“แค่นั่งเบ่งอุจจาระเบาๆ..ก็เกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์แล้ว”


และแล้วประสบการณ์บางส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแบ่งปันตามที่ผมสัญญากับตนเองไว้ในที่นี้เรียบร้อยแล้ว หากท่านมีข้อเสนอแนะหรือสงสัยอะไรเพิ่มเติมกรุณาพิมพ์มาจะเป็นพระคุณอย่างสูง

 

                เมื่อจบการปฏิบัติวิปัสสนาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ ๓ ของการมาเยือนศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา จ.พิษณุโลก ถือว่าเป็นศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางของโกเอ็นก้า ซึ่งแน่นอนย่อมสร้างความมั่นใจของผมยิ่งขึ้นต่อประสบการณ์ตรงของผมเองต่อคำกล่าวที่ว่า “จงรู้จักตนเองๆ” โดยบรรดานักปราชญ์และผู้ที่เป็นอริยบุคคลในอดีตกาลหลายยุคหลายสมัยมักพูดถึงเสมอมา ยกตัวอย่างเช่นนักปรัชญาจีน หลี่ปุ๊เหว่ย กล่าวว่า “..ก่อนที่จะเอาชนะคนอื่น...จะต้องเอาชนะตนเองให้ได้เสียก่อน ก่อนที่จะว่าคนอื่น...ควรพิจารณาดูตัวเองเสียก่อน ก่อนที่จะรู้จักคนอื่น..ควรรู้จักตนเองเสียก่อน” หรือจะเป็นคำกล่าวของ เหล่าจื้อ ว่า “ผู้ที่รู้จักคนอื่นเป็นคนลาด...ผู้ที่รู้จักตนเองเป็นคนมีสติ” และก็ถึงเวลาสักครั้งที่จะแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากมุมมองของชาวพุทธคนหนึ่ง ที่ถือว่าตนเองได้มีประสบการณ์การเยียวยาผู้ที่เจ็บป่วยทางกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณมาพอสมควรแต่นั่นเป็นบทบาทของแพทย์แผนปัจจุบันและตะวันออกที่ควรเป็นเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึง “แพทย์ทางจิตวิญาณ” ซึ่งน่าจะเพิ่มพลังของ “จิตวิญญาณความเป็นแพทย์” ขึ้นมามากๆเรื่อยๆในอนาคต

 

                การอบรมนี้สอนอะไรบ้าง ก็ขอตอบเป็นภาษาง่ายๆที่ทุกท่านโดยเฉพาะผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนทราบดี คือ การสอนธรรมะในขอบเขตเดียวกันกับที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนหรือแสดงให้เห็น ซึ่งก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ครับ โดยองค์ประกอบสามส่วนนี้มุ่งเน้นเพื่อให้เข้าถึง การดับทุกข์ หรือพ้นทุกข์อย่างถาวร และก็อย่างที่ทราบ “ทุกข์” ก็คือเป้าหมายสูงสุดที่เราจะพยายามเอาชนะให้ได้ในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกันเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีผลของมัน “ทุกข์” ก็ต้องมีเหตุของมันเช่นกันและท่านก็ทรงตรัสสอนเพื่อให้เราพยายามเข้าใจเหตุแห่งทุกข์หรือ “สมุทัย” ให้ดีจะได้แก้ไขได้ถูกจุด และเมื่อเราพยายามแก้ไขอย่างถูกจุดในเส้นทางหรือวิถีทางแห่ง ศีล สมาธิ และปัญญา หรือ “มรรค ๘” แล้ว เราก็จะไปถึงจุดหมายคือความดับแห่งทุกข์หรือ “นิโรธ” นั่นเอง (อริยสัจ๔ คือ “ความจริงอันประเสริฐ” ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและ มรรค)   

 

กล่าวเพิ่มเติมสั้นๆ ต่อเรื่องหนทางการดับทุกข์ “มรรคมีองค์ ๘” ว่าสามารถแบ่งออกเป็น ๓ หมวดดังได้กล่าวข้างต้น กล่าวคือ ให้อ่านต่อที่ “เมื่อจิตสงบ..ก็จบสบาย” ซึ่งก็ขอความกรุณาย้อนกลับไปอ่านถ้าต้องการนะครับ โดยในผู้เริ่มปฏิบัติธรรม “ศีล”ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าด้าน”สมาธิ” และ”สมาธิ”มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของ”ปัญญา” เมื่อปฏิบัติต่อๆไปทั้ง ๓ องค์ประกอบจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน

 

หลักสูตรที่ผมอบรมนี้เป็นหลักสูตรพื้นฐาน ๑๐ วัน มีการรักษาศีล ๕ ในผู้ปฏิบัติใหม่ และรักษาศีล ๘ ในผู้ปฏิบัติเก่า(ผ่านหลักสูตรนี้แล้วอย่างน้อย ๑ ครั้ง โดยต้องอยู่ครบ ๑๐ วันโดยไม่ออกก่อนกลางครัน) ศีล ๘ คือเพิ่มเรื่อง การไม่ใช้ของหอมเครื่องประดับ การไม่ทานอาหารหลังเที่ยงวันยกเว้นน้ำปานะ และการนอนบนพื้นราบไม่สุขสบาย(ทางโลก) นั่นเอง โดยจะมีการรับศีลในคืนวันแรกที่ไปถึง (วันที่ ๐) และในเวลาเดียวกันนั้นเองเพื่อการง่ายต่อการรักษาศีลทั้งหมด กฎเหล็กที่หลายๆคนกังวลและเกรงขามคือ”การเงียบทางวาจา” และ “การไม่ติดต่อสื่อสารกัน” ทั้งการสัมผัส การมองตา การส่งสัญญาณต่างๆ ตลอด ๙ วันเต็มก็เริ่มขึ้น ก็เพื่อให้ไม่ผิดศีล และ รู้จักตนเองให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

 

การฝึกเพื่อให้รู้จักตนเอง คือการผ่าตัดจิตใจของตัวเองด้วยตนเอง(เท่านั้น) ระยะเวลา ๑๐ วันมีขั้นตอนที่แยบคาย ในด้านสมาธิ

(สมถะกรรมฐาน) เพื่อเตรียมจิตใจ(วันที่ ๑ ถึง ๓) และด้านสติ(วิปัสสนากรรมฐาน) (วันที่ ๔ ถึง ๙) เพื่อการผ่าตัด ส่วนวันที่ ๑๐ นั้นอนุญาตให้พูดคุยได้ เป็นการเย็บปิดแผล ดังนั้นการออกจากห้องผ่าตัดกลางครันจึงไม่ได้รับอนุญาต เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้วยังจะเป็นโทษร้ายแรงได้คืออาจจะทำให้แผลไม่สมานดีพอที่จะเผชิญโลกภายนอก ไม่เข้าใจวิธีการดูแลจิตใจต่อเนื่องอย่างครบถ้วน (ตัดสินใจให้แน่ก่อนในเย็นวันที่ ๐ ท่านสามารถเปลี่ยนใจกลับบ้านได้ในเย็นวันนั้นเอง)

การปฏิบัติธรรมที่นี่มีข้อพิเศษหรืออาจจะเรียกว่าข้อต่างจากการปฏิบัติธรรมที่อื่นๆ คือ ต้อนรับผู้ปฏิบัติทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกเพศ ทุกภาษา ไม่จำกัดว่าธรรมะนั้นโดยเฉพาะพุทธธรรมเป็นความจริงอันสูงสุด ย่อมเป็นสิ่งสากลที่ใครก็สามารถยึดเอาเป็นหลักพัฒนาชีวิตได้ และธรรมะ ก็คือธรรมชาติ ย่อมสามารถเข้าใจได้โดยคนธรรมดาๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีความเชื่อศรัทธาในศาสนาหรือลัทธินิกายนั้นๆที่จะเป็นผู้เข้าถึงเข้าใจเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีพิธีกรรม ไม่มีการสวดมนต์ ไม่มีการกราบไหว้รูปเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เอาใจใส่แต่กับจิตกับใจที่พัฒนาคุณความดี หรือปัญญาภายในตนเอง(ภาวนามยปัญญา) เท่านั้น  ..นี่ก็ ๓ ครั้งแล้ว ในวันที่จบหลักสูตร ผมสังเกตเห็นได้ว่าทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติ ศาสนาพูดคุยแลกเปลี่ยนยิ้มแย้มแจ่มใสแลกการติดต่อกันในบรรยากาศแห่งมิตรภาพอย่างมากไม่ติดค้างความมีอัตตา หรือมีก็น้อยมากๆครับ แลดูมีชีวิตชีวามีความมุ่งมั่นมีกำลังใจในชีวิตอย่างมาก แม้ว่าการรู้จักตนเองจะไม่สามารถวัดได้ว่าเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดในแต่ละคน ซึ่งสิ่งนี้ขึ้นกับความตั้งใจ ความเพียร ความอดทน ความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกันตามภูมิธรรมของแต่ละคนครับ อีกสิ่งหนึ่งในการวิปัสสนาที่นี่จะเป็นการนั่งขัดสมาธิตลอดเกือบทั้งวัน (ประมาณ ๗ ชั่วโมงต่อวัน) ใน ๒ สุดท้ายเท่านั้นที่มีเพิ่มขึ้นจากการนั่งคือไม่ว่าจะทำอะไรทุกอย่าง ก็ให้พยายามกำหนดรู้ (ไม่ช้าเหมือนเต่าหรือหอยทาก) ทำไปตามธรรมชาติอะไรเกิดก็จะรู้เอง

สำหรับผมเองยอมรับว่ามีความตั้งใจ เอาใจใส่ต่อการปฏิบัติมากในครั้งนี้ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าครั้งแรกและครั้งที่ ๒ อย่างมากโดยจะขอเล่าประสบการณ์ตรง เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาว่าเห็นสอดคล้องหรือแตกต่างกันอย่างไร ตรงกับสิ่งที่ท่านประสบอยู่หรือไม่อย่างไรทั้งในการอบรมที่นี่หรือที่อื่นๆ ดังต่อไปนี้ โดยจะไม่ขอกล่าวถึงเทคนิควิธีการมากเพราะท่านผู้อ่านที่เข้าใจไม่ตรงกันอาจจะเกิดผลเสียตามมา (หากอย่างรู้ก็ขอแนะนำให้ไปปฏิบัติดูเอาเองนะครับ)

 

                “ขอบคุณกลิ่นเหม็นกับการสังเกตลมหายใจ” ท่านคงทราบบ้างว่ากลิ่นนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนได้ต่อการวางอุเบกขา มากกว่าเวทนาทางร่างกายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น เจ็บปวด ชา ร้อน หนาวสั่น คัน ฯลฯ เพราะแม้ว่าท่านจะนั่งหลับตา (สงบอายตนะทางตา) นิ่งเฉยๆเป็นพระพุทธรูป (สงบอายตนะทางกาย) รักษาความเงียบ (สงบอายตนะทางหู) ไม่ได้เคี้ยวอะไร (สงบทางลิ้น) แต่ท่านก็ต้องหายใจเพื่อไม่ให้เซลล์ชีวิตนับล้านๆๆขาดอากาศ กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ หรือพึงประสงค์(น้อยมากเพราะรักษาศีล ๘) ย่อมมากระทบและตรงเข้าสู่สมองส่วน Amygdala ซึ่งเป็นสมองส่วน Limbic ที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ อย่างรวดเร็ว แล้วก็ถูกตีความอย่างรวดเร็วเช่นกันว่าไม่ชอบไม่พอใจ ทำอย่างไรเมื่อ ชาวตะวันตกหรือชาวตะวันออกบางคนมีกลิ่นตัว ไม่แปรงฟันแถมคัดจมูกต้องหายใจทางปาก ....”เหลือจะทน...” ในใจ (มีแต่ความเร่าร้อน) ..”..เหม็นได้อีก..ๆๆ หากแค่ตดยังพอว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะตดตลอดทั้งชั่วโมง  แต่นี่ซิ..” ขณะนั้นเองผมมีอารมณ์ต่างๆ พร้อมทั้งเวทนาทางกายหลายชนิดให้สังเกต ก็สอดคล้องกันดีครับ อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในจิต สิ่งเหล่านั้นก็แสดงออกทางความรู้สึกทางกายตามลักษณะธาตุแห่งความคิดเช่นกัน ผมกลั้นหายใจไประยะหนึ่ง และก็พบว่ามันก็ยังไม่พ้นทุกข์ เพราะอย่างที่บอกเซลล์เราก็ขาดออกซิเจนในที่สุด อาการปวดขาเพิ่มขึ้น อาการชาที่ขาก็เพิ่มขึ้นจากกรดแลกติกที่คั่งอยู่ จิตใจซัดส่ายไม่เป็นสมาธิ .เอ้า..แล้วทำไงดีหล่ะทีนี้...ไปกันใหญ่..” จะเดินออกก็ไม่ได้เนื่องจากเป็นชั่วโมงบังคับ (ชั่วโมงอธิษฐาน) ทันใดนั้นเอง จังหวะแห่งสวรรค์ก็เกิดขึ้นมา ให้ผมได้ทำสมาธิได้ เป็นจังหวะแห่งปัจจุบันไม่แพ้ลมหายใจ ท่านคงเดาได้ว่านั้นก็คือ เสียงการเต้นของหัวใจผมเอง ไม่รีรอ..กำหนดรู้โดยไม่มีการบริกรรมอะไรทั้งสิ้น “...ตุ๊บๆ..ตุ๊บๆ..ตุ๊บๆ..ๆ.ๆ.ๆ.ๆ” จิตนิ่งแล้ว คมแล้วด้วยอุเบกขา เสียงหัวใจเริ่มหายไป ผมก็กลับมาที่ลมหายใจ ตำแหน่งที่สารเคมีไม่พึงประสงค์เหล่านั้นมากระทบ สังเกตต่อไปเลยครับด้วยจิตที่เป็นอุเบกขาอยู่ หายใจให้ถี่ขึ้น เพื่อพิสูจน์กลิ่น ระยะเวลาการเดินทางของกลิ่น ช่องว่างระหว่างกลิ่นที่โชยมาสัก ๓ ถึง ๔ รอบกลิ่น ซึ่งส่วนที่เป็นช่องว่างกลิ่นจะเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ และแล้วผมก็ได้เข้าใจว่ากลิ่นนั้นก็ไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นระยะๆของการหายใจของผู้ปฏิบัติคนนั้น และมันทำให้ผมรู้ว่าเค้าหายใจสั้นบ้าง ยาวบ้างเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ โดยเฉลี่ย ๑๕ ถึง ๒๐ ครั้งต่อนาที (เพราะเรารู้ว่านาทีหนึ่งเราหายใจกี่ครั้งเมื่อจิตสงบดี) สุดท้ายนี้ผมก็ไม่มีทุกข์ทั้งทางสติปัฏฐานทั้ง ๔ เนื่องด้วยปัญญาหยั่งรู้การกระทบกลิ่น และไม่ใช่กลิ่น สามารถเลือกที่จะรับอากาศที่บริสุทธิ์ หรือเข้าใจอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ทันท่วงทีครับ แล้วประสบการณ์ท่านหล่ะครับเป็นอย่างไรบ้าง     

 

                “ปวดต้นคออย่างแรง..ปวดกว่านี้มีอีกไหม” คนที่คอหักอาจจะตายไปแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ตายคงรู้ว่าความทุกข์ทรมานนั้นมีมากแค่ไหนครับ บางครั้งอาจจะปวดจนชาไม่รับรู้ความรู้สึกใดๆ หรือปวดมากเมื่อเปลี่ยนท่า หันคอ หันศีรษะจนต้องหยุดนิ่งๆ เพื่อไม่ให้เกิดการขยับตำแหน่งที่สบายที่สุดเท่าที่จะทนได้ ไม่ต้องพูดถึงคอหักเอาแค่ประสบการณ์นอนตกหมอน (ที่ท่านเข้าใจว่าเกิดจากการตกหมอน) ก็เป็นอาการปวดที่คนส่วนใหญ่ทนไม่ได้ต้องหยุดนิ่งเมื่อหันผิดท่าจริงหรือไม่ ผมเองก็มีอาการปวดต้นคอเล็กๆน้อยๆไม่ได้เกิดจากการตกหมอน แต่เกิดขึ้นกรณีที่ต้องเงยหน้าขึ้นสุดๆ เช่นเงยหน้ามองตึกสูงหรือเพดานมากตลอดหลายปี แต่ด้วยมันน้อยนิดก็คิดว่ากล้ามเนื้อมันคงตึงเกินไปในท่าเงยสุดๆเช่นนั้นจึงไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก บัดนี้มันแสดงให้ผมเห็นเด่นชัดขึ้นที่บริเวณเดียวกันนั้นเอง ทำอย่างไรหากเรานั่งนิ่งๆคอตรงๆ หายใจก็เบาๆ จิตก็สงบดี แต่อยู่ดีๆปวดคอมากๆๆๆๆ เหมือนถูกเครื่องจักรบดขยี้ที่ต้นคออย่างไม่ปรานี ความเจ็บปวดทรมานมีมาก หากจะให้คะแนน VAS (Visual Analog Scale) คะแนนเต็ม ๑๐ คือเจ็บปวดมากที่สุดที่จะเป็นได้ ก็ให้เต็มสิบหรือมากกว่าเพราะปวดเกินจินตนาการ ขณะนั้นในชั่วโมงวิปัสสนาอธิษฐาน ไม่มีการร้องขอหรือเดินออก เปลี่ยนท่าใดๆทั้งสิ้นทุกชีวิตนั่งสงบราวกับเป็นพระพุทธรูป ร้องรึ...ไม่มีทาง เสียงเตือนของท่านโกเอ็นก้าดังก้องกังวานในห้วงจิตนั้นของผม “..จงมีสติอยู่ทุกขณะจิต...จงมีอุเบกขา..จงมีสติ..จงมีอุเบกขา..” แข็งใจหายใจแรงขึ้นยาวขึ้นเพื่อดึงสติ และทำอารมณ์ให้ปล่อยวาง “อุเบกขา” ทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ชีวิตร่างกาย เนื้อเยื่อ ทุกๆส่วนที่เป็นตัวเรา ของเรา ดึงจิตให้สูงขึ้นสงบขึ้น เฝ้าดูๆ ๆ ..เท่านั้นว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับต้นคอบริเวณนั้น ซึ่งไม่ใช่ต้นคอของเรา จะว่าไปแล้วไม่ใช่ต้นคอด้วยซ้ำ เพราะคำว่า “ต้นคอ” เราเองก็คิดมันขึ้นมา มนุษย์เรา คนไทย ภาษาไทยมีขึ้นมาเพื่อเรียกบริเวณนั้นเท่านั้นเอง งั้นก็เอาใหม่ เฝ้าดูๆ ๆๆ อย่างสงบอย่างเป็นกลางต่อบริเวณนั้น ต่อบริเวณนั้น ไม่ช้าก็เกิดภาพขึ้นในจิตใจของผมเองโดยไม่ได้นึกไม่ได้คิด มันคือ ภาพเหตุการณ์ในอดีตตอนวัยรุ่น สมัยเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ ๑ หลังเลิกเรียนวิ่งเล่นอยู่ในซอยบ้านคุณลุง พี่ชายแท้ๆของผมกำลังเปิดประตูบ้านลุงให้กว้างขึ้น เนื่องจากเพียงต้องการให้เกิดแสงสว่างจากภายนอกเพิ่มขึ้น ผมเองก็วิ่งผ่านไปพบเหตุการณ์นั้นพอดี ขณะที่เปิดประตูลูกกรงเหล็กซี่ที่พับต่อๆไปสุด ได้ยินเสียงดัง “กรึ๊บ..” และเสียงลูกแมวร้องสุดเสียงก่อนที่จะเงียบไป เค้าตกใจมากขณะที่พยายามหาที่มาของเสียงนั้น ผมตื่นเต้นมากบอกไม่ถูก พี่ชายนำร่างลูกแมวที่ถูกหนีบคอหักห้อย อ่อนปวกเปียก ออกมาริมทางเดินหน้าบ้าน พร้อมถอนหายใจ เค้าเป็นทุกข์ใจมากเมื่อยิ่งเห็นเลือดที่ออกจมูกแมวตัวนั้น นอน พะงาบๆๆ หายใจอ่อนรอความตาย ผมกลับมีความรู้สึกไม่ทุกข์ร้อนอะไรเลย พี่ชายพยายามนำนมกล่องรินใส่ถ้วยเล็กไปวางต่อหน้ามัน ..มันไม่มีแม้แต่เหลือบมอง ได้แต่หายใจๆ แล้วก็หายใจ ผมเกิดความสลดขึ้นในจิตใจเพิ่มขึ้น ขณะเกิดนิมิตนั้น ถอนหายใจ ๒ รอบ พร้อมขออโหสิกรรมต่อพี่ชายและลูกแมวน้อยที่ตายจากไปในเย็นวันนั้น ความรู้สึกถึงคุณธรรมแห่งพรหมวิหารเกิดขึ้นแล้ว ทั้งยังให้อุเบกขา (เข้าใจ) ต่อสถานการณ์นั้นอย่างจริงจัง ไม่มีอารมณ์ที่คึกคะนองของเด็กอีกแล้ว ทันใดนั้น เวทนาความเจ็บปวดรุนแรงนั้นก็ค่อยๆสลายไปๆ เกิดเป็นความรู้สึกเย็นวาบขึ้นตามมาแทนที่บริเวณเดียวกันนั้นเอง อาการปวดอันตรธานไปในเวลานั้นเอง และหลังจากจบชั่วโมงวิปัสสนานั้นระหว่างพักผมก็ลองเงยหน้ามองฟ้ามองนก โดยไม่สนใจความปวดนั้น แล้วก็แน่นอนเป็นไปอย่างที่คาดไว้ มันก็ไม่มีความปวดจี๊ดๆ นั้นอีกเลยแม้ว่าจะเงยหน้าสุดๆเพียงไรก็ตาม ความเจ็บปวดในระดับจิตไร้สำนึกนั้นน่าจะมีอยู่จริง เพียงแต่เพราะมันเป็นจริงไร้สำนึกไง เราๆท่านๆจึงยังไม่เผชิญกับมันทั้งหมดจนกว่าเวลาแห่งความสงบทางจิตใจของท่านจะลึกพอ   

 

                “ฝันเปียก” ความเป็นจริงก็ไม่อยากพูดเรื่องนี้เพราะความเขินอาย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในคืนวันที่ ๘ ที่ผมสัมผัสกับภังคญาณ เป็นครั้งแรก ความจริงโดยทั่วไปที่ทราบกันเกี่ยวกับของเพศชาย โดยที่เป็นผู้ชายด้วยนั้นคือการมีอารมณ์รักใคร่ยินดีต่อความสุขทางกามที่เกิดขึ้นต่อเพศตรงข้ามหรือผู้หญิง (เรื่องของ Homosexuality เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมไม่มีประสบการณ์)  และ คืนนั้นเองความรู้สึกในจิตไร้สำนึกที่จะแสดงออกในความฝันของเราทุกๆคน ในทุกๆคืน(ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจำได้หรือไม่ ก็ต่อเมื่อเราตื่นขึ้นในความฝันนั่นเอง หรือเรียกว่าในช่วง REM sleep)ของผมก็เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ ในฝันเป็นหญิงสาวที่สวยมากทั้งรูปร่างหน้าตา ถอดเสื้อผ้าจนเหลือน้อยชิ้นมากๆ นอนเคลิบเคลิ้มกับความรู้สึกเป็นสุขและอบอุ่นอยู่บนเตียงนอนในห้องสีขาวนวลแห่งหนึ่ง ซึ่งผมจำไม่ได้ว่าเธอเป็นใคร ห้องๆนั้นอยู่ที่ไหน ในฝันนั้นผมเปิดประตูเข้าไปในห้องโดยได้รับการอนุญาต และเชื้อเชิญจากเธอ ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาที่เคร่งคัดของผมจิตใจผมนิ่งสงบมากทำให้ฝันนั้นชัดเจนมาก สีสันของเครื่องนุ่งห่ม ท่าทางยั่วยวนของเธอ ..นางฟ้าในฝัน..คนนั้นก็ประสบความสำเร็จ มันทำให้น้องชายของผมขยายตัวพร้อมปฏิบัติหน้าที่ของมันอย่างเต็มความสามารถ และแล้วความรู้สึกรู้ตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้นทันทีที่ผมก้มหน้าลง ในฝันพยายามจะถอดเสื้อผ้าและกางเกง แล้วพบว่าชุดที่ผมสวมใส่อยู่นั้นเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ..”จงรู้จักตนเองๆ..ผมกำลังปฏิบัติ..ผมรักษาศีล” ผมได้สติในฝันนั้นเอง สวมใส่ปกปิดเครื่องนุ่งห่มอย่างมิดชิดตามเดิมพร้อมเดินออกจากห้องด้วยความสงบเงียบโดยไม่มีอารมณ์ โกรธหรือเศร้าเสียดาย หรือแม้แต่ความรู้สึกยินดี แล้วเสียงระฆังปลุกตอนตี ๔ ก็ดังขึ้นผมลืมตาตื่นด้วยความปีติต่อความเข้มแข็งในครั้งนี้อย่างมาก สำรวจดูที่กางเกงที่สวมใส่อยู่ไม่พบสิ่งใดผิดปกติ แม้ว่าน้องชายยังตื่นอยู่ก็ตาม เดินไปอาบน้ำในความมืดด้วยความสว่างแห่งปัญญาที่ว่า “จิตไร้สำนึกก็คือจิตใจของเราไม่ว่าจะแสดงตนเองที่ไหน เมื่อไรก็ตาม มันก็คือจิตใจของเรา เรามีหน้าที่ฝึกฝนอบรมมันเช่นกันให้อยู่ในโอวาทและถูกกาลเทศะ”  ขอถามพวกผู้ชายว่าท่านเคยมีประสบการณ์ ฝัน”เกือบ”เปียก หรือไม่อย่างไร

 

                “ภังคญาณ” เนื่องจากผมไม่เคยบวชเป็นเณร หรือพระสงฆ์จริงๆเลยสักทีเลยยังไม่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมที่เกี่ยวกับทั้งฌาน และ ญาณในระดับต่างๆในทางปริยัติหรืออภิธรรมอย่างลึกซึ้ง เท่าที่เข้าใจในขณะนี้(ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปได้อีกเพราะ อนิจจัง) น่าจะพอต่อความเข้าใจของท่านผู้อ่านที่ไม่รู้มาก่อนเช่นกันนั้น ว่าการฝึกสมาธิ(สมถะกรรมฐาน) มีระดับต่างๆที่สูงขึ้นแบ่งเป็น ๘ ระดับ พระพุทธองค์ได้ศึกษาปฏิบัติฌานระดับ ๗ และ๘ จากพราหมณ์ ๒ ท่านคือท่านอาราฬดาบส และท่านอุทกดาบส แล้วพบว่ายังมีความไม่บริสุทธิ์หลงเหลืออยู่ในส่วนลึกของจิต จึงทรงแสวงหาหนทางดับสิ้นซึ่งกิเลส คือ การเจริญปัญญา (วิปัสสนากรรมฐาน) และสามารถพัฒนาจิตผ่านระดับต่างๆของญาณ ๑๖ ขั้น ในขั้นที่ ๕ นั้นเรียกว่า ภังคญาณ ในภาษาบาลีนั้น “ภังคะ” แปลว่า การดับสลาย การแตกสลาย ส่วน”ญาณ” นั้นแปลว่า การหยั่งรู้ หรือการรับรู้อย่างครบถ้วน อาจเรียกได้อีกคำว่า “ญาณทัศนะ” และการฝึกปฏิบัติครั้งนี้ของผมก็ทำให้ผมได้เข้าใจสภาวะนี้ได้มากขึ้น ประจักษ์ว่ามันมีอยู่จริงด้วยประสบการณ์ของผมเอง(ภาวนามยปัญญา) ไม่ได้เกิดจากการอ่านการฟัง(สุตมยปัญญา) หรือ จินตนาการด้วยเหตุผลและนิมิต (จินตามยปัญญา) อาจจะใช้เวลานานหน่อยในช่วงแรกที่จะเข้าถึงสภาวะนี้ครั้งแรกในวันเช้าที่ ๙ คือใช้เวลาประมาณ ชั่วโมงครึ่ง ดังนี้ คือเวลาตีสี่ครึ่ง ในห้องแยกปฏิบัติ(individual cell) หลังจากตั้งจิตให้นิ่งให้คมพอด้วยอานาปานสติ กำหนดรู้โดยไม่มีคำบริกรรมที่ผัสสะช่องเดินลมหายใจ สัก ๑๐ นาที ก็เคลื่อนความสนใจของจิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตื่นตัวและความเป็นอุเบกขา (เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายต่ออะไรทั้งสิ้น) เคลื่อนไปเรื่อยๆตั้งแต่กลางศีรษะไปจรดปลายนิ้วเท้า ทำการสังเกต (วิปัสสนา) เวทนา (ความรู้สึกทางกาย) ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนๆไปทั้งที่เกิดแบบหยาบและละเอียด ทำไปรอบละประมาณ ๕ ถึง ๗ นาที ขยัน อดทน ไม่ท้อถอยด้วยจิตที่ สงบ ตื่นตัว ตั้งใจและเป็นกลาง เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ ๑๐ รอบสำรวจความรู้สึกที่ผิวกาย จะค่อยๆละเอียดขึ้นๆ เป็นความสั่นสะเทือน กระเพื่อมไหวเล็กๆตลอดทั่วขอบเขตร่างกาย (ผิวหนังคลุมอยู่ยกเว้นขนและผม ซึ่งไม่มีชีวิต) โดยการเคลื่อนที่ของความสนใจนั้นก็อาจจะเคลื่อนเร็วบ้างช้าบ้าง กินระยะทางมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ความนิ่งรับรู้ความรู้สึกได้เร็วแค่ไหนเมื่อไรที่รับรู้ความรู้สึกก็ให้เคลื่อนผ่านไปได้ช้าๆหากไม่รับรู้ก็หยุดรอการรับรู้สักครู่บริเวณนั้นๆ จากผิวหนังแล้วความรู้สึกของจิตจะจับถูกความรู้สึกแน่นทึบอีกครั้งและตามความรู้ที่เรียนมาทั้ง กายวิภาคของร่างกายคนหรือกายวิภาคของเส้นลมปราณ ก็พบว่าขณะนั้นจิตสำรวจอยู่บนพื้นผิวของกล้ามเนื้อลายที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังและไขมันลงไปแล้ว เมื่อนั้นหากผมไม่เกิดความรู้สึกตื่นเต้นยินดี ยังคงประครองจิตให้ตื่นตัวและเป็นกลางอยู่เสมอผ่านไปประมาณ ๕ รอบ ความโล่งเบาสบายจะกลับมาอีกครั้งและเปลี่ยนเป็นเสียงของหัวใจที่เต้นดังมากกว่าปกติรู้ถึงความสั่นสะเทือนไปทั่วร่างทุกครั้งที่หัวใจบีบตัว ขณะนี้ลมหายใจจะเบาลงมากจนสังเกตการประทะของลมหายใจได้น้อยครั้งและสั้นลง ไม่มีการเคลื่อนขึ้นลงของผนังหน้าท้องและทรวงอกอย่างชัดเจน แต่ผู้ปฏิบัติ(ผม)ยังรับรู้ได้ชัดเจนเสียงหัวใจเริ่มสงบลง เมื่อวิปัสสนาไปเรื่อยๆสักระยะ เริ่มรู้สึกสัมผัสลมหายเข้าออกปะทะกับทางเดินหายใจตลอดแนวไปจนถึงขั้วปอดและรู้สึกทึบแน่นมาก รู้สึกถึงการสูบฉีดของโลหิตเข้าปอดแต่ละครั้งทั้งให้หายใจสะดุดลงเป็นระยะ กระบังลมตีขึ้นลงตามการหายใจ สัมผัสถึงเยื้อหุ้มหัวใจ มีอาการชาตึงถึงกรามเป็นเส้นๆและออกไปที่แขนซ้ายตามจังหวะการเต้นหัวใจ สัมผัสถึงเยื้อหุ้มช่องท้อง ขอบเขตของกระเพาะอาหาร ตับ ลำไส้ กระดูกสันหลัง รู้สึกถึงเลือดที่สูบฉีดเข้าเลี้ยงไตทั้ง ๒ ข้างพร้อมๆกันที่บริเวณกลางหลังอย่างชัดเจน เส้นเลือดบริเวณจุดแยกไปเลี้ยงขาสองข้างหลังกระเพาะปัสสาวะ ขณะนี้รู้ความรู้สึกไปจนถึงปลายนิ้วเท้าตามการเต้นของหัวใจแต่ละครั้ง หากท่านไม่เคยรับรู้ว่าบริเวณซอกเล็บของนิ้วนางเท้าด้านขวาของท่านรู้สึกอย่างไรก็จะได้รู้กันทีนี้หล่ะครับ ตอนนี้ผมรู้สึกว่าตนเองไม่ต่างอะไรจากงูหรือกระสือ ที่มีแต่หัวกับไส้ เพราะส่วนอื่นมันโล่งไปหมด จากนั้นเมื่อผ่านไปอีกระยะหนึ่ง จิตที่กวาดความสนใจดวงเดิมก็จะเริ่มรับรู้ความรู้สึกที่หนักก็ชัดขึ้นมาเป็นโครงของร่างกาย มันคือส่วนของกระดูกตั้งแต่กะโหลก แขนขาเท้า หน้าอก กระดูกสันหลัง เมื่อนั้นหลังจากที่จิตวนขึ้นมาจับที่ลมหายใจอีกรอบ คราวนี้เจาะเข้ากระดูกที่หนาทึบเข้ากะโหลก แล้วไล่ไปตามฐานกะโหลก กระดูกใบหน้าส่วนต่างๆ ลงมากระดูก แขน มือ นิ้ว หน้าอก กระดูกสันหลัง ต้นขา ขา เท้า กลับได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจอีกรอบ คราวนี้พุ่งไปเลี้ยงทั่วกะโหลกศีรษะ และในแต่ละที่ของท่อนกระดูดที่จิตไปจับสังเกตอยู่ ให้เวลานานพอสมควรทุกอย่างมืดลง เงียบมาก อยู่ชั่วระยะเวลาประมาณ ๑๐ วินาที แล้วผมก็รู้สึกถึงการเต้นของหัวใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะเสียงระฆังหมดยกดังขึ้น บอกเวลา ๖.๐๐ น.ให้รับประทานอาหารได้แล้ว ตอนนั้นเดินออกมาจากห้องปฏิบัติเดี่ยวด้วยความเบา สดใสและสงบอย่างไม่เคยประสบมาก่อนซึ่ง ผมเรียกประสบการณ์ ๑๐ วินาทีนั้นว่า “ภังคญาณ” ท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ     

 

                “ท่านั่งสัมพันธ์ต่อท่านอน ท่านั้นคือท่าในพุทธกาล” จุดนี้เป็นเพียงสิ่งเล็กที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประสบการณ์ของผมที่นั่น คือระหว่างที่ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ตลอด ๑๐ วัน ผมใช้ท่านั่งแบบมาตรฐาน เป็นเท้าขวาทับเท้าซ้ายและมือขวาทับมือซ้ายตลอดไม่เปลี่ยนท่าเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในแต่ละคืนที่ล้มตัวลงนอนจะรู้สึกถึงเวทนาความเจ็บปวดของกระดูกสันหลังบริเวณเอวช่วงรอยต่อกับกระดูกเชิงกราน นอกจากนี้ก็มีอาการเกร็งที่หัวไหล่จนถึงใต้วงแขนด้านขวาและบริเวณต้นขาด้านขวาอยู่เสมอๆ พิจารณาแล้วว่าเราเองพยายามนั่งให้ถูกท่าเดียวกันกับพระพุทธรูปตัวตั้งตรงคอตั้งตรงแล้วน่าจะดีแต่ทำไมกัน จึงยังพบอาการปวดบริเวณดังกล่าวอยู่ดี พระพุทธองค์ท่านจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือไม่นะนี่ เมื่อลองคิดพิจารณาถึงปางต่างๆที่ท่านทรงประทับก็จึงเกิดปัญญาขึ้น ในคืนวันที่ ๙ อีกนั่นแหล่ะครับลองนอนในท่าเดียวกันกับพระพุทธองค์ คือนอนตะแคงขวาเอาแขนขวาตั้งขึ้นมาหนุนศีรษะ จึงพบว่าท่านี้เป็นท่าที่ดีมากมันสามารถรับน้ำหนักกระดูกที่ผิดรูปจากการนั่งวิปัสสนาท่าเดียวกันนั้นได้และหักล้างกันสบายพอดี และเป็นไปตามที่คาดไว้ผมสามารถนอนในท่านั้นได้นานมากที่สุดเมื่อเทียบกับท่าต่างๆที่ได้พยายามพลิกตัวไป พลิกตัวมาตามเวทนาความไม่สบายที่เกิดขึ้นตามมาในแต่ละท่าครับ นอกจากนี้การนอนในช่วงที่จิตมีพลังมีสติมีอุเบกขามากๆนั้นให้เวลานอนน้อยลงจริงๆเดิมทีผมใช้เวลานอนปกติคืนละ ๖ ถึง ๗ ชั่วโมงอยู่ที่นี่ผมนอนเพียงคืนละ ๔ ถึง ๕ ชั่วโมงเท่านั้นโดยไม่มีอาการง่วงระหว่างวันเลย เป็นไปได้อยู่ที่วันๆผมไม่ได้ทำอะไรมากมายร่างกายอาจจะใช้เวลาพักผ่อนน้อยลงเป็นธรรมดา แต่ก็เกิดคำถามหักล้างว่าช่วงปกติที่เป็นวันหยุดอยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ทำอะไรเช่นกันทำไมง่วงเอาๆ นอนได้มากกว่าวันทำงานเสียอีกจริงไหมครับ 

  

              และแล้วประสบการณ์บางส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแบ่งปันตามที่ผมสัญญากับตนเองไว้ในที่นี้เรียบร้อยแล้ว หากท่านมีข้อเสนอแนะหรือสงสัยอะไรเพิ่มเติมกรุณาพิมพ์มาจะเป็นพระคุณอย่างสูง หรือหากท่านผู้สนใจอยากประสบการณ์ตรงเองบ้างก็สมัครไปลองปฏิบัติได้ที่ www.thai.dhamma.org นะครับขออนุโมทนาด้วยครับ

นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

หมายเลขบันทึก: 412701เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2010 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาเป็นกำลังใจให้กับดอกไม้เป็นรางวัลสำหรับการค้นหาชีวิตอันแท้จริงครับ

เอาดอกไม้มาฝาก

ขออนุโมทนา สาธุคะ

อนุโมทนา สาธุ ด้วยค่ะ ได้ปฏิบัติแนวทางนี้เช่นกัน เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตัวนะคะ ขอให้คุณภาวนาเจริญยิ่งๆขึ้นไป

ธรรมอนุโมธนาด้วยอีกคน ท่านคือผู้หนึ่งของพระพุทธเจ้า

ฟ้าให้เวลา พสุธาให้ผล คนให้สอดคล้อง

ขอบพระคุณทุกความเห็นครับ

ปลื้มจิตต์ เตชธรรมรักข์

ได้เข้าอบรมที่โกเอ็นก้าเหมือนกันค่ะ เพิ่งเข้าครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปีนี้ แล้วก็ครั้งที่สองเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา จากนั้น ก็พยายามกลับมาทำทุกวัน เท่าที่ทำได้ ในการไปเข้าคอร์สครั้งแรก รู้สึกดีมาก วันที่ ๑๐ รู้สึกว่า เตโชธาตุเดิน เริ่มร้อนจากบริเวณทรวงอก ตอนแรกก็นึกว่า กินน้ำร้อนแล้วหกโดนเสื้อ ก้มดูก็ไม่มี แต่ร้อน ซักพักก็ร้อนไปทั้งตัว ไล่พิษไอเย็นในตัวออกได้เลย จนครูแพทย์แผนไทยดีใจมากว่า เราพบวิธีรกษาพิษไอเย็นในกายได้แล้ว ตอนนั่งวิปัสสนา สำรวจกายจะเห็นโครงร่างตัวเองเป็นสีส้มๆ เหมือนก้อนถ่าน แต่พอหยุดเพื่อทำเมตตาภาวนาจะเป็สีขาวนวลๆ แต่สว่างมาก

การเข้าอบรมครั้งที่สอง ได้ประสบการณ์ที่แตกต่าง จากวันแรกที่จิตฟุ้งซ่าน ผ่านไปสองวันก็นิ่งขึ้น รู้สึกตัวเป็นก้อนเมฆ ก้อนนุ่นขาๆ แต่สั่นเบาๆ ถี่ๆ แทบดูไม่ออก แต่มีการสั่นตลอด แม้แต่ตอนนอน ไปถามอาจารย์ท่านก็บอกให้กลับมาที่ลมหายใจก่อนลุกจากเตียง แล้วประมาณวันที่ ๘ ก็ฝัน ว่า ได้พบบุรุษ เข้ามาคลอเคลียร์ แต่ไม่ถึงขนาดที่คุณลัญฉน์ศักดิ์ฝัน ก็พยายามเรียกตัวเองกลับด้วยการที่บอกตัวเองว่า เราถือศล อพรัมจริยา แล้วก็ระฆังดัง ตีสี่ คล้ายๆกัน

ขอบคุณมากเลยค่ะ ที่ได้กรุณาเล่าประสบการณ์ที่ได้พบ ทำให้เป็นกำลังใจว่า ตัวเองไม่ได้เจอคนเดียว

อนุโนทนาครับ (^/\^)

เป็นบทความที่ ทำให้ผมเข้าใจการปฏิบัติ และ มีกำลังใจ พาตัวเองให้พ้นทุกข์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท