การประกันคุณภาพการศึกษากับการศึกษาในประเทศไทย


การประกันคุณภาพการศึกษา

 

              การประกันคุณภาพการศึกษากับการศึกษาในประเทศไทย

        การศึกษาในประเทศไทย  ได้มีการจัดการศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  โดยในสมัยก่อนคนไทยได้เริ่มมีการจัดการศึกษาและไปศึกษาเล่าเรียนกันที่วัด  แต่หนทางในการเดินทางไปทำการศึกษาก็ลำบาก  ทำให้มีความเหมาะสมเฉพาะผู้ชายเท่านั้น  แต่ไม่เหมาะสมกับผู้หญิงที่จะเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนที่วัด  เพราะไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ และขนมธรรมเนียมไทย  รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาประเทศและได้ตระหนักเห็นแล้วว่าการจัดการศึกษาให้ประชาชนมีความรู้มีความสามารถแล้วประเทศชาติบ้านเมืองก็จะเจริญตามการพัฒนามนุษย์  ดังนั้นทางรัฐบาลจึงได้จัดให้มีการศึกษาขึ้นในระบบโรงเรียนเพื่อต้องการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนทั้งชายและหญิงในภาคบังคับ  เริ่มตั้งแต่หลักสูตร  ปี  พ.ศ. 2503  เป็นต้นมา    เมื่อมีการจัดการศึกษาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น  ทางรัฐบาลกระทรวงศึกษาธิการมีความประสงค์ให้การจัดการศึกษาของสถานศึกษาทุกระดับชั้นมีคุณภาพ  ดังนั้นจึงได้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขึ้นมาเพื่อเป็นการยืนยันในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพทั่วทั้งองค์กร  ทั่วทั้งประเทศ   ซึ่งขอนำเสนอในประเด็นดังต่อไปนี้

      1.  ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษา    ก่อนที่จะทำการศึกษาประเด็นการประกันคุณภาพการศึกษาในเรื่องต่างๆ   ท่านผู้อ่านควรที่รู้เรื่องเกี่ยวกับความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษาก่อน  ซึ่งมีความหมายพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

      การประกันคุณภาพการศึกษา  เป็นระบบที่สถานศึกษาร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การกำกับ ดูแลและสนับสนุนส่งเสริมของหน่วยงานต้นสังกัด   เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้เรียนทุกคนจะได้รับบริการด้านการศึกษาที่มีคุณภาพจากสถานศึกษา

      2.  ความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา    การประกันคุณภาพการศึกษานั้นมีคุณค่ามหาศาลต่อการจัดการศึกษาเพราะจะทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่งเพราะมีระบบการตรวจสอบติดตามผล  ซึ่งพอสรุปความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษาได้ดังนี้

           2.1  เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้เกี่ยวข้องว่า ผู้เรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจากสถานศึกษา

           2.2  เพื่อการพัฒนาความรู้ความสามารถและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเต็มตามศักยภาพ

       3. หลักการสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา  ก่อนที่จะจัดทำระบบประกันคุณภาพการศึกษา  ควรทำความเข้าใจในหลักการหรือจุดมุ่งหมายของการประกันคุณภาพการศึกษาเสียก่อน ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

           3.1 จุดมุ่งหมายของการประกันคุณภาพการศึกษา  คือให้สถานศึกษาร่วมกันพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา

           3.2  การประกันคุณภาพการศึกษา  ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการและการทำงานของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา  ไม่ใช่เป็นกระบวนการที่แยกส่วนมาจากการดำเนินงานตามปกติของสถานศึกษา

           3.3  การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา

       4. แนวคิดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา    การประกันคุณภาพการศึกษาจะมีระบบควบคุมการดำเนินการและการจัดการ ซึ่งแบ่งเป็นระบบใหญ่ ๆ  เป็น  3  ระบบ  ดังนี้

           4.1  การควบคุมคุณภาพ  เป็นการกำหนดมาตรฐานคุณภาพ  และการพัฒนา

สถานศึกษาให้เข้าสู่มาตรฐาน

           4.2  การตรวจสอบคุณภาพ  เป็นการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

           4.3  การประเมินคุณภาพ  เป็นการประเมินคุณภาพของสถานศึกษา  โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลในเขตพื้นที่  และหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนกลาง  จะดำเนินการตรวจเยี่ยมเป็นระยะๆ ตามที่กำหนดโดยหน่วยงานต้นสังกัด  เพื่อให้การช่วยเหลือและส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพอันเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนรับการประเมินภายนอก  จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน

         5. ประเภทของการประกันคุณภาพการศึกษา    การประกันคุณภาพการศึกษาให้มีคุณภาพจะต้องมีการประกันที่มีรับรองด้วยคนในองค์กร  และภายนอกองค์กร  เพื่อเป็นการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง   ดังการประกันคุณภาพการศึกษาจะแบ่งออกเป็น  2   ประเภทใหญ่ดังนี้

             5.1  การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา   เป็นระบบที่สถานศึกษาร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับดูแลและสนับสนุนส่งเสริมของหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนและผู้รับบริการ

             5.2  การประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา   เป็นระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ประเมิน  คือ  สมศ.ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน  จัดตั้งตามพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา     พ.ศ.  2543  มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 เพื่อพัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกและทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

         6.  กระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  กระบวนการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสถานศึกษาจะต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการส่งเสริม สนับสนุนและกำกับ ดูแลของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งประกอบกิจกรรมและขั้นตอนดังนี้  
              6.1  การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ  ด้วยการทำจัดโครงสร้างการบริหารจัดการให้เอื้อต่อการดำเนินงาน ทุกคนมีส่วนร่วมและมีการประชาสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางให้ความเห็นและข้อเสนอแนะและแต่งตั้งคณะบุคคลทำการตรวจสอบ ทบทวนและรายงานคุณภาพการศึกษา และจัดให้มีข้อมูลที่เพียงพอในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อนำมากำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจและแผนพัฒนา
              6.2  การพัฒนามาตรฐานการศึกษา   โดยมุ่งเน้นมาตรฐาน ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่สอดคล้องกับมาตรฐานช่วงชั้นที่หลักสูตรกำหนด
              6.3  การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการจัดทำแผนอย่างเป็นระบบพื้นฐานของข้อมูลสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วย เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแนวปฏิบัติที่ชัดเจน สมบูรณ์ ครอบคลุมการพัฒนาทุกกิจกรรมที่เป็นส่วนประกอบหลักของการจัดการศึกษาและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของแต่ละกิจกรรมที่กำหนดอย่างสอดรับกับวิสัยทัศน์และมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

               6.4  การดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการกำกับ ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาที่กำหนดไว้โดยจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีที่ชัดเจนครอบคลุมงาน/โครงการของสถานศึกษา

               6.5  การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา  จะประกอบด้วยการตรวจสอบและทบทวนภายในโดยบุคลากรในสถานศึกษาดำเนินการและการตรวจสอบและทบทวนจากหน่วยงานต้นสังกัด

               6.6 การประเมินคุณภาพการศึกษา โดยมุ่งเน้นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในระดับชั้นที่เป็นตัวประโยค ได้แก่ประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ในวิชาแกนร่วมโดยใช้แบบทดสอบมาตรฐาน จากหน่วยงานส่วนกลางร่วมกับต้นสังกัด (เขตพื้นที่) ดำเนินการ
               6.7 การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี  เป็นการนำข้อมูลผลการประเมินมาตรฐานคุณภาพ การตรวจสอบและทบทวนภายในและภายนอกมาประมวลรายงานผลการพัฒนาคุณภาพประจำปีการศึกษาซึ่งจะนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาคุณภาพต่อไป

               6.8 การผดุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษา  เป็นกลไกส่วนหนึ่งของระบบประกันคุณภาพภายใน เพื่อให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการส่งเสริม พัฒนาและประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบประกันคุณภาพ

          7.  หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา   การประกันคุณภาพการศึกษา  สถานศึกษาควรดำเนินการดังนี้

               7.1  สถานศึกษาจะต้องจัดทำโครงสร้างการบริหารที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามระบบกระกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา
               7.2  สถานศึกษาจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

               7.3  สถานศึกษาจะต้องจัดระบบสารสนเทศที่มีข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา
               7.4  สถานศึกษาจะต้องกำหนดมาตรฐานการศึกษาระดับสถานศึกษาที่ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสภาพผู้เรียน สถานศึกษา ท้องถิ่นและสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

               7.5  สถานศึกษาจะต้องจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษาโดยคำนึงถึงหลักการและครอบคลุมในเรื่อง ต่อไปนี้            

                     1)  เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาและความจำเป็นอย่างเป็นระบบและมีแผนปฏิบัติการประจำปีรองรับ
                     2) กำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย และสภาพความสำเร็จของการพัฒนาไว้อย่างต่อเนื่อง ชัดเจน และเป็นรูปธรรม

                     3)  กำหนดวิธีดำเนินงานที่มีหลักวิชาหรือผลการวิจัย หรือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่อ้างถึงให้ครอบคลุมการพัฒนาด้านการจัดประสบการณ์เรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ การส่งเสริมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การพัฒนาบุคลากรและการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้
                     4)  กำหนดแหล่งวิทยาการภายนอกที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการ
                     5)  กำหนดบทบาทหน้าที่ให้บุคลากรของสถานศึกษาทุกคนรวมทั้งผู้เรียน รับผิดชอบ และดำเนินงานตามที่กำหนดไว้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ
                     6)  กำหนดบทบาทหน้าที่ และแนวทางให้บิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคลากรในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
                     7)  กำหนดการจัดงบประมาณและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

                7.6 สถานศึกษาจะต้องดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา รวมทั้งมีการกำกับ ติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ 
                7.7 ให้คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาดำเนินการตรวจสอบ ทบทวนและรายงานการดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา  สำหรับในการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาให้ใช้วิธีการที่หลากหลายและเหมาะสม (การสังเกตพฤติกรรม และกระบวนการทำงาน กระบวนการจัดการเรียนการสอน การสอบถาม การสัมภาษณ์) การพิจารณาหลักฐาน ร่องรอยการปฏิบัติงาน ตัวอย่างผลงาน และแฟ้มสะสมงาน แบบสำรวจ แบบสอบถาม แบบทดสอบและแบบวัดมาตรฐาน  การตรวจสอบและทบทวนคูณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
                 7.8 สถานศึกษาจะต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนในทุกระดับช่วงชั้นที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด ได้รับการประเมินผลสัมฤทธิ์ในวิชาแกนหลัก และคุณลักษณะที่สำคัญด้วยเครื่องมือมาตรฐาน

                 7.9  สถานศึกษาจะต้องจัดทำรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี โดยระบุความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดในแบบพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาพร้อมหลักฐานข้อมูลและผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ ตามข้อ (8) เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

                7.10 หน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานต้นสังกัดระดับจังหวัด ส่งเสริม สนับสนุนและร่วมดำเนินงานตามระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

                7.11  หน่วยงานต้นสังกัดระดับจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพสถานศึกษาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกสามปี และรายงานผลให้สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดทราบ             

                7.12  หน่วยงานต้นสังกัดศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเผยแพร่นวัตกรรมเกี่ยวกับรูปแบบและเทคนิควิธีการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำกับ สนับสนุน ส่งเสริม ติดตาม ประเมินผลและผดุงประสิทธิภาพของระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

           8.  แนวการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา         ในการประกันคุณภาพการศึกษาสถานศึกษาควรมีการเตรียมการดังต่อไปนี้

                8.1   การศึกษา และเตรียมการ มีแนวการดำเนินการ ดังนี้

                        1)  ตั้งคณะทำงาน และพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อ

                             (1)  ศึกษาแนวคิด รูปแบบ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา

                             (2)  พัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยกำหนดรูปแบบที่สถานศึกษาสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                             (3)  จัดทำสื่อ เอกสาร คู่มือ และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

                         2) ให้การศึกษาแก่ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

                         3)  ตั้งคณะกรรมการ และคณะอนุกรรม ในการดำเนินการประเมินคุณภาพการศึกษา

                8.2  การวางแผนการประกันคุณภาพการศึกษา โดยวางแผนการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดย…

                         1)   กำหนดมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ที่เป็นการกำหนดจากมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมาตรฐานการศึกษาของหน่วยงานต้นสังกัด

                         2)  จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของสถานศึกษาเพื่อควบคุมให้ผู้รับผิดชอบงานคุณภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน และตัวชี้วัดที่กำหนดปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพสม่ำเสมอตลอดเวลา

                         3)  สร้างเครื่องมือประเมินคุณภาพการศึกษา ตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาที่กำหนดขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา มาจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา ที่จะใช้ในการหาจุดที่จะพัฒนาสถานศึกษาต่อไป

                         4) ประเมินสภาพปัจจุบัน หรือเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันของสถานศึกษา โดยใช้เครื่องมือประเมินคุณภาพการศึกษาที่สร้างขึ้น

                         5)  จัดทำสารสนเทศ หรือข้อมูลพื้นฐานสภาพปัจจุบันของสถานศึกษา โดยนำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา มาจัดทำข้อมูลพื้นฐานแสดงผลการปฏิบัติงานของสถานศึกษา โดยจัดกลุ่มของข้อมูล ตามมาตรฐานและตัวชี้วัด คุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

                         6) จัดทำแผนกลยุทธ์ของสถานศึกษา หรือแผนพัฒนาสถานศึกษา

                         7)  จัดทำแผนปฏิบัติราชการตามแผนกลยุทธ์ของสถานศึกษา โดยการนำกลยุทธ์และกิจกรรมในแต่ละปีการศึกษา ที่กำหนดไว้ในกลยุทธ์สถานศึกษา ไปวางแผนการปฏิบัติราชการประจำปี

                  8.3 การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

                         1)  ทบทวนการประกันคุณภาพการศึกษา โดยทบทวนงานต่าง ๆ ที่สถานศึกษาได้ทำการวางแผนไว้ให้ทุกคนเข้าใจ และนำไปปฏิบัติ

                         2)  ปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถานศึกษา และตามแผนปฏิบัติราชการของสถานศึกษา

                         3)  นิเทศ กำกับ ติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

                 8.4  การตรวจสอบ และทบทวนคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยดำเนินการ ดังนี้

                        1)   แต่งตั้งคณะกรรมกมาตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของถานศึกษา

                        2)  กำหนดระยะเวลา และแนวทางการตรวจสอบ หรือวางแผนการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบ และทบทวนคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา สถานศึกษาควรทำการตรวจสอบ ทั้งการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน และตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษา (มาตรฐานและตัวชี้วัด)  ของสถานศึกษาด้วย

                        3)  ดำเนินการตรวจสอบตามแผนที่วางไว้ สำหรับการประเมินสภาพของสถานศึกษาตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสาถานศึกษาครั้งที่ 2 หลังจากได้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถานศึกษา ไปได้ระยะเวลาหนึ่ง โดยนำเครื่องมือประเมินคุณภาพการศึกษาที่สร้างขึ้นมา   ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของตัวชี้วัด และมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ที่บกพร่องที่พบจากการประเมินครั้งที่ 1 และเพื่อตรวจสอบ และแก้ไขสิ่งที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษาต่อไป

                  8.5 การพัฒนาและการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดย…

                        1) ปรับปรุง แก้ไขการปฏิบัติงานที่พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน และมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

                        2)  ติดตาม ตรวจสอบแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ตามระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ปฏิบัติได้กำหนดไว้ว่าจะแก้ไขเสร็จ ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ข้อบกพร่องที่พบ ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

                        3)  สรุปผลการตรวจสอบ และรายงานผลการตรวจสอบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาโดยการจัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง (SAR)

                       4)  สำหรับงานที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ให้พัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป

                 8.6 การเตรียมการเพื่อรับการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา โดยดำเนินการ ดังนี้

                       1)  ผู้เกี่ยวข้องจัดเตรียมหลักฐานการปฏิบัติงาน และข้อมูลต่าง ๆ ตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรายงานการประเมินตนเองไว้ล่วงหน้าให้พร้อม เพื่อรับการประเมินจากองค์กรภายนอก

                       2)  รับการประเมินจากองค์กรภายนอก โดยองค์กรภายนอก จะทำการประเมินคุณภาพของสถานศึกษาตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 14  มาตรฐาน

                       3) ถ้าสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา พิจารณารายงานข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า สถานศึกษามีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครบถ้วนทั้ง14  มาตรฐาน ก็จะให้การรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งหมายความว่าสถานศึกษาได้รับการรับรองคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษาแล้ว ซึ่งการรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 5 ปี คือ เมื่อครบ 5 ปี สถานศึกษาจะต้องถูกประเมินคุณภาพใหม่ทั้งหมด 14   มาตรฐาน

                       4)  ถ้าสถานศึกษาไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาต้องปรับปรุงคุณภาพของสถานศึกษาให้ได้มาตรฐาน ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการประเมินกำหนดแล้วขอรับการประเมินใหม่ แต่ถ้าถึงระยะเวลาที่กำหนดแล้วสถานศึกษายังมีการพัฒนายังไม่ถึงเกณฑ์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ต้องรายงานต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

      9.  มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้ในการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษา

        การประกันคุณภาพการศึกษานั้นสถานศึกษาจำเป็นต้องมีการศึกษาเรียนรู้ถึงมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่ใช้เป็นตัวกำหนดในการจัดการศึกษา  และดำเนินการประเมินคุณภาพในการจัดการศึกษาซึ่งมาตรฐานที่ใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษามีดังนี้

           9.1  มาตรฐานด้านผู้เรียน

                  มาตรฐานที่  1 ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์

                  มาตรฐานที่  2  ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม

                  มาตรฐานที่  3  ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน  รักการทำงาน  สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต

                  มาตรฐานที่  4  ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์  มีวิจารณญาณ  มีความคิดสร้างสรรค์  คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์

                  มาตรฐานที่  5  ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร

                  มาตรฐานที่  6  ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

                  มาตรฐานที่   7  ผู้เรียนมีสุขนิสัย  สุขภาพกาย  และสุขภาพจิตที่ดี

                  มาตรฐานที่  8  ผู้เรียนมีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะดนตรี  กีฬา

            9.2  มาตรฐานด้านการเรียนการสอน

                  มาตรฐานที่  9  ครูมีคุณธรรม จริยธรรม  มีวุฒิ/ความรู้ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ  หมั่นพัฒนาตนเอง  เข้ากับชุมชนได้ดีและมีครูพอเพียง

                  มาตรฐานที่ 10  ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

            9.3  มาตรฐานด้านการบริหารจัดการศึกษา

                  มาตรฐานที่  11  ผู้บริหารมีคุณธรรม  จริยธรรม  มีภาวะผู้เนาและมีความสามารถในการบริหารจัดการศึกษา

                  มาตรฐานที่  12  สถานศึกษามีการจัดองค์กร  โครงสร้าง  ระบบการบริหารงานและพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบครบวงจร

                  มาตรฐานที่  13  สถานศึกษามีการบริหารและจัดการศึกษาโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน

                  มาตรฐานที่  14  สถานศึกษามีการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

                  มาตรฐานที่  15  สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนอย่างหลากหลาย

                  มาตรฐานที่  16  สถานศึกษามีการจัดสภาพแวดล้อมและการบริการที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติเต็มศักยภาพ

            9.4  มาตรฐานด้านการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้

                  มาตรฐานที่  17  สถานศึกษามีการสนับสนุนและใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาในท้องถิ่น

                  มาตรฐานที่  18  สถานศึกษามีการร่วมมือกันระหว่างบ้าน  องค์กรทางศาสนา  สถาบันทางวิชาการ  และองค์กรภาครัฐและเอกชน  เพื่อพัฒนาวิถีการเรียนรู้ในชุมชน

      10.  การประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษา

         การดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษา มี แนวทางในการดำเนินการประเมิน 2 วิธี  ดังนี้ 

             10.1  การประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการศึกษา โดยการนำผลการปฏิบัติงานพัฒนาโรงเรียนเป็นปกติ มาสรุปเขียนรายงานการประเมินตนเอง

             10.2   การประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการศึกษา โดยการสร้างเครื่องมือวัดสำหรับตัวบ่งชี้ทุกตัว แล้วประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน แล้วสรุปเขียนรายงานการประเมินตนเอง

      11.  การสร้างเครื่องมือเก็บรวมรวมข้อมูล

       การสร้างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่งของการประกันคุณภาพการศึกษา   คือเป็นการกำหนดกรอบการตรวจประเมินคุณภาพภายในโรงเรียน เพื่อที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานตามมาตรฐาน และตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยวางแผนกำหนดสิ่งต่อไปนี้   ด้านที่จะประเมิน (ผลผลิต/กระบวนการ/ปัจจัย) มาตรฐานที่จะประเมิน ตัวบ่งชี้ที่จะประเมิน แหล่งข้อมูล/แหล่งที่สามารถให้ข้อมูลได้ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีวิเคราะห์ และสรุปข้อมูล  เกณฑ์ระดับคุณภาพของผลการประเมิน

                                   ………………………………….

                ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถศึกษาค้นคว้าอ้างอิงได้เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ดังต่อไปนี้

                    http://pirun.ku.ac.th/~g4886052/proj/assurance.pdf
                              บทนำงานวิจัยการประกันคุณภาภายใน      

                http://pittajarn.lpru.ac.th/www/grad/thesis/sakrin/chapter1.pdf
                         การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา   

                     http://www.edu.chula.ac.th/resch/research%20fair/8.pdf
                        คู่มือการประเมินผลภายในสถนศึกษาตามมาตรฐานการศึกษา   

            

หมายเลขบันทึก: 419972เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2011 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท