แพทุ่นเงินที่นครปฐม :3


ใช้ได้ แจ๋วเลย ใช้ได้สบายมาก

ทุ่นเงินเป็นทุ่นที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา เพื่อที่จะใช้เป็นทุ่นสำหรับทำแพโดยเฉพาะ ทำจากปูนซีเมนต์ปั้นให้มีรูปร่างคล้ายโอ่งใหญ่ สำหรับใส่น้ำฝนที่มีใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป รูปทรงกลมแป้น คล้ายลูกอิน (ลูกอินจะค่อนไปทางกลม ส่วนลูกจันจะค่อนไปทางแบน ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักเลยทั้งสองลูก ) มีสัดส่วนโดยละเอียด ดังนี้

                  ความจุ ประมาณ                    1000          ลิตร 

                  ความสูง                                  96          ซ.ม.

                  ความกว้าง                   135 - 140             ซ.ม.

                  ความหนา ประมาณ          3.5 - 4.0             ซ.ม.

                  น้ำหนักสุทธิ                         265              ก.ก.

                   ส่วนก้นกว้าง                        100              ซ.ม.

                  ส่วนปากกว้าง                         45               ซ.ม.

                  มีขอบปากเป็นรูปวงแหวนกว้าง    10               ซ.ม.

                  ส่วนที่จมน้ำ                            25               ซ.ม. 

                  ส่วนที่ลอยพ้นน้ำ                      71               ซ.ม.

                  ( ลอยน้ำได้อย่างสมดุล )

ทุ่นเงินนี้ผมไม่ได้ใช้วิธีซื้อโอ่งใหญ่ มาทดลองใช้เป็นทุ่นแต่อย่างใด ผมใช้วิธีค่อย ๆสังเกตุ ค่อย ๆคิด ค่อย ๆดู กว่าจะมาเป็นรูปเป็นร่าง เข้าร่องเข้ารอย ก็ประมาณปี 2536 ( เริ่มคิดจะทำแพอยู่อย่างจริงจังในปี 2533 จึงมาซื้อบ่อทรายร้างลูกเล็ก ๆ ลูกหนึ่ง อยู่ที่ ต.ลำเหย อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ เป็นพื้นน้ำเกือบทั้งหมด )

เหตุที่ทำให้ผมคิดทำทุ่นเงินขี้นมาได้ ก็เพราะว่า ผมไม่เชื่อ ไม่ยอมรับว่า ทุ่นสำหรับจะใช้ทำแพมีอยู่เพียง 4 - 5 อย่าง อย่างที่เราคุ้นเคยเท่านั้น น่าจะมีทุ่นแพแบบอื่น ๆ มาให้เราเลือกใช้เป็นทุ่นแพของเราได้อีก

หาไปหามาก็มาสะดุดตาที่โอ่งใหญ่ใส่น้ำฝนที่อยู่รอบ ๆ บ้าน เกิดข้อสงสัยขึ้นมาในใจว่า โอ่งเหล่านี้มีน้ำเต็มอยู่ข้างใน แต่น้ำก็ไม่รั่ว ไม่ซึมออกมาข้างนอกเลยแม้แต่น้อย แม้จะผ่านการใช้งานมานานเป็น 10 ปี ( ไปขอดูตามบ้านในละแวกใกล้เคียง บางลูกอายุเกือบ 20 ปี ก็ยังมี ) เพราะฉนั้น ถ้าเราเอามาใช้ในทางกลับกัน ให้น้ำอยู่ข้างนอก ให้น้ำอยู่รอบ ๆ ก็น่าจะใช้การได้ดีเช่นกัน ( คือ เอาลงไปลอยน้ำ น้ำก็คงจะไม่ซึมเข้าไปข้างใน และคงจะใช้ได้นานเป็น 10 ปีเหมือนกัน ) หากเป็นไปได้จริงตามนี้ ก็นำมาทำเป็นทุ่นสำหรับทำแพได้

แต่โอ่งลูกมันใหญ่และมีน้ำหนักมาก มันจะลอยน้ำได้หรือ มันอาจจะจมก็ได้ หากมันลอย มันจะลอยแบบไหน ลอยมากลอยน้อยอย่างไร

ลงท้ายก็ต้องทดลองเอง เพราะไปถามใคร ใครคนนั้นก็ตอบว่า ไม่รู้ ไม่เคยเห็น แม้แต่ช่างปั้นโอ่งมืออาชีพ ก็บอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่เคยเอาโอ่งลอยน้ำเลย

ผมตัดสินใจสั่งให้เขาปั้นเป็นพิเศษสำหรับผม 2 ลูก ให้ใช้ปูนปอร์ตแลนด์ตราช้าง แทนปูนตราเสือที่เขาเคยใช้ตามปกติ และให้หนากว่าโอ่งใส่น้ำ เพราะต้องการความแข็งแรงมากขึ้น ไม่ต้องการใส่น้ำ

ครั้นถึงวันที่ช่างนำทุ่นแพ (ต้องเรียกให้ต่างกัน เพื่อแยกให้เห็นอย่างชัดเจน ) 2 ลูกแรกมาส่ง ผมบอกให้ช่างกลิ้งลงไปในน้ำก่อนหนึ่งลูก อีกลูกหนึ่งปล่อยทิ้งไว้บนรถก่อน ( รถปิคอัพบรรทุกได้ 2 ลูก ) เผื่อไว้ก่อนว่า จมไม่ยอมลอย หรือว่าลอยแบบไม่ค่อยเต็มใจ ก็จะได้เหลือไปใช้ใส่น้ำ 1 ลูก ไม่ต้องเสียทิ้งน้ำไปคราวเดียว 2 ลูก

ช่างสำทับกับผมว่า " เอาลงน้ำผมเอาลงให้ได้ ง่ายมาก แต่หากจะให้ผมเอาขึ้นมาอีก ผมไม่เอาขึ้นให้นะ "

ณ เวลานั้น ตอนที่ทุ่นแพถูกกลิ้งจากรถลงไปในน้ำ กระทบกับผิวน้ำแตกกระจายพร้อมกับระลอกคลื่นขนาดใหญ๋ ทุ่นแพลูกแรก ลูกนั้นก็พลิกตัว ตั้งตรงขึ้น เอียงซ้าย เอียงขวาไปมา 2 - 3 ครั้งก็หยุดนิ่งสนิท เหมือนเราเล่นตุ๊กตาล้มลุก วินาทีนั้นผมตระโกนบอกทุก ๆ คนว่า " ใช้ได้ แจ๋วเลย ใช้ได้สบายมาก " " ที่เหลืออีกลูกหนึ่งบนรถ เอาลงไปเลย "

หลังจากสงบจากอารมณ์ดีใจในตอนนั้นแล้ว ผมสั่งให้ช่างปั้นมาให้ผมอีก 28 ลูก เสร็จแค่ไหนก็ทยอยมาส่ง ผมสั่งให้ช่างปั๊มเลขที่ของทุ่นเรียงไปตามลำดับทุกลูก พร้อมกับวันที่ เดือน พ.ศ. ที่ทำด้วย ช่างคนนี้ก็น่ารัก ทำให้ตามที่ผมสั่งทุกอย่าง

ทุ่นทุกลูกมีเลขลำดับที่ เรียงไปตามลำดับพร้อมวันที่ เดือน พ.ศ.ที่ทำทุกลูก เช่น  30   25  มกราคม พ.ศ. 2537 ( ไม่ย่อเป็น  30    25  ม.ค.  2537 ) ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อบล็อกตัวอักษรมาปั๊มให้มากมายอย่างนั้นก็ได้

หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้รับทุ่นเงินครบจำนวน 30 ลูก แถมลูกร้าวอีก 1 ลูก มาลอยไว้ในบ่อเพื่อรอความพร้อมด้านทุนรอนในการปลูกสร้าง ผมทำวงล้อมไว้ให้ทุ่นเงินทั้ง 31 ลูก ลอยรวมกันอยู่ในบ่อเฉย ๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย ตั้งแต่ปี 2537 ( จนบางคนเขาชักสงสัยว่า ผมคงจะบ้าไปแล้วมั๊ง เอาโอ่งมาลอยน้ำทิ้งไว้ทำไมตั้งเยอะ ไม่เห็นทำอะไร )

ผมมาปลูกสร้างเป็นตัวเรือนแพเพื่ออยู่อาศัย เมื่อปี 2542 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวเหมือนบ้านทั่ว ๆ ไป หลังคามุงสังกะสี ขนาด 6x12 ตร.ม. มี 2 ห้องนอน ห้องโถงอเนกประสงค์  ห้องครัว ( ไม่รวมระเบียงหลัง ซึ่งมาสร้างเพิ่มเติมภายหลัง ) โครงสร้างหลักเป็นคานเหล็กตัว C แล้ววางตง ตั้งเสา ปูพื้นตามปกติทั่วไป ใช้ทุ่นเงินจำนวน 24 ลูก เป็นทุ่นรองรับอยู่ด้านล่าง ถึงวันนี้ทุ่นเงินทุกลูกยังอยู่ในสภาพดี ไม่รั่ว ไม่ซึม อีก 10 ปี ผมคิดว่า น่าจะยังคงใช้การได้อยู่                  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         

 

หมายเลขบันทึก: 422842เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2011 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณครับพี่เชษฐ์ เยี่ยมจริงๆ ตามไปดูที่บันทึกแรกมาแล้ว

ขอบคุณสำหรับช่อดอกไม้จากอาจารย์ครับ

ขอบคุณคุณวอญ่า ในคำชมครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาติดตามอ่าน ขั้นตอนการคิดค้น เมื่อได้ผลสำเร็จแล้ว ทำให้ใจเบิกบานมากเลยนะคะ แต่หนูแอบสงสัยนิดนึงว่า จากรูปในบันทึกก่อนหน้านี้ หากฝนตกหนัก แล้วน้ำลงไปในทุ่นเงิน จะทำให้มีปัญหาไหมคะ 

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนค่ะ :)

สวัสดีครับ คุณมะปรางเปรี้ยว

ขอบคุณสำหรับดอกไม้และความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในเรื่องทุ่นเงิน

ปัญหาเรื่องน้ำฝนกับทุ่นเงินนี้ ทุกคนมีความสงสัยเช่นเดียวกับคุณมะปรางเปรี้ยวทุกคนเลยครับ เหตุที่ทำให้น่าสงสัยเพราะ ทุ่นเงินเป็นทุ่นเปิด ไม่มีฝาปิดอยู่ที่ด้านบน ดังนั้นหากมีน้ำไหลลงไป จนเต็มตัวทุ่น ทุ่นเงินต้องจมลงไปในน้ำอย่างแน่นอนครับ

ตัวทุ่นเงินในภาพทั้งหมด วางอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ อยู่ในร่มและอยู่กลางแจ้ง

   - อยู่ในร่ม คือ อยู่ใต้หลังคา ไม่มีปัญหาเลยเว้นแต่มีพายุ ลมกระโชกแรงร่วมด้วยจนพัดหลังคาเปิดเปิงไป หรือไม่ก็ปล่อยให้หลังคารั่วจนน้ำไหลทะลุผ่านพื้นแพแล้วลงไปในตัวทุ่น ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น นาน ๆ จนน้ำเต็มทุ่น ทุ่นเงินลูกนั้นก็ต้องจม

  -อยู่กลางแจ้ง คือ อยู่นอกชายคาบ้าน ( ตามภาพอยู่ด้านที่เป็นระเบียงหลัง ) หากฝนตกหนัก น้ำฝนก็ย่อมจะไหลลงไปมาก หากฝนตกน้อยก็ไหลลงไปน้อยเป็นธรรมดา  แต่ฝนแม้จะตกหนักขนาดไหนก็ต้องหยุดตก น้ำฝนที่เคยตกมาก็มีผลเพียงทำให้มีน้ำอยู่ในตัวทุ่นเงินบ้างเท่านั้นเอง ไม่กระทบถึงการรับ น.น. บรรทุกของทุ่นเงินแต่อย่างใด ( ป.ล. ทุ่นเงิน 2 ลูกที่เห็นวันเดือนปีที่ทำ นั่นแหละคือทุ่นที่อยู่ระเบียงหลัง ผมได้ใส่ทราย น.น. 300 ก.ก./ลูก ไว้ในตัวทุ่น เพื่อถ่วงน้ำหนักให้ทุ่นชุดนี้จมลงได้ระดับเดียวกับระดับพื้นแพหลัก )   

ขออภัยหากเรียบเรียงคำพูดแล้วชวนให้งง ยังไม่หายสงสัยถามมาอีกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท