อัตลักษณ์สถานศึกษากับการประเมินภายนอกรอบสาม
ธนสาร บัลลังก์ปัทมา
อัตลักษณ์ หากแปลตรงตัวจะมาจาก อัต+ลักษณ์ หมายถึง ลักษณะเฉพาะ คำนี้ราชบัณฑิตยสถาน*ได้ให้ความหมาย ดังนี้ คำว่า อัตลักษณ์ (อ่านว่า อัด-ตะ-ลัก) ประกอบด้วยคำว่า อัต (อัด-ตะ) ซึ่งหมายถึง ตน หรือ ตัวเอง กับ ลักษณ์ ซึ่งหมายถึง สมบัติเฉพาะตัว. คำว่า อัตลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity (อ่านว่า ไอ-เด็น-ติ-ตี้) หมายถึง ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ เช่น นักร้องกลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ทางด้านเสียงที่เด่นมาก ใครได้ยินก็จำได้ทันที. สังคมแต่ละสังคมมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง. โลกาภิวัตน์ทำให้อัตลักษณ์ของสังคมไทยเปลี่ยนไป.
หากกล่าวถึงอัตลักษณ์สถานศึกษาแล้ว คำว่า อัตลักษณ์ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของสถานศึกษา ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา
การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๘) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีตัวบ่งชี้ ดังนี้
-ตัวบ่งชี้พื้นฐาน จำนวน ๘ ตัวบ่งชี้ มีค่าน้ำหนัก ๙๐ คะแนน (จำนวน ๒๔ ตัวบ่งชี้ย่อย แต่ละตัวบ่งชี้มีค่าน้ำหนัก ๒.๕ คะแนน ยกเว้นตัวบ่งชี้ย่อยที่ ๕.๑ , ๕.๒ , ๖.๑-๖.๕ , ๗.๑ และ ๘ มีค่าน้ำหนัก ๕ คะแนน ส่วนตัวบ่งชี้ย่อยที่ ๖.๖ มีค่าน้ำหนัก ๑๐ คะแนน)
-ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ มีจำนวน ๒ ตัวบ่งชี้ มีค่าน้ำหนัก ๕ คะแนน (แต่ละตัวบ่งชี้มีค่าน้ำหนัก ๒.๕ คะแนน)
-ตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม มีจำนวน ๒ ตัวบ่งชี้ มีค่าน้ำหนัก ๕ คะแนน (แต่ละตัวบ่งชี้มีค่าน้ำหนัก ๒.๕ คะแนน)
ตัวบ่งชี้ด้านอัตลักษณ์กำหนดไว้ ข้อ ๙. การพัฒนาสถานศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง หรือจุดเด่น หรือลักษณะพิเศษของประเภทโรงเรียน
การกำหนดอัตลักษณ์สถานศึกษา จึงควรพิจารณาจากการดำเนินงานของสถานศึกษา ความสำเร็จของสถานศึกษา วิสัยทัศน์ พันธกิจและบริบทของสถานศึกษา ซึ่งบุคลากรทุกคนควรมีส่วนร่วมในการกำหนดอัตลักษณ์
การกำหนดอัตลักษณ์ต้องไม่มากจนเกินไป เป็นอัตลักษณ์ที่ชุมชนรับรู้ ซึ่งอาจเขียนในรูปคำขวัญหรือวิสัยทัศน์เพื่อให้จำได้ง่ายการกำหนดอัตลักษณ์อาจกำหนดเป็นภาพรวมของโรงเรียน หรือแบ่งตามขอบข่ายงาน
อัตลักษณ์โรงเรียนที่กำหนดในภาพรวม
วิชาการเด่น เน้นคุณธรรม นำเทคโนโลยีมาใช้
นักเรียนเป็นคนดี มีคุณธรรม
นักเรียนยิ้ม ไหว้ ทักทาย ไม่พูดปด
มีคุณธรรม น้อมนำความพอเพียง
วิถีไทย ใช้ชีวิตพอเพียง
คนดี มีความซื่อสัตย์
อัตลักษณ์โรงเรียนประจำจังหวัดหรือโรงเรียนที่มีความพร้อม
กลุ่มบริหารงานวิชาการ
เป็นเลิศทางวิชาการ สื่อสารสองภาษา ก้าวหน้าสู่สากล เป็นพลโลก
กลุ่มบริหารงบประมาณ
ดำเนินการ ตามหลักธรรมาภิบาล บริการฉับไว ก้าวไกลเทคโนโลยี
กลุ่มบริหารบุคคล
บุคลากรทำงานดี มีเมตตา วาจาไพเราะ
กลุ่มบริหารทั่วไป
บริการทันใจ ล้ำสมัย ICT อนามัยดี สถานที่พร้อม สิ่งแวดล้อมงามตา ยึดประชาธิปไตย ก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล
การกำหนดอัตลักษณ์โรงเรียน ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นคำขวัญเสมอไป อาจกำหนดไว้เป็นข้อ ๆ ตามจุดเด่นของสถานศึกษาและเป็นสิ่งที่สถานศึกษาปฏิบัติได้จริง
ตัวอย่างการกำหนดอัตลักษณ์สถานศึกษา เช่น
-โรงเรียนส่งเสริมความเป็นไทย
-โรงเรียนมีอัตลักษณ์ด้านการเรียนรู้แบบโครงงาน
-โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ
-โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง
-โรงเรียนจัดการเรียนแบบ BBL
-โรงเรียนบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
-โรงเรียนไฮเทค สู่สากล
-โรงเรียนที่ดีเด่นด้านการสอนคละชั้น (โรงเรียนขนาดเล็ก)
-โรงเรียนที่อาศัยชุมชนเป็นวิทยากรให้ความรู้นักเรียน ครูพ่อ ครูแม่ ครูพระ ครูตำรวจ ครูหมออนามัย (โรงเรียนขนาดเล็ก)
-โรงเรียนสองภาษา (ภาษาที่สอง)
-โรงเรียนยิ้ม (แบบอำเภอยิ้ม)
ตัวบ่งชี้ด้านอัตลักษณ์จะเป็นตัวที่ช่วยให้สถานศึกษาที่มีขนาดต่างกันมีบริบทต่างกัน โดยเฉพาะสถานศึกษาขนาดเล็กสามารถพัฒนาสถานศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง หรือจุดเด่น หรือลักษณะพิเศษของประเภทโรงเรียน ดังนั้นสถานศึกษาแต่ละแห่งจึงควรกำหนดอัตลักษณ์ให้เหมาะสมกับโรงเรียน มุ่งเน้นอัตลักษณ์ที่เป็นจริงเชิงประจักษ์
*ราชบัณฑิตยสถาน. “บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.” เข้าถึงได้จาก http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1583