ประวัติบ้านผักกาดหญ้า และข้อคิดเล็กๆน้อยๆเพื่อความเข้าใจ


                 

      บ้านผักกาดหญ้าถือว่าเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาน่าศึกษา เพราะเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเพณีวัฒนธรรม ที่ผักกาดหญ้าก็มีประเพณีแข่งเรือยาว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าประเพณีแข่งเรือยาวนี้เริ่มมีขึ้นในบ้านผักกาดหญ้าในครั้งใด ในด้านศาสนา ในอดีตก็เคยมีพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคราพนับถือของคนในจังหวัดร้อยเอ็ดหรือในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งก็เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าหลวงพ่อเมืองเสลฯ ซึ่งนามจริงๆของท่าน ก็คือ พระเดชพระคุณพระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร)และอีกรูปหนึ่งคือ พระเดชพระคุณพระครูวินัยรสสุนทร (รส ปญฺญาพโล) ซึ่งพระคุณท่านทั้ง ๒ รูป ในคราวแรกที่อุปสมบท ท่านทั้งสองก็จำพรรษาอยู่ที่บ้านผักกาดหญ้านี้ และเคยเป็นเจ้าอาวาสที่วัดสุปัญญาราม อยู่หลายปี ในที่สุดท่านก็ได้รับบัญชาจากพระผู้ใหญ่ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดมิ่งเมือง อ.เสลภูมิ ในกาลต่อมา ในด้านการศึกษาก็ปรากฏว่าชาวผักกาดหญ้าเป็นหมู่บ้านที่ฝักใฝ่ในการศึกษา ลูกหลานชาวผักกาดหญ้าก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการเกือบทุกครัวเรือน ในด้านเป็นแหล่งอารยธรรมแต่โบราณก็ปรากฏว่ามีหินศิลาเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง-ยาวประมาณ ๒ เมตร ตรงกลางมีรู ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์อะไร ในด้านบุคคลที่มีความสำคัญในอดีต ก็ปรากฏมีเรื่องราวเจ้าปู่ขุนศักดิ์ ซึ่งประวัติเล่าว่าท่านเคยเป็นทหารมาก่อน แล้วมาเสียชีวิตในบริเวณนี้ จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในกาลต่อมา ในด้านภูมิศาสตร์บ้านผักกาดหญ้าก็เป็นหมู่บ้านนึงที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำชีไหลผ่าน มีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่ง ทั้งพื้นดินก็มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ (ถ้าจะพูดตามหลักวิจัย ก็คือ ที่มาความสำคัญของปัญหา) จึงควรที่จะได้ทำประวัติเกี่ยวกับชุมชนผักกาดหญ้าเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของคนในชุมชน และคนอื่นๆที่สนใจในเรื่องประวัติ ประวัติผักกาดหญ้ามีดังนี้....

     ในสมัย เมื่อยังไม่มีชื่อหมู่บ้าน แต่เดิมบ้านผักกาดหญ้า เป็นป่ากะยาเลย มีไม้ต่าง ๆมากมาย เช่นไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม่ลัง ไม้ยาง ไม้หลุมพอ ฯลฯ และมีผักผักกาดหญ้าเป็นส่วนมาก ผักชนิดหนึ่ง มีต้นเป็นพุ่มสูงประมาณ๑-๒ เมตร ลำต้นและกิ่งเป็นหนามแหลมคม ใบแสกคล้ายใบกระถิน มีกลิ่นฉุน  รสอมเปรี้ยวมีดอกสีเหลือง  ใช้รับประทานกับอาหารจำพวกห่อหมก เช่นหมกหน่อไม้ หรือรับประทานสดๆ กับ ลาบ ก้อย เรียกตามภาษาอีสานว่า “ต้นผักกาดหญ้า” ทุกวันนี้เห็นสูญพันธ์ไปมาก มีเหลือปลูกไว้เป็นสัญลักษณ์บ้านเล็กน้อย ความจริงก็ควรจะหามาปลูก เพราะพื้นดิน อากาศ เหมาะแก่ต้นผักชนิดนี้ และจะได้เห็นเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน นับวันผักกาดหญ้าจะสูญพันธุ์

     พูดถึงสัตว์ป่าก็มีมาก เช่น นกกระบัว นกเขาเขียวออดออ นกเป้า นกเป็ดน้ำ สาระพัดนก และมีหนองน้ำใหญ่ ๆอยู่หลายหนองด้วยกัน เช่น หนองนาแซง หนองสองห้อง หนองหล่ม หนองเสือน้อย หนองผักก้าม

     ต่อมามีพ่อใหญ่สุวอ ซึ่งเป็นคนบ้านขวาวใหญ่ มาเลี้ยงช้าง แล้วปลูกกระท่อมเล็กๆนอนเลี้ยงช้างอยู่  พอถึงเวลาน้ำหลาก ก็ขึ้นไปพักอยู่บ้านขวาว พอน้ำลดก็ลงมาเลี้ยงช้างอีก นานเข้าก็มีเพื่อนฝูงบ้านเดียวกันมาด้วย ที่ใดพอเป็นที่นาก้พากันถากถางไป นานเข้าก็กลายเป็นไร่นากันหมด

     เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ก็เลยพากันปลูกบ้านขึ้นเป็นที่อยู่อาศัย ก็เลยกลายเป็นหมู่บ้านและขนานนามว่า "บ้านผักกาดหญ้า" เพราะได้ถางป่าผักกาดหญ้าเป็นที่ปลูกบ้าน ตอนแรกมีประมาณ ๓๐ หลังคาเรือน

     พ.ศ. ๒๔๔๕ เลยพร้อมใจกันตั้งวัดขึ้นที่เหนือบ้าน ให้ชื่อว่า วัดเหนือ ตั้งอยู่ที่บริเวณโรงเรียนบ้านผักกาดหญ้าโรตารี่อุทิศในปัจจุบัน และได้ทำสีมา(สิมน้ำ)ไว้ที่หนองนาพ่อใหญ่สุวอ แม่แป้ แต่ก่อนยังไม่มีนามสกุล ที่แห่งนั้นจึงได้นามว่าหนองสิมมาเท่าทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้ได้กลายเป้นนาของคุณตานรินทร์ไปแล้ว บ้านผักกาดหญ้านี้ ได้ตั้งมาเป็นสองคุ้ม เพราะมีล่องน้ำเป็นที่กั้นเขตแดน เรียกว่า "ร่องหว้า" เพราะมีต้นหว้าใหญ่อยู่ที่นั้น การไปมาของชาวบ้านสองคุ้ม ก็ได้ทำสะพานไม้โดยใช้กระดานแผ่นเดียวต่อกันไป ยาวในราวสิบกว่าวาจึงข้ามได้

   ต่อมาทางอำเภอเสลภูมิ มีนายขัตติยะ ประทุมทิพย์ เป็นนายอำเภอ แต่ก่อนนายอำเภอคนนี้เคยเป้นนายอำเภอมาจากกาฬสินธุ์ ตอนนั้นร้อยเอ้ดยังไม่ได้ยกฐานะเป้นมณฑล ก็ได้ไปขึ้นที่กาฬสินธุ์อยู่ก่อน นายอำเภอจึงได้มาตั้ง "พ่อใหญ่ผ่าย" ขึ้นเป็นกวนบ้าน คือผู้ใหญ่บ้านในสมัยนี้

     ประมาณ พ.ศ.๒๔๔๘ มีญาครูสา เจ้าอาวสาวัดเหนือ ได้ย้ายวัดเหนือขึ้นไปอยู่ที่ดอนส้มโรง ริมฝั่งชี มีท่าร้านหญ้า ทางคุ้มใต้เห็นว่า วัดเหนือไกลจากคุ้มใต้มาก จึงได้นิมนต์เอา "หลวงสังกะราช" มาจากทางบ้านหนาด อำเภอดินแดง (ธวัชบุรีในปัจจุบัน) ให้พาญาติโยมบ้านผักกาดหญ้า ตั้งวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งเรียกชื่อว่า "วัดใต้" ต่อมาความเจริญได้ทวีขึ้นโดยลำดับ นายอำเภอขัตติยะ จึงได้ยกฐานะพ่อใหญ่ผ่ายขึ้นเป็นตาแสง (กำนัน)

       เกี่ยวกับต้นผักกาดหญ้า    ที่จริงก็น่าจะเรียกว่า  ผักชะเลือด   เหมือนเขา แต่เรียกว่าผักกาดหญ้าเหมือนเดิมก็ดีเหมือนกัน  คนจะได้สนใจว่ามันแบบไหนนะ  และก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  อีกอย่างก็พ้องกับชื่อหมู่บ้าน บางพื้นที่ก็เรียกผักชนิดนี้ว่า  ผักกะย่า  เพราะมีหมู่บ้านนึงชื่อ บ้านผักกะย่า อ.กกุดชุม  หมู่บ้านนั้นก็มีผักชนิดนี้มากเช่นกัน  ผักชะเลือด นี้มีเรียกกันมาก ชื่อทางการก็ใช้ชื่อนี้  กำแพงเพชรก็เรียกชื่อนี้  มีผู้ให้ความเห็นเอาไว้อีกอย่างนึงแต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร  อ่านเจอเขาเขียนเอาไว้บอกว่าเหตุที่ได้ชื่อว่าชะเลือด  เนื่องจากก้านและยอดมีสีแดง  ลำต้น   กิ่งก้าน  มีหนามเยอะ  เวลาเด็ดยอด  หรือไปตัดยอดมากิน    คนไปตัดจะต้องได้เลือดกลับมา  อันนี้ก็เป็นเพียงความเห็น  ที่เขาพูดมาก็ใช่  ถ้าไม่ระวังก็ต้องได้เลือด  ผักชะเลือดจะมีกลิ่นฉุน  คนที่เคยกินและชอบจะบอกว่าหอม   และที่ชัยภูมิมีป่าชุมชนป่านึงที่   ผักชะเลือดนี้มาก  จนถึงกับเก็บไปขาย และยังได้รับรางวัลเป็นป่าชุมชนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์   ทางภาคเหนือเรียกว่าผักผีปู่ย่า   ที่นครพนมเรียกผักขะยา  เลย เรียกว่าผักคายา   แต่ละพื้นที่จะเรียกไม่เหมือนกัน   แต่ก็เป็นที่สังเกตได้อย่างนึงว่า พื้นที่ ที่เรียกว่า "เลิง" ผักชนิดนี้ชอบเกิด (ส่วนมากนะ)  คำว่าเลิงในที่นี้ แปลว่า บริเวณใกล้น้ำ แต่ไม่ใช่พื้นที่ชุ่มน้ำ  ดังคำกลอนบทนึงว่าที่พระเดชพระคุณพระสุทธิสารมุนี  วัดสำราญนิเวศ   ซึ่งภูมิลำเนาเดิมของท่านอยู่ที่ อำเภอเลิงนกทา (นกทานี้เพิ่มทีหลังเป็นสร้อย  เพิ่มโดย  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส พระนคร) ท่านได้อธิบายคำว่าเลิงไว้ใน คำกลอนนิราศชีวิตท่านตอนนึงว่า .....
               

                คำว่าเลิงหมายถึงแหล่งแห่งใกล้น้ำ  ดินชุ่มฉ่ำพงหนาน่าสรรเสริญ

         จะทำนาหรือไร่ให้เพลิดเพลิน                ไม่ขาดเขินการทำมาหาเลี้ยงตน

     

          พูดเรื่องผักกาดหญ้าเลยมาถึงคำว่า"เลิง" เรื่องชื่อนั้นก็แล้วแต่ละภูมิภาคจะเรียก ใครถนัดอะไรก็เรียกชื่อนั้น  แต่บ้านผักกาดหญ้าก็คงเรียกผักกาดหญ้าเช่นเดิม แต่ใคร่ขอบอกว่าผักนี้มีหลายชื่อ อย่าได้ไปถกเถียงกับคนอื่นเพราะเรื่องชื่อผัก  สรุปแล้วเหมือนกันโดยอรรถต่างกันโดยพยัญชนะ พืชชนิดเดียวกัน เรียกและเขียนไม่เหมือนกันนั่นเอง เรื่องนี้จะเข้าข่ายคำไวพจน์มั้ยนะ เรื่องผักกาดหญ้านี้ก็อยากจะให้ปลูกกันมากๆ เป็นการอนุรักษ์ ปลูกไว้เป็นผักก็ได้  ตอนนี้ที่เห็นปลูกยังไม่ใช่การอนุรักษ์  เรียกว่าเป็นอนุสรณ์มากกว่า เพราะมีน้อยเหลือเกิน  เรื่องนี้ก็ขอฝากผู้ที่เป็นลูกหลานชาวผักกาดหญ้าด้วย ปัจฉิมาชนตาชน คนผู้เกิดทีหลัง เดี๋ยวจะไม่รู้จักความเป็นมาของผักกาดหญ้า..

          (อนุรักษ์ มาจาก อนุ-รกฺข แปลว่าตามรักษา  เขียนตามแบบสันสกฤต เป็นรูป อนุรักษ์. อนุสรณ์ มาจาก ศัพท์ว่า อนุ-สร-ณ แปลว่า ตามระลึกถึง สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เพราะฉะนั้นสองคำนี้ความหมายจึงต่างกัน.   ปัจฉิมาชนตา มาจากศัพว่า ปจฺฉิม-ชนตา ปจฺฉิม แปลว่าสุดท้าย, ภายหลัง, ชนตา แปลว่า ความเป็นผู้เกิด. นำศัพท์นี้มาใช้เขียนเพื่อให้เห็นศัพท์แปลกๆ ที่ไม่ค่อยเจอ จะได้สงสัยว่ามันคืออะไร หรือคนพิมพ์จะพิมพ์ผิด จึงได้อธิบายความหมายประกอบไว้ในที่นี้.)  

                                                                                                  

       

ที่มาภาพจาก.... puya07.jpg 20 Views | 0  Comments Uploaded on April 4, 2010

                                                

  

   
 
     
 
ชื่อท้องถิ่น

ชะเลือด ชะเรือด สาบเรือด ปือตาปลาแล (นราธิวาส)

ชื่อวงศ์

CAESALPINIOIDEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์

Caesalpinia mimosoides lamk., Premna obtusifolia R.Br.

ลักษณะลำต้น

เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นมีหนามงอขึ้นถี่ ตลอดทุกส่วนตั้งแต่ลำต้นถึงกิ่งและยอด เป็นไม้เลื้อยพาดพิงไม้อื่น

ลักษณะใบ

มีลักษณะคล้ายใบมะขามแต่ใบเล็กกว่า แตกก้านใบออกมาจากลำต้นมีหนาม ยอดอ่อนงอคู้

ลักษณะผล

ออกฝักคล้ายฝักมะขามอ่อนมีเมล็ดอยู่ใน 4-6 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ยอด
ใช้เป็นอาหารประเภท ใช้เป็นผักเหนาะ (กินสด)
รสชาติ หอมร้อนและมีกลิ่นฉุน
ส่วนที่ใช้ขยายพันธ์ เมล็ดแก่ในฝัก
ฤดูกาลที่ให้ผลผลิต ตลอดปี
ส่วนที่เป็นพิษ ไม่มี
ความเชื่อ เชื่อกันว่าถ้ามีตัวเรือดอยู่ตามบ้านหรือที่นอนให้นำใบชะเลือดไปใส่ไว้ใต้เสื่อ ที่นอน หมอน มุ้ง จะสามารถไล่ตัวเรือดได้
สรรพคุณทางสมุนไพร แก้โรคเกิดเพื่อโลหิต โรคเกิดเพื่อลม จุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับผายลม

                                   ที่มาของข้อมูลผักชะเลือดและภาพนี้จาก..www.tungsong.com/NakhonSri/vegetable

       กล่าวถึงการตั้งหมู่บ้านผักกาดหญ้าต่อไป  บรรพบุรุษผู้นำกลุ่มที่อพยพมาจากแหล่งต่างๆได้ลงหลักปักฐานสร้างเป็นหมู่บ้านขึ้น โดยให้ชื่อว่า บ้านผักกาดหญ้า โดยถือเอาชื่อผักกาดหญ้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเป็นชื่อ   ต่อมาบ้านผักกาดหญ้าได้แบ่งออกเป็น ๒ คุ้ม คือคุ้มเหนือและคุ้มใต้ กำหนดเขตคลองร่องหว้าเป็นแดน และได้ตั้งหมู่บ้านเป็นหลักปกครอง คุ้มเหนือเป็นเขตหมู่ที่ ๑๒ ตำบลกลาง ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ ๓ ตำบลนาเลิง คุ้มใต้เป็นเขตหมู่บ้าน ที่ ๑๓ ตำบลกลาง ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ ๔ ตำบลนาเลิง

     บรรพบุรุษผู้อพยพมาตั้งบ้าน ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่หมู่บ้าน ผู้ที่สร้างบ้านแปลงเมืองแห่งนี้ มีเป็นกลุ่มๆ ดังนี้

     กลุ่มที่ ๑ มีพ่อใหญ่วรราช เป็นหัวหน้า อพยพมาจากบ้านขวาว กลุ่มนี้มีทายาทสืบมา คือพ่อใหญ่บุตรา พรหมชัยนันท์ โยมบิดาของหลวงปู่พระราชสิทธาจารย์  

     กลุ่มที่ ๒ มีพ่อใหญ่แก้ว อพยพมาจากบ้านโนนแฮด หัวดอน อำเภออาจสามารถ มีทายาทติดตาม คือ พ่อใหญ่ชานนท์ อัตโน (จารย์ครูโส) เป็นบิดาของพ่อใหญ่ฮ้อยสม อัตโน

     กลุ่มที่ ๓ พ่อใหญ่ปุ่ง อพยพมาจากบ้านหนองหล่ม ซองแมว อำเภอธวัชบุรี มีทายาทติดตาม คือ แม่ใหญ่พิมพ์  เป็นมารดาของพ่อใหญ่อักษร (คำ พลกลาง)

     กลุ่มที่ ๔ มีพ่อใหญ่จันทบาล อพยพมาจากบ้านหวาย ไม่ทราบว่าเป็นอำเภอไหน จะลองสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านดูอีกที

บรรพบุรุษชาวบ้านผักกาดหญ้าคุ้มเหนือ

๑.พ่อใหญ่ชานนท์     อัตโน                     มาจากบ้านโนนแฮด

๒.พ่อใหญ่บุตรา        พรหมชัยนันท์          มาจากบ้านโนนแพง      อ.เสลภูมิ

๓.พ่อใหญ่สุรินทร์      โชติสว่าง                มาจากบ้านขวาว          อ.เสลภูมิ

๔.พ่อใหญ่ดี             อนุฮาด                   มาจากบ้านกุดแข้         อ.เสลภูมิ

๕.พ่อใหญ่สุพรรณ      ชิชัย                      มาจากบ้านบ้านขวาว     อ.เสลภูมิ

๖.พ่อใหญ่ทอง          มหาพล                  มาจากบ้านขมิ้น           อ.ธวัชบุรี

๗.พ่อใหญ่อักษร       (คำ  พลกลาง)     มาจากบ้านหนองหล่มซองแมว อ.อาสามารถ

๘.พ่อใหญ่โท           ปราบสงบ                 มาจากบ้านหัน           อ.เสลภูมิ

๙.พ่อใหญ่ธรรมา        สาระจูม                  มาจากบ้านหวาย

๑๐.พ่อใหญ่โท          สงเคราะห์                มาจากบ้านโนนแฮด

๑๑.พ่อใหญ่ญา          สิงสู่ถ้ำ                    มาจากบ้านขวาว  อ.เสลภูมิ

๑๒.พ่อใหญ่โส          พลภวา                    มาจากบ้านขมิ้น    อ.ธวัชบุรี

๑๓.แม่ใหญ่พั้ว          พลกลาง                  มาจากบ้านหนองหล่มซองแมว อ.อาสามารถ

บรรพบุรุษชาวบ้านผักกาดหญ้าคุ้มใต้

๑.พ่อใหญ่เป็ง                      แสงเสดาะ             มาจากบ้านหัน      อ.เสลภูมิ

๒.พ่อใหญ่เคน                     กลางบุรัมย์           มาจากบ้านน้ำคำ    อ.อาสามารถ

๓.พ่อใหญ่ขุนเทพ                 พลคชา                 มาจากบ้านโนนแฮด

๔.พ่อใหญ่ราชโยธา               เหมโส                  มาจากบ้านโนนแฮด

๕.พ่อใหญ่ซาเนตร                กลางบุรัมย์             มาจากบ้านเหล่าคำไซ

๖.พ่อใหญ่พรหมวิเศษ                                       มาจากบ้านโนนแฮด

๗.พ่อใหญ่ฮ้อยสม               อัตโน                  เกิดที่บ้านผักกาดหญ้า

๘.พ่อใหญ่เลื่อน                 ศรแผลง               มาจากบ้านกุดแข้       อ.เสลภูมิ

๙.พ่อใหญ่พล                   ไกรฤาชา               เกิดที่บ้านผักกาดหญ้า

     เมื่อคนหลายกลุ่มเข้ามารวมกันแล้วก้ได้ ทำความเจริญขึ้นโดยลำดับ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐ ทางวัดใต้ได้ก่อตั้งอุโบสถชั่วคราวขึ้นหลังหนึ่ง ทำเป็นเสาไม้ ใช้แผลงกั้นไว้ สมัยนั้นหลวงตาสังกะราชเป็นพระอุปัชฌาย์ ประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐ จึงได้ยกขึ้นเป็นอุโบสถถาวร ใช้คอนกรีตสมัยนั้น คือใช้หินปูนผสมกับน้ำยางบงและน้ำหนังควาย ปูนก็พร้อมกันไปเก็บเอาที่ท่าบ้านน้ำคำ ที่ชาวย้านเรียกว่าปากขุมปูนเดี๋ยวนี้ และรับซื้อหินปูนที่พ่อค้าเขาเอามาจากภูเขามาขาย ใช้ไฟเผาให้เป็นปูนแล้ว ผสมกับน้ำหนังควายและน้ำยางบง ให้เหนียวแล้วทาเป็นคอนกรีตต่อไป

     วัดใต้ (วัดสระทอง) สมัยพระทองหลั่น คมฺภีโร เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ยกศาลานาบุญขึ้นหลังหนึ่งทำด้วยดินเผา  และได้ทำกำแพงดินเผาล้อมวัดพอดี ทำอยู่ ๔ ปี ทั้งกำแพงทั้งศาลา จึงสำเร็จ นับว่าเจริญมากในสมัยนั้น และมีการเรียนนักธรรมกันมากในสมัยนั้น โดยพระอาจารย์ทองหลั่น คมฺภีโร เป็นอาจารย์สอน มีถึงนักธรรมชั้นเอก ค่อยๆเจริญมาโดยลำดับตามยุคตามสมัย ต่อไปนี้ราว พ.ศ.๒๔๗๘ อาจารย์สอนปริยัติธรรมก็ได้ลาสิกขาออกไป เป็นธรรมดา แต่การศึกษาธรรมวินัยก็ยังคงเป็นไปตามสภาพเดิม

     พ.ศ.๒๔๘๐ มีท่านพระครูพรหมจริยาภิรม มาจากทางสมุทรสงคราม แต่มาตุภูมิของท่านอยู่ที่บ้านขวาวใหญ่ ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมินี่เอง ได้มายกฐานะวัดเหนือขึ้นเป็นวัดสังกัดธรรมยุติกวงศ์ และขนานนามว่า "วัดสุปัญญาราม" ท่านองค์นี้นับว่าเชี่ยวชาญมาก มองเห็นการณ์ไกลพอสมควร เห็นว่าบ้านหนึ่งมีสองนนิกายต่อไปอาจเกิดปัญหาขึ้น ท่านจึงมาเปลี่ยนแปลงวัดใต้เป็นวัดธรรมยุตอีกเหมือนกัน ขนานนามว่า "วัดสระทอง"ได้มอบให้หลวงพ่อ "พระราชสิทธาจารย์" มาเป็นเจ้าอาวาส สมัยที่พระคุณท่านยังเป็น"ญาคูเรือง"อยู่ สมัยนี้การศึกษาพระปริยัติธรรมก็นับว่าเจริญขึ้นมาโดยลำดับ

     ผู้ใหญ่บ้าน แบ่งเป็น ๒ หมู่บ้าน แต่ก่อนเป็นหมู่ที่ ๑๒-๑๓ ตำบลกลาง ต่อมาแยกเป็นตำบลนาเลิง

หมู่บ้านผักกาดหญ้า ค้มเหนือ เป็นหมู่ที่   ๓   ตำบลนาเลิง

หมู่บ้านผักกาดหญ้า  คุ้มใต้      เป็นหมู่ที่  ๔     ตำบลนาเลิง

หมู่ที่ ๓ ตำบลนาเลิง มีผู้ใหญ่บ้าน ๖ คน

๑.พ่อใหญ่อักษร        (คำ  พลกลาง)

๒.พ่อใหญ่กัณหา       สงเคราะห์

๓.ผู้ใหญ่โชติ            แสดงเสดาะ   

๔.ผู้ใหญ่ประวัติ         บุญศิริ

๕.ผู้ใหญ่สมผล         ทิพยมาตย์

๖.ผู้ใหญ่วิบูลย์          สิงห์สู่ถ้ำ

ปัจจุบัน ผู้ใหญ่บุญเลี้ยง สุดเสน่ห์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

หมู่ที่ ๔ ตำบลนาเลิง มีผู้ใหญ่บ้าน ๘ คน

๑.พ่อใหญ่ฝ่าย   (เกิดที่บ้านโนนแฮด บิดาแม่ย่าทา  ขุนเทพ)

๒.พ่อใหญ่พิมพ์          (ซาเนตร)     กลางบุรัมย์

๓.พ่อใหญ่โสม            อัตโน

๔.พ่อใหญ่พล             ไกรฤาชา

๕.พ่อใหญ่ผลู(ผู)          พลคะชา

๖.พ่อใหญ่ทองดี          สิงห์ศรีโว

๗.ผู้ใหญ่ทวี                เหมโส

๘.ผู้ใหญ่สุปัญ             แก้วโสภา

ปัจจุบัน ผู้ใหญ่โกศล กรมสิงห์เป็นผู้ใหญ่บ้าน

สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน

๑.วัดสุปัญญาราม

๒.วัดสระทอง

๓.คารวะสถานปู่ขุนศักดิ์

๔.คารวะสถานปู่คำสิงห์    

หมายเลขบันทึก: 420601เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2011 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นมัสการพระคุณเจ้า เพิ่มเป็น ๒ บล็อกแล้วหรือคะ

อนุโมทนาด้วยค่ะ

เรียนท่านมหาวินัยครับ

ขออนุโมทนาชื่นชมในความตั้งใจนะครับ นับเป็นประโยชน์อย่างมากเลยที่ท่านนำประวัติชุมชนมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ให้กำลังใจ ทำต่อไปเรื่อยๆ จะคอยติดตามครับ

   ขอบคุณครูภาทิพ ที่มาเยี่ยมให้กำลังใจครับ บันทึกเหล่านี้เกิดมีได้ก็เพราะคำแนะนำของคุณครูนั่นแล คุณครูครับอยากจะถามเรื่องแพลนเน็ตที่รวมบล็อกนี้ หมายถึงยังไงครับ 

      กราบขอบพระคุณหลวงพ่อครับที่เข้ามาให้กำลังใจ กระผมเองก็คิดอยากจะเผยแพร่เรื่องประวัติหมู่บ้านผักกาดหญ้ามานานแล้ว แต่ก่อนก็ศึกษาจากรวบรวมหนังสือไว้ แต่เล่มที่สมบูรณ์นั้นตอนนี้หาไม่เจอ คงจะเป็นเพราะเก็บไว้ดี หรืออย่างไรไม่ทราบได้ หรืออาจจะเป็นเพราะมีผู้ยืมไปอ่านแล้วไม่ส่งก็อาจจะเป็นได้ เล่มนั้นเป็นหนังสือเก่ามาก ที่วัดหนังสือเก่าๆนี้ก็มีมาก แต่เสียดายว่าที่วัดเกิดไฟไหม้ศาลาและกุฏิหลายหลังถูกไหม้ไปหมด   สำหรับประวัติบ้านผักกาดหญ้านี้เมื่อว่างเว้นจากการศึกษาจะมาเขียนให้สมบูรณ์อีกครั้งครับ

  • แพลนเน็ต คือคลังข้อมูลบันทึกของสมาชิกเครือข่ายค่ะ
  • ของครูภาทิพ คือ ห้องเรียนสีชมพู
  • เมื่อเราไปพบบล็อกของใครที่สนใจจะติดตามอ่านเราก็คลิกที่นำเข้าแพลนเน็ตของท่าน
  • ต่อไปเมื่อราต้องการทราบว่าวันนี้ เครือข่ายของเรามีใครเขียนบันทึกบ้าง

เราก็คลิกที่แพลนเน็ตของเรา ก็จะเห็นบันทึกล่าสุดของสมาชิกเราค่ะ

  • ถ้าดึงบล็อก ร้อยกรองของภาทิพ อยู่ในแพลนเน็ตของพระคุณเจ้าแล้ว

เมื่อคลิกแพลนเน็ตตอนนี้จะเห็นว่าครูภาทิพ ส่งบันทึกใหม่ขึ้นไปค่ะ

นมัสการหลวงพี่...หลวงพี่น่าจะทำเป็นรูปเล่มเอาไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษานะครับ  ผมอ่านดูแล้วมีประโยชน์มาก  ทำให้รู้จักที่มาที่ไปของชุมชนที่ตนเองเกิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท