ระบบการตัดขดลวดสำหรับอุดหลอดเลือด


Detachable system

ระบบการตัดขดลวดสำหรับอุดหลอดเลือด

Detachable system of coil

 

จุฑา  ศรีเอี่ยม อนุ.รังสีเทคนิค
วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์ วท.บ.รังสีเทคนิค
วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์ วท.บ.รังสีเทคนิค
วรรณนี   ผิวทอง วท.บ.รังสีเทคนิค

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

จุฑา  ศรีเอี่ยม, วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์,  วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์, วรรณนี   ผิวทอง.ระบบการตัดขดลวดสำหรับอุดหลอดเลือด. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2552; 3(2): 125-9

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยการอุดด้วยขดลวดนั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ในกระบวนการวางขดลวดนั้นได้มีการพัฒนาทางเทคนิค และในการตัดขดลวดสำหรับอุดหลอดเลือดที่นิยมกันของบริษัทเครื่องมือแพทย์มักจะเป็นการตัดด้วยไฟฟ้า เพื่อให้ขดลวดขาดออกและขดตัวอยู่ภายในหลอดเลือดโป่งพองนั้น และเกิดก้อนเลือดพอกตัวขึ้นเพื่ออุดหลอดเลือดโป่งพองนั้นในที่สุด  ซึ่งแนวคิดพื้นฐานในการอุดหลอดเลือดโป่งพองด้วยขดลวดโลหะนั้นเป็นกระบวนการตามหลักการ electrothombosis and electrolysis technique ซึ่งการทำความเข้าใจต่อกระบวนการพื้นฐานนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกใช้ขดลวดเพื่อการอุดหลอดเลือดโป่งพองอย่างมีประสิทธิภาพและการคาดหวังต่อผลการรักษา

 

กระบวนการ electrothrombosis

กระบวนการนี้ได้ถูกแสดงให้เป็นที่ประจักษ์โดย Bigelow and DeFoyes (1952) , Sawyer and Pate (1953) โดยมีหลักการที่ว่าเซลล์เม็ดเลือดขาว, เซลล์เม็ดเลือดแดง, เกร็ดเลือดและเส้นใย  fibrinogen นั้นมีค่าประจุเป็นลบ ซึ่งจะเคลื่อนที่เข้าหาประจุบวก (electrode) เสมอ เมื่อผ่านไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 0.2 mA-10mA เข้าสู่เลือดที่ระยะเวลาต่างๆ กันพบว่าจะเกิดการรวมตัวเป็นก้อนของเม็ดเลือดและเกร็ดเลือด (thrombus formation) ซึ่งจะมีปริมาณเป็นสัดส่วนตามค่ากระแสไฟฟ้าและเวลาที่ได้รับกระแสไฟฟ้า (mA x min) ต่อมา Salazar (1961), Araki และคณะ (1965) ได้ทดลองในหลอดเลือดของสุนัขจริงซึ่งได้ผลเช่นเดียวกันการทดลองในหลอดทดลอง แต่หากมีการให้ heparin อัตราการเกิดก้อนเลือดจะลดลงไป  Thrompson และคณะ ได้ทดลองผ่านกระแสไฟฟ้าในหลอดเลือดของกระต่ายผ่านลวดแพลทินัม และลวดสแตนเลส และ Guglielmi และคณะ (1983) ได้รายงานการเกิดก้อนเลือดในหลอดเลือดแดงสมองโป่งพองในกระต่ายทดลอง 10 ตัว โดยใช้ ลวดที่ทำจากสแตนเลส วางในหลอดเลือดโป่งพอง และให้กระแสไฟฟ้าขนาด 10mA เพื่อกระตุ้นให้เกิด intra-aneurysm thrombosis และได้ข้อสรุปกระบวนการ electrothrombosis เป็น 3 ประการ คือ

  1. เมื่อให้ไฟฟ้ากระแสตรงแก่เลือด จะเกิดก้อนเลือดรอบๆ ขั้วบวก
  2. ขนาดและน้ำหนักของก้อนเลือดเป็นสัดส่วนโดยตรงต่อ mA x min
  3. แพลตตินัมเป็นสสารที่ทำให้เกิดก้อนเลือดได้มากที่สุดและไม่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการ electrolysis

 

กระบวนการ electrolysis

Electrolysis เกิดขึ้นเมื่อขดลวดที่เป็นขั้วไฟฟ้า 2 เส้นที่เชื่อมต่อกับไฟฟ้ากระแสตรงถูกยื่นลงไปในสารละลาย ขดลวดที่เป็นขั้วบวกจะถูกละลายและไอออนจะเกิดการเคลื่อนย้ายไปยังขดลวดขั้วลบ หากแต่โลหะกลุ่มแพลตินัมจะได้ไม่ได้รับผลกระทบนี้ การทดลองกระบวนการนี้ในเลือดได้กระทำโดย Miller และคณะ (1978) โดยให้กระแสไฟฟ้าขนาด 5-10mA ซึ่งทำให้เกิดก้อนเลือดในการทดลองในสุนัข โดยทดสอบระหว่างโลหะ 2 ชนิดคือ แพลทินัมและ สแตนเลส พบว่ารอบๆ แพทลทินัมเกิดก้อนเลือดได้มากกว่าสแตนเลส 3-4 เท่า นั่นคือ สแตนเลส นั้นมีไอออนบางส่วนที่ถูกละลายไปเนื่องจากกระแสไฟฟ้า ต่อมา Piton และคณะ (1978) ได้ทดลองโลหะต่างๆ ในกระบวนการ electrolysis โดยใช้โลหะขนาด 0.5 มม. ผ่านกระแสไฟฟ้าขนาด 10mA พบว่า เงินและสแตนเลสถูกละลายได้ ส่วนทองแดงจะเกิดกระบวนการสนิมเนื่องจากออกซิเจน ในขณะที่แพลทินัมไม่เกิดผลจากกระบวนการดังกล่าว

 

จากการวิจัยดังกล่าว จึงนำไปสู่แนวคิดในการออกแบบขดลวดสำหรับอุดหลอดเลือด โดยให้ส่วนต้นทำด้วยสแตนเลส ยาว 175 ซม. และส่วนของขดลวดที่ต้องปล่อยไว้ในหลอดเลือดโป่งพองทำจากแพลทินัมมีขนาดความยาวต่างๆ กันไปเพื่อเป็นตัวเลือกในการเลือกใช้อุดหลอดเลือด โดยที่ส่วนที่เป็นสแตนเลสทั้งหมดจะถูกเคลือบด้วย Teflon เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด electrolysis ยกเว้นบริเวณรอยต่อซึ่งมีระยะ 2มม. จะไม่ถูกเคลือบ เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป สแตนเลสที่ไม่ได้ถูกเคลือบไว้ตรงรอบต่อจะถูกละลายและขาดออก ทำให้ขดลวดส่วนที่เป็นแพลทินัมถูกปล่อยไว้ในหลอดเลือดโป่งพอง ซึ่งขดลวดส่วนนี้จะเหนี่ยวนำกระบวนการ electrothrombosis และอุดหลอดเลือดโป่งพองนั้น

อย่างไรก็ตามระบบการตัดขดลวดได้มีการพัฒนาเปลี่ยนไปเนื่องด้วยเทคโนโลยีด้านวัสดุขดลวด ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีระบบการตัดขดลวดด้วยแรงดันน้ำเพิ่มขึ้นมา  ซึ่งมีหลักการที่แตกต่างกัน ทีมผู้เขียนจะนำเสนอในบทความอื่นต่อไป

บรรณานุกรม 

  1. Gugliemi G. Endovascular treatment of intracranial aneurysms, in Venuela F, Dion J and Duckwiler G editors. Neuroimaging Clinics of North America, 1992 W.B. Saunders Company, Philadephia. pp.269-76
  2. วิธวัช หมอหวัง, เอนก สุวรรณบัณฑิต, สมจิตร จอมแก้ว, จุฑา ศรีเอี่ยม, ตองอ่อน น้อยวัฒน์. ภาพทางรังสีของการรักษาโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพองด้วยการอุดด้วยเส้นลวด. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550 ;1(1): 58-6

 

คำสำคัญ (Tags): #coil#detachable
หมายเลขบันทึก: 418880เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2011 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 03:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท