ปฏิบัติการ..การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกต้องประจำหน่วยเลือกตั้ง


เลือกตั้งซ่อม 12 ธันวาคม 2553

ปฏิบัติการ..การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกต้องประจำหน่วยเลือกตั้ง

8 ธันวาคม 2553

                วันนี้เป็นวันแรกของภารกิจเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2553 ที่จะถึงนี้

                ครูโอ๋ มาถึงหอประชุมประชาคม ตั้งแต่ 10:00 น พร้อมครูวิโรจน์ ธิราชัย ที่เคยเป็นอดีตครู ศรช.ที่เสนา แต่ตอนนี้ยกฐานะย้ายไปเป็นครูโรงเรียนเทศบาลเจ้าเจ็ดแล้วค่ะ ในหอประชุมพบตัวเองเป็นครู กศน.หัวโด่ อยู่คนเดียว ไม่เข้าพวกอีกแล้ว เพราะส่วนใหญ่ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการครู มีประชาชนทั่วไปปะปนอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น

                ย้อนกลับไปตอนสมัย ครูโอ๋ เรียนรัฐศาสตร์ ที่ ม.รามฯ ตอนนั้นคลั่งรัฐธรรมนูญปี 2540 มากเพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ฉบับแรก รู้สึกภาคภูมิใจตอนไปร่วมชุมนุมกิจกรรมต่างๆเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 นั้น สัญลักษณ์สีเขียวค่ะ
               ต่อมามีการเลือกตั้งโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ครั้งแรก ครูโอ๋รีบไปเสนอตัวอาสาเป็น กปน.(กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง) ก่อนใครในหมู่บ้านเลย  ในครั้งนั้นไม่ค่อยมีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้องในหน่วยเลือกตั้งเลยตั้ง  มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย  แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ตำรวจ และชาวบ้านช่วยกันทำ และดูแลการเลือกตั้งจนจบ ก็ไม่เห็นมีข้อผิดพลาดอะไร การทำงานของชาวบ้านก็ตั้งใจกันมาก และรักษาระเบียบการเลือกตั้งเคร่งครัดมาก

                แต่มาระยะหลังนี้ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร กปน.ส่วนใหญ่จึงใช้แต่ข้าราชการครู และมีแต่ครูโรงเรียนในระบบ ด้วยความที่ทำงานเกี่ยวกับหน่วยเลือกตั้งมานาน ถึงอายุยังน้อย ก็พอเห็นอะไรมาหลายอย่าง จึงรู้ว่า มันมีข้อแตกต่างระหว่างสมัยก่อนกับสมัยนี้อยู่มาก 

                พอมาทำงานกับครูในระบบ โดยส่วนตัวรู้สึกอึดอัด ไม่แน่ใจว่าเพราะเราเป็นครูนอกระบบหรือเปล่า ส่วนรู้สึกอึดอัดอย่างไรไม่ขอวิพากษ์เพราะเป็นทรรศนะส่วนตัวจริงๆ

                ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติในครั้งนี้ ได้รับค่าตอบแทนการทำงานตลอดรายการ หลายร้อยอยู่แต่ไม่ถึงพันบาท ไม่มากไม่น้อย แต่เหนื่อยสุดๆ เรียกว่าคนที่มาทำงานแบบนี้น่าจะเสียสละมากกว่าหาประโยชน์ใส่ตนได้นะ ส่วนการอบรมในวันนี้จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ค่ะ

                ข้อปฏิบัติในหน่วยเลือกตั้งที่น่าสนใจ ง่ายๆ พอจะสรุปได้ ก็มีอยู่ว่า

  1. บัตรประชาชนที่หมดอายุนำมาใช้ได้นะค่ะ แต่ถ้าเป็นบัตรอื่น เช่น ใบขับขี่รถยนต์ แต่หมดอายุ หรือ บัตรข้าราชการหมดอายุ ใช้ยื่นในคูหาเลือกตั้ง เพื่อขอลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้ค่ะ
  2. ต้องมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ใช่คนไทยแต่กำเนินต้องมีสัญชาติไทยก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี
  3. มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วัน

บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  1. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  2. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  3. ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของเรานั้น เลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 มีผู้สมัครลงเลือกตั้ง 3 คน

เบอร์ 1 นายองอาจ วชิรพงศ์                              สังกัดพรรคเพื่อไทย

เบอร์ 2 นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร                       สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

เบอร์ 3 นางกาญจน์มณี ทรัพย์พันธ์ สังกัดพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย

12 ธันวาคม 2553

วันเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ

                เรา มาถึงหน่วยเลือกที่ 7 หมู่ 8 ต.สามกอ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่เช้า ประมาณ 7 โมง เพื่อจัดคูหา เลือกตั้งและเตรียมการหลาย บรรยากาศการเลือกตั้งเงียบเหงา ผู้คนทยอยมาเรื่อยๆ ครั้งละคนสองคนในช่วงเช้า ผ่านไปครึ่งวันมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 130 คนเท่านั้น ช่วงบ่ายเราสังเกตว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งหนาตา ขึ้นและมาเป็นกลุ่มๆ ไม่ได้กระจายกันมาเหมือนตอนเช้า

                หมดเวลาเลือกตั้ง ตอนบ่าย 3 โมงเย็น เราเริ่มนับคะแนนที่คูหา มีประชาชนมาฟังการับคะแนนน้อยมาก แต่ผลการนับคะแนน ของ หน่วยเลือกตั้งที่ 7 หมู่ 8 ก็ออกมาดังนี้ค่ะ

                เบอร์ 1 ได้ 168 คะแนน

                เบอร์ 2 ได้   96 คะแนน

                เบอร์ 3 ได้   10 คะแนน

                บัตรเสีย        3  ใบ

                บัตรดีแต่ไม่ประสงค์ลงคะแนน 38 ใบ

รวมแล้วมีคนมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 315  คน บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 500 คน  คิดเป็นร้อยละ 60

                แต่คะแนนอย่างเป็นทางการจากทั้งจังหวัดรู้สึกว่า เบอร์ 2 คุณเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร จะเป็นผู้ชนะค่ะ ต้องขออภัยที่ไม่ทราบข้อมูลว่าชนะกันกี่คะแนน

                เป็นที่น่าสังเกตว่ามีผู้ไม่สงค์ลงคะแนนถึง 38 คน จากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 500 คน คิดเป็นร้อยละ 8  ในร้อยคนมี 8 คนที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน ถ้าคุณเป็นนักการเมืองตัวยง คงไม่ลืมคนกลุ่มนี้นะค่ะ ถือว่าเยอะพอสมควร บางทีคุณต้องมีวิธีที่จะชนะใจคนกลุ่มนี้ให้ได้ อาจจะช่วยพลิกเกมส์ทางการเมืองขึ้นมา (หนึ่งเสียงของทุกคนมีค่า มีความหมาย รับฟังเสียงส่วนน้อยบ้างก็ดีนะค่ะ เพราะบางทีคนส่วนใหญ่อาจจะผิดก็มีถมไป)  นี่ก็เป็นเพียงอีกมุมมองหนึ่งของคนที่ทำงาน กปน.มาหลายครั้งแล้วเก็บมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 414073เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2010 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ขอบคุณพี่แหม่มเสนาที่ซู๊ด...ที่มอบความรักให้ตลอดปี

ขอให้รักน้องคนนี้ตลอดไปนะค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท