ได้จากพระ..จึงนำมาฝาก


ศาสนพิธี

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ผู้เขียนในฐานะประธานชมรมพทธศาสน์ คณะแพทยศาสตร์ ได้รับเชิญจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ภาคใต้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ให้ช่วยทำหน้าที่เป็น ‘มัคนายก’ (เป็นคำบาลี-ไม่ใช่ ‘มัคทายก’ ดังที่ใช้เรียกกันผิดๆ) คือช่วยในการจัดเตรียมพิธีสงฆ์และนำไหว้พระ-อาราถนาศีล ในโอกาสทำบุญปีใหม่ ซึ่งได้เตรียมงานไว้ก่อนนี้แล้ว ทั้งนิมนต์พระจากวัดจำนวน 5 รูปมาเจริญพุทธมนต์ โดยตัวเองก็รับหน้าที่รับ-ส่งพระในวันงานด้วย โดยมี พระสงฆ์ที่นิมนต์มาเป็นประธานสงฆ์ในพิธี มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดนั้นด้วย ได้ให้ความกรุณามาเป็นประธานสงฆ์ ด้วยความเป็นครูท่านได้สอดแทรกและแนะนำขั้นตอนการประกอบศาสนพิธีที่ถูกต้อง พร้อมอธิบายความหมายของคำบาลีบางคำที่ใช้ในพิธี ซึ่งมักจะแปลหรือเข้าใจผิดเพี้ยนไปเมื่อเทียบกับคำแปลในภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ในการประกอบศาสนพิธีในวันนี้ คณะเจ้าภาพและผู้ไปร่วมพิธี นอกจากได้อานิสงจากการทำบุญแล้ว ยังได้รับความรู้และแสงสว่างแห่งธรรมะไปตามๆ กัน เป็นที่ประทับใจกันทั่วหน้า ก็อดที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้

เริ่มจากการจุดเทียน-ธูป (โดยทั่วไปพูดกันติดปากว่าจุด "ธูป-เทียน" แต่ความสำคัญอยู่ที่ธูป เหตุผลที่ใช้คำพูดถึงการจุดเทียนก่อนสันนิษฐานว่าในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้า ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ต้องมีการก่อไฟหรือทำให้เกิดมีไฟขึ้นมาก่อน โดยต่อมามีการใช้เทียน นำไปจากเทียนไปจุดธูปอีกทีหนึ่ง และเหตุผลที่ธูปมีความสำคัญกว่าเทียนเพราะควันและกลิ่นของธูปล่องลอยขึ้นสู่เบื้องบน ประหนึ่งว่าเป็นการสื่อให้ดวงจิตวิญญาณไม่ว่าที่สิงสถิตอยู่บนสรวงสวรรค์หรือขุมนรก ก็สามารถได้ล่วงรับรู้และได้รับอานิสงของการประกอบพิธีบุญนั้นๆ) วิธีปฏิบัติคือจุดเทียนก่อน โดยจุดเล่มที่อยู่ด้านซ้ายมือก่อนเมื่อหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูป หรืออยู่ด้านขวามือของพระสงฆ์ เสร็จแล้วจึงจุดธูป วิธีนี้ปฏิบัติถูกต้องเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว

ความหมายของ เทียน ธูป และดอกไม้
เทียน  เล่มขวามือ หมายถึง การบูชาพระธรรม  เล่มซ้ายมือ หมายถึงการบูชาพระวินัย
ธูป (ใช้ 3 ดอกเท่านั้น) หมายถึง การบูชาพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
ดอกไม้ ซึ่งประกอบด้วยดอกไม้หลากสีมารวมอยู่ในแจกัน หมายถึง การบูชาพระสงฆ์ กล่าวคือ ดอกไม้หลากสีหมายถึงพระสงฆ์ซึ่งมาจากแหล่งต่างๆ สามารถมาอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีการแบ่งแยก

การตักบาตร
กรณีเจ้าภาพประสงค์จะให้มีการตักบาตรด้วย ขณะพระเจริญพุทธมนต์จะเริ่มตอนไหนดี โดยที่คำบาลีแต่ละบทที่พระสงฆ์นำมาสวดในขณะเจริญพุทธมนต์นั้น มีความหมายแตกต่างกัน หากจะถือเอาการตักบาตรเป็นเคล็ด ก็ให้เริ่มตักบาตรเมื่อพระสงฆ์เริ่มเจริญพุทธมนต์มาถึงบทที่เกี่ยวข้อง เช่นบทที่ว่าด้วยการเอาชนะมารก็อาจเหมาะกับพิธีกรรมของทหาร, ตำรวจ เป็นต้น แต่โดยทั่วไปเมื่อพระสงฆ์เริ่มสวดมาถึงบท "อิติปิโส.." ซึ่งเป็นบทที่กล่าวถึงการสรรเสริญพุทธคุณในพระพุทธเจ้า ก็ให้เริ่มตักบาตร ณ ช่วงนั้นได้เลย ซึ่งถือเป็นมงคลสูงสุด

การกล่าวคำถวายสังฆทาน
ปกติการเตรียมสังฆทานต้องประกอบด้วยอาหาร(ข้าวและกับข้าว รวมของหวาน ผลไม่ และน้ำ) และเครื่องบริวารซึ่งได้แก่สิ่งของที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ถวายพระ พร้อมซองปัจจัย โดยจัดวางไว้ ณ บริเวณหน้าพระสงฆ์ที่ทำพิธีบนโต๊ะหรือที่วางที่มีความสูงที่เหมาะสมโดยมีผ้าขาวปู อย่างไรก็ตาม กรณีสถานที่จำกัด ไม่สามารถนำอาหารมาวางไว้หน้าพระสงฆ์ได้ โดยได้จัดเตรียมไว้ ณ อีกที่หนึ่งสำหรับให้พระสงฆ์ฉันท์ นั้น คำกล่าวเป็นภาษาบาลีที่ว่า "อิมานิ.." คือแปลว่า ณ สถานที่นี่ ก็ต้องเปลี่ยนเป็น "เอตานิ.." ซึ่งแปลว่า ณ สถานที่โน่น หมายความว่าหากกล่าวคำว่า "อิมานิ.." ในขณะที่อาหารไม่ได้วางอยู่ ณ เบื้องหน้า พระสงฆ์ก็มิอาจรับฉันท์อาหารได้ เพราะไม่ตรงกับคำที่กล่าว
สำหรับการกล่าวคำแปลที่กล่าวต่อท้าย ซึ่งขยายความโดยไม่มีในคำบาลี เช่น การกล่าวว่า ..เพื่อบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศลแก่ ชาติ ศาสนา พระมาหากษัตริย์ ..เพื่อบำเพ็ญบุญแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เป็นต้น พระท่านกล่าวว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง คือประการแรก ไม่ถูกต้องอันเนื่องมาจากไม่ได้มีในคำบาลีที่กล่าวนำไปก่อนนี้ ประการที่สอง ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้อ้อนวอน คือสอนให้ปฏิบัติ ดังนั้นคำขยายความเพื่อขอให้ผลบุญบังเกิดผลให้สิ่งต่างๆ นั้น จึงไม่สมควรและไม่ถูกต้อง แต่ที่มีการกล่าวกันโดยทั่วไปถือว่าเป็น กุโลบายในการเรียกความศรัทธาแก่ผู้มาร่วมบุญ ซึ่งแล้วแต่สำนัก แต่ละวัด

การถอดรองเท้า: ปรับยืดหยุ่นได้ตามกาลเทศะและสถานที่
กรณีพระสงฆ์นั่งอยู่ในอาสนะที่สูงกว่า เวลาประเคนสิ่งของก็ไม่ต้องถอดรองเท้า เพราะถือว่าพระสงฆ์อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าอยู่แล้ว กรณีพระบิณฑบาต ผู้ตักบาตรต้องถอดรองเท้าเพราะเสมือนว่าจะอยู่สูงกว่าพระ ยกเว้นอยู่ในเครื่องแบบเต็มยศก็ไม่ต้องถอดรองเท้าก็ได้ ในส่วนของพระ กรณีมีพระที่มีพรรษาเหนือกว่าหรือเป็นพระผู้ใหญ่เดินมาในพิธี พระที่อยู่ในพิธีซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะ ไม่สามารถไว้พระอาวุโสหรือพระผู้ใหญ่ก่อนได้ เพราะหากไหว้พระอาวุโสกว่าก็จะรับไหว้ ขณะไหว้พระผู้น้อยจะอยู่เหนือกว่าพระผู้อาวุโสกว่าไม่ได้

คำอรรถาธิบายของพระคุณเจ้าในวันนี้ไม่ใช่การเทศน์แบบเก่าๆ แต่เป็นการปาถกถาธรรมสั้นๆ ตรงประเด็นที่ชาวพุทธโดยทั่วไปมักเข้าใจและปฏิบัติตามกันมาอย่างผิดๆ โดยไม่ทราบความหมายที่แท้จริง ทำให้ผู้ร่วมบุญทุกท่าน นับตั้งแต่อาจารย์แพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ซึ่งโดยปกติแทบจะไม่ได้เข้าวัดฟังธรรมกันบ่อยนัก แต่พอมาวันนี้พระสงฆ์ท่านได้มา Delivery ธรรมะถึงที่ทำงาน ต่างรู้ธรรม(ขั้นต้น)ได้อย่างกระจ่างแจ้งในฐานะชาวพุทธก็จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป ..สาธุ

หมายเลขบันทึก: 420430เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2011 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
กัลยา บุญญานุวัตร

ดีใจจังที่ได้รับความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาจากคนพัทลุง  เพราะตอนนี้ก็ช่วยรณรงค์ไม่ให้คนลืมพุทธศาสนา     

จากคนพัทลุงเจ้าค่ะ

สมโชค หมื่นสิทธิ์

ขออนุโมทนาด้วยครับ

เรื่องศาสนพิธีเคยมีโอกาสเสวนาธรรมกับพระนักปฏิบัติ ท่านปรารภว่าศาสนพิธีเป็นเพียงกะพี้หรือเปลือก ไม่ควรไปยึดติดเพียงแค่ภายนอก แต่ควรไปเน้นที่การลงมือปฏิบัติจริง นี่ก็แล้วแต่มุมมอง   แต่โดยประเพณีปฏิบัติทั่วไปก็หลีกเลี่ยงพิธีกรรมไม่พ้น ยังคงต้องปฏิบัติสืบต่อกันไป มีโอกาสก็จะเสริมด้วยการอธีบายความหมาย มากกว่าเพียงแต่ท่องจำหรือว่ากล่าวตามกันมา

มีอยู่อีกเรื่องหนึ่งที่มีการถือปฏิบัติแตกต่างกันตามท้องถิ่น คือเรื่องคำกล่าวกรวดน้ำ โดยทั่วไปจบที่ "..ตะสะปุญญานุภาเวนะ  มาโรกาสัง  ละภันตุมา" แต่เฉพาะในท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สงขลา ลงมา มีคำกล่าวต่อท้ายอีกว่า "ปัณจะ มาเร ชิเณนาโถ   ปัตโตสัมโภ  ทิมุตตะมัง จะตุสัจจัง  ปะกาเสติ มะหาเวรัง  สัพพะพุทเท นะมา มิหัง เอเตนะ สัพเพ มาราผะลายันตุ  อิทังโน  ญาตินัง โหนตุ  สุขิตา โหนตุ  ญาตะโยฯ" ก็ยังไม่สามารถสืบค้นที่มาได้ว่าเป็นเพราะอะไรจึงมีเพิ่มเติมต่อไปจากเดิม ใครมีข้อมูลก็แลกเปลี่ยนกันฟังด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท