ชีวิตที่เมืองลาว : 28 มกราคม 2554 "ช่างที่แท้จริง...”


เมื่อวานนี้การทำงานตามแผนที่วางไว้เสร็จสิ้นลงในเวลาประมาณ 14.30 น.เท่านั้น...

ครั้นงานเสร็จ พี่น้องที่มาช่วยงานก็ทยอยกันกลับมา ส่วนช่างที่จ้างมาทำงาน บางคนก็นั่งพัก บางคนก็นอนพัก บางคนก็เดินไปโน่นมานี่ ส่วนช่างเนานั้นกลับนำเครื่องมือช่างมา “ซ่อมแซม”

Large_2701201105

 

พรุ่งนี้จะไม่มีเวลา...
“พรุ่งนี้จะไม่มีเวลา” เป็นคำพูดของช่างเนาเมื่อมีคนเดินเข้าไปพูดคุยถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่
ช่างเนาเอาหัวตะปู 3 มาตีด้วยฆ้อนลงบนใบเลื่อยเก่า ๆ ที่ใช้งานกันอยู่
เลื่อยทั้ง 3 อันนั้นถูกใช้งานอย่างหนักในงานเลื่อยไม้แบบคานพื้นตลอด 3 วันที่ผ่านมา

คำว่า “ไม่มีเวลา” นอกจากจะหมายถึงว่า พรุ่งนี้จะต้องเริ่มงานแต่เช้าแล้ว คงรวมถึงว่าสามวันที่ผ่านมาไม่มีเวลาซ่อมเลื่อยด้วย

ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นใครซ่อมเลื่อย...
เพราะเมื่อก่อนเห็นแต่ช่างใช้แล้ว “ทิ้ง” ไม่คมก็ขอเบิกเงินไปซื้อใหม่ เก่า ๆ หน่อยก็ “ทิ้ง”
แต่ช่างเนา “ใช้แล้ว ใช้อีก”
นอกจากกรรไกรตัดเหล็กที่ช่างเนาซ่อมจนใช้การได้ดี ดังที่ข้าพเจ้าเคยเล่าไว้ในบันทึกก่อน เครื่องตัดไฟเบอร์ 14 นิ้ว ก็ยังดัดแปลงมาเป็นเลื่อยวงเดือนได้ หรือแม้กระทั่งเลื่อยเก่า ๆ ราคาถูก ๆ ที่เลื่อยไม่ค่อยเข้า ช่างเนา ก็ยัง “แต่ง” ให้กลับมาใช้งานได้ดีเหมือนของใหม่ได้อีกด้วย

“ช่างตัวจริง” ต้องเป็นเช่นนี้
ช่างที่ทำงานได้ แต่ซ่อมของใช้ไม่ได้ ยังไม่ใช่ “ช่างตัวจริง”
ช่างที่รู้จักแต่ซื้อ ใช้ของแล้วจริงจึงต้องกลับมา “พิจารณา”

หลังจากที่ช่างเนาเอาฆ้อนที่รองด้วยหัวตะปูตอกลงไปเลื่อยทีละใบ ทีละใบ เลื่อยลันดาหนึ่งใบ ข้าพเจ้าคำนวณคร่าว ๆ ว่าน่าจะมีฟันเลื่อยเล็ก ๆ ประมาณหนึ่งร้อยฟัน

ช่างเนาค่อย ๆ เพ่งตอกลงไปทีละฟัน ทีละฟัน...
เท่านั้นไม่พอ เมื่อตอกเสร็จแล้วก็ “เล็ง” เล็งว่าตรงหรือยัง
เล็งเสร็จก็มา “นั่งแทน” ใช้ “ตะไบหางหนู” ลับคมทีละฟัน ทีละฟัน

พูดแต่ไม่ทำ...
“เขาใช้ทีละสามอัน ทำพร้อมกันทีเดียว” ช่างที่ตื่นมาหลังจากนอนหลับพูดกับช่างเนา
ช่างคนนั้นพอเสร็จงานก็เหยียดกายนอน พักผ่อนกายา พอตื่นขึ้นมาก็ “สอน” คนอื่น

“พูดแต่ไม่ทำ” ข้าพเจ้าแว๊บขึ้นมาในใจ
เพราะนอกจากนอนแล้ว ก็ยังมาสอนคนอื่นอีก
ช่างคนนี้ข้าพเจ้าสังเกตมาหลายวันแล้ว นอกจาก “บ่น” จนช่างเนาต้องสอนด้วยคำพูดว่า “มาทำงานอย่าบ่น” ที่ข้าพเจ้าเคยเล่าไว้ในบันทึกก่อน


เมื่อวานนี้ หัวเสาต้นเดียวก็ “งม” อยู่เป็นชั่วโมง จนช่างสุภาเห็นแล้วทนไม่ได้ต้องเดินเข้ามา “บ่น” ประมาณว่าทำอะไรชักช้าอยู่อย่างนั้น เพราะคนอื่นเขาทำงานรุดหน้ากันไปหลุย ๆ แต่เจ้านี้พร้อมกับลูกน้องทำหัวเสาต้นเดียวอยู่เป็นชั่วโมงไม่เสร็จสักที

ช่างที่แท้ ต้องนอกจากทำงานดี ทำงานไวแล้ว ยังต้องมีทักษะ (Skills) ทางช่างรอบด้าน
รอบด้านในที่นี้หมายถึง ต้องเลือกซื้อเป็น ใช้เป็น บำรุงรักษาเป็น ประยุกตร์เป็น และ “ทิ้ง” เป็น

“ทิ้งโลด ทิ้งมาที่ผม”
ใบเลื่อยวงเดือนที่อาจารย์ร่อนซื้อมาในราคาหนึ่งร้อยบาท เริ่มจะใช้งานไม่ดีเท่าที่ควรแล้ว
นอกจากช่างบางคน “ชุ่ย” เอาไม้ที่มีขี้ปูนติดมาเลื่อย ใบเลื่อยที่พังเร็ว

เมื่อวานข้าพเจ้าเห็นช่างเนานับใบเลื่อยวงเดือนว่ามีกี่ใบ ข้าพเจ้าสงสัยก็นับกันทำไม...?
แต่แล้วข้าพเจ้าก็ได้ยินว่า “ฟันละบาท” ก็คือค่าลับคมใบเลื่อยนั้นเขาคิดกัน “ฟันละบาท” ใบเลื่อยวงเดือนขนาดเก้านิ้ว ที่เขานับได้กันมีประมาณ 40 ใบ ถ้าไปจ้างลับก็จะเสียเงิน 40 บาท ข้าพเจ้าจึงบอกว่าไปซื้อใหม่ “ใบละร้อย”

ช่างเนาได้ยินเช่นนั้นเลยบอกว่า “งั้นก็ทิ้งโลด” แต่มีคำพูดต่อท้ายว่า “ทิ้งมาที่ผม” แล้วเอามือชี้ไปที่ตัวเอง
ข้าพเจ้าคิดว่า ช่างเนาคงจะมีเทคนิควิธีและความ “อุตสาหะ” ไปนั่งลับคมใบมีดวงเดือนนั้นให้ใช้ใหม่ได้ดังเช่นที่เขานั่งลบคม “เลื่อยลันดา” 3 อันนั้นให้ “แจ๋ว” เหมือนใหม่

ช่างตัวจริง ทำงานด้วยใจ และมีใจที่ “ใส่” อยู่ในงาน
ช่างตัวจริง นอกจากใช้เครื่องมือทำงาน ก็ยังต้อง “รักษา” เครื่องมือทำงานนั้นด้วย
การเป็นช่าง ทำงานช่าง ใช้เครื่องมือช่างได้ ยังไม่เก่งเท่าคนที่รักษาและซ่อมแซมเครื่องมือของช่างให้ใช้งานได้อย่าง “คุ้มค่า...”

Large_2701201104

หมายเลขบันทึก: 423020เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2011 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ภาพชีวิตของชาวบ้านดีแท้เลยนะครับ อยากให้มีภาพชีวิตแบบนี้มากยิ่งขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท