การเดินทางของแรงงานมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเข้าไปทำงานในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย


การเดินทางของแรงงานมลายูมุสลิมสู่แหล่งทำมาหากินในมาเลเซีย

การเดินทางของแรงงานมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเข้าไปทำงานในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย

 

โดย มะดาโอะ  ปูเตะ[1] , เภาซัน  เจ๊ะแว[2]

บทคัดย่อ 

 

                วัตถุประสงค์ของงานวิจัยเรื่อง “การเดินทางของแรงงานมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเข้าไปทำงานในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย” เพื่อศึกษาปัจจัยทีมีผลต่อการเดินทางเข้าไปทำงาน ศึกษาเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้าไปทำงาน และเอกสารที่สามารถใช้ทำใบอนุญาตทำงานของแต่ละรัฐ  ศึกษาอัตราค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตลอดจนข้อมูลคนไทยที่เข้าไปทำงานในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจ้างงานแรงงานมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่มซึ่งประกอบด้วย กลุ่มแรกคือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำรัฐและสำนักงานจัดหางานประจำรัฐ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติ  และกลุ่มที่สามคือ แรงงานมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเข้าไปทำงานในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย  เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์เจาะลึก  การสังเกตการณ์  การศึกษาข้อมูลทางสถิติ  และเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล

ผลจากการศึกษาพบว่า ปัจจัยทีมีผลต่อการเดินทางเข้าไปทำงานของแรงงานมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย พบว่า ส่วนใหญ่ มีปัจจัยด้านรายได้ที่ดีกว่าทำงานในประเทศไทย  เอกสารการเดินทางเข้าไปทำงาน  พบว่า แรงงานส่วนใหญ่นิยมใช้ใบเบิกทางผ่านแดน (Border Pass) ส่วนเอกสารที่สามารถใช้ทำใบอนุญาตทำงานของแต่ละรัฐจะมีการถือปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน สำหรับกลุ่มแรงงานที่มาจากห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วสามารถใช้ใบเบิกทางผ่านแดนได้ อัตราค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงตอนทำสัญญาจ้าง ซึ่งจะมีรายได้ประมาณ 6,000 – 30,000 บาทต่อเดือน นอกจากนั้นลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่อยู่อาศัยและอาหารการกินฟรีอีกด้วย ส่วนข้อมูลคนไทยที่เข้าไปทำงานในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย จากสถิติการขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ในปี 2009 พบว่าแรงงานที่มาขอใบอนุญาตทำงานมากที่สุด ในรัฐเปอร์ลิส มีการจ้างงานประเภทการเกษตร (สวน) 1,984 คน ในรัฐกลันตัน งานประเภทการเกษตร 1,597 คน ในรัฐเปรัค งานประเภทงานบริการ 217 คน

 

คำสำคัญ : แรงงานมลายูมุสลิม, จังหวัดชายแดนภาคใต้, ไทย, มาเลเซีย

 


[1]  อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

[2]  อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษามลายู คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

หมายเลขบันทึก: 419694เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท