บันทึกเส้นทางโครงการลูกอ่อนหนอนหนังสือกลุ่มชาติพันธุ์เมืองสามหมอก (เฝส1)


การอ่านจึงไม่ใช่แค่ “เอาเรื่อง” หรือเอาความรู้ แต่ “เอาคน” หมายถึงคำนึงถึงความสัมพันธ์กับผู้คนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

โครงการรณรงค์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน “ลูกอ่อนหนอนหนังสือกลุ่มชาติพันธุ์เมืองสามหมอก”โดย สโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน (สยชช.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการน้องใหม่มาแรงที่สุดในปี 53 ที่สโมสรของเราพัฒนาขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ของ สสส. ถึงจะเริ่มโครงการช้า แต่การดำเนินงานรุดหน้าเป็นที่น่าพอใจครับ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น คือกระบวนการ หรือยุทธวิธีครับ โดยหลังจากที่ได้รับอนุมัติโครงการนี้แล้ว สิ่งที่ต้องทำแรกสุดก็คือการประชุมทีมงานเพื่อ “ระดมสมอง” ครับ ว่าระยะสี่เดือน (ก.ย. – ธ.ค. 53) เราจะเดินงาน “ร่วมกัน” อย่างไรในระดับท้องถิ่น

สิ่งที่เห็นต้องกันในหมู่ทีมงาน ซึ่งมีทั้งนักพัฒนา ครู ผู้นำชาวบ้าน และแกนนำเยาวชน ก็คือ

  1. เราอยากเริ่มงานทำจากจุดเล็กๆ ทำให้แน่น และทั่วถึงกันก่อนจึงขยายออกไป 

แรกสุดเราประเมินกระแสกันครับ ว่าการตื่นตัวเรื่องการอ่านน้อยซุปเปอร์น้อย แต่ในหมู่บ้านแต่ละแห่งก็น่าจะมีครอบครัวที่สนใจบ้าง ก็ตั้งต้นจากกลุ่มสมัครใจอย่างนั้นก่อน  ถ้าเขาเห็น “ของจริง” ในหมู่บ้านทำดีเดี๋ยวคนบอกปากต่อปากเอง พลังของการสื่อสารแบบปากต่อปากมีมาก จากแม่บ้านสู่เด็ก สู่พ่อบ้าน สู่พ่อหลวงบ้าน  เดี๋ยวติดต่อกันไปเอง แต่ต้องมีพี่เลี้ยงสร้างความมั่นใจจากการเดินเตาะแตะไปจนเขาเดินได้อย่างมั่นคง สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา

2.เน้นการทำงานลงสู่รากหญ้า เข้าถึงชุมชน การทำงานไม่จำเป็นต้องจัดเวทีใหญ่ เพราะกลุ่มผู้เข้าอบรมและแกนนำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แม่บ้าน เดินทางไม่สะดวกเพราะยังต้องทำงานบ้าน ดูแลลูก ให้จัดประชุมกลุ่มย่อย หรือออกเยี่ยมบ้าน ติดตามผลอย่างสม่ำเสมอจะเหมาะกว่า เรียกว่า ต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบญาติพี่น้องไปควบคู่การส่งเสริมการอ่าน จะทำให้งานเดินไม่แข็งหรือแห้งแล้งจนเกินไป การเรียนรู้ของเด็ก และชาวบ้าน ต้องอาศัยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกันเองครับ

3.สร้าง / ใช้สื่อสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระแสตื่นตัวมากขึ้น , สร้างให้เสียงเด็ก เสียงพ่อแม่เสียงชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์มีความหมาย เกิดความรู้สึกว่าโครงการนี้เป็นของพวกเขา พวกเขามีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่เป็นโครงการของสโมสร หรือของ สสส.

 

4.พัฒนากลไกคณะทำงานขึ้นมา ไม่ใช่เป็นแต่ “ผู้รับการพัฒนา” แต่พยายามเปิดโอกาสให้พวกเขาเป็นผู้ร่วมพัฒนา สร้างคน (หมายถึงกลไกพ่อแม่ ผู้ปกครอง) ไปพร้อมๆกับสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

การอ่านจึงไม่ใช่แค่ “เอาเรื่อง” หรือเอาความรู้ แต่ “เอาคน” หมายถึงคำนึงถึงความสัมพันธ์กับผู้คนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ต้นกันยา พอจูนแนวคิดกันแล้ว ก็ให้ทีมงานไปรับสมัครครอบครัวที่สนใจ   ถามว่าความเป็นชาติพันธุ์ทำให้การประสานงานยากไหม สำหรับเราไม่ยากครับ เพราะมีเครือข่ายผู้นำชุมชนที่วางใจได้เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ดีใจเสียอีกที่มีโครงการดีๆมาให้พบและทำงานร่วมกัน

เมื่อได้ครอบครัว “อาสามาอ่าน” แล้ว ทีนี้ก็ถึงคราวฝึกอบรม “อาสามาฝึก” ซึ่งแต่เดิมตั้งไว้ว่าจะจัดเวทีใหญ่ แต่ดูแล้วจะไม่ทั่วถึงแน่ ก็เลยต้องแตกออกเป็นเวทีย่อยสามแห่ง เหนื่อยหน่อย แต่เข้าถึงกว่าก็คุ้ม

 

ว่าถึงการฝึกอบรม แรกทีเดียวกะจะเชิญวิทยากรจากเชียงใหม่ที่เคยมีประสบการณ์โครงการแบบนี้มาก่อน แต่พอแตกเป็นเวทีย่อยแล้ว ผมคิดว่าคงไม่สะดวก ถ้าเชิญวิทยากรมาบ่อย งบก็จะบาน และยังไงๆวิทยากรก็ต้องมาเตรียมการสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้านอีก อย่ากระนั้นเลย ไหนๆที่บ้านเราก็เป็นครอบครัวรักการอ่าน อ่านนิทานให้ลูกตั้งแต่เล็กมาแล้ว อีกอย่างชาวบ้านก็คุ้นเคยกับเราอยู่ มีรูป มีคลิปวิดีโอถ่ายไว้เป็นสื่อก็เยอะ งั้นก็ใช้ทุนเดิมนี้ ชวนกันทั้งพ่อ แม่ ลูกแปลงร่างเป็นวิทยากรซะเลย

 

 

เด็กชายพศิน หรือน้องออมสิน ทีมวิทยากรรุ่นจิ๋ว

....และมันก็ใช้ได้ผลแฮะ ชาวบ้านสนใจดูสื่อจากครอบครัวของเรามาก บางคนทีแรกบอกว่างานนี้ดูจะเป็นวิชาการ แต่จริงๆ เราใช้กระบวนการสันทนาการสลับกับฉายหนัง ฟังเพลงและเสวนาควบคู่กันไป แถมมีรางวัลเล็กๆน้อยๆแจกเพื่อจูงใจให้ชาวบ้านร่วมสนุกอีก

 

หลังจากอบรมพ่อแม่ที่มาร่วมโครงการ ได้ความมั่นใจ และความรู้ เทคนิคไปแล้ว ก็ต้องไปฝึกจริง ขั้นนี้ เราใช้หนังสือนิทานคัดสรร 108 เล่มจากส่วนกลางมาเป็นต้นแบบก่อนซึ่งชาวบ้านและเด็กๆสนใจกันมาก และช่วยกันจัดระบบเวียนกันยืมอ่านหนังสือได้หมุนเวียนทั่วถึง  ที่สำคัญ

พลังสำคัญของโครงการก็คือ แกนประสานที่กลุ่มเป้าหมายคัดเลือกกันเองโดยใช้ชื่อว่า “อาสาสมัครรักการอ่านประจำหมู่บ้าน (อสร.)” มาเป็นผู้คอยติดตามผลและรายงานตามแบบฟอร์มที่คิดขึ้น โดยมีการเรียกประชุม อสร. เดือนละครั้ง เพื่อส่งแบบรายงานและเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้กลไกคณะทำงานกระชับ คุ้นเคยกัน เกิดเป็นทีมเวิร์คขนาดย่อม

 

ระหว่างนี้ ทางผมกับทีมกลางก็จะลงไปจัดประชุมกลุ่มย่อยในบางหมู่บ้าน เพื่อเจาะลึกกรณีศึกษาและถ่ายทำวิดีโอข่าว ได้บรรยากาศการเรียนรู้ไปอีกแบบ แต่ลงทุกหมู่บ้านไม่ได้เพราะเยอะ ต้องเลือกเอาหมู่บ้านที่พร้อมก่อน

อย่างในภาพนี่ก็เป็นการจัดประชุมกลุ่มย่อยและถ่ายทำข่าวที่บ้านลาหู่ดำ บ่อไคร้ อำเภอปางมะผ้า

  

 

ท้ายสุดของปี และเป็นเดือนสุดท้ายของเฝสแรก ก็เป็นเวทีประชุมสรุปโครงการ ภาพรวมผลการดำเนินงานในระยะเฝสที่หนึ่งนี้ มีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจครับ กล่าวคือ

1. เด็กปฐมวัยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 7  กลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนอย่างน้อย 50 คน ได้อ่านหนังสือภาพที่เหมาะสมกับพัฒนาการ และบริบททางสังคมวัฒนธรรมของเด็กและชุมชนโดยมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นผู้อ่านและจัดการเรียนรู้ และมีข้อเสนอจากผู้ปกครองว่าหนังสือมีไม่เพียงพอ และอยากมีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือนิทานเพื่อกลับมาใช้ในชุมชน

 

2. หนังสือต้นแบบที่ใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยกระจายลงสู่ครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์  50 ครอบครัว

3. เกิดเครือข่ายส่งเสริมวัฒนธรรมการรักการอ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 เครือข่าย โดยมีการจัดโครงสร้างเป็นระบบชัดเจน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สามารถปฏิบัติงานเชื่อมประสานในพื้นที่ได้จริง โดยมีฐานมาจากสมาชิกที่ร่วมดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70  เป็นกลไกส่งเสริมการอ่านที่มีการรวมกลุ่มร่วมคิด ร่วมกระตุ้นอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิต อย่างสมำเสมอเพื่อนำสู่พฤติกรรมการอ่าน

4. เกิดการรณรงค์เผยแพร่การรักการอ่านในสื่อวิทยุชุมชน , เวทีประชุมภาคประชาสังคมระดับจังหวัด อย่างสม่ำเสมอ โดยในเฝสที่ 1 นี้มีสปอตประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ 1 ชิ้นงาน มีรายการวิทยุส่งเสริมการอ่าน 7 รายการ ออกอากาศทางสถานีวิทยุชุมชนที่อำเภอปางมะผ้า และอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง และมีวิดีโอข่าวกิจกรรมรักการอ่านของโครงการรายงานบนเว็บไซต์ของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน , You Tube , และ Facebook รวม 4 รายการ ได้รับความสนใจนำไปเผยแพร่ซ้ำทางสถานีโทรทัศน์ดอกไม้บาน ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์เด็ก และเยาวชน

 

 5. เกิดรายงานสรุปองค์ความรู้และกระบวนการทำงานส่งเสริมการอ่านแก่เด็กปฐมวัยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 1 ชุด โดยติดตามได้จากทางเว็บบล็อก www.gotoknow.org/blog/dek3moktoday นี้

6. หลังเสร็จสิ้นโครงการ เกิดแผน/ โครงการต่อเนื่องในการพัฒนาหนังสือภาพเพื่อสร้างการเรียนรู้ผ่านการอ่านที่เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็กและบริบทชุมชน โดยมีเนื้อหาที่มาจากเกี่ยวกับอัตลักษณ์และภูมิปัญญาและนิทานพื้นบ้านของชาติพันธุ์ต่างๆ โดยในเฝสที่ 1  เกิดหนังสือทำมือ นิทานกลุ่มชาติพันธุ์ 5 เล่ม จากกลุ่มไทใหญ่ และกะเหรี่ยง และมีการเตรียมแผนงานที่จะใช้เป็นยุทธศาสตร์หลักต่อยอดในพื้นที่แม่ฮ่องสอน (โซนเหนือ) ในปี 2554

7. เกิดเครือข่ายส่งเสริมวัฒนธรรมการรักการอ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 เครือข่าย โดยมีการจัดโครงสร้างเป็นระบบชัดเจน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สามารถปฏิบัติงานเชื่อมประสานในพื้นที่ได้จริง โดยมีฐานมาจากสมาชิกที่ร่วมดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 เป็นกลไกส่งเสริมการอ่านที่มีการรวมกลุ่มร่วมคิด ร่วมกระตุ้นอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิต อย่างสม่ำเสมอเพื่อนำสู่พฤติกรรมการอ่าน

โดยในเฝสที่ 1  เกิดเครือข่ายครอบครัวอาสาสมัครรักการอ่านในกลุ่มไทใหญ่ ลาหู่ดำ ลาหู่แดง กะเหรี่ยง ลีซู และปะด่อง (กะเหรี่ยงคอยาว) รวม 6 กลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งต้นจากโซนเหนือสามอำเภอ คือ ปางมะผ้า , ปาย , เมือง และจะขยายไปเชื่อมกับโซนใต้อีกสี่อำเภอในปี 2554

 

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องราวในเฝสแรกของงาน ที่อยากจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่าน ในปี 2554 จะมีการดำเนินงานในเฝสที่สองต่อยอดและขยายพื้นที่ออกไป แต่ยังคงใช้แนวคิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผล เช่นเดิม ต้องติดตามกันต่อไป คอยให้กำลังใจและคำติชมกันด้วยนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 419085เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2011 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้อ่าน http://gotoknow.org/blog/somdejmas/418627

การอ่านจึงไม่ใช่แค่ “เอาเรื่อง” หรือเอาความรู้ แต่ “เอาคน” หมายถึงคำนึงถึงความสัมพันธ์กับผู้คนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

...

นี่เป็นบทสรุป ที่มีพลังมากครับ

"คุณเบดูอิน"

ผมไปอ่านตามลิงค์ที่แนะนำแล้ว ได้เห็นนักวิชาการที่เติบโตจากรากหญ้า ชีวิตคนเหล่านี้เป็นแรงใจแก่คนรุ่นหลังได้ดีมากครับ

"คุณแผ่นดิน"

ไม่ได้เจอกันนานเลยครับ ดีใจที่ยังจำกันได้ พักหลังนี้ผมเขียนน้อยไปหน่อย เพราะไปวุ่นกับงานภาคสนามและงานทำสื่อวิทยุและวิดีโอชุมชนซะมาก ถ้ามีโอกาสขอเชิญแวะไปเยี่ยมชมภาพและเสียงใน Facebook พิมพ์ชื่อ "wisut leksombun" แล้ว search จะได้รายละเอียดมากขึ้น

ขอบคุณครับ

ได้แวะเข้ามาอ่าน ชอบกิจกรรมมากเลยค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ

ขอบคุณคุณ Thunyanut และทุกท่าน

ปี 2554 โครงการเดินต่อไป ได้บทเรียน ความรู้ หลายเรื่องมาเหมือนกัน

กำลังจะทยอยลงในโกทูโนว์

ช่วยกันติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันนะครับ

ขอบคุณสิ่งดีดี.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท