วันการศึกษาเอกชน


มหกรรมวันการศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศเทิดไท้องค์ราชัน

 

การจัดการศึกษาเอกชน ในประเทศไทยมีมานานนับแต่สมัยลานนา กว่า ๖๐๐ ปีมาแล้ว  ซึ่งการศึกษาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวัด มุ่งให้อ่านออกเขียนได้ และมีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนมากขึ้นเป็นลำดับ และจากการที่เอกชนได้ดำเนินการจัดศึกษาเอกชน ควบคู่มากับการจัดการศึกษาของรัฐ ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาเอกชน จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๑ และนับแต่นั้นมาก็ได้ถือเอาวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันที่มีความหมายยิ่งของโรงเรียนเอกชน โดยเรียกวันนี้ว่า "วันการศึกษาเอกชน"

การจัดการศึกษาเอกชนได้มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของภาครัฐได้เป็นอย่างมาก ในขณะที่ด้านคุณภาพนั้น นักเรียนเอกชนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองที่ต้องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตลอดชีวิตโดยมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ของกลุ่มสาระต่างๆ ดังนั้นการจัดการศึกษาของสถานศึกษาจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะสถานศึกษาเอกชนซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระให้กับรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชนในระดับต่างๆ ไปสู่โรงเรียนที่มีมาตรฐานสากล (World Class) การทำให้เยาวชนบรรลุเป้าหมายทางการศึกษานั้น นอกจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว คุณลักษณะที่พึงประสงค์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่เด็กของเราจะต้องใฝ่ดี ใฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน การมีความรู้ควบคู่กับความดี เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ หากสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น ก็จะทำให้สามารถขับเคลื่อนผลสัมฤทธิ์ทางด้านอื่นๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาทุกระบบอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้เกิดการศึกษาที่หลากหลายแต่มีเอกภาพ เพื่อสนองตอบต่อนโยบายพัฒนาคุณภาพพลเมืองยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาเอกชน เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการแบ่งเบาภาระด้านการจัดการศึกษาของภาครัฐ ด้านการจัดการศึกษาในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปถึงอุดมศึกษา นับเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเอกชนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสรรงบประมาณให้ สช. จัดชื้อคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนเอกชนด้วยงบประมาณไทยเข้มแข็ง และส่งเสริมให้มีการพัฒนาครูเอกชนอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ในปี ๒๕๕๔ นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งผลักดันให้เกิด  กองทุนพัฒนาครู เพื่อให้เป็นกองทุนสำหรับการพัฒนาคุณภาพครู สำหรับการดูแลคุณภาพชีวิตครูนั้นจะดำเนินการผ่าน สกสค.ในการแก้ปัญหาหนี้สินครู และจะยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง มีระบบวิทยฐานะที่เท่าเทียมกันของครูในทุกระบบ สำหรับครูเอกชนนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการไปแล้ว ๔ เรื่องคือ

๑.      ขออนุมัติ ครม.เพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพครูเอกชน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอเบิกจ่าย

๒.    การขอปรับโครงสร้างเงินเดือนครูเอกชน ในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ จะมีการปรับฐานเงินเดือนครูเอกชนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๕ เช่นเดียวกับข้าราชการครู

๓.     ปรับระบบโครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้สถานศึกษาเอกชนได้รับเงินสนับสนุนเท่าเทียมกับสถานศึกษาของรัฐบาล

๔.     เสนอ ครม.แก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน เพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยมีการจัดตั้ง สช.อำเภอ และ สช.จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษที่มีโรงเรียนหลากหลายประเภทตั้งอยู่ พร้อมทั้ง ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

  นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังได้ผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาครูให้มีคุณภาพสูงขึ้น อาทิ การเข้าอบรมในสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งให้ได้รับการนิเทศจากศึกษานิเทศก์มากขึ้น จัดให้มีโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ ทั้งครูในภาครัฐและภาคเอกชน โครงการพัฒนาผู้บริหาร ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือโรงเรียนตาดีกา นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานเรื่องวิทยฐานะของครูโรงเรียนเอกชน และผลักดันโครงการส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) โดยจะสนับสนุนทั้งสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้มีการบรรจุโครงการต่างๆ ในแผนงานที่ระบุไว้ในพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติตามโครงการไทยเข้มแข็ง และผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

การจัดงานมหกรรมวันการศึกษาเอกชนในครั้งนี้ นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมและผลงานของสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และโรงเรียนเอกชน รวมถึงสมาคม มูลนิธิ ชมรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชน ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงศักยภาพ และความก้าวหน้าของการจัดการศึกษาเอกชนให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนด้วยการยกระดับความรู้ ความสามารถและศักยภาพของเยาวชนไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลภายใต้ชื่อมหกรรมวันการศึกษาเอกชน สู่ความเป็นเลิศ เทิดไท้องค์ราชัน สำหรับในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษแก่วิชาชีพครูอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระราชสมัญญานาม พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อวงการการศึกษาไทย

 

 

หมายเลขบันทึก: 420186เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2011 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท