กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างปรเทศ


ธุรกิจการเงินระหว่างประเทศ
ความหมายและความสำคัญของธุรกิจการเงินระหว่างประเทศ
ธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business)
ความหมาย : ธุรกิจระหว่างประเทศเป็นกิจกรรมทางการค้า การผลิต และการลงทุนที่กระทำระหว่างท้องถิ่นหนึ่งกับอีกท้องถิ่นหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การปกครอง และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน หรือกิจการที่มีการดำเนินงานข้ามเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า และ บริการ การเคลื่อนย้ายเงินทุน บุคลากร วิทยาการ หรือ การแนะนำให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงานในต่างประเทศ โดยมีเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินและธนาคารเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกทางด้านการเงินต่างๆ เช่น การชำระค่าสินค้า การโอนเงิน การเรียกเก็บเงิน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเงินตราและการประกันความเสี่ยง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ธุรกิจต่างๆที่ดำเนินการระหว่างประเทศ จะต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีธุรกิจระหว่างประเทศเกิดขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้น ก็จะหาเงินตราสกุลที่เป็นที่ยอมรับมาใช้ซื้อ-ขาย รับชำระหรือจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการ จึงอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจระหว่างประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากเท่าใด การธนาคารระหว่างประเทศก็เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากการเงินและการธนาคารระหว่างประเทศ เกิดขึ้นเพื่อบริการแก่การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศเป็นสำคัญนั่นเอง
ความสำคัญ : ธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งมีการค้าระหว่างประเทศ การผลิตในต่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ มีบทบาทมากขึ้นในการเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในแต่ละประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยให้ประชาชนทั่วโลก สามารถบริโภคสินค้าต่างๆ ได้หลายชนิด ทั้งที่ผลิตเอง และไม่สามารถผลิตได้เอง
การจัดการทางการเงิน เน้นในเรื่องวิธีการที่จะตัดสินใจทางการเงินของบริษัท เช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน โครงสร้างเงินทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล และการบริหารเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของบริษัทที่ตั้งไว้ สำหรับประเทศพัฒนาแลัว ซึ่งตลาดทุนได้รับการพัฒนาในระดับสูง การสร้างความมั่งคั่งสูงสุดสำหรับผู้ถือหุ้น ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญของกิจการ อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามว่า ทำไมจึงจำเป็นต้องศึกษา ถึงเรื่องการเงินระหว่างประเทศ ตอบคำถามข้อนี้แบบตรงไปตรงมาคือ ปัจจุบันนี้เราอยู่ในเศรษฐกิจโลกที่มีการรวมตัวกันสูง และมีลักษณะของโลกาภิวัตน์สูงนั่นเอง การเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้รูปแบบการบริโภคทั่วโลกเป็นแบบไร้พรมแดนมากขึ้น จะเห็นได้จากที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้น้ำมันดิบจากการนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย และไนจีเรีย โทรทัศน์และเครื่องใช้อิเล็คโทรนิคส์ต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่น รถยนตร์จากเยอรมันนี เสี้อผ้าจากประเทศจีน รองเท้าจากอินโดนีเซีย และไวน์จากประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่สหรัฐฯ เองก็ส่งสินค้าต่างๆที่ผลิตได้ไปขาย เช่น เครื่องบิน ซอฟท์แวร์ ภาพยนตร์ ยีนส์ ข้าวสาลี เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน การผลิตสินค้าและบริการก็มีความเป็นโลกาภิวัตน์สูงด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามอย่างไม่ลดละของบริษัทข้ามชาติ ในการแสวงหาวัตถุดิบ และแหล่งที่จะผลิตสินค้าทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดต่ำลง และกำไรเพิ่มสูงขึ้น เช่น บริษัท IBM ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีสู่ตลาดโลก อาจมีโรงงานประกอบชิ้นส่วนในมาเลเซีย โดยนำส่วนประกอบจากแหล่งต่างๆ เช่น จอมอนิเตอร์ที่ผลิตในไต้หวัน คีบอร์ดจากเกาหลี ชิพจากสหรัฐฯ และซอฟท์แวร์ที่พัฒนาโดยวิศวกรอินเดีย และอเมริกัน เป็นต้น เราจะพบว่าปัจจุบันแนวโน้มที่สินค้าจะผลิตจากแหล่งเดียวทั้งหมด มีน้อยลงเต็มที
ในช่วงทศวรรษหลังๆ นี้ ด้านตลาดการเงินระหว่างประเทศ มีการรวมตัวกันสูงขึ้น ด้วยพัฒนาาการน ้ทำให้นักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ ไปในตลาดระหว่างประเทศต่างๆ ในทศวรรษที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนสหรัฐฯได้เทเงินทุนจำนวนมหาศาลเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในรูปกองทุนรวม (Mutual Funds) เมื่อเดือนเมษายน 1996 สินทรัพย์รวมของกองทุนดังกล่าวได้ขึ้นสูงถึง 148.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่มีอยู่เพียง 2.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 1985 ในขณะเดียวกัน นักลงทุนญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนอย่างหนักในตลาดเงินสหรัฐฯ และตลาดต่างประเทศเพื่อใช้เงินส่วนที่เกินดุลการค้าจำนวนมากออกไป นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น IBM, Daimler-Benz, Sony ได้มีหุ้นออกจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งทำให้หุ้นชองบริษัทเหล่านั้น มีการซื้อขายและระดมเงินทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า บริษัท Daimler-Benz ที่เข้าไปลงทุนในจีน เงินทุนส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนอเมริกัน ซึ่งซื้อหุ้นที่ออกจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค ไม่น่าสงสัยเลยว่าปัจจุบันซึ่งเราอยู่ในโลกซึ่งหน้าที่ทางเศรษฐกิจหลักทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นการค้า การผลิต และการลงทุน มีความเป็นโลกาภิวัตน์สูง จึงจำเป็นที่ผู้บริหารการเงินจะต้องทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดการการเงินในมิติระหว่างประเทศด้วย ดังนั้น การมีความรู้ในเรื่องนี้จะมีประโยชน์ 2 ประการหลักคือ
1. สามารถช่วยผู้บริหารทางด้านการเงินตัดสินใจในเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นว่าจะมีผลกระทบต่อบริษัทอย่างไร และ ควรจะใช้กลยุทธ์ใดที่จะแก้ไขสถานการณ์หรือป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัท
2. ช่วยให้ผู้บริหารสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตได้ และ สามารถดำเนินการหรือตัดสินใจที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์และ เป็นผลกำไรของบริษัทก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆจะเกิดขึ้น เช่น การคาดการณ์ในอัตราแลกเปลี่ยน, อัตราดอกเบี้ย, อัตราเงินเฟ้อ และ รายได้ประชาชาติ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในด้านการเมือง
ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศ
แม้ว่าจะสามารถเข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศแล้วก็ตาม แต่อาจยังคงข้องใจว่า อะไรเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศ ว่าการเงินระหว่างประเทศ แตกต่างจากการเงินในประเทศอย่างไร ในประเด็นดังกล่าวนี้พบว่ามีปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ

1) ความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงทางการเมือง
2) ความไม่สมบูรณ์ของตลาด และ
3) โอกาสที่เปิดกว้างขึ้น

ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ประเทศต่างๆ มีสิทธิและอำนาจที่จะผลิตเงินตราออกมาใช้ กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของตนเองขึ้นมา กำหนดรูปแบบการจัดเก็บภาษ ีและอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ และระเบียบข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน สินค้า และเงินทุนระหว่างประเทศนั่นเอง
ดังนั้น การเงินและการธนาคารระหว่างประเทศ มีความสำคัญต่อนักธุรกิจ หรือ ผู้บริหาร นักลงทุน และต่อประชาชนทั่วๆไปของประเทศในทุกระดับ เนื่องจากการเงินระหว่างประเทศนั้น เกิดขึ้นอำนวยความสะดวกแก่การผลิต การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน หากขาดการเงินแล้วการดำเนินการลงทุน และการค้าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย การแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า Barter System นั้น จะต้องมีความต้องการในสินค้า และ ปริมาณซึ่งเป็นที่เห็นพ้อง และพอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย อันจะเกิดขึ้นได้ยาก โดยในปัจจุบันนี้เศรษฐกิจมีความก้าวหน้าขึ้นมาก การค้าขายระหว่างประเทศโดยแท้จริง มีทั้งการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า แต่โดยส่วนใหญ่นั้นการค้าจะต้องมีการชำระเงินค่าสินค้าด้วยเงินตรา ผู้ขายสินค้าหรือบริการ จะต้องยอมรับสินทรัพย์ทางการเงินบางชนิด ที่เขาเต็มใจจะถือไว้ หรือสามารถนำไปใช้ซื้อขายสินค้าต่อไปได้
ที่มา :
หมายเลขบันทึก: 41386เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • รออ่านอีกครับ
  • พิมพ์    ระหว่างปรเทศ       ผิดครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท