จากใจผู้เขียน "บทความทำขวัญนาค" ตอนที่ 2 ปล่อยวาง


ประสบการณ์ของคนเรามีความต่างกันในโอกาส เวลา และความสามารถเฉพาะตัว

จากใจผู้เขียน

“บทความทำขวัญนาค”

ตอนที่ 2  ปล่อยวาง

โดย ชำเลือง มณีวงษ์
ผู้มีผลงานดีเด่น ด้านเพลงพื้นบ้าน รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547
 
         จากใจผู้เขียนในตอนที่ 2 นี้ ขอนำเอาคำว่า “ปล่อยวาง” มากล่าว คำนี้เหมาะสมที่ผู้ใหญ่ใช้สอนเด็ก ๆ รุ่นที่อ่อนวัยกว่า สำหรับผู้ที่กำลังว้าวุ่นรุ่มร้อนอยู่ในหัวใจ มีความเครียด มีความทุกข์อยู่ภายใน กำลังที่จะหาทางตัดต้นตอของความทุกข์เหล่านั้น มนุษย์ยังมีกิเลส (ความเศร้าหมอง) ครอบงำ มีสิ่งที่แอบแฝงอยู่ในใจแล้วทำให้ใจขุ่นข้อง เสมือนว่ามีความขุ่นมัวอยู่ในความสดใสไม่เป็นสุข มองอะไรขัดลูกตาไปหมด เพราะมีความยึดติดมากไป เมื่อมีความยึดติดมากไปก็เกิดเป็นทุกข์ตามมา ควรหาทางที่จะตัดความทะยานอยากได้ในสิ่งที่เกินกว่าธรรมชาติออกไปจากตัวตนบ้าง

                    

        ผมเคยได้กล่าวเอาไว้ในบทความ “ทำขวัญนาค” หลายตอนที่ผ่านมาแล้วว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ มีเกิดก็ต้องมีดับ มีสูงส่งก็ต้องมีตกต่ำ หรือพังสลายลงไป” ที่เห็นได้อย่างรูปธรรมชัดเจนที่สุด “เมื่อถึงวันที่เราสิ้นลมหายใจ สิ่งที่จะติดตามตัวเราไปคือบุญและบาปที่สร้างเอาไว้ในชาตินี้ หรือคุณงามความดีที่ได้สร้างไว้ในระดับมากน้อยจนถึงไม่มี แม้แต่ร่างกายก็ยังถูกเผาไหม้จนหมดสิ้น เหลือเพียงกระดูกให้ลูกหลานเก็บเอาไว้แทนตัว
        ผมมีอายุเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต ประสบการณ์ที่ผมได้รับผลกระทบมาหลายปี อาจพูดได้ว่าผมวนเวียนอยู่บนเวทีการแสดงมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 แล้วด้วยการร้องเพลงลูกทุ่งประเภทเพลงแหล่และเพลงในทำนองลิเก (ราชนิเกลิง) จนถึงฝึกหัดเล่นเพลงพื้นบ้าน 19 ชนิด ฝึกหัดทำขวัญนาคตามแบบฉบับครูกับคุณตาวัน มีชนะ วันหนึ่งผมได้พบพื้นที่ที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ตรงไปสู่ผู้ที่ใฝ่หาความรู้ ผมจึงยอมเสียเวลา เพื่อนำเอาอาชีพส่วนตัวที่ได้รับมรดกมาจาก คุณตาวัน มีชนะ นำเอามาเขียนบอกให้ผู้สนใจได้ยึดเป็นแนวทาง แนวทางหนึ่งในพิธีทำขวัญนาค เพื่อที่จะได้เรียนรู้รูปแบบที่ถูกต้องและได้เห็นการประกอบพิธีที่มีขั้นตอนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตามแนวทางของคุณตาวัน มีชนะ
        บางครั้งการนำเอาความจริงมาเปิดเผย ก็ได้รับการยอมรับยกย่องจากบุคคลกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่นำเอาเรื่องราวของเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเขา ซึ่งในประเด็นนี้ผมถือว่าตรงทางที่ผมได้เสียสละให้ด้วยความเต็มใจ เพราะเมื่อสิ้นผมไปแล้วยังมีคนรุ่นหลังที่ถอดแบบหรือเดินตามด้วยวิธีการนี้ได้อย่างสมภาคภูมิ แต่ก็อีกนั่นแหละ ในทุกความจริงที่เกิดจากประสบการณ์ของคน คนหนึ่งอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของคนทั้งหมดได้ ต้องขออภัย ตามวุฒิภาวะของการเรียนรู้ ผมไม่ใช่ผู้รู้ทุกเรื่องจนถึงขั้นสมบูรณ์แบบในตัวคนเดียว ผมยังต้องพึ่งพาผู้รู้ที่จะมาช่วยแนะนำในบางจุดที่อาจมีข้อบกพร่องเพื่อที่จะทำให้เกิดความสมบูรณ์
        ผมยังประทับใจในตัวหมอขวัญรุ่นหลัง ที่มีพื้นเพอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ 2 คน จังหวัดนครสวรรค์ 3 คน จังหวัดกำแพงเพชร 1 คน จังหวัดระยอง 1 คนและที่เป็นกุ๊กทำอาหารอยู่ในกรุงเทพฯ 2 คน บางคนสู้อุตส่าห์เดินทางมาหาผมที่ดอนเจดีย์ เพื่อขอความรู้ในพิธีทำขวัญนาค ผมให้แนวทางพวกเขาไปโดยไม่มีข้อปิดบัง หลาน ๆ ที่เป็นหมอขวัญรุ่นใหม่ ๆ ขอบทเพลงที่ผมร้องมา ผมก็ลงไปให้โดยเผยแพร่เป็นสาธารณะประโยชน์ในเว็บไซต์ Gotoknow.org และที่เว็บไซต์ youtube.com ให้เป็นภาพรวมไปเลย ผู้ใดที่มีความสนใจก็สามารถนำเอาไปใช้ได้ มีบางเพลงขอสงวนเพื่อเหลือเอาไว้เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวเพราะว่าถ้าให้ไปทั้งหมดทุกเพลง เมื่อเวลาผมร้องแล้วมีคนถามว่า “ทำไมอาจารย์จึงเอาเพลงที่หมอขวัญรุ่นใหม่เขาร้องมาร้องละ ไม่มีเพลงของตัวเองหรือ” ตอบยากเพราะเราก็ร้องเพลงของเราอยู่นี่
        มีผู้แสดงความเห็นแบบขาดความเข้าใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมาหลายข้อความ ผมต้องลบออกไปจากระบบ ผมอยากให้ร่องรอยนี้ถูกเติมแต่งอย่างสร้างสรรค์ ถ้าถามว่า “ครูชำเลือง มณีวงษ์” เคยทำอะไรผิดบ้างไหม ในสิ่งที่มีความรู้ มีบ้างหลายครั้งเชียว “แล้วทำอย่างไร” ก็ขออภัย ถ้าแก้ไขได้ทันผมจะเร่งรีบปรับปรุงแก้ไขในทันที ไม่ต้องรอจนมีผู้อื่นมาพบแล้วเตือนว่า ผมแสดงความไม่รู้หรือปล่อยไก่  
        บางครั้ง “การปล่อยวาง” การรู้จักปิดหูปิดตาเสียบ้างก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าสิ่งที่เราเห็นอยู่ตำตามีข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไข ปล่อยเอาไว้จะกลายเป็นความตกต่ำ การเปิดหูเปิดตามองโลกกว้างก็จะเป็นการช่วยกันจรรโลงสังคมให้คงอยู่ด้วยขนบประเพณีที่ดีไปอีกยาวนาน วันนี้ความเจริญเข้ามาสู่สังคมไทยโดยภาพรวมอย่างรวดเร็ว ทางสว่างกลายเป็นความมืด ทางสงบกลายเป็นความสนุกสนาน ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่คนในสังคมเป็นผู้ตัดสินใจเป็นผู้เลือกเดินทางตามเป้าหมายที่ต้องการ หากเป็นความสร้างสรรค์การปล่อยวางก็เป็นสิ่งที่คนสูงวัยควรกระทำ เพราะจะได้มีเวลาพักสมองและคิดในสิ่งอื่น ๆ บ้าง แต่ถ้าสิ่งที่เรารู้เราเห็นกำลังจะนำสังคมไปในทางไม่สร้างสรรค์ การปล่อยวางก็เป็นโอกาสให้ผู้ที่จะกระทำตามอำเภอใจหรือกระทำความผิด คิดที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ยึดกฎเกณฑ์ ไม่ยึดที่มาหรือรากเหง้าของแผ่นดินไปจนถึงดูหมิ่นคนรุ่นเก่าที่เป็นต้นกำเนิด
        เมื่อถึงวันแห่งการสูญเสีย ใครจะเป็นผู้ที่เข้ามารับผิดชอบ คำบางคำ สถานการณ์บางสถานการณ์ควรใช้ควรปฏิบัติให้เหมาะสมกับกาลเวลา ผมสอนลูกศิษย์ให้มีความรักเคารพในผู้ให้กำเนิด ให้พวกเขาเคารพครู อาจารย์ทุกคนและเรียนรู้ในสิ่งที่ดีมีคุณค่าให้ได้มากที่สุด เพราะประสบการณ์ของคนเรามีความต่างกันในโอกาส เวลาและความสามารถเฉพาะตัว ครับ

                       

        ติดตามอ่านบทความ “ทำขวัญนาค” ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนการดาวน์โหลดต้องรออีกสักระยะหนึ่งครับ คลิ๊กที่  http://www.portal.in.th/blogtobook/  เว็บไซต์ดาวน์โหลดหนังสือ http://gotoknow.org/blog/chamluang/362782  และที่เว็บ Portal in Thailand : http://portal.in.th/kwannak/pages/13087/  (16 ธ.ค. 2553)

 

หมายเลขบันทึก: 414183เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2010 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท