ผู้เขียนได้อธิบายไปแล้วว่าเจตนานั้นมาจากคนทำมิใช่มาจากคนรับ  คนที่มักจะชอบพูดบ่อยว่าไม่เชื่ออย่าลบหลูนั้นเป็นเพราะไม่เข้าใจหลักเจตนา  เนื่องจากหากจะเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น  ผู้นั้นต้องมีเจตนาด้วยหากไม่มีเจตนาหรือไม่ตั้งใจก็ไม่ถือว่าเป็นการลบหลู่  แล้วคำว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่มักใช้กับสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5  แล้วส่วนมากมักจะมาจากการกระทำของจิตวิญญาณที่มักจะชอบแสดงฤทธิ์ให้คนกลัวเสียมากกว่าการกระทำของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียอีก  หากพิจารณาให้ดีเมื่อตนเองมีอิทธิฤทธิ์แล้ว  ใช้อิทธิฤทธิ์นั้นไปข่มขู่ผู้อื่น  จะถือว่าเป็นการลุแก่อำนาจอีกวิธีหนึ่ง

โดยปกติการใช้อำนาจไปในทางพระเดชเป็นธรรมชาติของจิตทุกดวงอยู่แล้ว  ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นหรือจิตวิญญาณก็ตาม  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะส่วนหนึ่งเพื่อเรียกร้องความสนใจ  การกระทำเช่นนี้จึงไม่ต่างจากเด็กขี้แยรบเร้าเอาของเล่นจากพ่อแม่  ซึ่งลักษณะการอยากให้ผู้อื่นสนใจตนเองนั้นมีกันแทบทุกคน  เพียงแต่ว่าเด็กอาจจะแสดงพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากผู้ใหญ่เท่านั้น  นั่นคือพฤติกรรมเดียวกันเด็กแสดงอย่างหนึ่ง  ผู้ใหญ่แสดงอย่างหนึ่ง  เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็แสดงออกอย่างหนึ่ง  หากทุกคนรรุ้เท่าทันตนเองด้วยความมีสติ  ก็จะไม่เกิดเหตุการใช้อำนาจในทางพระเดชด้วย

ดังนั้นการใช้ฤทธิ์ในทางพระเดชแล้วทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่เกิดขึ้น  หรือเด็กรบเร้าเอาของเล่นจากพ่อแม่  หรือบางทีเห็นผู้ใหญ่บางทีงอนเด็ก  ก็เป็นเรื่องเดียวกันหรือเป็นพฤติกรรมเดียวกันทั้งสิ้น  นั่นคือการเรียกร้องความสนใจ  เมื่อรู้ทันถึงลักษณะการเรียกร้องความสนใจแล้วให้ไปสำรวจตนเองแล้วขจัดข้อบกพร่องนี้ด้วยวิปัสนากรรมฐาน  จะทำให้พฤติกรรมที่เรียกว่าการเรียกร้องความสนใจนี้หายไปได้เอง  เนื่องจากการเรียกร้องความสนใจเป็นลักษณะอาการน้อยใจซึ่งเป็นพฤคิกรรมย่อยของพฤติกรรมใหญ่ที่เรียกว่าการหลงตนและการถือตัวนั่นเอง

นั่นหมายความว่ากำลังสมาธิยิ่งมากขึ้นเท่าไรยิ่งต้องรู้เท่าทันตนเองให้เร็วขึ้นแล้วมากขึ้นกว่ากำลังวสมาธิที่เพิ่มขึ้น  เพราะถ้ากำลังสมาธิเพิ่มเร็วกว่าขีดความสามารถในการรู้ตัวของเรานั้นจะทำให้เกิดสภาวะที่ไม่รู้ตัวเกิดขึ้นได้  สภาวะอย่างหนึ่งคือการใช้อิทธิฤทธิ์ข่มขู่ผู้อื่น  นำมาซึ่งความหวาดกลัวโดยเฉพาะมนุษย์  แล้วทำให้มนุษย์เข้าใจผิดว่าผู้ที่แสดงปาฏิหาริย์มาก ๆ  กลายเป็นคนที่ศักดิ์สิทธิ์มาก  ท้ายสุดจึงเป็นที่มาของคำพูดที่ยอดนิยมว่า "ไม่เชื่ออย่าลหลู่"  เกิดขึ้นนั่นเอง

หากทุกคนสามารถสำรวจตนเองได้อย่างลึกซึ้งจะพบว่าพฤติกรรมบางอย่างไม่ควรทำ  ซึ่งแม้แต่ผู้เขียนเองกว่าจะรู้ตนเองก็หาข้อบกพร่องนี้อยู่ตั้งหลายปี  การที่เราจะเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นได้นั้นก็ต้องให้ความสำคัญในตนเองก่อน  ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงไม่ค่อยให้คุณค่ากับความเป็นตนเอง  ไม่ได้ให้คุณค่าว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง  เพราะหากสนใจในความดีที่ตนทำไม่ว่าใครก็ตามจะทำให้เกิดความหลงตนและการถือตัวผุดขึ้นมาอีก  เมื่อเกิดความหลงตนและการถือตัวขึ้นมาโอกาสที่จะลุแก่อำนาจ  หลงติดอำนาจ  แล้วในที่สุดบ้าอำนาจก็จะมีขึ้นมาอีก  การที่ไม่ให้ความสำคัญกับงานที่ทำแต่ให้ความสำคัญกับผลที่ได้  จะเป็นลดความถือตัวลงได้แล้วหากมีฤทธิ์จะไม่ใช้ฤทธิ์นั้นไปแสดงอภินิหาริย์ให้เกิดความหวาดกลัว  แล้วไม่เป็นบ่อเกิดของคำว่า  "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"  เกิดขึ้น

ไม่ว่าใครทำอะไรก็สุดแล้วแต่  สิ่งนั้นย่อมตอบสนองตนเสมอ  การใช้อิทธิฤทธิ์ไปข่มขู่ให้ผู้อื่นกลัวด้วยเจตนาก็ถือว่าเป็นบาปกรรมแล้วเป็นมโนกรรมอย่างหนึ่ง  และมโนกรรมนี้เมื่อผู้ใดทำขึ้นแล้ว  จะถือว่าเป็นการทำบาปอย่างร้ายแรง  บรรดาพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้งหลายที่พึงมี  เมื่อมีและเกิดขึ้นแล้วย่อมมีทางแก้เสมอขึ้นอยู่กับว่าจะรู้วิธีการแก้พฤติกรรมนั้นหรือไม่  ท้ายสุดจึงหนีไม่พ้นปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง