ประวัติวัดกษัตราธิราชวรวิหาร


กศน.อำเภอพระนครศรีอยุธยา กับการศึกษาในวัด

 

เป็นวัดของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
เจ้านายหลายพระองค์ ได้บูรณะตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

มีภาพจิตรกรรมเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ และทศชาติชาดก
มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาพประเพณีที่สำคัญ
และงานมหรสพต่างๆ ที่มีมาในสมัยโบราณ
อีกทั้งยังมีภาพที่แสดงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบไทยเดิมให้ได้ศึกษาเรื่อยมา
จนจึงช่วงที่ไทยเริ่มได้รับอิทธิพลแบบตะวันตก

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
วัดพระอารามหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นวัดสำคัญ
ทางประวัติศาสตร์ มีปูชนียสถาน และพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยอยุธยาหลายองค์

วัดกษัตราธิราชเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหารตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราปรากฏหลักฐานมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ
“วัดกระษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม” โดยความหมายของชื่อวัดสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดของพระมหากษัตริย์ ในตำบลที่ตั้งป้อมจำปาพลพระนครฝั่งตะวันตก ส่วนด้านหลังวัดมีทุ่งกว้างเรียกว่า “ทุ่งประเชต” ซึ่งเป็นที่ตั้งกองทัพพม่าในการเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 นั้น วัดกษัตราธิราชเป็นบริเวณที่กองทัพพม่าใช้เป็นสถานที่ตั้งมั่นในการเข้าตีพระนคร ภายหลังวัดถูกทำลายลงไปมากและทิ้งร้างไปในที่สุด
เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คงจะได้ทันทอดพระเนตรเห็นวัดกษัตราธิราช วัดสำคัญในสมัยนั้นถูกทำลายจนร้างไป จึงโปรดให้บูรณะโดยเริ่มบูรณะพร้อมกับวัดในกรุงเทพมหานคร เช่น วัดบพิตรภิมุขและวัดธรรมารามในอยุธยาด้วย ทำให้วัดกษัตราธิราชเป็นวัดที่มีพระสงฆ์กลับมาจำพรรษาตั้งแต่นั้นมา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ต้นราชสกุล อิศรางกูร ทรงมีศรัทธาปฏิสังขรณ์พระอารามตั้งแต่พระอุโบสถตลอดจนเสนาสนะทั้งปวงต่อเรื่อยมา

 



ประวัติหลวงปู่เทียม
พระวิสุทธาจารเถร นามเดิมชื่อ เทียม หาเรือนศรี เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2447 ขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ณ ตำบลบ้านป้อม หมู่ 7 อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายสุ่น และนางเลียบ อาชีพทำนา เริ่มต้นการศึกษาภาษาไทยกับพระภิกษุมอญและอาจารย์ปิ่นที่วัดกษัตรานี่เอง ควบคู่ไปกับการเรียนวิชาช่างทั้งการเขียนและการแกะสลัก ต่อมาได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์อาจารย์จันทร์เพื่อเรียนภาษาขอม อายุ 15 จึงได้ลาไปช่วยบิดาทำนา แต่ด้วยเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้จึงได้เรียนวิชาต่างๆ มากมาย โดยเริ่มเรียนวิชาไสยศาสตร์แบบลงผงลงยันต์กับลุงชื่ออาจารย์ทรัพย์ เรียนวิชาธาตุกสิณกับนายเงิน วิชาประดับตกแต่ง ก่อสร้าง กับนายชมและนายเชย วิชากระบี่กระบองกับบิดา การเป่าปี่ชวากับพี่ชาย จนสามารถออกแสดง ตามงานพิธีต่างๆ ควบคู่กับการรับจ้างเป็นช่างไม้ นอกจากนั้นได้หัดแกะ หนังใหญ่และแสดงได้
ต่อมาเมื่ออายุครบอุปสมบท พระครูวินยานุวัติคุณ เจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราช ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ มีนามฉายาว่า “สิริปญฺโญ” ไปศึกษาปฏิบัติธรรม ณ สำนักเรียนวัดประดู่ทรงธรรม และวิชาที่สำนักอื่นจนถึงพรรษาที่ 9 จึงได้กลับมาอยู่ที่วัดกษัตราธิราช จนเมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลงในช่วงปี พ.ศ. 2487 ในขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระใบฎิกา จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแกครองสงฆ์และสร้างความเจริญแก่วัดจวบจนสิ้นอายุขัย เมื่อ วันที่ 20 เดือนธันวาคม 2522 อายุ 75 ปี 55 พรรษา

รายนามเจ้าอาวาสและประวัติการบูรณะ
1. หลวงพ่อฉิม
2. พระอุปัชฌาย์ สน
3. พระอุปัชฌาย์มี อินฺทโชติ สร้างศาลาการเปรียญ โดยถ่ายแบบมาจากวัดเชิงท่าแล้วเสร็จ
ในปีพ.ศ. 2422
4. พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง) ซ่อมบูรณะพระอุโบสถและก่อสร้างวิหารหน้าพระอุโบสถขึ้น 2 หลัง เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองศาลาตรีมุขหน้าศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอไตร หอระฆัง ศาลาท่าน้ำหน้าวัด นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานตำหนักเครื่องไม้จากกรมหมื่นอดุลย์ลักษณสมบัติ (พระองค์เจ้าชายอุไร) มาปรับปรุงเป็นกุฏิเจ้าอาวาสพร้อมกับขยายกำแพงแก้ว พระอุโบสถและซุ้มประตูด้านหน้าด้วยนับเป็นช่วงที่วัดมีการก่อสร้างเสนาะสนะมากที่สุด
5. พระครูวินยานุวัติคุณ (มาก)
6. พระมหาสิน ซ่อมศาลาการเปรียญ และถาวรวัตถุอื่นๆ
7. พระครูไพจิตรวิหารการ สร้างโรงเรียน
8. พระครูพิพิธวิการการ (เทียม) เป็นช่วงที่วัดมีความเจริญก้าวหน้ามาก ได้ดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่สร้างถาวรวัตถุต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยของวัด แต่ก็ยังคงรักษาสภาพอาคารที่มีอยู่เดิมตามเจตนารมณ์ของเจ้าอาวาสองค์ก่อนไว้
9. พระครูพิพิธวิหารการ (สำรวย)
10. พระครูวิสุทธิธรรมากร (สุชาติ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

แผนผังวัดกษัตราธิราชวรวิหาร
1. พระปรางค์ ประธานของวัดเป็นปรางค์ขนาดเล็กบนฐานเตี้ยๆ ซุ้มเรือนธาตุก่อยื่นออกมาเพียงเล็กน้อย ภายในซุ้มประดับด้วยปูนปั้นนูนสูงรูปเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองส่วนยอดประดับด้วยกลียขนุน 7 ชั้นไม่มีลวดลายเป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
2. พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระปรางค์เป็นอาคารที่สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา รูปแบบคล้ายวัดหน้าเมรุ คือเป็นหลังคาซ้อน 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องกาบูดินเผา ไม่มีหน้าต่าง ผนังเจาะเป็นช่องระบายอากาศแทน ภายในห้องปูหินอ่อนที่เหลือมาจากการก่อสร้างวัดเบญมบพิตร กรุงเทพฯ มีซุ้มบุษบกเหนือประตูกลาง ที่มุขเด็ดด้านหลังก่อเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ด้านหน้ามีศาลา 2 หลัง และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง 4 องค์ และมีสระน้ำ โบราณรูปสี่เหลี่ยมมุมมน ขนาด 28-35 เมตรอยู่ทางทิศใต้
3. วิหารคู่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหน้าพระอุโบสถ หลังคาซ้อน 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาแบบเดียวกับพระอุโบสถ วิหารหลังทิศเหนือหน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑประกอบลายก้านขด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปาง มารวิชัย ปางสมาธิ พระศรีอาริยเมตไตรรูปจำลองสมเด็จพระพนรัตอดีตเจ้าอาวาสคือหลวงปู่ทรง, หลวงปู่มาก, หลงปู่เทียม
4. วิหารน้อย ตั้งอยู่นอกมุมกำแพงแก้วขนาบข้างทิศเหนือ – ใต้ ด้านหลังพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวิหาร
5. ศาลาการเปรียญ เป็นอาคาร 7 ห้อง เสาไม้สัก 16 ต้น หลังคามุงกระเบื้องเคลือบดินเผา หน้าบันเป็นมุขประเจิดประดับลายดอกพุดตาน ภายในประดิษฐานธรรมาสน์บุษบก ปูพื้นด้วยไม้สัก ผนังเขียนภาพพุทธประวัติ และทศชาติชาดก ถ่ายแบบมาจากภาพวัดเชิงท่า พระนครศรีอยุธยาโดยช่างในสมัยรัชกาลที่ 5 แรละมีศาลาด้านสกัดเหนือ-ใต้ ก่ออิฐถือปูน เขียนลายปิดทองล่องชาด
6. ศาลาตรีมุข ก่อเป็นตึกชั้นเดียวไม่มีผนัง หน้าบันทั้งสามด้านเป็นมุขประเจิดจำหลักพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 5
7. หอสวดมนต์ ปัจจุบันใช้เป็นห้องสมุด
8. ตำหนักอุไรพงศ์ เป็นตำหนักเครื่องไม้ขนาด 5 ห้อง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา เดิมเป็นตำหนักของพระองค์เจ้าอุไร ประทานมาปลูกเพื่อเป็นกุฏิเจ้าอาวาส ที่ผนังคอสองมีภาพจิตรกรรมรูปเทพชุมนุม
9. หอไตร หน้าบันประดับลายปูนปั้น ผนังภายในมีภาพจิตรกรรมรูปเทพชุมนุม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์เขียนสี
10. กุฏิตึกเจ้าอาวาส เป็นตึก 2 ชั้น แบบตะวันตก ที่สำคัญคือหน้าต่างบานลูกฟักแบบฝรั่งที่ยาวจรดพื้น เพดานประดับด้วยเครื่องกระเบื้อง พระยากลาโหมราชเสนาสร้างถวาย
11. ศาลาท่าน้ำ
.......................
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
ประวัติวัดกษัตราธิราชวรวิหาร
อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ประวัติวัดกษัตราธิราชวรวิหาร
ชั้นและที่ตั้งวัด
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เลขที่ ๑๕ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรงข้ามกับโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง (บริเวณวังหลังเดิม)

เขตและอุปจารวัด
วัดนี้มีเขตและอุปจารวัดดังนี้ คือ ด้านหน้าวัดทางทิศใต้ จดถนนสายอยุธยา – เสนา ทิศเหนือ จดวัดปาเสา (ร้าง) ทิศตะวันออก จดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตก จดถนนสายอยุธยา – บางบาล ปัจจุบันมีเนื้อที่ ๓๗ ไร่
๖๙ วา

ลำดับเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชวรวิหาร
สมัยกรุงศรีอยุธยา
“พระธรรมนิโรธ” เป็นเจ้าคณะรองคามวาสีฝ่ายซ้าย
สมัยกรุงรัตนโกสิสนทร์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หาหลักฐานรายละเอียดไม่ได้ แต่เท่าที่ทราบและพอจะหารายละเอียดได้บ้าง มีดังนี้
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ หลวงพ่อฉิม
เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ พระอุปัชฌาย์สน
เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ พระอุปัชฌาย์มี อินฺทโชติ
เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง ธมฺมสิริโชติ) พ.ศ. ๒๔๒๕ – ๒๔๖๓
เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ พระครูวินยานุวัติคุณ (มาก อินฺทโชติ) พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๗๗
เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ พระมหาสิน นนฺโท พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๔๘๓
เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ พระครูไพจิตรวิหารการ (บัว สีลโสภโณ) พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๙๖
เจ้าอาวาสรูปที่ ๘ พระวิสุทธาจารเถร (เทียม สิริปญฺโญ) พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๕๒๒
เจ้าอาวาสรูปที่ ๙ พระครูพิพิธวิหารการ (สำรวย ฐิตปุญฺโญ) พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๔๔
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ พระครูวิสุทธิธรรมากร (สุชาติ ฐานิสฺสโร) วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
ผู้สร้างและผู้ปฏิสังขรณ์
วัดนี้ เป็นวัดโบราณ มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “กระษัตราราม” สร้างเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ชื่อของวัดชวนให้ท่านผู้รู้ส่วนมาก สันนิษฐานว่า คงเป็นวัดที่พะรมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้งกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ทรงสร้างหรือทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น ดังนั้น วัดนี้จึงมีชื่อว่าวัดกษัตรา หรือ วัดกระษัตราราม ซึ่งหมายความว่า เป็นวัดของพระมหากษัตริย์ หรือ วัดของพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาภายหลัง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดกษัตราธิราช” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ชาวบ้านยังคงเรียกกันว่า “วัดกระษัตรา” อยู่ตามเดิม
อนึ่งในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกดังนี้ว่า “วัดกุสิทาราม” ระบุว่าเป็น (วัดพระอารามหลวง) อันดับที่ ๔๑ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่า ว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา กล่าวออกชื่อวัดกษัตราธิราชไว้ตอนหนึ่งมีความว่า “ด้านขื่อประจิมทิศ เรือจ้างบ้านชัยออกไป วัดไชยราม (วัดชัยวัฒนาราม) ๑ เรือจ้าง วังหลังข้ามออกไปวัดลอดฉอง (วัดลองช่อง) ๑ เรือจ้าง ด่านข้ามออกไปกระษัตรา (วัดกษัตราธิราช) ๑ เรือจ้างออกไปธาระมา (วัดธรรมาราม) ๑ ด้านขื่อปัจจิมทิศมีเรือจ้างสี่ตำบล”
จากการพิจารณาตามความดังกล่าวมาแล้วเข้าใจว่า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ณ บริเวณภูมิสถานที่ตั้งวัดกษัตราธิราช ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวังหลัง (วังสวนหลวง) คงเป็นท่าเรือจ้างที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งและคงมีประชาชนพลเมืองข้ามฟากไป – มา เป็นประจำ และมีความปรากฏต่อไปอีกว่า ณ บริเวณแถบนี้ มีตลาดย่านการค้าที่เป็นแหล่งชุมชนอยู่หลายแห่งด้วยกันเช่นตลาดกวนลอดช่อง ตลาดเรือจ้างวัดธาระมา (วัดธรรมาราม) ตลาดบ้านป้อมตรงขนอนปากคู ตลาด(หัว)แหลมคลองมหานาค ฯลฯ ทั้งกล่าวว่า บ้านวัดลอดฉอง (วัดลอดช่อง) แขกจามทอผ้าไหม ผ้าด้ายขาย บ้านหน้าวัดราชพลี (วัดลาดพลี) วัดธาระมา (วัดธรรมาราม) ขายโลงและเครื่องสำหรับศพ บ้านป้อมหัวพานขายนกอังชัน นกกระจาบตาย และเร่ขายนกสีชมภู นกปากตะกั่ว นกกระจาบ ให้ซื้อปล่อยเทศการตรุษสงกรานต์ แม่น้ำหัวแหลมหน้าวัดภูเขาทอง ใต้ศาลเจ้านางหินลอย จีนตั้งโรงสุราและเลี้ยงหมูขาย ฯลฯ
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพังจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวออกชื่อวัดกษัตราธิราชเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๓ ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ความว่า
“ครัน ณ เดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ (ปีมะโรง โทศก จ.ศ. ๑๑๒๒ พ.ศ. ๒๓๐๓) พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้ง ณ วัดราชพลี วัดกษัตรา ยิงเข้าในกรุงพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงช้างต้นพลายแสนพลพ่ายไปทอดพระเนตรกำชับหน้าที่ ณ วัดสวนหลวงสพสวรรค์ และป้อมมหาชัย ครั้นเพลาเย็นพม่าเลิกทัพข้ามฟากไปข้างวัดภูเขาทอง......................”
ถ้าหากจะนับจาก พ.ศ. ๒๓๐๓ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๔) ก็เป็นเวลานาน ถึง ๒๔๑ ปี นับว่า วัดกษัตราธิราชเป็นวัดที่มีหลักฐานความเป็นมาอันยาวนานวัดหนึ่ง
ส่วนตำบลที่ตั้งวัดที่มีชื่อว่า “ตำบลบ้านป้อม” นั้นก็เป็นชื่อที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกใต้ปากครองวัดลาดลงมาคือ ตรงที่ป้อมจำปาพล ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระมาหาจักรพรรดิ ทางราชการได้สร้างป้อมมีชื่อว่า “ป้อมจำพล” ซึ่งเป็นป้อมนอกพระนครด้านตะวันตกขึ้นไว้ ณ ตำบลนี้ ป้อมดังกล่าวนี้ตั้งอยู่เหนือวัดท่าการ้อง (วัดท่า – วัดการ้อง) ขึ้นไปที่ตรงข้าม ปากคลองวัดภูเขาทองซึ่งในปัจจุบันนี้ยังมีซากป้อมปรากฏอยู่บ้าง เพียงเล็กน้อย และวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณป้อมนั้นก็ยังเรียกชื่อว่า “วัดป้อม” อยู่ถึง ๒ วัด ด้วยกัน คือ วัดป้อมใหญ่ และวัดป้อมน้อย (วัดป้อมเหนือ วัดป้อมใต้ก็เรียก) ปัจจุบันเป็นวัดป้อมใหญ่ เฉพาะที่วัดท่าการ้อง (วัดท่า – วัดการ้อง) เคยเป็นที่ตั้งค่ายของพม่าค่ายหนึ่งก่อนเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. ๒๓๐๙ (บางแห่งว่า ตั้งค่ายที่วัดลอดช่องและวัดวรเชษฐด้วย) ส่วนด้านหลังของวัดกษัตราธิราชออกไปมีทุ่งกว้างอยู่ทุ่งหนึ่ง เรียกกันมาแต่โบราณว่า “ทุ่งประเชต” มีวัดวรเชษฐตั้งอยู่ชายทุ่งนี้ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า เมื่อมังมหานรธายกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา มาตั้งค่ายล้อมกรุงฯ ที่ตำบลต่าง ๆ ๘ แห่งทางทิศตะวันตกตั้งที่วัดนี้นอกจากนั้นเคยปรากฏว่า พม่าได้ยึดเอาที่นี้เป็นที่มั่น ตั้งกองทัพเข้าตีกรุงศรรีอยุธยาหลายครั้งดังปรากฏเรื่องราวอยู่ในพระราชพงศาวาดารแล้ว
ตามหลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏตามเอกสารดังกล่าวมา แสดงให้รู้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดกษัตราธิราช จักต้องเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง
วัดกษัตราธิราช คงจะถูกข้าศึกทำลายอย่างยับเยินเมื่อคราวเสียกรุงฯ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๓๑๐ หรือก่อนหน้านั่นเนื่องจากที่ตั้งวัดอยู่ไม่ไกลกับวัดท่าการ้อง (วัดท่า – วัดการ้อง) วัดลอดช่องและวัดวรเชษฐ ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายของพม่ามากนัก ผู้คนจึงพากันอพยพหลบหนีภัยสงคราม แม้พระสงฆ์ก็คงจะอยู่ไม่ได้ วัดจึงต้องร้างไปในที่สุด และคงจะตกเป็นวัดร้างมาเป็นเวลาหลายปี
อนึ่ง บริเวณใกล้เคียงกับวัดกษัตราธิราชนี้มีวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายวัด เช่น ทางด้านทิศเหนือมีวัดปาเสา (ร้าง) วัดธรรมาราม (วัดธาระมา) วัดท่าการ้อง (วัดท่า – วัดการ้อง) ทางด้านทิศใต้มีวัดราชพลี (วัดลาดพลีร้าง) วัดลอดช่อง วัดชัยวัฒนาราม (ร้าง) เป็นต้น ที่ใกล้เคียงที่วัดกษัตราธิราชมากที่สุด ก็คือวัดปาเสา (ร้าง) ปัจจุบันที่วัดนี่ยังมีพระเจดีย์องค์เล็กปรากฏอยู่องค์หนึ่ง
ต่อมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์พระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑ ทรงพระศรัทธาปฏิสังขรณ์ วัดกษัตราธิราชขึ้นใหม่ทั่วทั้งพระอาราม ให้เป็นวัดมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาสืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่จะทรงปฏิสังขรณ์เมื่อใดไม่ปรากฏตามความสันนิษฐานน่าจะได้ทรงปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๒ ก่อน พ.ศ. ๒๓๖๑ ขึ้นไป ดังมีความปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๒ “ตอนเหตุการณ์เบ็ดเตล็ด”
พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า
“ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑ วันเสาร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลา พลบเกิดพายุใหญ่ที่กรุงเก่า ฟ้าผ่ายอดพระเจดีย์วัดภูเขาทอง วัดเจ้าขรัว และพระปรางค์วัดกษัตรายอดหัก พระเจดีย์วัดภูเขาทองและวัดเจ้าขรัว ใครจะปฏิสังขรณ์หาปรากฏไม่ได้ความแต่ว่าวัดกระษัตรานั้น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม”
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระนามเดิมว่า เกศ เป็นพระโอรสองค์ที่ ๖ ในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ และเจ้าขรัวเงิน ประสูติแต่ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๑๖ ในรัชการที่ ๒ ได้ทรงกำกับกรมมหาดไทยต่อจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๗๓ พระชันษา ๕๘ ปี เป็นต้นราชกสุล “อิศรางกูร”
จากหลักฐานขั้นต้นแสดงให้รู้ว่า ครั้งนั้นวัดกษัตราธิราชได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ทั้งพระอาราม กล่าวคือ พระอุโบสถ พระปรางค์ ตลอดทั้งเสนาสนะทั้งปวง ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยทั่วถึงกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) กรมพระราชราชวังบวรสถานภิมุข (กรมพระราชวังหลัง) ได้ทรงบูรณะวัดกษัตราธิราชด้วย
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิมว่า ทองอิน เป็นโอรสองค์ที่หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีประสูติในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๘๙ ทิวงคตในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ พระชันษา ๖๑ พรรษา
ส่วนนาม “วัดกษัตราธิราช” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ จ้ะเปลี่ยนมาจาก “วัดกษัตรา” เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่า คงจะมาเปลี่ยนเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ด้วยปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกรณียกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๓๑ ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้ในจดหมายเหตุพระราชกรณียกิจรายวัน ดังกล่าวทรงพระราชนิพนธ์นามของวัดนี้ว่า “วัดกษัตราธิราช” จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้คงจะได้เปลี่ยนนามมาแล้วตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ การบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดกษัตราธิราชในยุคพระอธิการฉิม และในยุคพระอุปัชฌาย์สน เป็นเจ้าอาวาสจะมีการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์สิ่งใดบ้างไม่ปรากฏ
ต่อมาเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ในยุคพระอุปัชฌาย์มี เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นหนึ่งหลัง ศาลาการเปรียญหลังนี้ได้ถ่ายแบบอย่างมาจากวัดเชิงท่า ริมคลองเมือง (แม่น้ำลพบุรีเดิม) ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง ธมฺมสิริโชติ) ขณะเป็นพระอันดับ พร้อมด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ (พระองค์เจ้าชายอุไร ในรัชกาลที่ ๓ ต้นราชสกุล อุไรพงศ์) เป็นผู้ช่วยเหลือดำเนินการการก่อสร้างแล้วเสร็จบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ รวมเป็นเวลา ๑๔ ปีเศษ
เมื่อพระอุปัชฌาย์มี มรณภาพแล้ว พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง ธมฺมสิริโชติ) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชสืบต่อมา ในยุคนี้ ได้มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุหลายอย่างคือ ซ่อมพระอุโบสถและสร้างพระวิหารหน้าพระอุโบสถ ๒ หลัง พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง หลังพระวิหาร ๔ องค์ ศาลาสกัดด้านหลังศาลาการเปรียญรวม ๓ หลัง หอสวดมนต์ (หอประชุม) ๑ หลัง หอไตร ๑ หลัง หอระฆัง ๒ หลัง ศาลาท่าน้ำหน้าวัด ๑ หลัง กุฏิตึกแถวขนาด ๕ ห้อง ๕ หลัง กุฏิตึกเดี่ยว ๔ หลัง โรงเรียนประจำอำเภอ ๑ หลัง กับได้รับประทานตำหนักเครื่องไม้ จากกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ (พระองค์เจ้าชายอุไร) มาปลูกเป็นกุฏิสำหรับเจ้าอาวาส ๑ หลัง พร้อมทั้งขยายกำแพงแก้วพระอุโบสถ และก่อซุ้มประตูด้านหน้าพระอุโบสถอีกด้วย
อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ทรงมีพระศรัทธาประทานเงินบำรุงพระอาราม เนื่องในการบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติ ๒๐๐ บาท
ในยุคพระครูวินยานุวัติคุณ (มาก อินฺทโชติ) เป็นเจ้าอาวาสได้บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง) ก่อสร้างค้างไว้ยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ซ่อมพระวิหารคู่ ๒ หลัง สิ้นเงิน ๗๐๐ บาท หอสวดมนต์ (หอประชุม) ๑ หลัง ถนนหน้าพระอุโบสถ ๑ สาย และได้จัดการเทคอนกรีตลานพระอุโบสถ กับเปลี่ยนชานศาลาสกัดด้านหลัง ศาลาการเปรียญ โดยเปลี่ยนจากไม้เป็นก่อนอิฐ
ในยุคพระมหาสิน นฺนโท ป.ธ.๕ เป็นเจ้าอาวาส มีการซ่อมศาลาการเปรียญอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ นอกจากนั้น มิได้มีการบูรณะหรือปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุใด ๆ อีก เนื่องจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ยังบริบูรณ์มั่นคงไม่ชำรุดทรุดโทรมแต่ประการใด
ในยุคพระครูไพจิตรวิหารการ (บัว สีลโสภโณ) เป็นเจ้าอาวาส ได้จัดการซ่อมหลังคาพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ศาลาตรีมุขอีก กับได้สร้างกำแพงหน้าวัดพร้อมด้วยอนุสาวรีย์ (รูปพระยอดธงรบ) ขึ้น (กำแพงพระอนุสาวรีย์ดังกล่าวนี้ ได้รื้อออกเสียเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ครั้งสร้างเขื่อนพิพิธวิหารการ) และสร้างโรงเรียนชั้นประถมศึกษาขึ้นหนึ่งหลัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นอาคารตึกชั้นเดียว ยาว ๒๘ เมตร กว้าง ๘ เมตร มีมุขยื่นออกมาข้างหน้า ๒ มุข ยาวมุขละ ๕ เมตร พร้อมด้วยเครื่องอุปกรณ์การศึกษาเช่น โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ สิ้นเงิน
๒๓๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สองแสนสามหมื่นบาทถ้วน) โรงเรียนหลังนี้ทางราชการได้ขนานนามว่า
“ไพจิตรวิหารการบำรุง”
ถึงยุคพระครูพิพิธวิหารการ (เทียม สิริปญฺโญ) เป็นเจ้าอาวาสปรากฏว่าวัดกษัตราธิราชได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่งกล่าวคือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เป็นปูชนียวัตถุก็ดี ถาวรสัตถุก็ดี เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบันต่างก็ชำรุดทรุดโทรมลงโดยลำดับ นับว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างรีบด่วนถ้าหากขืนปล่อยทิ้งไว้ก็จะต้องชำรุดผุพังไปอย่างน่าเสียดายจึงได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ตามขั้นตอนและตามลำดับของความสำคัญ คือ ซ่อมตำหนักอุไรพงศ์ และปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเปลี่ยนช่อฟ้า ใบระกาและเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ กับซ่อมพระพุทธปฏิมาประธานและพระพุทธรูปต่าง ๆ ในพระอุโบสถรวม ๗ องค์ ขยายถนนสานหน้าพระอุโบสถถึงท่าน้ำอีก ๑ สาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ การปฏิสังขรณ์วัดกษัตราธิราชในยุคนี้ก็กระทำติดต่อกันตามลำดับโดยมิได้หยุดยั้ง หอสวดมนต์ (หอประชุม) หอรับรอง หอไตร หอระฆัง กุฏิได้รับปฏิสังขรณ์ทั้งหมด ที่นับว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญก็คือ การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตหน้าวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๓๕ เมตร (ยาวตามแนวตลิ่ง) สิ้นเงินค่าก่อสร้าง ๘๗๖,๕๙๐.๐๐ บาท (แปดแสนเจ็ดหมื่นหกพันห้าร้อยเก้าสิบบาทถ้วน) ขนานนามว่า “เขือนพิพิธวิหารการ” พร้อมกับสร้างกำแพงหน้าวัด ศาลาท่าน้ำหนึ่งหลัง บูรณะศาลาท่าน้ำของเดิมอีก ๒ หลัง ต่อมาได้สร้างหอเก็บถังน้ำปะปาสำหรับใช้ในวัด และโรงเลี้ยงอาหารเทคอนกรีตรอบพระอุโบสถซ่อมกำแพงแก้ว ซ่อมพระวิหารน้อย มุมกำแพงแก้วด้านตะวันตก และซ่อมฐานพระปรางค์ชั้นล่างแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ นอกจากนี้ ยังมีท่านผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดอีกหลายอย่าง คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ นายธงชัย นางวัชรี โตอุรวงศ์ ปฏิสังขรณ์วิหารน้อยด้านเหนือ พร้อมพระพุทธรูป ๑ องค์ และสร้างกุฏิ ๑ หลังสินเงิน ๑๗๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งแสนเจ็ดเหมื่นบาท) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ นายภิญโญ นางสมพร แตรตุลาการ ปฏิสังขรณ์พระวิหารหน้าอุโบสถ ๑ หลัง สินเงิน ๒๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สองแสนบาท) ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ ครั้งนี้ได้มีนายแพทย์สิริ นางวิไลวรรณ พัฒนกำจร ได้บริจาคเงินสมทบทุนปฏิสังขรณ์ซุ้มประตู และหน้าต่างพระวิหารทั้ง ๒ หลัง เป็นจำนวนเงิน ๑๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งแสนาองหมื่นบาท) นายมณี ศุภวัฒน์ ได้บริจาคเงินค่าปรับปรุงแสงสว่างภายในบริเวณวัดอีก ๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สองหมื่นบาท) และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางวัดได้จัดสร้างฌาปนสถาน ๑ หลัง กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สิ้นเงิน ๑,๒๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนห้าหมื่นบาท) และซ่อมชั้นล่างของกุฏิตึกผู้ช่วยเจ้าอาวาสให้เป็นสำนักงานชั่วคราวของโรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพ สิ้นเงิน ๕๕,๐๐๐.๐๐ บาท (ห้าหมื่นห้าพันบาท)
อนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางวัดได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารโรงเรียนศูนย์วิชาชีพซึ่งขณะนั้นดำเนินการก่อสร้าง
บรรดาถาวรวัตถภายในวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้นอกจากพระอุโบสถ และพระปรางค์แล้ว ปรากฏว่าได้สร้างขึ้นในยุคพระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง) เป็นส่วนมาก และเจ้าอาวาสองค์อื่น ๆ ต่อมาจนถึงองค์ปัจจุบันก็ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ติดต่อกันมาโดยลำดับ
โดยที่วัดกษัตราธิราชวรวิหารเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาแต่โบราณกาล จึงปรากฏว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้มีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้ อาทิเช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เคยเสด็จมาแระทับแรมเมื่อครั้นทรงผนวช ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จเถลิงวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดนี้พร้อมกับวัดอื่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยารวม ๕๐ วัดด้วยกัน
ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้หลายครั้ง แต่ที่ปรากฏโดยหลักฐาน ๒ ครั้ง คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ครั้งหนึ่ง และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ อีกครั้งหนึ่ง และทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานหินอ่อนมาปูพื้นพระอุโบสถด้วย
ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรวัดกษัตราธิราชเป็นการส่วนพระองค์เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ทรงบริจาคเงินบำรุงบูรณะวัด ๕๐๐ บาท (ห้าร้อยบาท)
เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้พระราชทานเงินบำรุงวัด ๑๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาท)
เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้ พระราชทานเงินบำรุงวัด ๓๕,๐๐๐.๐๐ บาท (สามหมื่นห้าพันบาท)
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระวิหารคู่และทรงเททองหล่อพระพุทธลีลาจำลอง พระราชทานเงินบำรุงวัด ๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สองหมื่นบาท)
ทั้งนี้ นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ซึ่งจัดได้เป็นเกียรติประวัติแก่วัดกษัตราธิราชวรวิหารสืบต่อไปชั่วกาลนาน
เนื่องจากวัดกษัตราธิราช เป็นวัดที่มีความสำคัญดังกล่าวแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นไป ตามแจ้งความกระทรวงศึกษาธิการเรื่องยกวัดราษฎร์ เป็นอารามหลวง ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๔ ตอนที่ ๒๓ วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๐ หน้า ๑๒๖๑ นับเป็นพระอารามหลวงลำดับที่ ๙ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในบรรดาพระอารามหลวงทั้งหมด ๑๓ วัดด้วยกัน
สิ่งสำคัญภายในพระอาราม
ปูชนียวัตถุ
๑. พระพุทธปฏิมาป่ระธาน ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น นั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย
ศิลปสมัยอยุธยา ๑ องค์ กับพระพุทธรูปปูนปั้นนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย รอบพระประธาน รวม ๖ องค์ โดยฝีมือช่างคนเดียวกัน ประดิษฐานอยู่เหนือแท่นไพที บนฐานชุกชีขนาดใหญ่เฉพาะแท่นของพระพุทธรูปเหล่านี้ มีผ้าทิพย์ปูนปั้นปิดทอง ลวดลายต่าง ๆ กัน ฝีมือประณีตงดงามลักษณะเป็นพระแท่นสิงหาสน์ รองรับรัตนบัลลังก์ (ประดับด้วยครุฑยุคนาคเรียงรายรอบ ๒ ชั้น) แท่นพระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะดังกล่าวนี้ กล่าวได้ว่า (มีที่วัดกษัตราธิราชเพียงแห่งเดียว) และปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้มาดูมาชมเป็นอย่างมาก พระพุทธรูปทั้งหมดนี้ ได้รับการซ่อมแซมมาครั้งหนึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๕ โดยกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติและได้รับการซ่อมในยุคนี้อีกครั้งหนึ่ง เฉพาะพระพุทธปฏิมาประธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธกษัตราธิราช”
๒. พระ

หมายเลขบันทึก: 415207เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 05:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไปถวายผ้าไตรมาหลายครั้งรู้สึกได้ถึงความเงียบและเป็นวัดที่เข้าไปแล้วเป็นสถานที่ๆศักดิ์สิทธิ์รับรู้ได้ด้วยตัวเองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท