ชีวิตที่เมืองลาว : 25 มกราคม 2554 "มาเช้าขึ้น กลับเย็นลง..."


การทำงานในวันนี้ถือว่าเป็นวันที่เลิก “เย็น” ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มทำงานมา เย็นทั้งในด้านเวลา และอากาศ “เย็น” ก็เหมือนว่าจะหวนกลับมาอีกแล้ว...

Large_2501201101

 

แผนงานสำหรับวันนี้เป็นงานตั้งตุ๊กตาและผูกเหล็กคานพื้น ซึ่งเป็นงานสืบเนื่องจากเมื่อวานนี้
เมื่อข้าพเจ้าเริ่มต้นมาทำงานที่นี่ ก็ต้องประหลาดใจ เมื่อใครต่อใครเริ่มมาทำงานกันตอนเก้าโมงครึ่ง
เนื่องด้วยเหตุที่ต้องเดินทางมาจากบ้านโนนยางซึ่งไกลออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร กับถนนลูกรังที่ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 30 นาที
ดังนั้นตอนเย็น สี่โมง สี่โมงครึ่ง ก็ต้องเตรียมตัวเดินทางกลับ จะบังคับอะไรกันมากไม่ได้ เพราะเขามา “ช่วยงาน”

แต่หลังจากเวลาผ่านไปสี่ห้าวัน กับเทคนิคการมอบหมายงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Empowerment) ให้กับช่างสุภาในส่วนของการควบคุมงานโครงสร้าง และมอบหมายอำนาจการคุมงานทางฝ่ายหญิงให้กับแม่ออกแวว

 

Large_2501201106

 

จากเดิมที่ช่างสุภามาทำงานเก้าโมงครึ่ง สิบโมง เดี๋ยวนี้แปดโมงครึ่งก็มาทำงานแล้ว
จากเดิมที่แม่ออกแววต้องรอนั่งรถที่รับส่งคนงาน ซึ่งกว่าจะถึงก็เก้าโมงกว่า เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นขี่มอเตอร์ไซด์มา ซึ่งก็มาถึงหน้างานเวลาใกล้เคียงกันกับช่างสุภา

 

 

Large_2501201105

สำหรับช่างเนาไม่ต้องพูดถึง หลังจากที่มอบหมายหน้าที่ในการให้ช่วยกันไปเดินรับอาหารบิณฑบาตในตอนเช้า เวลาเจ็ดโมงเช้าตรงหัวมุมตลาดจะเห็นช่างเนายืนรออยู่เป็นประจำไม่ขาด

ส่วนเวลากลางวัน จากเดิมที่พักกันชั่วโมง ชั่วโมงครึ่ง ครึ่งชั่วโมงช่างสุภาก็กลับมาชักตลับเมตรออกวัดโน่นวัดนี่แล้ว
ทางด้านแม่ออกแวว มาถึงก็ไม่รอช้า คว้าจอบ คว้าพลั่วได้ก็ขุดโน่น ขนนี่ไปเรื่อย อันนี้ดีก็ทำ ไม่ต้องรอรับคำสั่งจากใคร
โดยเฉพาะเย็นวันนี้ หลังจากที่คนงานของบ้านสานะคามกลับไปในเวลาห้าโมงเย็น ห้าโมงครึ่งก็แล้ว จนกระทั่งเกือบหกโมงแม่ออกแววถึงจะลามือจากงาน “ผูกเหล็ก”

 

 

สำหรับประเด็นที่ข้าพเจ้ายกขึ้นมาเล่าให้ฟังนี้ ในความคิดส่วนตัวของข้าพเจ้า (ซึ่งอาจจะผิด) ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ในการประยุกตร์ใช้หลักการบริหารมาเพื่อจัดการ “ทรัพยากรมนุษย์ (Human resource management)

Large_2501201102

 

เพราะการที่จะทำคนที่ทำงานให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงาน จากมาสายเปลี่ยนเป็นมาเช้า จากกลับเย็นกลายเป็นกลับค่ำ จากเดิมที่ทำงานเป็นวัน ๆ เปลี่ยนมาเปลี่ยน เช้า สาย บ่าย ค่ำ หรือแม้กระทั่งฝันก็มีแต่เรื่อง “งาน...”

“ความรู้สึกเป็นเจ้าของ” เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้จากบุคลิกท่าทางของหัวหน้างานทั้งสองท่านคือช่างสุภาและแม่ออกแวว

ส่วนช่างเนา เริ่มฉายแววของหัวหน้างานคนเก่าออกมาอย่างแจ่มจรัส
จากการที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสเทคนิคการทำงานของช่างเนา รวมถึงวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือก่อสร้างที่มีของช่างเนาแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าเมื่อก่อนช่างเนาเคย “รุ่ง” ในวงการก่อสร้างของเมืองนี้

แต่เนื่องด้วย “เหล้า” จึงทำให้กลายเป็น “ขี้เหล้า” และต้องเป็น “บักเนา” ในสายตาของคนอื่น ๆ

โดยวันนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะได้ยินจากปากช่างเนา ก็คือ การดุช่างคนหนึ่ง ว่า “มาทำงานอย่าบ่น” หลังจากที่ช่างที่มาช่วยงานคนนี้มาทีไรก็บ่นโน่นบ่นนี่ บ่นทั้งวัน

คำว่า “ทำงานอย่าบ่น” นี้ นอกจากเป็นคำพูดสั้น ๆ กระทัดรัด ได้ใจความ ข้าพเจ้ายังสัมผัสจากน้ำเสียงของช่างเนาได้ว่ามีพลังและ “อำนาจ”

คนที่เคยผ่านงานก่อสร้างมาเป็นสิบยี่สิบปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านปูน ผ่านทรายมามาก ๆ ขนาดช่างเนา ข้าพเจ้าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประสบการณ์ในการ “บริหาร” ไม่เป็นรองใคร

 

Large_2501201104

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความรู้ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากหนังสือที่มีอาจารย์เขียนอยู่บนกระดานหรือสร้างสรรค์งานผ่านโปรเจคเตอร์
แต่ความรู้ที่แท้เกิดจากสองมือที่ได้สัมผัส
ได้รับทุกข์ ได้รับสุข เจอคนที่มีอุปนิสัยแตกต่างกันมากมาย สารพัด สารเพ
เป็นลูกน้อง เป็นทั้งหัวหน้า เป็นทั้งขี้ข้า ต่างกาล ต่างเวลา

ด้วยเหตุนี้เอง ช่างเนา จึงเป็นผู้บริหารงานก่อสร้างที่ข้าพเจ้าขอยกย่องและนับถืออย่างยิ่งคนหนึ่ง

นอกจากจะพูดดีในวันนี้แล้ว บุคลิกอย่างหนึ่งที่ช่างเนามีอยู่มากคือ “ไม่โกรธใคร”
การมีบุคลิกเป็น “ขี้เหล้า” ที่ใครต่อใครเห็นก็รังแต่จะ “ดูถูก”

Large_2201201107

 

วันนี้ “บักเนา” เปลี่ยนไป เพราะใครต่อใครไม่เรียกเขาว่า “บักเนาแล้ว...”
ช่างเนา เมื่อก่อน มีคนหลายคนมากเรียกเขาว่า “บักเนา” แต่จากการสังเกตุของข้าพเจ้าวันสองวันนี้ คนที่เคยเรียกเขาว่า “บักเนา” กลับเปลี่ยนเรียกว่า “ตุ๊เนา” บ้าง “พ่อออกเนา” บ้าง
การเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าชื่อจากปากของบุคคลอื่น แสดงว่าบุคคลอื่นบุคคลนั้นเห็นค่าและให้ความสำคัญจนสามารถเลื่อนขั้น เลื่อนเกียรติ ซึ่งเป็นการยอมรับทาง “จิตใจ”

การยอมรับกันในสังคมนี้ ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีปริญญา ไม่มีระดับการศึกษา แต่ยอมรับกันด้วยบทบาทและ “ความรับผิดชอบ”

ช่วงบ่าย “ช่างเนา” หายไป...
เมื่อช่างเนาหายไป ใครต่อใครพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “สงสัยแอบไปกินเหล้า”
วันนี้ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันลงมติเป็นเอกฉันท์ ครั้นเมื่อช่างเนาหายตัวไปเกือบครึ่งชั่วโมง
“สงสัยแว๊บไปซื้อเหล้ากิน” เป็นภาพลักษณ์ของช่างเนาเมื่อหายไปจากหน้างาน
แต่ทว่า ทุกคนต้องถึงกับสะอึก เปลี่ยนความคิดโดยสิ้นเชิง เพราะช่างเนาเดินไปช่วย “เณร” ในศาลา...

ช่วงบ่าย ๆ มีเณรมาขอยืมเลื่อยกับเรา ขอยืมเครื่องมือก่อสร้างไปสองสามอย่าง เราเห็นเลยถามว่าจะเอาไปทำอะไร เณรก็ตอบว่า จะเอาไปตัดแผ่นอันนั้น
เมื่อช่างเนาเห็นก็บอกกับเราว่า “พอตัดได้” ตอนนั้นเราก็ไม่ได้เอะใจอะไร

แต่อีกสักพัก ช่างเนาก็หายไป ซึ่งใครต่อใครก็เดาว่าหายไปกินเหล้า
ซึ่งความจริงนั้น ช่างเนาเดินไปช่วยเณรตัดแผ่นและตอกตะปูโป๊ก ๆ อยู่ที่ศาลา
เพราะอีกซักพักเราก็เห็นช่างเนาเดินกลับมาครั้นเมื่อเสียงโป๊ก ๆ ในศาลา สงบลง

เหตุการณ์นี้ น่าจะเปลี่ยนความคิดใครหลายคนรวมถึงข้าพเจ้าด้วยว่า เมื่อช่างเนาหายไป ไม่ใช่เขาจะไปหาเหล้ากินอย่างเดียวนะ เขาหายไปทำความดี นำร่างกายนี้ไปทำงานที่ “เสียสละ...”

 

 

ช่างเนาทำงานดีไหม...
ถ้าวัดเรื่องเวลาที่มาเจ็ดโมงเช้า กลับห้าโมงเย็นก็ถือว่า “ดีมาก”
ถ้าวัดว่าทุ่มเทไหม เราคิดว่าจังหวะก้าวในการเดินของช่างเนานั้นก้าวขาเดินได้เร็วกว่าใคร ซึ่งบอกถึงความกระตือรือร้นและ “ทุ่มเท” ในการทำงาน

Large_2501201107

งานเลอะเทอะ สกปรก ร้อน หนาว ไม่มีบ่น ยิ้มสู้
ทำงานดี ไม่มีอู้ คือ "ช่างเนา..."
 


ป.ล.

งานในวันนี้ถือว่าพอดิบ พอดี...
คนงานในวันนี้มีประมาณ 15 คน มาจากบ้านนี้ 4 คน เมื่อรวมจากบ้านโนนยาง และขาประจำอย่างอาจารย์ร่อน รวมถึงคนที่แวะไปเวียนน่าก็น่าจะรวมได้ประมาณ 15…

คนมาช่วยงานที่นี่นับยาก...
เพราะบางคนอยู่ทั้งวัน บางคนมาสิบนาที บางคนมาหิ้วปูนสองสามถัง บางคนมาเที่ยวหาเพื่อน ก็ช่วยผูกเหล็กสักหน่อย แต่ก็ดี ที่ได้ช่วยทำโน่นทำนี่...

 

 

หมายเลขบันทึก: 422520เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2011 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท