เตือน..สารเคลือบผิวผักผลไม้ต้องห้าม 3 : มอร์ฟอลีน


จากการที่อียูได้แจ้งเตือนการใช้สาร Morpholine เคลือบผลไม้สดที่ส่งออก โดยชี้ว่าเป็นสารเจือปนอาหารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในผลไม้สดทั่วไป .......ประเด็นปัญหาคือ อยู่ดีๆทำไมสารดังกล่าวจึงเป็นสารต้องห้ามอีกแล้ว

เตือน..สารเคลือบผิวผักผลไม้ต้องห้าม 3 : มอร์ฟอลีน

โดย meepole

จากตอนที่ 1 ทำให้เราทราบว่าสารเคลือบคืออะไร

ตอนที่ 2 ทำให้เราทราบว่าสารมอร์ฟอลีนไม่อันตราย

ประเด็นปัญหาคือ แล้วทำไมสารดังกล่าวจึงเป็นสารต้องห้าม

 ในขณะที่พบว่าสารมอร์ฟอลีนเองนั้นไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ได้เป็นทั้งสารก่อมะเร็ง สารก่อวิรูป ทั้งในคนและสัตว์ทดลองพวกหนู

แต่เนื่องจากสารมอร์ฟอลีน สามารถเกิดปฏิกิริยาได้หลายแบบ ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมสารนี้สามารถทำปฏิกิริยากับไนเตรท หรือไนโตรเจนออกไซด์เกิดเป็นสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่า

 N-nitrosomorpholine (NMOR)

ดังนั้นสาเหตุที่สารมอร์ฟอลีนถูกห้ามไม่ให้ใช้ เพราะสารนี้เป็นสารตั้งต้นของ N-nitrosomorpholine (NMOR) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) นั่นเอง

มีการศึกษาทดลองและขอให้ช่วยพิจารณากันดูนะคะ จากการศึกษาในหนู พบว่าในอาหารที่มีไนเตรทมากเกินพอ สารนี้ (morpholine) สามารถเปลี่ยนแปลงโดยรวมกับไนโตรเจนกลายเป็นสาร NMOR ดังกล่าว และในการทดลองโดยให้สารมอร์ฟอลีนและไนเตรทแก่หนูพบว่าทำให้เกิดมะเร็งในตับ (hepatocellular carcinoma) สันนิษฐานว่าเนื่องจากการเกิดสาร NMOR และในการศึกษาโดยคาดประมาณจากก้อนเนื้องอกของหนูพบว่าปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับคนคือประมาณ 4.3 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน

จากการทดลองในห้องปฏิบัติการเมื่อเอาสารมอร์ฟอลีนผสมกับไนเตรทโดยมีเนื้อแอปเปิ้ลอยู่ด้วยก็ไม่พบสารNMOR เกิดขึ้น ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นไปได้ว่าการเกิดสาร NMOR ในคนอาจเกิดในขั้นตอนการย่อยอาหาร และโดยการคาดการณ์จากปริมาณสารมอร์ฟอลีนที่ร่างกายได้รับ พบว่าร่างกายเราสามารถสร้างสาร NMOR ได้ประมาณ 2.2 และ 3.6 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน ในผู้ใหญ่และเด็กตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่ายังต่ำกว่าปริมาณปลอดภัยที่สามารถมีได้ข้างต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นค่าดังกล่าวขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย

และจากการศึกษาไม่พบสาร NMOR บนผิวเปลือกของแอปเปิ้ล

อ่านจากที่meepole พยายามค้นคว้าเชื่อมโยงแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะมีใครรู้สึกเหมือนในนิทานอีสปเรื่องลูกแกะกับหมาป่าไหม ที่หมาป่าหาเรื่องลูกแกะว่าเพราะแกะกินน้ำในลำธารเลยทำให้น้ำขุ่น ลูกแกะไม่กิน ก็พ่อแม่แกะกิน แล้วหมาป่าก็พาลจับลูกแกะกิน (คล้ายๆเช่นนี้)  เพราะกำลังมองว่าเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าด้วยหรือเปล่า?? แล้วทำไม ทุกอย่างต้องเต้นตามเพลงมากนัก ชี้แจงอธิบายกันด้วยหลักวิชาการ ต่อรองได้ หลายๆประเทศมากมายที่เจริญด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์เขาก็ยอมรับ อนุญาตได้

นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวค่ะ เพราะสารที่เราได้รับเข้าไปในแต่ละวันบางตัวก็มีลักษณะที่เกิดปฏิกิริยาผ่านวิถีต่างๆในร่างกายแล้วก่อเกิดสารก่อมะเร็งคล้ายๆข้างต้นก็มี

ทางเลือกของผู้บริโภค

สารเคลือบผิวหรือไขเหล่านี้บางครั้งจะเปลี่ยนเป็นสีขาวบนผิวผลไม้หรือผักเนื่องจากได้รับความร้อนหรือความชื้นที่มากเกินไป บางครั้งหากเราสังเกตุดีๆตอนซื้อจะเห็น กรณีนี้จะไม่มันวาวนะคะ แต่ก็ยังคงปลอดภัย

ผู้บริโภคมีทางเลือก สำหรับผักหรือผลไม้เคลือบไขเหล่านี้โดยทั่วไปไม่สามารถล้างออกโดยวิธีปกติ ยกเว้นบางชนิดที่ละลายได้ในน้ำ  ซึ่งถึงแม้ว่าจะปลอดภัย แต่หากเราไม่สบายใจดังนั้นทำได้สองทางคือเลือกซื้อผลไม้แบบไม่มีไข อีกวิธีคือปอกเปลือกก่อนทาน เอารูปที่มีการลองขูดผิวของผลแอปเปิ้ลที่เคลือบด้วยแวกซ์หรือไขมาให้ดูด้านล่างนี้ค่ะ บางคนเห็นแล้วอาจร้องบรื๋อ...ทดลองทำเองที่บ้านได้ค่ะ แล้วลองเอาไปละลายน้ำดูนะคะ ว่าเป็นแบบไหน

 

ที่มาภาพ http://www.mumbaikar.com/

ข้อสรุป

การเคลือบไขบนผิวผลไม้แต่ละชนิดนั้นจะมีไขอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นบางครั้งก็ไม่ต้องตื่นตระหนกมากเกินไป ส่วนมากไขก็เป็นประเภททานได้ (food grade) เพียงแต่ถ้าไม่สบายใจเพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าในสารเคลือบนั้นมีสารใดผสมอยู่ ก็หลีกเลี่ยงเลือกผักผลไม้ที่ไม่เคลือบมาทาน เพราะผักผลไม้ที่ผลิตและขายในประเทศไทยเราไม่ได้เคลือบมีมากมาย แต่หากชอบผลไม้ที่ไม่มั่นใจว่าเคลือบหรือไม่เคลือบ ก่อนทานก็ควรเอามาแช่น้ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมง แล้วล้างให้สะอาดอีกครั้ง หรือไม่ก็คงต้องเอาผิวเปลือกออกก่อนทาน (ซึ่งแน่นอนว่าผลไม้บางชนิด วิตามินดีๆอยู่ที่เปลือก) แต่ถ้าทานผลไม้ส่งออกหรือนำเข้า ก็พิจารณาตัดสินใจหลังการอ่านข้อเขียนนี้ได้ตามอัธยาศัยค่ะ (แต่ผู้เขียนเอง เลือกที่จะไม่ทานแน่นอนค่ะ)

มีข้อเขียนเรื่องราวน่าสนใจอีกชุดหนึ่งจากผู้บริโภค มาให้อ่านประกอบการตัดสินใจอีกมุมมอง เป็นเพียงเพิ่มเติม ที่นี่ค่ะ

http://kish.in/wax-coated-apples/

อ้างอิง

Fact Sheet: Use of Morpholine in Apple Coatings   http://www.hc-sc.gc.ca/fn-an/securit/facts-faits/factsheet_applecoating-fiche_info_pomme_enrober-eng.php

http://www.food.gov.uk/news/newsarchive/2010/oct/morpholine

http://www.chemtrack.org/HazMap-Agent-Info.asp?ID=862

MORPHOLINE  http://toxnet.nlm.nih.gov/

 

หมายเลขบันทึก: 422393เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2011 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ไม่กล้าทานแอ๊ปเปิ้ล สาลี่โดยไม่ปอกเปลือกมานานแล้วค่ะ

ขอบคุณสาระประโยชน์และข้อแนะนำดีๆนะคะคุณmee_pole

สวัสดีค่ะ

นานมาแล้ว ซื้อแอ๊ปเปิ้ลแบบราคาถูก ๆ มามาทาน  เด็ก ๆ บอกว่ามีกลิ่นมอฟอร์ลีน  ลองดมดูก็ใช่ค่ะ จึงไม่ทานและเลิกซื้อ

นาน ๆ ซื้อของแพงทานสักครั้ง แต่ก็หวาดกลัวค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณกุลมาตา

สารปนเปื้อนต่างๆทำให้เราค่อนข้างต้องระมัดระวังมากในการซื้อหาของมาบริโภค ขนาดmeepole ระวังมากแล้วยังโดนดี แล้วจะเขียนเตือนครั้งต่อไป เพราะกำลังสืบอยู่ว่าเป็นสารอะไรค่ะ

สวัสดีค่ะครูคิม คงได้พักผ่อนมากขึ้นแล้วนะคะ

ไช่ค่ะถ้าเราจมูกดีๆ เอามาใส่ฝ่ามือ 2-3ผล ดมดูจะมีกลิ่นคาวๆ เวลาเปิดกล่องกระดาษบรรจุแอปเปิ้ลจะได้กลิ่นแปลกๆคล้ายๆว่าคาว นั่นเป็นกลิ่นสารมอร์ฟอลีน แต่บางคนเข้าใจว่าเป็นกลิ่นอับชื้นของกล่องกระดาษ ซึ่งถ้ารู้จักก็จะรู้ว่าเป็นคนละกลิ่นกัน

เรียน คุณ nee pole ผมดูผลงานคุณ น่าจะมีแนวคิดตรงกับผมบ้าง ผมน้องใหม่ ที่ต้องการคำแนะนำ และหาข้อมูลเพื่อนำมาคิดเขียนเสนอสิ่งใหม่ ๆ ในเว็บ เพื่อผลักดันสังคม (ตามแนวคิดผม) แวะชมผมบ้าง แล้วส่งข้อคิดเห็นเป็นพระคุณยิ่งครับ

สวัสดีค่ะ

ยินดีต้อนรับสู่ สังคม GTK ค่ะ meepole เองก็เพิ่งมาเป็นสมาชิกใหม่ที่นี่ได้ 2 เดือนเต็มค่ะ ก็มีความสุขที่ได้เขียน มีความสุขที่มีคนแวะเวียนมาอ่าน มากบ้างน้อยบ้างไม่เป็นไร เพราะเรารักการเขียน มีคนอ่าน 1 คนก็ happy ค่ะ เคยเขียนแต่ตำรา รายงานวิจัย บทความลงน.ส.พ วารสาร pocket book ล้วนเป็นการเขียนทางเดียว ไม่รู้เขาคิดอะไร แต่ที่นี่หลายครั้งมีคนเขียนกลับมา เราก็เรียนรู้ไปด้วย

การมีคนเข้ามาคุยก็จะรู้สึกเป็นกำไรชีวิตที่มีเพื่อนลปรร สร้างมิตรภาพใหม่ ความรู้สึกที่ดีต่อกัน เปิดวิสัยทัศน์ ยอมรับมุมมองของคนอื่นมากขึ้น นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่meepole ได้เรียนรู้เพื่อฝึกตัวเอง เพราะ บอกตรงๆว่า เป็นคนหลบการอยู่ในสังคมที่วุ่นวายมากจนเพื่อนสนิทเรียกว่า ปูเสฉวน เลยค่ะ คือชอบหลบอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยให้ใครรู้ว่าเราเป็นใคร เพราะอยากเป็นตัวของตัวเอง

แต่การลองเข้ามาที่นี่ทำให้เริ่มแตะอะไรออกนอก frame ได้ เลือกที่จะคุย ลปรร เข้าใจเขาผ่านเรื่องที่เขาขียน ก็คงได้คุณวัฒนาเข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่เพิ่มขึ้น

ขอบคุณค่ะสำหรับการเข้ามาทักทายกัน

สวัสดีครับ mee_pole ผมยังสงสัยในคำนี้ครับ อาจารย์กรุณา ช่วยหน่อย (สารก่อวิรูป )

ด้วยความขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei นับถือจริงๆค่ะ สมเป็นผู้เฒ่าที่อ่านละเอียด เจอคำนี้ได้

สารก่อวิรูป หรือสารก่อลูกวิรูป (Teratogen) เป็นสารเคมีใดก็ตามที่ก่อความผิดปกติของการพัฒนาตัวอ่อนทำให้ได้ลูกพิการแต่กำเนิด สารเหล่านี้มีค่อนข้างมากในสิ่งแวดล้อม อาหาร ยาบางชนิด เครื่องสำอาง สารเคมีจากของใช้ต่างๆ เพียงแต่เมื่อแม่ตั้งครรถ์ ถ้าได้รับหรือเคยได้รับสะสมในร่างกายระดับหนึ่งลูกก็อาจออกมาพิการได้

ดังนั้น การกำเนิดลูกวิรูปเกิดจากการที่มารดาตั้งครรภ์แล้วมีโอกาสรับสัมผัส หรือได้รับสารพิษต่างๆ มากมาย จากอาหาร สิ่งแวดล้อมที่กล่าวมา อาจเกิดพิษสะสมและส่งผลกระทบไปยังลูกในครรภ์ทำให้เกิดความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซม และนำไปสู่ความพิการ

 ขอบคุณที่ถามค่ะ ว่าแล้วเอารูปให้ดูเป็นตัวอย่าง เอากบนะคะ แต่ตอนสอนในห้องจะเป็นรูปเด็กทารกที่มีลักษณะไม่น่าเชื่อว่าจะมีได้ในโลก เศร้าและน่ากลัวมากค่ะ ไม่เอามาให้ดูเดี๋ยวโดนดุว่าไม่เซนเซอร์ภาพ   ในภาพนี้เป็น ลูก(กบ) วิรูปค่ะ  พูดภาษาชาวบ้านไม่เป็นทางการก็เรียกว่าลูกพิการก็ได้ แต่เป็นพิการแต่กำเนิดนะคะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์

มนุษย์นี้ ทำได้ทุกอย่างเลยนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณณัฐรดา

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

เชื่อไหมคะ meepole เคยบอกนศ.ว่าโชคดีมากที่เราเป็น top of the food chain ถ้ามีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ กินคนเป็นอาหาร สมช.นั้นๆจะสูญพันธุ์ก่อนคน เพราะมันจะตายเพราะสารพิษในตัวคน เพราะเราสะสมไว้มากมายจริงๆ หุ หุ :0

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท