พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

ลงพื้นที่ รับฟังพี่น้องชาวบ้านใหม่สามัคคี อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


ลงพื้นที่ รับฟังพี่น้องชาวบ้านใหม่สามัคคี อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.54

          โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชร ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะทำงานฯ ได้ร่วมเดินทางไปยัง บ้านใหม่สามัคคี หมู่ที่ 14 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า เพื่อรับฟังปัญหาของชาวบ้านซึ่งมีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ผ่านคำบอกเล่าของเจ้าของปัญหาที่ยังคงไร้สัญชาติในแผ่นดินไทย

          วงเสวนาฟังปัญหาฯ ในครั้งนี้มีทั้งภาครัฐ คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคองค์กร พัฒนาเอกชน อย่างมูลนิธิกระจกเงาที่ทำงานในพื้นที่เป็นหลัก และสนใจประเด็นเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลและชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 100 คน ทั้ง หญิงชาย พ่อเฒ่าแม่เฒ่า และเด็ก ๆเยาวชน  ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

1.      ชาวคะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี

2.      ชาวอาข่า บ้านใหม่สามัคคี

3.      ชาวปล้อง บ้านใหม่สามัคคี

 ทั้งนี้ประเด็นปัญหาที่พี่น้องร่วมกันนำเสนอ สามารถสรุปได้คร่าว ๆ คือ

ประเด็นที่ 1 ชาวบ้านในพื้นที่เคยยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยตาม ม.7 ทวิ ตาม พรบ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535ต่อทางอำเภอ แต่พอปี พ.ศ.2551 มีพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ม.23 ทำให้คนที่เกิดในประเทศไทยตามเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามหลักดินแดน โดยชาวบ้านบางส่วนกลับไม่รู้ข้อกฎหมายใหม่นี้จึงไม่ได้ไปยื่น แต่หลายคนที่ทราบก็ไปยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม.23 กับทางอำเภอ

ปัญหาคือยื่นไปแล้วเป็นเวลานานถึงปี หรือสองปี แต่ไม่มีความคืบหน้า ทางอำเภอแจ้งให้ชาวบ้านรอก่อน ชาวบ้านต้องเดินทางไปสอบถามกับอำเภอหลายครั้ง เสียค่าใช้จ่าย เพราะระยะทางในการเดินทางค่อนข้างไกล หากเป็นไปได้ชาวบ้านอยากให้มีคนกลางมาช่วยประสานงานระหว่างชาวบ้านกับอำเภอ

 ประเด็นที่ 2 ผลกระทบของการเป็นคนไร้สัญชาติ : เด็กและเยาวชนชาวบ้านใหม่สามัคคี ซึ่งไร้สัญชาติ ถูกห้ามไม่ให้สมัครเพื่อขอทุนการศึกษาจากรัฐ ประกอบกับฐานะทางบ้านที่ยากจน พ่อแม่หลายคนก็ไร้สัญชาติ ช่องทางการทำมาหาเลี้ยงชีพในความเป็นจริงก็ไม่มากนักอยู่ การส่งเสียให้ลูกหลานได้เรียนในระดับสูงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อโอกาสในการรับทุน หรือแม้กระทั่งโอกาสในการศึกษาต่อดับวูบลง การเป็นผู้ทรงสิทธิในคุณภาพชีวิตตามข้อกฎหมายก็ดูจะไม่มีประโยชน์ตามความเป็นจริง

          ทั้งนี้เด็กและเยาวชนที่กำลังจะศึกษาจบจากสถานบันการศึกษาก็เป็นห่วงกังวลถึงวันข้างหน้าว่าตนอาจจะไม่ได้รับวุฒิการศึกษา หรือแม้ได้รับวุฒิฯ และการเป็นคนไร้สัญชาติก็อาจจะมีผลต่อการประกอบอาชีพของพวกเขาในอนาคต

 อย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวบ้านกลุ่มที่มาร่วมวงเสวนานี้จะสะท้อนปัญหาที่ได้ยื่นขอสัญชาติไทยตามกฎหมายไปแล้ว แต่ไม่ได้รับความคืบหน้าในการดำเนินการ ร่วมถึงสะท้อนถึงผลกระทบของการเป็นคนไร้สัญชาติ แต่เมื่อซักถามเพิ่มเติม ทำให้เรารับทราบว่า ยังมีชาวบ้านในบ้านใหม่สามัคคี หมู่ 14 ที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลอื่น ซึ่งสามารถจำแนกบุคคลได้เป็น 4 กลุ่ม คร่าว ๆ คือ

1.      ผู้ที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (มีด้วยกันหลายกลุ่ม)

2.      ผู้ถือบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วย 00)

3.      ผู้ถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วย 0)

4.      ผู้ที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน และอาจจะไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใด ๆ เลย

 

ความเป็นไปได้ในเง่มุมผู้เขียน

ตามที่รับฟังปัญหาของพี่น้องที่มาร่วมวงเสวนาในครั้งนี้ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติไทย หลายคนยื่นขอลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม.23 พรบ.สัญชาติ(ฉบับที่4)พ.ศ.2551ไว้นานแล้ว และได้ฟังนายอำเภอเชียงดาวอธิบายว่าคนกลุ่มนี้จำนวนกว่าหลายร้อยอยู่ในเขตอำนาจของเทศบาลตำบลเมืองนะที่จะรับเรื่อง จำนวนคนที่มีปัญหามากกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ของทางเทศบาลและอำเภอเป็นหลายสิบเท่าตัว และประเด็นที่ต้องทำงานคือ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และสอบปากคำพยาน ดังนั้นหาก องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เข้ามาเป็นสื่อกลางให้ความช่วยเหลือ เช่น ช่วยสอบปากคำพยานในเบื้องต้นก่อนทางเทศบาลและอำเภอ  เสมือนการคัดกรองก่อนเบื้องต้นว่าผู้ยื่นคำขอมีข้อเท็จจริงที่จะได้สัญชาติไทยจริงหรือไม่  แต่ทั้งนี้ อาจจะต้องขึ้นอยู่กับทางภาครัฐด้วยว่าจะเปิดใจ เชื่อมั่นในการทำงานของเอกชนมากแค่ไหน

อย่างไรก็ตามบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนที่น่าจะเป็นไปได้อย่างมาก คือ การให้ความรู้และการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะสาระสำคัญของการแก้ปัญหา คือ เจ้าของปัญหาควรเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาของตน “หลักการพึ่งตนเองก่อนเป็นอันดับแรก” ดังนั้นแม้ว่าคนที่มีปัญหาจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ การสื่อสารอาจลำบาก แต่ลูกหลานของคนเหล่านี้ที่อายุช่วง 16-25ปี จะเป็นกำลังได้ หากเราบอกและอธิบายถึงสถานะทางกฎหมายของพวกเขา ให้เขาเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสถานะของเขาและอาจจะ ควรเข้าใจถึงกระบวนการทำงาน การรับเรื่องของรัฐด้วย เพราะวันที่เขาสามารถผ่านการดำเนินการขั้นตอนหนึ่งแต่ไปติดขัดในขั้นตอนถัดไป พวกเขาจะได้ทราบว่าเรื่องติดอยู่ที่ขั้นตอนใด ควรแก้ไขอย่างไร ที่สำคัญคนในกลุ่มช่วงอายุนี้เป็นเด็กในสถานศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทางอำเภอจะเร่งแก้ปัญหาในเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลให้ก่อนแล้ว ดังนั้นน่าจะดีกว่าที่เขาจะได้รับการแก้ปัญหาโดยเข้าใจถึงสภาพของมันด้วย เป็นการซึมซับความสำคัญของการต่อสู่เพื่อให้ได้ใช้สิทธิในสถานะบุคคลอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้พวกเขาจะมีแรงกาย แรงใจ แรงสมอง เพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัว ในชุมชนของเขาที่ประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลเช่นเดียวกัน

 

หมายเลขบันทึก: 422855เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2011 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รวดเร้วจังเลยค่ะ

อ่านแล้วมีเพิ่มเติมข้อสังเกตมาให้ สองข้อ ดังนี้ค่ะ

1. สำหรับประเด็นแรก .... ชาวบ้านที่เคยยื่นคำขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ 2508 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 มีเพียงกลุ่มหนึ่ง ที่เกิดก่อน 26 ก.พ. 2535 ที่สามารถขอลงรายการสัญชาติไทยตาม มาตรา 23 ฯ ส่วนเด็กที่เกิดหลัง 26 ก.พ. 2535 ก็ต้องดูเป็นรายกรณีไปว่าเป็นบุตรของคนที่ถูกถอนหรือไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของ ปว. 337 หรือไม่ หากไม่เข้าข่ายที่กล่าวมา เด็กกลุ่มนี้ก็ยังคงตกอยู่ภายใต้มาตรา 7 ทวิฯ เช่นเดิม

2. สำหรับประเด็นที่สอง กรณีที่เด็กไร้สัญชาติเหล่านี้ไม่มีสิทธิขอทุนการศึกษาของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็เนื่องจากกองทุนนี้ระบุให้ผู้มีสิทธิกู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเด็กเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการขอสัญชาติไทย(ม.7 ทวิ)/ขอลงรายการสัญชาติไทย(ม.23ฯ) อันเป็นกระบวนการพิสูจสถานะบุคคล จึงยังไม่สามารถใช้สิทธิในฐานะคนสัญชาติไทยในการกู้ยืมเงิน กยศ. ได้ค่ะ แต่เรื่องทุนการศึกษา หากเป็นทุนการศึกษาที่ไม่ระบุสัญชาติ เก็กเหล่านี้ก็มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาได้ค่ะ เช่น ทุนเรียนดีที่ทางมหาวิทยาลัยมักให้แก่เด็กที่มีผลการเรียนดีในสถานศึกษาของตน โดยไม่ระบุเงื่อนไขว่าเด็กคนนั้นต้องมีสัญชาติไทย   เป็นต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท