชื่อมให้เกิดการคิดด้วยกัน การตีความความคิด และวางแผนการทำงานร่วมกัน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 423921เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท