ความหวังที่เหลืออยู่.............


อย่าทำลายความหวังของใคร...เพราะบางทีมันอาจเป็นความหวังสุดท้ายที่เขาเหลืออยู่

ความหวังที่เหลืออยู่…..

....................ร่างซีดเซียว ที่นอนไร้ซึ่งลมหายใจ ไม่สามารถรับรู้กับความเคลื่อนไหวภายนอกได้อีกแล้ว  มือที่เย็นเฉียบ  และร่องรอยเขียวคล้ำบนหน้าอก  ที่ผ่านการกดกระแทก จาก การช่วยฟื้นคืนชีวิตไม่มีผลอีกต่อไป....ใบหน้าของร่างที่ไร้วิญญาณ ยังคงเหม่อลอยและดวงตาที่ไม่ปิดสนิท ยังสื่อถึงความสิ้นหวังลางๆ ฉันและน้องๆอีก 3 คนกำลังบรรจงเช็ดตัวและทำความสะอาดทั่วร่างกายให้  น้ำอุ่นๆ ผ้านุ่มค่อยๆ บรรจงเช็ดตามซอกมุมต่างๆทั่วตัว ...หลังจากนั้น ใช้ผ้าแห้งซับทั่วร่างกายให้แห้ง และเริ่มลงมือเอาสำลี อุดปิดรูทวารทั้ง 7 คีมคบอันเล็ก ค่อยๆ สอดสำลีนุ่มๆ ลงในลำคอ จมูก ปากและพื้นที่อื่นๆ ป้องกันสิ่งคัดหลั่งไหลออกมาขณะเคลื่อนย้าย ............

“พี่ขอแต่งหน้าศพเองนะ” ฉันกระซิบเบาๆ กับน้องๆ ในขณะที่น้องๆเลือกเสื้อผ้าที่ดีที่สุดที่มีของร่างที่ไร้วิญญาณ ออกมาแล้วค่อยๆบรรจงสวมใส่ เสื้อที่สวมดูมันเล็กคับไปนิดเพราะร่างนั้นเริ่มมีการบวมขึ้นหลังจากที่อยู่โรงพยาบาล...

“คุณป้ายกแขนขึ้นทีนะคะ ......นั่งแปปนึงค่ะ...” เสียงกระซิบเบาๆของน้องๆที่ช่วยกันสวมเสื้อผ้าให้กับร่างที่ไร้วิญญาณ ประหนึ่งว่าเธอรับรู้ทุกขั้นตอน....

พี่นิด อสม. ประจำหมู่บ้าน เอาเครื่องสำอางมาให้ “พี่ให้เครื่องสำอาง พี่ฝากแต่งให้คุณป้าด้วยค่ะ” ฉันรับลิปสติกสีแดงและแป้ง 1 กระป๋องกับ อายแชโดว์ตลับเล็กๆมา กองรวมกับ เครื่องสำอาง ที่ หอผู้ป่วยจัดไว้ให้ แล้วเริ่มลงมือทาแป้งเบาที่หน้า หลังจากแต่งตัวเสร็จ  “ หนูแต่งหน้าให้นะคะ คุณป้าจะได้สวยๆ ...ถ้าแต่งไม่สวยเท่าคุณป้า อย่าว่านะคะ”  ฉันกระซิบเย้าแหย่ร่างที่ไร้วิญญาณ ที่ไม่อาจรับรู้ใดๆ เบาๆ บรรจงทาแป้ง ปัดแก้มสีชมพูเบาๆ หน้าที่ซีดเซียวเริ่มมีสีสัน เลือกสีอายแชโดว์สีเบจอ่อนๆ พร้อมไลท์คิ้วบางๆ  ตบท้ายด้วยการทาลิปสติกสีแดงสดให้ก็ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจการแต่งหน้าศพครั้งแรกในชีวิต.....

น้องๆ ช่วยกัน เอา ดอกไม้และธนบัตรและเหรียญที่ พี่ๆ อสม.ช่วยกันหามาใส่มือตามความเชื่อ กลับไปใส่มือให้อีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ฉันหยิบเครื่องสำอางที่ พี่ อสม. ยื่นให้ก่อนแตงหน้า ไปใส่ในมืออีกข้างพร้อมกระซิบบิกชื่อ คนให้ ..และปิดม่านลงเพื่อเดินออกมาทำความสะอาดตัวเอง….ปล่อยหน้าที่ที่เหลือให้กับน้องๆทำต่อ

......................... ความหวังที่เหลืออยู่....อาจมีน้อยจนไม่พอให้หวัง....คุณป้าเลยขี้เกียจหายใจ...และจากโลกนี้ไป หลังจากที่เราติดต่อไปที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หาบ้านพักฉุกเฉินให้ จนได้ที่จังหวีดบุรีรัมย์ .......ประโยคสุดท้ายที่คุณป้าพูดกับเรา.... “แล้วแต่คุณหมอ ป้ายินดี...คุณหมอจิตใจดีป้านับถือคุณหมอ ป้าจะไปค่ะ ถึงแม้ป้าจะคิดถึงลุงมาก...............” นี่คือคำมั่นสัญญาก่อนที่เราจะติดต่อบ้านพักสังคมสงเคราะห์ให้ เนื่องจาก คนไข้ไม่มีญาติและผู้ดูแล และไม่สามารถที่จะกลับไปอยู่ห้องเช่าที่ยังค้างค่าเช่าถึง 7 เดือน เพียงลำพัง ถึงแม้เจ้าของผู้ใจบุญไม่เคยคิดจะทวง แต่คุณป้าก็ไม่เคยคิดจะอยู่ฟรี พยายามหาเงินผ่อนส่ง แต่ปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถที่จะทำให้เราปล่อยให้คุณป้ากลับไปอยู่เพียงลำพังได้อีกต่อไป...................

คำสำคัญ (Tags): #hhc#วาระสุดท้าย
หมายเลขบันทึก: 420633เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2011 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

...............................................................................................

กริ๊ง……เสียงโทรศัพท์ที่แผนกดังขึ้น.....ในขณะที่ฉันกำลังนั่งทำงานที่คั่งค้างมานานแรมสัปดาห์...น้องๆออกเยี่ยมบ้านกันหมด...ทำให้ฉันตื่นจากพวังค์ความคิด..

“พี่ ส่งcase เยี่ยมบ้าน ค่ะผู้ป่วยชื่อ... อายุ70 ปี diag Lymphatic obstruction R/O Mallignant ค่ะ มีปัญหาว่าแพทย์ให้จำหน่ายแต่คนไข้ไม่มีญาติ อยู่คนเดียว ไม่สามารถติดต่อใครได้เลย ดูแล้วแกคงดูแลตัวเองคนเดียวไม่ได้..... รบกวนพี่มาช่วยวางแผนด้วยนะคะ.................” เสียงส่งเวรเจื้อยแจ้วของน้องพยาบาลเจ้าของตึก

“ ค่ะแล้วพี่จะไปดูให้ คุณหมอเจ้าของไข้คือใครคะ...มีแผนจำหน่ายยังไงบ้าง....”ฉันถามข้อมูลเพิ่มเติมไปอีก 2-3 เรื่องแล้วก็ทำการนัดหมายกับหอผู้ป่วยในการลงไปดูอาการ

..................................................

หลังจากที่น้องๆในทีมส่งเสริมสุขภาพ กลับมาจากเยี่ยมบ้าน ฉันกับน้องๆอีก 2 คนก็พากันลงไปเยี่ยม case ตามหอผู้ป่วยปกติส่วนใหญ่ case ที่เราต้องเยี่ยม คือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน กลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำบ่อยๆ หรือ ในรายที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน หอผู้ป่วยสามารถโทรศัพท์ประสานตามทีม HHC ได้ตั้งแต่ผู้ป่วย Admit ทีม HHC จะเป็นผู้ประสานงานระหว่างครอบครัว และชุมชน กับ โรงพยาบาล เนื่องจาก หอผู้ป่วยเองมักไม่ค่อยมีเวลาในการอธิบาย เพราะปริมาณภาระงานและจำนวนคนไข้ในแต่ละคนไม่เอื้อโอกาสให้พยาบาลหอผู้ป่วยได้มีเวลาพูดคุยกับค้นไข้มากนัก...ปัญหาที่ประเมินได้ส่วนใหญ่ มักจะเป็นปัญหาทางกายมากกว่ามิติด้านจิตใจและสังคมที่อาจลึกซึ้ง และต้องใช้ประสบการณ์และทักษะในการประเมินมาก

เมื่อเดินทางถึงตึก ภาพสิ่งที่เราเห็น คือ หญิงชรารูปร่างผอมบาง หน้าตาซีดเซียว แววตาเลื่อนลอยไร้จุดหมาย กำลังนอนอยู่บนเตียง ผมสีดอกเลาที่ถูกมัดหลวมๆ แขนทั้งสองข้างลีบเล็กในขณะที่ขาและเท้าทั้งสองข้างบวมโต ในมือมีสมุดโน้ตเล่มเล็กๆ ที่ถูกกำไว้แน่นประหนึ่งสมบัติล้ำค่า...สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกโล่งอก คือ มี พี่ใย ซึ่งเป็น อสม.ในพื้นที่ของเรายืนยิ้มกว้างอยู่ข้างๆ หลังจากที่เจอเรา....

“สวัสดีค่ะ พี่ใย เป็นญาติพี่หรือเปล่าคะ” ฉันร้องทักด้วยความยินดี

“ปล่าวค่ะ คุณหมอ” ป้าแกอยู่ในพื้นที่ฉัน แกป่วยฉันก็เลยพาแกมาโรงพยาบาล

“อ้าว ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ”

“แกอยู่ในพื้นที่ของพี่คะ คุณหมอ แกไม่สบายไม่มีญาติ พี่ก็เลยพาไปคลินิกคุณหมอที่นี่ คุณหมอบอกว่าให้พามาโรงพยาบาล พี่ก็พาแกมา พี่ว่าจะโทรบอกคุณหมออยู่แต่ เจ้าหน้าที่เขาบอกจะโทรให้นี่แหล่ะค่ะ”

“ขอบคุณพี่ใยมากค่ะแล้ว มาโรงพยาบาลกันอย่างไรคะ” ฉันถามด้วยความสงสัย เพราะมองที่ขาที่บวมทั้งสองข้าง แล้วคงลำบากพอควร

“นั่งซ้อนมอเตอร์ไซด์ กันมาค่ะ” พี่ใยพูดด้วยความภูมิใจ

“โอ้ย..ขอบคุณมากค่ะ พี่ งั้นรบกวนพี่ใยช่วยเล่าข้อมูลของคุณป้าให้หนูฟังคร่าวๆ ได้ไหมคะ” ฉันจูงมือพี่ใย ซึ่งเป็น อสม.มานานกว่า 10ปี เดินออกมานอกห้อง

“ได้ค่ะ คุณหมอ แต่เดี๋ยวพี่เอาส้มไปให้แกก่อน แกอยากทานส้มพี่ก็เลยซื้อมาฝากค่ะ” ฉันมองตามพี่ใยที่กำลังเดินไปบรรจง วางส้มไว้ที่หัวเตียงคนไข้แล้วก้มกระซิบเบาๆให้รู้ว่ามาและเอาของที่อยากได้มาฝาก หญิงชรายิ้มน้อยๆ พยักหน้ารับรู้ ค่อยๆ ยกมือเหี่ยวแห้งจับมือของพี่ อสม.ไว้ หากฉันยืนอยู่ใกล้ๆเตียงคงจะได้ยินคำว่า “ขอบคุณ ”และอีกหลายๆคำอวยพรที่พยายามเอ่ยออกมา พี่ใยจับมือของแกไว้แน่นและบอก “ไม่เป็นไร เดี๋ยวคุณหมอมาเยี่ยมนะป้า”

ฉันกับพี่ใยเดินออกมานอกห้อง แล้วพี่ใยก็เล่าข้อมูลของคุณป้าซึ่งทราบชื่อว่า “คุณป้าทองพูล” ให้ฟังป้าทองพูลอดีตเคยเป็นเจ้าของร้านเสริมสวยชื่อดังที่สุดของอำเภอ คุณป้าแต่งงานแต่ไม่มีลูก มีญาติพี่น้องหลายคนแต่ด้วยความที่เป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองสูงจึงทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวไม่ค่อยดีนัก หลังๆญาติต่างแยกย้ายกันไปอยู่ต่างที่กันหมด ลูกหลานก็ไม่มี ป้าอาศัยบ้านเช่าของข้าราชการท่านหนึ่งมาเกือบ 10 ปีแล้วหลังจากอายุมากขึ้น ไม่สามารถเป็นช่างได้เหมือนเดิมแล้วก็เลิกทำอาชีพช่างเสริมสวย หันมาค้าขายแทน ชีวิตช่วงนั้นคุณป้า ถือว่าเป็นที่รู้จักมาก จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้คุณป้าต้องแทบสิ้นเนื้อประดาตัว เอาทรัพย์สินเงินทองไปบริจาคองค์กรๆหนึ่งหมด คุณป้าก็ไม่เคยย่อท้อต่อความลำบาก พยายามช่วยเหลือตัวเอง เอาของส่งมาเร่ขาย กินกำไรพอเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จนในวันที่ คุณลุง สามีของคุณป้าเสียชีวิตลงไปประมาณเดือน พฤษภาคมปีที่แล้ว ความหวังและความสุขที่เหลืออยู่เพียงนิดเดียวเริ่มหายไป....ทุกๆวันกลายเป็นวันที่ไม่มีความหมาย ไม่มีความหวัง....ถึงแม้จะลำบากแต่ก็ไม่อยากพึ่งพาและเป็นภาระใคร...จนกระทั่งร่างกายและสังขารก็เริ่มมีโรคและความเจ็บป่วยมารุมเร้า...โชคดีที่ผู้ใจบุญได้ให้คุณป้าอาศัยในทะเบียนบ้าน คุณป้าเลยสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพของ โรงพยาบาลได้ เจ็บป่วยทุกครั้งจึงมีโอกาสที่จะได้รับการรักษา จนกระทั่งวันนี้อาการป่วยของคุณป้า ไม่เหมือนเดิม กลับบ้านไปก็ไม่เหมือนเดิมเพราะเกิดจากปัญหาที่ขาทั้งสองข้างบวมโตขึ้น จนเดินไม่ได้ และอาการเหนื่อยแทบใจจะขาดที่เกิดขึ้น....

.....ฟังประวัติคร่าวๆ จากพี่ใย แล้ว ก็รู้สึกเห็นใจว่าในโลกนี้ ยังมีคนที่ลำบากมากกว่าเราอีกมาก...ฉันกับน้องๆ สรุปปัญหาและประเด็นหลักๆในการช่วยเหลือ ได้ สองสามประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านสุขภาพจิต ปัญหาเศรษฐานะและสังคมที่ต้องแก้ไขและให้การช่วยเหลือ กันแบบอาจต้อง สู้รบกับ KPI ของโรงพยาบาลกันอีกแน่นอน .....เอาความเป็นคน แลกกับ คุณภาพ...อีกสักครั้งหนึ่ง.......

........................................หลังจากที่พี่ใย ได้เล่าเรื่องราวของคุณป้าให้ฟังแล้ว

ฉันกับน้องเดินกลับเข้าหอผู้ป่วยอีกครั้ง.......................................

จุดหมายหลักก็คือ ..เตียงที่คุณป้าทองพูลนอนอยู่.....

“สวัสดีค่ะ คุณป้าทองพูล ดิฉัน....” ฉันยกมือไหว้ พร้อมทักทายทั่วไป

คุณป้าทำหน้าเฉยๆมองมาทางฉันและน้องๆ สีหน้าสงสัย (คงจะสงสัยว่า คุณหมอที่นี่ เขาไหว้คนไข้ด้วย...)

“คุณป้าเหนื่อยไหมคะ...พวกเราอยู่ทีมส่งเสริมสุขภาพ รับผิดชอบงานบริการเยี่ยมบ้านของโรงพยาบาลค่ะ” ฉันเริ่มชวนสนทนา

คุณป้าพยักหน้าเบาๆ เริ่มเหยียดยิ้มน้อยๆ แต่ไม่แสดงความสนใจหรือ ใส่ใจมากนัก

“พวกเรามาเยี่ยมเฉยๆค่ะ พอดีพี่ใย เป็น ทีม อสม.ของเรา และทางหอผู้ป่วยก็แจ้งว่า คุณป้ามาป่วยที่นี่ พวกเรามีหน้าที่ดูแลสุขภาพของทุกคนในพื้นที่ รวมทั้งคุณป้าค่ะ” ฉันยังคงชวนคุยต่อ คุณป้าเริ่มพยักหน้าน้อยๆ มืออีกข้างยังคงกำสมุดพกเล่มเล็กๆไว้แน่น....เอ สมุดพกเล่มนั้น ...มีอะไรดีนะ ฉันเริ่มสงสัย

“คุณป้า ยกหัวเตียงขึ้นไหม จะได้สบายขึ้น” คุณป้าไม่ตอบแต่พยักหน้าให้

ฉันแอบพยักให้น้องๆ ที่ติดตาม...

“ สูงพอไหมคะ” คุณป้าไม่ตอบ

“สูงพอหรือยังคะ” น้องๆ เริ่มหมุนหัวเตียงสูงกว่าระดับเดิมมาก

“พอๆๆ ค่ะ ป้าไม่ชอบให้มันสูง เวียนหัว” ฉันกับน้องๆแอบยิ้มเล็กๆ แกล้งหมุนขึ้นและหมุนลงอีกนิด จนคุณป้าต้องคอยบอกว่า ระดับไหนที่พอเหมาะ ทั้งหัวเตียงและปลายเตียง

“คุณหมอให้ยกสูง ขาบวมอยู่” คุณป้าอธิบาย

“อ้าว หรือคะ แล้วคุณหมอบอกอะไรอีกคะ” ฉันเริ่มยิ้ม และพยักหน้าน้อยๆ ให้น้องๆ เริ่มจดบันทึกข้อมูล

คุณป้าเริ่มเล่าถึงอาการเจ็บป่วยของแก่เรื่อยๆ....จนกระทั่งเราถามว่า

“คุณหมอจะให้คุณป้ากลับบ้านเมื่อไหร่คะ” เมื่อฉันถามเสร็จ คุณป้าเริ่มมีสีหน้าเศร้าลง

“เห็นบอกเร็วๆนี้แหล่ะ” ฉันสัมผัสมือคุณป้าและบีบเบาๆ และกระซิบถามว่า

“คุณป้ามีอะไรที่กังวลใจอยู่ไหมคะ” น้ำใสๆ คลอตาของคุณป้าเป็นคำตอบแรก

“ป้ากลัวว่า ออกจากโรงพยาบาลแล้วมันจะไม่ดีขึ้น มันเดินไม่ได้เหมือนเดิม ป้าไม่อยากเป็นภาระใคร”

“คุณป้ายังไม่ต้องกังวลค่ะ เราค่อยๆคิดช่วยกันว่า กลับออกจากโรงพยาบาลเราจะทำอย่างไรกันต่อ อย่างน้อย ก็จะมีหนูและน้องๆที่มาจะไปเยี่ยมและดูแลถึงที่บ้านเลย”

“ป้ายังไม่อยากกลับ” คุณป้าชายตามองไปที่ขาใต้ผ้าห่มทั้งสองข้าง

“กังวลเรื่องขาใช้ไหมคะ” ฉันถามเบาๆ พร้อมเอามือไปสัมผัสขาทั้งสองข้างที่บวมโต จนไม่สามารถยกได้ จากอาการต่อมน้ำเหลืองอุดตัน

คุณป้าพยักหน้าน้อยๆ และก็เริ่มเล่าให้ฟังถึงความกังวลที่มีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การที่ต้องอยู่คนเดียวเพียงลำพัง หลังสามีเสียชีวิต อาชีพและรายได้ที่ไม่เป็นหลักแหล่ง ปัญหาค่าใช้จ่ายที่ค้างค่าเช่ามากว่า 7 เดือน คุณป้าย้ำว่า

“ป้าไม่อยากเป็นภาระของโรงพยาบาลหรอกค่ะ ไม่อยากเป็นภาระใคร” แต่สิ่งที่คุณป้าเป็นกังวลเพราะ กลับไปแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม

“คุณป้ามีญาติ พี่น้อง หรือ คนรู้จักไหมคะ” ฉันถาม

“ไม่มีค่ะ” คุณป้าตอบพ้อมกับเชิดไหล่เล็กๆ

“อ้าวแล้วที่คุณป้า ไม่ได้จ่ายค่าเช่า เจ้าของบ้าน ท่านไม่ว่าอะไรหรือคะ” ฉันเปลี่ยนเรื่องถาม

“ท่านไม่ว่าค่ะ ท่านใจบุญ ป้าว่าจะขายของในบ้านใช้หนี้ให้ท่านก็มาป่วยก่อน”

คุณป้าพูดถึงผู้ใจบุญด้วยความภูมิใจ

“พอบอกชื่อท่านให้หนูทราบได้ไหมคะ”

“ได้ค่ะ..ท่านชื่อ..........พ.ต.อ.สุนทร...................หลังจากนั้น คุณป้าก็เริ่มเล่าถึงความใจบุญของท่าน พร้อมเอาสมุดโน้ตเล่มเล็กๆ ที่เคยกำไว้ในมือจนแน่น มาเปิดให้ดูชื่อ เบอร์โทร ระหว่างที่เปิด ฉันสังเกตเห็นว่า มีชื่อพร้อมเบอร์ติดต่อมากกว่า 1 เบอร์ จึงได้กระซิบถามเบาๆว่า

“แล้วเบอร์อื่นๆเป็นเบอร์ใครคะ”

“อ้อ อันนี้ เบอร์ ญาติแฟน เบอร์หลานค่ะ”

“แล้ว ผู้ใจบุญ กับ ญาติคุณลุง ทราบไหมคะว่า คุณป้าป่วย”

“ไม่ค่ะ ป้าไม่บอก ป้าไม่อยากรบกวนใคร”

ฉันเริ่มชวนคุณป้าพูดคุยสิ่งที่อยู่ในใจ จนรู้ว่า คุณป้าไม่ได้ไร้ญาติ แต่เลือกที่จะอยู่คนเดียว อาจด้วยเหตุผลทางครอบครัวในอดีต แม้กระทั่งลูกหลาน คุณป้าบอกว่าไม่ได้เลี้ยงเขาแล้วจะให้เขารับเราไปเลี้ยงตอนป่วยได้ยังไง....คนเราเกิดมาต้องพึ่งตนเอง......................

“แต่สังขารมันเรื่องปกตินะคะ หนูเชื่อว่าคุณป้ามีศักยภาพในการดูแลตนเอง ตอนที่คุณป้าไม่ป่วยค่ะ แต่ตอนนี้ คุณป้าป่วย คุณป้าจำเป็นต้องมีคนดูแล เราจะทำอย่างไรกันดีคะ” ฉันถามเบาๆ

“ป้าไม่รู้ ป้าไม่อยากอยู่โรงพยาบาลหรอก ป้าเกรงใจหมอ” ป้าพูดเหมือนจะรู้ว่า โรงพยาบาลให้จำหน่ายแล้ว

“ไม่ต้องเกรงใจค่ะ โรงพยาบาลต้องมีหน้าที่ดูแลอยู่แล้วแล้วถ้าเราหาที่พักให้ ซึ่งเป็นบ้านพักของสังคมสงเคราะห์ คุณป้าจะยินดีไปอยู่ไหมคะ”

“ค่ะ ป้ายินดีไป”

“แต่การอยู่สังคมสงเคราะห์ จะต้องมีการขอให้ญาติเซ็นต์รับทราบและยินยอมด้วย” (จริงๆ ถ้าไร้ญาติอาจไม่จำเป็น แต่ฉันต้องหว่านล้อมเพื่อให้ได้ข้อมูล)

“คุณป้าพอจะบอกชื่อและ เบอร์โทรญาติ หรือ คนรู้จักที่ไว้ใจได้ไหมคะ

หลังจากนั้น คุณป้าได้ให้รายชื่อญาติ พร้อมเบอร์โทร จนทำให้ฉันทราบภายหลังว่า คุณป้าไม่ได้ไร้ญาติ แต่เลือกที่จะอยู่คนเดียว

..............................

3 วันต่อมา

..............................

2 วันต่อมา ได้รับแจ้งจาก หอผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยปฏิเสธที่จะไปอยู่สังคมสงเคราะห์ เนื่องจากผู้ใจบุญมาเยี่ยมและจะหาบ้านให้ คนไข้เลือกที่จะรอผู้ใจบุญ และเมื่อน้องๆที่แผนกไปเยี่ยมคนไข้ปฏิเสธที่จะพูดคุยด้วย ...จนในที่สุด ฉันได้กลับไปเยี่ยมเพื่อถามรายละเอียดการตัดสินใจหลังจากหาบ้านพักฉุกเฉินให้ได้แล้ว แต่จะต้องย้ายไปอยู่ที่จังหวัด บุรีรัมย์

“ป้าไม่อยากเป็นภาระคุณหมอหรอกค่ะ”

“ป้านอนไม่หลับ คิดถึงคุณลุงมาก”

“คุณหมอเป็นคนดี ป้าจะเชื่อคุณหมอ คุณหมอตัดสินใจให้ป้าเลยค่ะ”

นี่คือ คำตอบยืนยันจากปากของคุณป้า...หลังจากไปเยี่ยมเพื่อยืนยันคำตอบอีกครั้งทำให้ฉันรู้ว่า....สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดเปลี่ยนไป คือ การสื่อสาร แบบไม่ตั้งใจ

ผู้ป่วยนอนอยู่เตียงใกล้พยาบาล ประโยคที่ยินซ้ำ คือ คุณหมอให้กลับบ้านแล้ว ๆๆๆแต่รอหาบ้านๆๆๆ คนไข้ไม่มีญาติๆๆๆ

คำพูดง่ายๆ ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายจิตใจ กลับบั่นทอนความหวัง เขาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ประโยคเหล่านนี้ เหมือนตอกย้ำว่า “คุณต้องกลับบ้าน แต่ รพ.ต้องแบกภาระนะ เพราะคุณไม่มีญาติ ไม่มีบ้าน ดูแลตัวเองไม่ได้” คำพูดง่ายๆ แต่มันทำให้คนไข้รู้สึก สูญเสียพลังอำนาจ ในการดูแลตัวเองอีกต่อไป เขาคือภาระ เขาคือ ปัญหาที่โรงพยาบาลต้องแก้

เหมือนกับคำพูดที่ หัวหน้าหอผู้ป่วยบอกกับฉันว่า “เรื่องคนไข้เตียงนี้ น้องประสาน Nurse case ส่วนกลาง ช่วยนะ พี่เขามีความสามารถในการจำหน่ายคนไข้ และประสบการณ์มากกว่า” ขนาดฉันฟังแล้วยังมีรับรู้ว่า “ สิ่งที่เราเยียวยาจิตใจ Empowetment ให้คนไข้มีความหวัง มีคุณค่าในตัวเอง และหาแหล่งช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการทางธุรการ มันอาจทำให้ LOS หรือ ค่า DRG มันกระทบบ้าง คือ การที่ยังทำได้ไม่ดีเพียงพอ” แต่เรายังสามารถมองในแง่บวกว่า “หาความร่วมมือ” แล้วคนไข้ล่ะเขาจะคิดอย่างไร................................................

วันที่เจอ Nurse case ส่วนกลาง ฉันบอกพี่ Nurse case ส่วนกลาง ไปว่า “ พี่ หนูขอเวลา 3 วัน จะเคลียร์ Case นี้ ให้ค่ะ อย่าเพิ่งผลักดันคนใกล้กลับตอนที่เขายังไม่พร้อม”

1 วันต่อมา หลังประสานนัดหมาย เจ้าหน้าที่ พัฒนาสังคมฯ ได้แล้ว ฉันได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า คุณป้าแกอาการไม่ได้ กำลังปั้มช่วยชีวิตอยู่...ประชุมเสร็จประมาณ 5 โมงเย็นฉันลงไปดูอาการที่ตึก พบว่าคุณป้าได้เสียชีวิตลงแล้ว ...พี่ อสม. ที่คอยอยู่หน้าตึก เดินมาจับมือและบอกว่า

“แกคงไม่อยากอยู่ที่นี่ แล้ว แกคิดถึงคุณลุงมาก งานศพแกพวกพี่ๆ และคณะกรรมการหมู่บ้านจะช่วยกัน ตอนนื้ ผู้ใหญ่บ้านกำลังไปประสานขอโลงและจองวัดอยู่”

“มีอะไรให้ หนูช่วยบอกนะคะพี่ เดี๋ยวหนูไปลาคุณป้า แกก่อน เผื่อแกรอ

ฉันเดินไปที่เตียงคุณป้าทองพูลอีกครั้งด้วยความสลดใจ ที่ไม่สามารถช่วยให้ชีวิตที่เหลืออยู่ของคุณป้าได้อยู่ด้วยความสบายใจ หรือ มีความสุข อีกซักครั้ง...........

สิ่งที่ฉันทำได้ คือ การกล่าวลาและการจัดการสังขารสุดท้ายให้แก พร้อมลงขันกับน้องๆ ทีมงานในการจ่ายค่าบริการฉีดยาศพ.และบอกพี่ๆ อสม.ว่า

“พี่น้องจะช่วยบริจาคเงินซื้อโลงศพให้นะคะ มีอะไรโทรบอกด้วยค่ะ”

ก่อนที่จะลงมือความสะอาดร่างกายและสังขารสุดท้าย ให้ เป็นครั้งสุดท้ายของการดูแล.......................................................ขอบคุณชีวิตนี้ที่มีความหวัง หวังที่จะสร้างสิ่งดีให้โลกนี้ต่อค่ะ..............

จากเรื่องราวของคุณป้า ..บางครั้งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า.....การที่ โรงพยาบาลเราให้ความสำคัญกับ KPI บางครั้งมันก็ทำให้การทำงานของเราขาดความอ่อนโยน...จนเราลืมนึกไปว่า...เป้าหมายหลักของเรา อยู่ที่การรักษา...ให้คนไข้ของเราหายจากความทุกข์ ไม่ใช่รักษาแต่ทางร่างกาย แต่ต้องรักษาทั้งกายใจ รักษาทุกมิติของสุขภาวะ...........

เป็นกำลังใจให้คนทำงานชุมชนทุกคนนะครับ...จากหมอบ้านนอก

สวัสดีค่ะ

สู้สู้นะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท