จิตตปัญญาเวชศึกษา 152: ทักษะการคิดใคร่ครวญ


ทักษะการคิดใคร่ครวญ

ในศึกษาศาสตร์ หรือวิชาว่าด้วยการเรียนและการสอนนั้น จะว่าไปก็สนุกดี ทั้งนี้เพราะว่ามนุษย์นั้น เขาว่ากันว่าเรามีคุณลักษณะพิเศษประการหนึ่ง ที่แยกแยะตัวเราออกจาก species อื่นๆ นั่นก็คือ "มนุษย์สามารถรู้ตัวว่าเรากำลังรู้สึก" คือมี awareness ของสภาวะตนเองได้ พูดง่ายๆ เหมือนกับเราเดินออกมาจากร่าง หันกลับมามองดูที่ร่างเดิม ก็เห็นว่าร่างนั้นกำลังรู้สึกอะไรอยู่ กำลังโกรธ กำลังเขินอาย กำลังฮึกเหิม กำลังท้อแท้ ฯลฯ สติที่มองเห็น "ตน" หรือ "อัตตา" ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้เรื่องราวประการหนึ่งที่สำคัญมาก คือ "เรียนรู้ตนเอง"

เราสามารถเรียนรู้ว่่่า "อ้อ..นี่เรากำลังโกรธนะ เพราะอะไรหว่า?" หรือ "อ้อ.. เมื่อกี้เราพึงพอใจนะ เรื่องอะไรและเพราะอะไรนะนี่?" ฯลฯ ทำให้มนุษย์มีต้นทุนที่จะ "ยก" ระดับจิต ความรู้สึกนึกคิด การให้่ความหมาย จากระนาบเดิมขึ้นไปข้างบน (หรือจะลงข้างล่าง... แล้วแต่) หลังจากใคร่ครวญว่าไม่อยากจะอยู่ที่เดิม

สัตว์อื่นๆทั่วๆไป มันจะแค่ "รู้สึก" อย่างเดียว และก็หมกมุ่นจมปลักไปกับความรู้สึกนั้นๆ หนักกว่านั้นก็คือ "ตกเป็นทาส" ของอารมณ์ ความรู้สึก การให้ความหมายแบบเก่า แบบเดิม พฤติกรรมเราก็จะซ้ำซาก จำเจ ไม่เปลี่ยนแปลง จะเรียนอะไรก็ตาม แต่ถ้าไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราเลยนั้น มันก็จะไม่พาเราไปถึงไหน ทั้งตัวเราเอง คนรอบข้าง สังคม ประเทศ ฯลฯ

ครั้งหนึ่ง Edmund Burke นักปรัชญา การเมือง นักคิดผู้หนึ่งของอังกฤษ เคยมี remark ไว้ว่า "เราอย่าได้เข้าใจผิดคิดว่าเสียงบ่นที่ดังที่สุด เป็นเรื่องเดียวสิ่งที่พึงกระทำก่อน หรือสำคัญที่สุด" จริงๆแล้วมันก็เป็นเพียง "เสียงที่ดังที่สุด" เท่านั้น ในการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของเรื่องราวมนุษย์ เป็นเรื่่องที่ซับซ้อน และมีมิติมากมายเกินกว่าที่เราจะควร oversimplify ทำให้มันห้วนสั้นเหลือแค่เป็นการประกวดการตะโกนเรียกร้องความสนใจเท่านั้น ในปัจจุบัน รู้สึกว่า "เทคนิกการตะโกนดัง" จะเป็นที่นิยมมาก วัดความถูกต้องโดยอารมณ์ จำนวนคนมากกว่า เสียงดังกว่า หรือความก้าวร้าวกว่า ในขณะที่เรากำลังรณรงค์เรื่องการ "ฟัง" หรือ "การยอมรับความคิดต่าง" จะเห็นกระแสที่เป็น anti-thesis ในเรื่องนี้เกิดขึ้นคู่ขนานไปอย่างดุเดือด เพราะพอเรา "จับได้" ว่าใครคิดต่าง หลังจากนั้นเจ้าของความคิดต่างนี้ไม่ว่าจะพูด จะทำ จะอยู่เฉยๆ ฯลฯ ก็จะเลวไปหมดทุกประการ ใครคิดเหมือนเรา ต่อไปไม่ว่าจะพูด จะทำ จะอยู่เฉยๆ ก็จะดีไปหมดทุกประการเหมือนกัน

ย้อนกลับมาเรื่องการเรียนการสอน สิ่งแรกที่เราสอนนักศึกษาแพทย์สำหรับทักษะด้านคลินิกก็คือการสัมภาษณ์ผู้ป่วย ซึ่งไปๆมาๆตอนนี้กลายเป็นความท้าทายสำหรับครูอาจารย์ไปเสียแล้ว เพราะการณ์ปรากฏว่า นักศึกษาหลายๆคนขาดทักษะการวิเคราะห์ การเชื่อมโยงข้อมูล การใช้ตรรกะไปอย่างน่าพิศวงงงงวย อาทิ โดยทั่วๆไป คนไข้จะมาหาหมอด้วย "อาการนำ" หมอก็จะซักประวัติเพิ่มเติม ลงรายละเอียด เสร็จแล้วก็ตรวจร่างกาย นำเอาสิ่งที่พบเจอในกระบวนการขั้นตอนดังกล่าว มาบีบกลุ่มโรคที่เป็นไปได้ให้เหลือน้อยที่สุด บางทีกอาจจะเหลือเพียงโรคเดียว ก็คือวินิจฉัยได้เลย แต่บางทีก็ต้องการการซักเพิ่ม ตรวจร่างกายเพิ่ม หรือส่งตรวจพิเศษเพิ่ม จึงจะให้การวินิจฉัยบอกโรคได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ นักเรียนสุ่มเดาโรคที่น่าจะเป็นจากข้อมูลแรกสุด คืออาการนำเท่านั้น และดูจะไม่สามารถดึงเอาข้อมูลที่เหลือมาประกอบกันให็มีความจำเพาะมากขึ้นได้เลย

นี่คือการเรียนแบบ check list ทำตามรายการ แต่ไม่ได้ฝึก "คิด" ปัจจัยนี้มาแปลว่าอย่างนี้เท่านั้น และแปลว่าอย่างนี้ก็ไม่ได้มาจากการคิด เพียงแค่ "คนอื่นเขาบอกมา" ก็สามารถปลงใจเชื่อไปได้อย่างง่ายดาย เพราะ "จำ" มันง่ายกว่า และเร็วกว่าคิดเยอะ

ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับอาจารย์แพทย์ ครูแพทย์ หลากหลายสถาบัน เรื่องที่น่าสนใจในพฤติกรรมและเจตคติของนักเรียนมีเยอะ ทั้งน่าทึ่ง เพราะเด็กสมัยดีทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเก่ง มีทั้งน่าตกใจ และน่ากลัว เพราะเด็กสมัยดีคิดอะไรๆออกมาที่เราหัวเก่าก็อึ้งไปเหมือนกัน

ตัวอย่าง มีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง จากสถาบันแห่งหนึ่ง ได้รับจ่ายเคสคนไข้ให้มาดู ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และเขียนรายงานส่ง แกก็เขียนมาให้ เพียงแต่ว่ารายงานของแกนั้น อ่านปุ๊บก็ทราบทันทีว่าลอกๆรายงานของคนไข้โรคเดียวกันนี้ฉบับเก่าๆมาส่ง เพราะว่าคนไข้รายปัจจุบันจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และมีโรคอื่นร่วมด้วย แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในประวัติหรือรายงานเลย อาจารย์ก็เลยบอกไปให้เขียนมาใหม่

ตรงนี้ไม่เท่าไหร่ครับ ปรากฏว่าเด็กคนนี้ไปถามเจ้าหน้าที่การเรียนการสอนว่า คะแนนจากรายงานฉบับนี้เป็นเท่าไหร่ของทั้งหมด พอทราบว่ามันนิดเดียว แกก็บอกหน้าตาเฉยว่า "งั้นผมไม่เขียนใหม่ก็แล้วกันนะครับ" คือยอมไม่เอาคะแนนจากรายงานฉบับนี้ เพราะคะแนนมันน้อยมาก

นี่เป็นการเรียนชนิดเอา "คะแนนเป็นสำคัญ" และเอาคะแนนเพื่อผ่าน (for survive) อะไรที่ตัดทิ้งได้ ก็ตัด ชีวิตจะได้สุขสบาย หาได้ขวนขวายเอาความรู้ไม่ รอแต่การ "สอบผ่าน" หรือ "เรียนจบ" เท่านั้น จากเกณฑ์ผ่าน เกณฑ์จบที่ชัดเจนอยู่แล้ว

นี่เป็นตัวอย่างการเรียนที่ "เกณฑ์ผ่าน เกณฑ์จบ" มันไม่ได้สะท้อนปรัชญา จิตวิญญาณวิชาชีพที่สมควรจะมี สัดส่วนคะแนนไปหนักที่ cognition หรือตัวความรู้ เทคโนโลยี ทฤษฎี ฯลฯ แต่คะแนนความเป็นคน ความเป็นหมอ ความรับผิดชอบ ใส่ใจ และการเคารพในกติกา ทั้งหมดพอถูกแปลงเป็นสัดส่วน เป็นเปอร์เซนต์คะแนน ก็จิ๊บจ๊อยจน "ตัดทิ้งได้" ไปและก็ถูกตัดท้ิงจริงๆ

ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรครับ?

หมอแบบนี้ พอได้คำวินิจฉัยหลักมา ก็สั่งยาได้ จะหยุดฟังต่อทันที เพราะสิ่งที่เหลือมันเป็น "ส่วนเกิน" หรือ "ตัดทิ้งได้" และนี่เองที่กำลังเป็นแก็บ เป็นช่องว่าง เพราะสิ่งที่จะฟังต่อไปต่างหากที่จะนำมาเสริมความสัมพันธ์ ความเข้าอกเข้าใจซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ

หรือความเป็นมนุษย์นั่นเอง

และพอเรา surrogate ปัจจัยความเป็นมนุษย์มาวัด มาจัดมาตรฐาน เป็นคะแนน มิตินี้มันก็เลยกลมกลืนไม่แตกต่างอะไรกับความรู้เรื่องขนาดยา ทฤษฎีโรค เพราะมันกลายเป็น​ "คะแนน" เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น ความรู้เรื่องยา ทฤาฎีโรค ถึงไม่อยู่ในหัวหมอ ก็พอเปิดหาอ่านได้ แต่จริยธรรม ความรับผิดชอบ และความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่มีอยู่เลย มันจะขาด insight ไม่มีใครจะเปิดอ่าน เพราะไม่จำเป็น

หมายเลขบันทึก: 421060เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2011 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

แน่นไปด้วยเนื้อหาสาระนะครับ 

สวัสดีครับอาจารย์โสภณ ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมเยียนครับ

อ่านแล้ว...รู้สึกว่า...เรามาเป็นหมอ..รักษาและดูแลตัวเองกันเถอะ..เจ้าค่ะ...คะแนนต้วเอง..คงเต็มร้อยอยู่แล้ว...ขาดเกินไปบ้างก็ตัวของตัว ตน..ทักษะกับการใคร่ควร

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ผม(คาดหวัง)ว่าคงมี (ว่าที่หมอ)หรือ (หมอ) จำนวนไม่มากที่คิดเช่นนี้ นอกจากวิธีคิดเชิงจริยธรรมของคนที่ประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว ถ้ามีคณะกรรมการกำกับวิชาชีพที่(เข้มงวด)ช่วยกำกับ ก็น่าจะทำให้ คนไข้ได้คลายความกังวล เอลองคิดดู ถ้า (วิชาชีพอื่น ๆ)คิดและทำทำนองเดียวกัน เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ สังคมที่ขาดสติ ไม่รู้ตัว ว่าเรา คือใคร มีหน้าที่อะไร และไม่เห็นตัวตนของตัวเรา ...

ข่าวดีก็คือ เท่าที่เคยเจอ แบบนี้เป็นส่วนน้อยมากๆของนักศึกษาครับ แต่เราไม่ทราบเหมือนกันว่านี่เป็น minority mutation หรือเป็น tip of the iceberg ถ้าเป็นแบบแรกก็ยังพอทน ถ้าเป็นแบบหลังก็....

ตัวใครตัวมันละโว้ย!

สวัสดีครับคุณเอกราช

คณะกรรมการก็อาจจะเป็นคำตอบแบบหนึ่งนะครับ แต่สงสัยผมเห็นคณะ (มี) กรรม (ไม่มี) การเยอะที่ไม่ได้แก้อะไร เพราะของพวกนี้ (จริยธรรม คุณธรรม จรรยาบรรณ) ไม่ใช่สิ่งที่สามารถตีตรา ออกเป็นกฏหมาย แล้วมันจะซึมซับลงไปในเนื้อในตัว ไม่งั้นเราคงไม่เจอปัญหา rule lawyers หรือแบบในอเมริกาที่นักกฏหมายครองเมืองกันอยู่ทุกวันนี้

เราทุกคนอยู่ในสังคมนี้ด้วย ในความเห็นส่วนตัวของผม วิธีเดียวที่จะดูแลสังคมก็เริ่มต้นจากสะท้อนสิ่งที่เราอยากจะให้เกิด และไม่อยากให้เกิดออกไปเยอะๆ อย่าให้กระแสที่เราไม่ต้องการเป็นฝ่ายฉุกกระชากลากถูเพียงลำพัง อย่างน้อยนี่คือสิ่งที่เราควบคุมได้ กระทำเองได้ การหวังมือที่สามที่ไหนมาช่วยนั้น ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายเกินไปก็ได้ที่คิดว่ามันไม่น่าจะ work ครับ

สวัสดียามเช้าครับอาจารย์ วันนี้ช่วงเช้าโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช จะเข้ามารับบริจาคโลหิต ปกติที่นี่จะมีนักศึกษาและบุคลากรจำนวนมากมารอเพื่อบริจาคโลหิต ไม่ทันก็ไว้บริจาคครั้งหน้าอีก 3 เดือน เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นในเชิงเจตคติที่ดีเลยครับ เพราะผมคิดว่าการให้เป็นความสามารถที่จะการลดความรู้สึกต้องการในตัวเอง ดีใจครับได้คุยกับอาจารย์ตั้งหลายรอบเลยเที่ยวนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท