ธรรมะปฏิบัติ


นักปฏิบัตินั้นท่านให้เราฉลาด ให้รู้จักผิด รู้จักถูก ให้ละผิดปฏิบัติสิ่งที่ถูก ก็เพียงแต่ละผิด มันก็เป็นสิ่งถูกเท่านั้น

ให้โอวาทธรรมในภาคปฏิบัติเพื่อความเข้าใจในการปฏิบัติง่าย ๆ เพื่อความถูกต้องตามอริยมรรคปฏิปทา ศีล สมาธิ ปัญญา ก็รวมอยู่ที่เรามีสติอยู่กับปัจจุบัน

การปฏิบัติธรรมจะว่าปล่อยก็ไม่ใช่ จะว่ายึดก็ไม่ใช่ จะว่าเดินก็ไม่ใช่ ถอยหลังก็ไม่ใช่ เพราะการปฏิบัติมันไม่เป็นไปเหมือนในตำรา ถ้าเราปฏิบัติเคร่งเครียด เราก็ปวดหัว คำว่า “ปล่อยวาง” ก็ยังมีการปรุงแต่งอยู่ คำว่า “ยึดถือ” ก็ยังมีการปรุงแต่งอยู่ แม้แต่เราคิดว่าจะไม่ยึดถือจะไม่ปรุงแต่ง แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสังขารอยู่ ให้เรารู้จักว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง อันนี้หมายถึงสังขารในจิตใจ สังขารภายนอกมันทุกข์อยู่แล้ว ให้ละเสีย

การปฏิบัติต้องเข้าหาหลักสภาวะธรรมความเป็นจริงทุก ๆ อิริยาบถ เพราะเรื่องจิตใจไม่มีอิริยาบถตอนนั้นแหละเราต้องมีศีล ตอนนั้นแหละเราต้องมีสมาธิ ตอนนั้นแหละเราต้องมีปัญญา เราต้องสร้างศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดขึ้น เราปฏิบัติอย่างนี้ธรรมะมันถึงจะเกิดได้ ต้องปฏิบัติติดต่อกันสม่ำเสมอจนกว่าเราจะหมดกิเลส เหมือนเราตักน้ำใส่ตุ่มก็ให้ตักไปเรื่อย ๆ จนมันเต็ม เราจะปฏิบัติได้ทุกเมื่อ ทุกแห่ง ทุกหน ทุกกาล ทุกเวลา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะไปเลือกไม่ได้ ส่วนมากเราไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้เลย เราไปอยู่แต่ในอนาคต คิดอยู่แต่ในอนาคตว่าสิ่งโน้นแหละจะดับทุกข์ จะได้ตามปรารถนา ตามใจ ตามอารมณ์ จิตใจของเราก็เอาแต่เรื่องเก่า หนังสือเก่า เทปม้วนเก่ามาฉายอยู่นั่นแหละ ฉายแล้วฉายอีก ไม่อยู่กับสภาวะความเป็นจริง ในการดับทุกข์ในปัจจุบัน นักปฏิบัติธรรมต้องดับทุกข์ในปัจจุบันไปเรื่อย ๆ

ถ้าใจของเราอยู่ในปัจจุบัน เราก็แก้ปัญหาได้ทั้งวัน เมื่อเราแก้ปัญหาทั้งวัน ปัญญาเราก็เกิดทั้งวันไม่หยุด เราอย่าไปประมาทในการคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เราอย่าประมาท อย่าเพลิน เพราะความประมาทความเพลิดเพลินนั่นแหละ คือความพินาศ

ส่วนมากเราอยู่ด้วยอำนาจของความเพลิดเพลิน เมื่อเพลินแล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองเพลิน หลงไม่รู้ว่าตัวเองหลง แต่ถ้าเรานั้นกลับมาหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในปัจจุบัน อันนี้เราก็จะรู้ นักปฏิบัตินั้นท่านให้เราฉลาด ให้รู้จักผิด รู้จักถูก ให้ละผิดปฏิบัติสิ่งที่ถูก ก็เพียงแต่ละผิด มันก็เป็นสิ่งถูกเท่านั้น

ไม่ให้โทษสิ่งภายนอก ไม่ให้โทษว่าสิ่งแวดล้อมภายนอกไม่อำนวยไม่ดี ที่จริงสิ่งภายนอกก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ใจของเรามันคิดไปให้โทษสิ่งภายนอกเอง สิ่งภายนอกมันไม่ดี ไม่ชั่ว ส่วนมากถ้าได้ถูกใจก็ว่าดี ต้องการยาวมันก็ว่าสั้น ต้องการสั้นมันก็ว่ายาวเท่านั้นเอง นักปฏิบัติถ้าเข้าใจแล้วล่ะก็ ธรรมะจะเกิดขึ้นตลอดเลย

มันต้องหนักแน่น ต้องอด ต้องทน ทนขนาดไหน ทนขนาดว่าถึงมันจะตายก็ให้มันตายไป ถ้าเราไม่อด ไม่ทน สมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ อย่าไปเชื่อมัน คนไม่ตายก็ต้องคิดต้องปรุง ถ้าไม่คิดไม่ปรุงแสดงว่า ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ให้เราเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ในพระวินัย ในพระธรรม ต้องหนักแน่น นักปฏิบัติ ถ้าไปเหลาะแหละหวั่นไหวตามสิ่งต่าง ๆ ก็ทำให้เราทรงพลังจิตไม่ได้

การปฏิบัตินี้เหมือนกับว่าเดินหน้าก็ไม่ใช่ เหมือนว่าหยุดอยู่ก็ไม่ใช่ ถอยหลังก็ยังไม่ใช่ การปฏิบัติมันต้องอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา

การปฏิบัตินี้ต้องอาศัยข้อวัตรปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นยานนำเราออกไปให้ถึงสมาธิ เมื่อถึงสมาธิมันสบาย เราก็ไม่ติดในความสบาย เราเจริญให้เกิดปัญญาและเราก็ไม่ติดอะไร เพราะถ้าเราติดอยู่ก็ยังไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นเพียงสภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง

การปฏิบัติมันต้องค่อยทำไปเรื่อย ๆ จะไปเร่งผลของการปฏิบัติไม่ได้ ให้เหมือนน้ำไหลนิ่ง ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ ความอดทน นั่งสมาธิหายใจเข้าออกสบาย ๆ อยู่กับพุทโธ เมื่อจิตใจของเราสงบก็มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ สมาธิภาวนาทำได้ทุกคน บริกรรมพุทโธให้จิตใจเป็นหนึ่ง หายใจเข้า พุทธ หายใจออก โธ หรือนึกพุทโธ ๆ ๆ ๆ ให้กายตรง ตัวตรง เริ่มแรกก็ให้กายนั่งนิ่งก่อน ๑๕ นาที ๓๐ นาที ค่อยขยับครั้งหนึ่ง ทำจิตใจให้สบาย ถึงจะมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เบื้องแรกต้องยึดพุทโธเป็นหลักทุกอริยาบถเลย ถ้าเราเจริญวิปัสสนาเลยก็จะทำข้ามขั้นตอนไป ให้เรานึกพุทโธ ๆ ๆ ๆ เดินบิณฑบาตก็พุทโธ ทำอะไรอยู่ก็ให้พุทโธ สิ่งเหล่านี้เราต้องปฏิบัติเอง เราต้องขยัน อดทน เข้มแข็ง

ให้พิจารณาร่างกายของเราสู่พระไตรลักษณ์ ร่างกายของเราประกอบด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ อาหารเก่า อาหารใหม่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หาใช่ตัวตนของเราจริง ๆ ถ้าเรานั่งนานก็ปวดเมื่อย ยืนนานก็ปวดเมื่อย เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ใช่ตัวตน

การเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ เรามาสร้างบารมีเพื่อออกจากวัฏฏะสงสาร แผ่เมตตาให้พ่อแม่ บรรพบุรุษ ผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวรทุกวัน วันละหลาย ๆ รอบ ให้ได้รับบุญกุศลจากการที่เราได้มาบวชมาสร้างบารมี ความกตัญญูกตเวทีทำให้มีความเจริญ

หมั่นสร้างความดีด้วยการกราบพระ ไหว้พระ สวดมนต์ทุกวัน น้อมใจกราบให้ถึงจิตถึงใจ ตั้งจิตตั้งใจปฏิบัติตามพระอริยเจ้า ไม่ใช่สักแต่ว่ากราบ สักแต่ว่าสวดมนต์ ทำแต่กิริยาภายนอก อย่างนี้ไม่ได้บุญเลย

นั่งสมาธิให้จิตใจสงบ ตั้งมั่นอยู่ในความดี อยู่กับพระพุทธเจ้า หายใจเข้า พุทธ หายใจออก โธ ก็เป็นบุญทุกลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติธรรมต้องมีความตั้งมั่น หนักแน่น ทุกวัน ทุกเวลา เสมอต้น เสมอปลาย เหมือนกับลมหายใจเข้าออก คนเราต้องมีลมหายใจเข้าออกสม่ำเสมอถึงมีชีวิตอยู่ได้ การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันต้องปฏิบัติสม่ำเสมอ คุณธรรมถึงเกิดได้ ไม่ใช่ขยันถึงทำ ไม่ขยันก็ไม่ทำ เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่สิ่งที่ตามใจ คนเราชอบทำตามใจ ถ้าทำตามใจก็ว่าดี ไม่ได้ตามใจก็ว่าไม่ดี มันมีอยู่เท่านี้เอง

ดังนั้นขอให้ทุกคนตั้งมั่นในพระรัตนตรัยให้แน่วแน่ ชีวิตนี้จะได้ในสิ่งที่ดีที่ประเสริฐ ตามรอยพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตขีณาสพเจ้าทั้งหลาย ผู้เข้าถึงบรมสุขตลอดกาล...

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์

หมายเลขบันทึก: 417406เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2010 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 08:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท