ตอน ก้าวแรกของการรับราชการ (1)


ตอน ก้าวแรกของการรับราชการ (1)

 

 

 

 

ตอน  ก้าวแรกของการรับราชการ (1)

 

 

           เมื่อผู้เขียนได้ออกจากงานที่สหกรณ์ ฯ มานั้น จากการที่ผู้เขียนไม่เคยได้ทำความผิดมาเลยแม้แต่น้อย  ทำให้ได้รับเงินขวัญถุงซึ่งเป็นระเบียบที่มอบให้กับพนักงานที่ทำความดี  ติดตัวผู้เขียนมาประมาณ เกือบ 60,000 บาท ซึ่งอาจจะไม่มากสำหรับคนอื่น แต่มันมากสำหรับครอบครัวของผู้เขียน...การที่เราต้องออกมารับราชการต่างจังหวัดทำให้เราต้องใช้จ่ายเงินในการเดินทางเป็นอย่างมาก...เรียกว่า  เงินเดือนแทบจะเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ค่าเดินทางเสียหมด  ยังดีที่พ่อบ้านยังมีเงินเดือน เลยค่อยบรรเทาไปบ้าง...

            "ภัคร" เจ้าตัวเกิดได้เพียง 6 เดือน โดยครั้งแรกตั้งใจว่าจะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ  แต่เมื่อผู้เขียนเขียนสอบถามไปยังสำนักงาน ก.พ. ว่า ปัจจุบันเรียกถึงอันดับที่เท่าไรแล้ว...ทางสำนักงาน ก.พ. แจ้งให้ทราบทุกครั้ง (โดยผู้เขียนจะเขียนถามถึงตำแหน่งที่จะเรียกทุกเดือน เพราะจะได้ทราบว่าเราจะมีโอกาสเรียกเข้ารับราชการกับเขาหรือไม่...เนื่องจากผู้เขียนสอบได้ลำดับที่ 21)...เกือบปีที่เดียวที่สำนักงาน ก.พ. เรียกถึงอันที่ 19 แล้วก็หยุดหายไป...ผู้เขียนเขียนสอบถามทางสำนักงาน ก.พ. ทุกเดือน ก็ตอบว่าถึงอันดับที่ 19  ทุกครั้ง...ยามที่ท้อง "ภัคร" เจ้าตัวโตใกล้คลอด ทำให้ผู้เขียนปรึกษากับพ่อบ้านว่า "เมื่อตอนกำลังคลอดแล้วเกิดสำนักงาน ก.พ.เรียกตัวล่ะ...จะทำอย่างไร?"...ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจคลอดโดยการผ่า...ความที่กลัวเรื่องการบล็อกหลัง เพราะสมัยปัจจุบันแพทย์จะผ่าโดยวิธีนี้เป็นส่วนใหญ่...แต่แพทย์ที่ทำคลอด "ภัคร" คือ หมอชัยวัฒน์ ถามผู้เขียนว่า "จะวางยาสลบ หรือ บล็อกหลัง ให้เลือกเอา"...ความที่ผู้เขียนกลัวการรับรู้ในระหว่างผ่า ก็เลยตัดสินใจบอกหมอไปว่า "ขอวางยาสลบ"...

             หมอได้วางยาสลบให้ นับเป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่ต้องเข้าห้องผ่าตัดโดยการวางยาสลบ ทำให้รู้ว่า "ผู้เขียนเป็นคนที่หลับลึก เพราะเมื่อวางยาสลบแล้ว ผู้เขียนฟื้นยาก"...กว่าที่จะรู้สึกตัว ผ่าตัด 10.00 น. แต่ก่อนจะออกจากห้องผ่า หมอมาเรียกว่ารู้สึกตัวหรือไม่ให้พยักหน้ารับ เพราะหมอก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน กลัวผู้เขียนหลับไม่ตื่น...ในความรู้สึกตอนนั้น ผู้เขียนพยายามพยักหน้ารับว่า เรารู้แล้ว เท่านั้นเอง หมอก็เข็นเตียงออกมาพักฟื้นข้างนอกห้อง...มารู้สึกตัวจริง ๆ เกือบเย็น...สมัยนั้น คนส่วนมาก เมื่อมีลูกเขาก็จะคลอดเองตามธรรมชาติ...แต่ความจำเป็นที่ต้องผ่าตัดก็อย่างที่บอก เพราะถ้าเกิดกำลังคลอด "ภัคร"แล้ว สำนักงาน ก.พ.เรียกตัวไปเข้ารับราชการล่ะ ทำอย่างไร!...เพราะช่วงแรก ๆ ก.พ. แจ้งให้ทราบว่า เรียก ครั้งหนึ่ง ก็ 2 - 3 คน ผู้เขียนก็เกรงว่า "เดี๋ยวอดได้ทำงาน ยิ่งเป็นงานที่รับราชการด้วยแล้ว สำคัญต่อชีวิตของเรามาก"...

               ผลสุดท้าย "ภัคร" คลอดได้ 6 เดือนเต็ม สำนักงาน ก.พ. ก็มีหนังสือเรียกให้ไปรายงานตัวที่สำนักงาน ก.พ. โดยมีพ่อบ้านไปเป็นเพื่อน ทาง ก.พ. บอกว่า มีส่วนราชการแห่งเดียว คือ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ที่ต้องการข้าราชการ ตำแหน่งพนักงานธุรการ 2 จำนวน 1 ตำแหน่ง นอกนั้น ไม่มีส่วนราชการใดเลยที่ต้องการ...ก.พ. ถามว่าถ้าต้องการให้กรอกใบสมัครว่ามีความประสงค์จะไป ถ้าไม่ต้องการก็ตอบว่าไม่ประสงค์จะไป...ใครล่ะ!...จะปฏิเสธ...ในตอนนั้นผู้เขียนก็ยัง งง ๆ ว่า ทับคล้อ ไปทางไหน ไม่รู้จัก แต่พ่อบ้านรู้จัก ถึงบอกผู้เขียนก็ไม่รู้หรอก...ผู้เขียนเลยตอบรับว่าต้องการที่จะบรรจุเข้ารับราชการ...ทาง สำนักงาน ก.พ. ก็ทำหนังสือส่งตัวไปให้ สปช. (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ) และ สปช. ก็ส่งตัวไปสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร (สปจ.พิจิตร)...สปจ.พิจิตร ส่งตัวไปสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอทับคล้อ (สปอ.ทับคล้อ) อีกครั้งหนึ่ง...

               ที่ สปจ.พิจิตร ทำให้ผู้เขียนได้รู้ว่า มีน้อง ๆ ที่เรียกบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ 1 เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 1 จำนวน 4 คน รวมทั้งตัวผู้เขียนด้วยเป็น 5 คน...ในวันแรกที่ไปรายงานตัว ความที่ไม่เคยจากบ้านที่พรหมพิราม วันแรกไปไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร เพราะคิดถึงลูก คิดถึงบ้าน การไปอยู่ที่ สปอ.ทับคล้อ เป็นเหมือนการอยู่กับคนที่แปลกหน้า เพราะผู้เขียนยังไม่ได้สนิทกับเขา...แต่ที่ยังดี ยังมีน้อง ๆ คือ วรรณ แหม่ม ปุ้ม และแขก มาทำงานใหม่ด้วยเช่นกัน...ไปครั้งแรกก็ต้องเช่าบ้านอยู่ เลยชวนแหม่ม + แขก ซึ่งอยู่ที่ จ.ตาก และ จ.นครสวรรค์ มาอยู่เป็นเพื่อนกัน เลยได้ประหยัดค่าเช่าบ้านไปอีกนิดหนึ่ง...

                ที่ สปอ.ทับคล้อ มีหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอทับคล้อ ชื่อ หัวหน้าวิโรจน์  เปลี่ยนธนูวงศ์  ซึ่งเป็นหัวหน้าการ ฯ ที่ใจดีมาก ซึ่งบ้านเดิมของ หน.ปอ. ก็อยู่ไกล อยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร หน.ปอ. ต้องเทียวกลับบ้านทุกอาทิตย์ จึงมีชีวิตเช่นเดียวกับผู้เขียนที่ต้องกลับบ้านทุกอาทิตย์เช่นกัน เรียกว่า เช้าวันจันทร์ 10.00 น. ผู้เขียนจะถึงที่ทำงาน และ 15.00 น. ของวันศุกร์ก็จะขอออกจากที่ทำงานก่อน เพราะสมัยนั้นต้องเทียวรถไฟ เนื่องจากรถยนต์ไม่ค่อยมีวิ่งในช่วงตอนกลางคืน...ในวันแรกที่ไปรายงานตัว ผู้เขียนจะแจ้งให้หัวหน้าทราบก่อนเป็นเรื่องแรก...หัวหน้ารับทราบและรับรู้ถึงความจำเป็นของผู้เขียนและทราบว่าผู้เขียนกำลังมีลูกอ่อนด้วย...ท่านเห็นใจและมีความเมตตาผู้เขียนเหมือนกับน้องสาว...เช่น ท่านจะชอบให้ผู้เขียนไปส่งงานที่ สปจ.ในวันศุกร์ พอไปติดต่อราชการเสร็จก็อนุญาตให้กลับบ้านได้เลย...นี่คือ..."ความเมตตา ที่ผู้บริหารมีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในสมัยนั้น"...เมื่อผู้เขียนทราบถึงความมีเมตตาของหัวหน้าเช่นนั้น...ผู้เขียนก็รู้หน้าที่ของตัวเองว่า ในระหว่างวันทำงาน คือ วันจันทร์ - ศุกร์ ผู้เขียนจะทำงานอย่างเต็มที่ เช่น กลางวันก็ไม่ออกไปไหน นำข้าวมาทานที่ทำงาน ส่วนตอนเย็นก็นำงานหอบกลับไปทำต่อที่บ้านให้เสร็จ...คือ ทำให้สมกับที่ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจและมีความเชื่อใจในตัวของเราเอง...หัวหน้าก็จะบอกผู้บริหาร + เพื่อนครูให้เข้าใจและเห็นใจในความไม่สะดวกของผู้เขียนให้ทราบในการประชุมประจำเดือน ฯ ว่าเพราะเหตุใด?...ในกรณีของผู้เขียนจึงเป็นกรณีพิเศษกว่าคนอื่น...

            การเดินทางทุกอาทิตย์นั้น เรียกว่า  "เหนื่อยมาก เพราะสมัยก่อนต้องเดินทางโดยรถไฟ ผู้เขียนต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 ตี 4 เพราะจะได้เดินทางจากสถานีพรหมพิราม ไปถึงที่สถานีตะพานหิน ก็เกือบ 2 โมงเช้า ถ้ารถไฟเสียเวลายิ่งแล้ว"...แล้วก็ต้องต่อรถแท็กซี่หรือรถเมล์จากสถานีตะพานหิน ไปยังอำเภอทับคล้อ ซึ่งเรียกว่า "เหนื่อยมากกับการเดินทาง"...แต่ก็ต้องอดทน ถ้าไม่เช่นนั้น ก็จะไม่ได้รับราชการ ซึ่งนับว่าเป็นจุดแรกของการทำงานที่ถือว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงก็ว่าได้...เพื่ออนาคต  ก็จึงได้แต่คิดว่า  "ต้องอดทน"...

      

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 422164เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ
  • ชื่นชมกับความุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานครับ ดูแล้วแม้ทำงานไกลบ้าน แต่ก็มีความสุขเพราะมีหัวหน้าเพื่อนร่วมงานที่ดี ประสบการณ์ดีๆ ที่ต้องฝ่าฟัน นึกถึงทีไรก็ประทับใจเสมอครับ

สวัสดีค่ะ...คุณชำนาญ...Ico48...

  • ค่ะ เป็นประสบการณ์ที่ควรแก่ความจดจำจริง ๆ ค่ะ...
  • บวกกับความอดทน (อดทนต่อความคิดถึงลูก คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อบ้าน ฯลฯ ที่เคยอยู่ด้วยกันมาโดยไม่เคยจากกันมาก่อนเลย เป็นครั้งแรกจริง ๆ ค่ะ...) เพราะการรับราชการสมัยก่อน ถ้าเป็นส่วนราชการที่อยู่ตามอำเภอ จังหวัด ข้าราชการทุกคนจะพบกับสภาพปัญหาเช่นที่พี่ได้เขียนเล่านี่แหล่ะค่ะ...ไม่เหมือนกับอยู่ที่ ม. ในปัจจุบันนี้หรอกค่ะ...
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ...
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท