เครือข่ายกองทุนฟื้นฟูอาชีพ (หลังสึนามิ) กระบี่ พังงา ระนอง เสนอแนวทางจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติในชุมชน


กองทุนจัดการภัยพิบัติในชุมชน

ในงานสัมมนาเรื่อง การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยกระบวนการกลุ่มการเงินขนาดเล็ก โดยมูลนิธิรักษ์ไทยร่วมกับเครือข่ายเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูอาชีพ จังหวัด กระบี่ พังงา ระนอง ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยน ประสบการณ์การบริหารจัดการกองทุนในชุมชน ให้เกิดความยั่งยืน และแนวทางในการเสริมสร้างบทบาทของกองทุน ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ   จากมุมมองของสถาบันการเงิน และกลุ่มการเงินขนาดเล็กในชุมชน กองทุนฟื้นขวัญอันดามัน บ้านไหนหนัง อ.เมือง จ.กระบี่ ,สถาบันการเงินบ้านช่องพลี อ.เมือง จ.กระบี่ ,กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ,สหกรณ์เครดิตยูเนียรบ้านควนฮาย อ.ไชยบุรี  จ.สุราษฎร์ธานี มองอนาคตหวังให้กลุ่มการเงินขนาดเล็ก สถาบันการเงินในชุมชน เป็นที่พึงในการแก้ไขปัญหาทางการเงินของคนในชุมชนชุมชน พร้อมส่งเสริมให้เกิดการสร้างสวัสดิการ และหลักประกันในความมั่นคงในชีวิตของคนในชุมชน 

ในขณะที่เครือข่ายกองทุนฟื้นฟูอาชีพ (หลังสึนามิ) กระบี่ พังงา ระนอง ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย เสนอแนวทางการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติขึ้น โดยระบุเป็นการสร้างสวัสดิการให้กับชุมชนที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของกองทุนฯ เพื่อเป็นงบประมาณฉุกเฉินในกรณีหากเกิดภัยธรรมชาติขึ้นในชุมชน รวมทั้งการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของชุมชน และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในการับมือและลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ   โดยการประสานการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติร่วมกับภาคประชาสังคมในชุมชน  อีกทั้งเป็นช่องทางการประสานแผนการจัดการภัยพิบัติและงบประมาณจากองค์การปกครองท้องถิ่น และรัฐบาล

โดยกองทุนที่ตั้งขึ้นจะมาจากผลกำไรส่วนหนึ่งจากการดำเนินงานของกองทุน หรือจากการออมของสมาชิกกองทุน ในลักษณะการออมเพื่อสวัสดิการ ที่แต่ละกองทุนมีการออมในลักษณะดังกล่าวอยู่แล้วเพียงระบุแผนการจัดการภัยธรรมชาติเพิ่มเข้าไป อย่างไรก็ตามมองว่ากองทุนที่เกิดขึ้นนี้จะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ และการสร้างความเข้าใจกับสมาชิกกองทุนให้เห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว โดยอาจจะเพิ่มช่องทางการขอรับบริจาคจากภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามาประกอบกิจการต่างๆในชุมชนเพิ่มเติม  

ในเรื่องนี้กองทุนฟื้นฟูอาชีพบ้านท่าคลอง ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ได้ริเริ่มดำเนินการในการวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของชุมชนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนเตรียมความพร้อมของชุมชน และเชื่อมโยงกับแผนการจัดสวัสดิการของกองทุนฟื้นฟูอาชีพที่มาจากการสมทบของสัดส่วนผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกองทุนฯ  สำหรับเป็นงบประมาณในการซ่อมแซมอุปกรณ์เตือนภัยของชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนตามแผนฯ แต่ก็ประสบปัญหาเงินผลกำไรที่นำมาจัดสรรนั้นไม่มากพอที่จะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามนายปัญญา หวามาก ในฐานะคณะทำงานเตรียมความพร้อมของชุมชน และคณะกรรมการกองทุนฯ บ้านท่าคลอง กล่าวว่าทีมงาน มีแผนในการที่จะฟื้นฟูกิจกรรมดังกล่าว โดยจะประชุมกันเพื่อวางแผนในการตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติขึ้นมาในชุมชนอีกครั้ง ให้เห็นรูปธรรมก่อนที่จะประสานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการประสานแผนและงบประมาณในขั้นตอนต่อไป

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มองว่าน่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการประสานแผนและงบประมาณสบทบในกองทุนฯดังกล่าวในแต่ละปี และเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมฯระดับชุมชน อุดหนุนงบประมาณสำหรับการสร้างองค์ความรู้ทักษะของคนในชุมชน โดยตั้งเป็นสัดส่วนงบประมาณไว้อย่างชัดเจนในแผนงานประจำปีขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนรัฐบาลที่กำลังมองถึงแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการภัยพิบัติแห่งชาติตามที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยเสนอในเวทีปฎิรูปการจัดการภัยพิบัติ “ร่วมพลิกวิกฤตเป็นโอกาส วาระรำลึก 6 ปี สึนามิ” ในวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมาถึง แนวทางการจัดตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติของรัฐบาลเพื่อให้เป็นองค์กรถาวรที่มีการบูรณาการจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังจะเสนอคณะรัฐมนตรี ทุ่มงบประมาณป้องกันจุดที่อาจได้รับผลกระทบซ้ำ พร้อมตั้งคำถามให้คิดถึงว่าชุมชนจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างในกรณีภัยพิบัติ หากรับบาลมีงบประมาณสนับสนุนให้ตำบลละ 1 ล้านบาท แนวทางของเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูอาชีพ(หลังสึนามิ)น่าจะเป็นอีกแนวทางที่จะได้เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเล็กๆ ก่อนที่ท้องถิ่น และรัฐบาลจะเห็นความสำคัญและเริ่มต้นที่จะดำเนินการเรื่องกองทุนจัดการภัยพิบัติ นี้อย่างจริงจังต่อไป

ประสาร สถานสถิตย์

มูลนิธิรักษ์ไทย

27 มกราคม 2554

หมายเลขบันทึก: 422835เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2011 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน คุณประสาร ผมน้องใหม่ ผมเห็นว่าคุณสนใจเรื่องสังคม ผมมีแนวคิดเรื่องสังคมเช่นกัน แวะชมผมบ้าง และช่วยเสริมข้อคิด เป็นพระคุณยิ่ง

สวัสดีครับตามมาจากบ้านคุณประทีป มูลนิธิรักษ์ไทย พัทลุง หลายคนเคยทำงานร่วมกันในเครือข่ายผู้ติดเชื้อ

ยินดีร่วม ลปรร.ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท