เป็นสุขด้วยข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด


มีหลักธรรมหนึ่ง ชื่อ อปัณณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด) เพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และให้สงบยิ่งๆขึ้นไป ประกอบด้วย ๓ องค์ธรรม คือ การคุ้มครองทวาร (๑) เพื่อไม่สร้างกิเลสใหม่ และการขูดเกลากิเลสเก่าออก (๒) เมื่อไม่เพิ่มของใหม่ ลดของเก่า จิตจึงค่อยๆสงบขึ้น

ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ ต้องไม่ทานจนอิ่มเกินไป (๓) อันจะชวนให้เกียจคร้าน

มีพุทธพจน์อธิบายความหมายขององค์ธรรมไว้ในพระสูตรนี้ค่ะ

รโถปมสูตร

ว่าด้วยอุปมาด้วยรถ

[๒๓๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ มีสุขโสมนัสมากอยู่ในปัจจุบัน และย่อมปรารภเหตุเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑ ภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

๒ รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร

๓ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นเนืองๆ

ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะพึงเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคือ อภิชฌา และ โทมนัส ครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ภิกษุฟังเสียงทางหูแล้ว ... ดมกลิ่นทางจมูก .... ลิ้มรสทางลิ้น .... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย .... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะพึงเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคือ อภิชฌา และ โทมนัส ครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ งความสำรวมในมนินทรีย์

นายสารถีฝึกม้าผู้ฉลาด เป็นอาจารย์ฝึกม้าขึ้นสู่รถม้าซึ่งมีประตักเตรียมพร้อมไว้แล้ว ดึงเชือกด้วยมือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา ขับไปข้างหน้าก็ได้ ถอยหลังก็ได้ ในถนนใหญ่สี่แยกซึ่งมีพื้นเรียบเสมอตามต้องการแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมศึกษาเพื่อรักษา ย่อมศึกษาเพื่อสำรวม ย่อมศึกษาเพื่อฝึกฝน ย่อมศึกษาเพื่อระงับอินทรีย์ ๖ ประการนี้

ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล

ภิกษุชื่อว่ารู้ประมาณในการบริโภคอาหาร เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยคิดเห็นว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และความผาสุกจักมีแก่เรา

บุรุษพึงทาแผลเพื่อต้องการให้หาย หรือบุรุษพึงหยอดเพลารถก็เพียงเพื่อต้องการขนสิ่งของไปได้แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยคิดเห็นว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และความผาสุกจักมีแก่เรา

ภิกษุชื่อว่ารู้ประมาณในการบริโภคอาหารเป็นอย่างนี้แล

ภิกษุชื่อว่าประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุขัดขวางด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี นอนดุจราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุขัดขวาง ด้วยการจงกรม การนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี

ภิกษุชื่อว่าประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ เป็นอย่างนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ชื่อว่ามีสุขโสมนัสมากอยู่ในปัจจุบัน และชื่อว่าปรารภเหตุเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

...........................................................

จากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (แปล)

หมายเหตุ

อภิชฌามักพบคำแปลบ่อยๆว่า "โลภอยากได้ของเขา" แต่ดิฉันชอบคำแปลที่พระคุณเจ้า ป.อ.ปยุตฺโต แปลไว้ในที่หนึ่งว่า "ความร่านทะยานอยาก" มากกว่าค่ะ

รวบถือ (นิมิตฺตคฺคาหี - มองภาพด้านเดียว) คือมองภาพรวม โดยเห็นเป็นหญิง หรือชาย เห็นว่ารูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาด้วยอำนาจฉันทราคะ

แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี - มองภาพ 2 ด้าน) คือมองแยกเป็นส่วนๆไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น เห็นมือ เท้า ว่าสวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด ว่าน่ารัก หรือไม่น่ารัก ถ้าเห็นว่าว่าสวย น่ารัก ก็เกิดอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนาด้วยอำนาจราคะ) ถ้าเห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก ก็เกิดอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาด้วยอำนาจปฏิฆะ หรือความขัดใจ)

หมายเลขบันทึก: 419371เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2011 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

                      มาศึกษาธรรม ตอนเลิกพักกลางวันค่ะ วันนี้อากาศเย็นครึ้มฝน

   แต่ลมแรงค่ะ คุณณัฐรดาสบายดีนะคะ

                         

                           ภาพหอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูนค่ะ

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

แวะมาเรียนรู้ และเติมธรรมะที่พี่นำมามอบให้เช่นเดิมครับ

ความเพียร นำมาซึ่งความสุข จากผลของการปฏิบัติจริง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญใช่ใหมครับพี่

ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท