มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ที่มีหลักการ มีทฤษฎี และมีชีวิต
เฉลิมลาภ ทองอาจ
หน่วยการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญของการนำหลักสูตรไปสู่การสอน ด้วยความคิดเห็นส่วนตัวว่า สมรรถนะสำคัญของวิชาชีพครูก็คือการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ และยิ่งการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา หน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความรู้และทักษะที่ผู้เรียนจะต้องพึงมีและพึงปฎิบัติได้นั้นมีอะไรบ้าง จะทราบได้อย่างไร จะประเมินจากอะไร ด้วยวิธีการใด และจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับกระบวนการทั้งหมด และที่สำคัญคือสัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหน่วยการเรียนรู้ที่เขียนขึ้น โดยบูรณาการกับปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง มีลักษณะเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการแบบสหวิทยาการ (multidisciplinary) ระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งเขียนอย่างละเอียด สามารถที่จะเป็นต้นแบบให้แก่ครูผู้สนใจจะพัฒนาสมรรถนะของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้เขียนจะได้ใช้ตัวอย่างหน่วยการเรียนรู้นี้เป็นตัวอย่างแก่การอบรมและพัฒนาสมรรถนะครู โดยจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับครูภาษาไทย นักสอนภาษาไทย และนักหลักสูตรและการสอนทุกท่าน
ตัวอย่างหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (รูปแบบ TPC)
หน่วยการเรียนรู้เรื่อง ข้าวหลามเมืองชลฯ
รหัสวิชา-ชื่อรายวิชา ส 11101 กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่................. เวลา 12 ชั่วโมง
ผู้สอน.................................................. โรงเรียน ...............................................................
___________________________________________________________________________________
1. มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด
1.1 มาตรฐานการเรียนรู้ ท 2.1 ใช้กระบวนการเขียนเขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 2 เขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคง่ายๆ
1.2 มาตรฐานการเรียนรู้ ค 1.2 เข้าใจถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของจำนวนและความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินการต่างๆ และสามารถใช้การดำเนินการในการแก้ปัญหา
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 1 บวก ลบ และบวก ลบระคนของจำนวนนับไม่เกิดหนึ่งร้อยและศูนย์ พร้อมทั้งตระหนักถึงควาทสมเหตุสมผลของคำตอบ
1.3 มาตรฐานการเรียนรู้ ค 2.1 เข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการวัด วัดและคาดคะเนขนาดของสิ่งที่ต้องการวัด
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 1 บอกความยาว น้ำหนัก ปริมาตรและความจุ โดยใช้หน่วยที่ไม่ใช่หน่วยมาตรฐาน
1.4 มาตรฐานการเรียนรู้ ว 1.2 เข้าใจกระบวนการและความสำคัญของการถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรม วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 1 ระบุลักษณะของสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น และนำมาจัดจำแนกโดยใช้ลักษณะภายนอกเป็นเกณฑ์
1.5 มาตรฐานการเรียนรู้ ส 3.1 เข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิตและการบริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 1 ระบุสินค้าและบริการที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 2 ยกตัวอย่างการใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันที่ไม่เกินตัวและ เห็นประโยชน์ของการออม
1.6 มาตรฐานการเรียนรู้ พ 4.1 เห็นคุณค่าและมีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ การดำรงสุขภาพ การป้องกันโรค และการเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 1 ปฏิบัติตนตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติตามคำแนะนำ
1.7 มาตรฐานการเรียนรู้ ต 1.1 เข้าใจและตีความเรื่องที่ฟังและอ่านจากสื่อประเภทต่างๆ และแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 1 ตอบคำถามจากการฟังเรื่องใกล้ตัว
1.8 มาตรฐานการเรียนรู้ ต 4.1 ใช้ภาษาต่างประเทศในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในสถานศึกษา ชุมชนและสังคม
ตัวชี้วัด ป. 1 ข้อ 1 ฟังหรือพูดในสถานการณ์ง่ายๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
2. สาระสำคัญ
ข้าวหลามเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นสินค้ามีชื่อของจังหวัดชลบุรี ซึ่งนักเรียนจะได้ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของพืชที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวหลาม ประเภทหรือชนิดของข้าวหลาม การสังเกตและบอกลักษณะของข้าวหลาม การบวกและลบจำนวน การเขียนสื่อสารด้วยคำและประโยค หลักการเลือกซื้อและรับประทานข้าวหลามที่ถูกสุขลักษณะ และคำนึงถึงหลักการ ออมทรัพย์ การปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติแห่งชาติ และการสนทนาเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการบริโภคอย่างไม่ถูกต้องเป็นภาษาอังกฤษ
3. จุดประสงค์การเรียนรู้
เมื่อจบหน่วยการเรียนรู้นี้ ผู้เรียนสามารถ
1) ระบุสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้
2) ระบุลักษณะของพืช ซึ่งนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวหลามได้
3) ยกตัวอย่างการใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันได้
4) เขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคได้
5) บวกและลบจำนวนนับที่ไม่เกินหนึ่งร้อยได้
6) เปรียบเทียบและบอกความยาว น้ำหนัก ปริมาตรหรือความจุ โดยใช้หน่วยที่ไม่ใช่หน่วยมาตรฐานได้
7) สนทนาถามตอบโดยใช้ Wh-questions ได้
4. สาระการเรียนรู้
4.1 ความรู้
1) คำศัพท์ภาษาไทยที่เกี่ยวกับข้าวหลามและวิธีการผลิต
2) หลักการแต่งประโยคสามัญ
3) หลักการบวกและลบ และการบวก ลบระคน
4) หลักการเปรียบเทียบความยาว น้ำหนัก ปริมาตรและความจุ
5) ลักษณะของสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ
6) ประเภทหรือชนิดของผลิตภัณฑ์ข้าวหลาม ลักษณะ ราคา การซื้อและ การจำหน่าย
7) หลักการเลือกซื้อและการรับประทานข้าวหลามตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ
8) การใช้ประโยคคำถาม Wh-questions และการตอบคำถาม และการสนทนาง่ายๆ เป็นภาษาอังกฤษ
4.2 ทักษะ/กระบวนการ
1) ทักษะการสังเกต
2) ทักษะการเขียนประโยค
3) ทักษะการสื่อสาร
4) ทักษะการจำแนกและเปรียบเทียบสิ่งของ
5) ทักษะการบวกและลบ
6) ทักษะการแก้ปัญหา
4.3 คุณลักษณะ
อยู่อย่างพอเพียง ประกอบด้วย
1) มีความพอประมาณ
2) มีเหตุมีผล
3) คิดอย่างมีวิจารณญาณหรือมีภูมิคุ้มกัน
5. ผลงานหรือภาระงาน
5.1 สมุดภาพ “กว่าจะมาเป็นข้าวหลาม” (คุณลักษณะด้านความพอประมาณ ประกอบด้วยตัวชี้วัด ว 1.2 ป.1/1, ท 2.1 ป.1/2, ค 1.2 ป. 1/1, ค 2.1 ป. 1/1)
5.2 การแสดงละครหุ่น หัวข้อ “ตลาดนัดข้าวหลาม” (คุณลักษณะด้านภูมิคุ้มกัน ประกอบด้วยตัวชี้วัด พ 4.1 ป.1/1, ส 3.1 ป.1/1, ส 3.1 ป.1/2)
5.3 การตอบคำถาม Wh-questions ในเอกสารแบบฝึกหัดประกอบการเรียน (คุณลักษณะด้านความมีเหตุมีผล ตัวชี้วัด ต 1.1 ป.1/4 และ ต 4.1 ป. 1/1)
6. การประเมินผล (แต่ละข้อควรจัดทำเป็นเกณฑ์ Rubrics)
6.1 การตรวจสมุดภาพ
6.2 การสังเกตพฤติกรรมการแสดงละครหุ่น และการพิจารณาเนื้อหาของละคร
6.3 การตรวจเอกสารแบบฝึกหัดประกอบการเรียน
7. กิจกรรมการเรียนรู้
ชั่วโมงที่ 1-4 (4 ชั่วโมง)
ครูมอบหมายให้นักเรียนทำผลงานสมุดภาพ “กว่าจะมาเป็นข้าวหลาม” มีลักษณะเป็นสมุดภาพที่นักเรียนวาดหรือบันทึกการสังเกตลักษณะของพืชที่นำมาผลิตข้าวหลาม จากนั้นครูแสดงพืชจริง ไดแก่ ข้าว ไผ่ ถั่วดำ ผลมะพร้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวหลาม เพื่อให้นักเรียนได้สังเกตด้วยการใช้ประสาทสัมผัส ขณะที่นักเรียนสังเกตครูใช้คำถามเพื่อให้นักเรียนเปรียบเทียบลักษณะของพืชต่างๆ และกระบอกข้าวหลาม ด้วยการพิจารณารูปร่าง ขนาด น้ำหนัก ความยาว จากนั้นนักเรียนวาดภาพและระบายสีพืชชนิดต่างๆ ครูให้นักเรียนพิจารณาคำศัพท์ที่เกี่ยวกับพืชที่ใช้ในการทำข้าวหลาม แล้วอธิบายเรื่องหลักการแต่งประโยคสามัญ หลังจากนั้นครูให้นักเรียนแต่งประโยคง่ายๆ เป็นคำบรรยายใต้ภาพที่วาด โดยเลือกใช้คำศัพท์อย่างเหมาะสม ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือยหรือสั้นจนเกินไป จากนั้นครูอธิบายหลักการบวกและการลบจำนวน แล้วให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดการบวกและลบจำนวนเงินที่จะใช้ซื้อข้าวหลาม เพื่อให้ซื้อข้าวหลามในปริมาณที่พอเหมาะสม ในช่วงสุดท้าย ครูสนทนากับนักเรียนเรื่องการนำพืชต่างๆ มาผลิต ข้าวหลามหรือใช้บริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ โดยใช้คำถามดังนี้
คำถาม
1) การนำข้าวหรือไม้ไผ่มาผลิตข้าวหลามในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลอย่างไร
2) ถ้ารับประทานข้าวหลามมากไปจะเกิดผลอย่างไร และถ้านักเรียนจะรับประทานข้าวหลาม ควรรับประทานในจำนวนเท่าไรต่อวันหรือสัปดาห์ เพราะอะไร
เมื่อนักเรียนจัดทำสมุดภาพเสร็จแล้ว ครูให้นักเรียนนำมาแลกเปลี่ยนกันอ่านในชั้น
ชั่วโมงที่ 5-8 (4 ชั่วโมง)
ครูให้นักเรียนดูผลิตภัณฑ์ข้าวหลามประเภทต่างๆ (แบ่งตามขนาดของกระบอก ราคา หรือส่วนผสมที่ใช้) แล้วให้นักเรียนระบุความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าในท้องถิ่น จากนั้นครูใช้คำถามว่า ถ้านักเรียนมีเงินจำนวนหนึ่งจะนำไปซื้อข้าวหลามจนหมดหรือไม่ เพราะเหตุใด ครูยกตัวอย่างวิธีการออมเงิน เช่น ครูมีเงินอยู่ 100 บาท ครูจะซื้อข้าวหลามราคา 20 บาทเพียงกระบอกเดียว หรืออาจะไม่ซื้อก็ได้ เพื่อเก็บเงินไว้สำหรับเรื่องอื่นๆ เป็นต้น จากนั้นให้นักเรียนยกตัวอย่างของวิธีการออมเงิน หรือการใช้ทรัพยากรที่นำมาใช้ผลิตข้าวหลาม ทั้งที่เป็นพืชและพลังงานอย่างประหยัด ครูอธิบายเรื่องประเภทหรือชนิดของผลิตภัณฑ์ข้าวหลาม ลักษณะ ราคา และหลักการเลือกซื้อและการรับประทานข้าวหลามตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นแบ่งกลุ่มให้นักเรียนแต่ละกลุ่มจัดทำหุ่นมืออย่างง่าย เพื่อแสดงละครหุ่นในหัวข้อ “ตลาดนัด ข้าวหลาม” โดยมีขอบเขตเนื้อหากล่าวถึงวิธีการออมเงิน การเลือกซื้อและรับประทานข้าวหลามให้ปลอดภัย
ชั่วโมงที่ 9-12 (4 ชั่วโมง)
ครูให้นักเรียนพิจารณาคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบหรือกระบวนการ การผลิตข้างหลาม จากนั้นอธิบายหลักการใช้ประโยคคำถาม Wh-questions และการตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ ครูใช้คำถาม Wh-questions เกี่ยวกับประโยชน์ของการบริโภคข้าวหลามและการซื้อผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นหรือชุมชน จากนั้นจึงสนทนาโดยใช้ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับโทษของการเลือกซื้อข้าวหลามในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือการซื้อข้าวหลามที่ไม่ถูกสุขลักษณะมาบริโภค จากนั้นครูให้นักเรียนตอบคำถาม Wh-questions แล้วบันทึกคำตอบในเอกสารแบบฝึกหัดประกอบการเรียน
8. สื่อการเรียนรู้
7.1 ตัวอย่างสมุดภาพ
7.2 สมุดวาดเขียนและอุปกรณ์วาดภาพระบายสี
7.3 เอกสารความรู้เรื่องคำศัพท์และหลักการแต่งประโยคสามัญ
7.4 เอกสารความรู้หลักการบวกและลบจำนวนนับ
7.5 ข้าวหลามประเภทหรือชนิดต่างๆ
7.6 เอกสารความรู้เรื่องสุขบัญญัติแห่งชาติ
7.7 อุปกรณ์ทำหุ่นมือ
7.8 เอกสารความรู้เรื่องคำศัพท์ภาษาต่างประเทศ และหลักการถามและตอบ Wh-questions
ไม่มีความเห็น