Alien Species


เอเลียนสปีชีส์ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

Alien Species ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของงานสื่อสารสังคม(สกว.) กับวิชาการดอทคอม
ที่มา : ประชาคมวิจัย

 

          การคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ประเด็นหนึ่งคือ การนำเข้าและการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (alien species)  กิจกรรมมากมายของมนุษย์ได้ชักนำให้ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์เข้าสู่พื้นที่ใหม่ที่ไม่อาจไปถึงได้โดยวิถีทางธรรมชาติ การแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นสูญพันธุ์ 

          ด้วยความวิตกและห่วงใยของประชาคมโลก  องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี ค.ศ.2010 เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Year of Biodiversity) เพื่อเป็นการฉลองและเสริมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันการรุกรานของชนิดพันธุ์ ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก

ผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน

• ผลกระทบต่อระบบนิเวศ 
          ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานสามารถเปลี่ยนระดับหรือปริมาณของแสงและลดปริมาณของออกซิเจนที่ละลายในน้ำ เปลี่ยนโครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมีของดิน เพิ่มปริมาณน้ำไหลบนพื้นผิว และการกัดเซาะหน้าดิน ที่สำคัญที่สุดคือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถส่งผลกระทบต่อกระบวนการในระบบนิเวศ เช่น วัฏจักรของสารอาหาร การถ่ายละอองเกสร การทับถามหรือเกิดชั้นดินขึ้นมาใหม่ และการถ่ายเทพลังงาน เป็นต้น 

          นอกจากนี้ยังอาจมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงภัยธรรมชาติ หรือสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น ความถี่ การแพร่กระจาย และความรุนแรงของไฟป่า หรือขัดขวางกระแสน้ำ เป็นต้น

• ผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ในท้องถิ่น 
          ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีลักษณะเป็นผู้รุกรานจะดำรงชีวิตแบบแก่งแย่ง แทนที่ หรือบริโภคสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นหรืออาจเป็นปรสิต หรือพาหะนำโรค ลดอัตราการเจริญเติบโตและการอยู่รอดของชนิดพันธุ์ท้องถิ่น หรืออาจทำให้จำนวนประชากรลดลงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ และอาจถอนรากถอนโคนหรือทำความเสียหายแก่พืชในท้องถิ่น

• ผลกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม 
          ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถลดความหลากหลายทางพันธุกรรมลงได้ จากการสูญเสียจำนวนประชากรที่มีลักษณะเด่นทางพันธุกรรม การสูญเสียยีน และความซับซ้อนของยีน (gene complex) และการผสมข้ามชนิดพันธุ์หรือสายพันธุ์ระหว่างชนิดพันธุ์ต่างถิ่นกับชนิดพันธุ์พื้นเมือง

• ผลกระทบทางเศรษฐกิจ 
          จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือผันแปรในวงกว้างอยู่ตลอดเวลา เช่น ในสหรัฐอเมริกา ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานก่อให้เกิดความเสียหายถึงประมาณปีละ 123 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจัดว่าเป็นภัยสำคัญอันดับสองรองจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งคุกคามชนิดพันธุ์พื้นเมืองจนแทบจะสูญพันธุ์  

          นักนิเวศวิทยาสรุปว่าลักษณะพิเศษของการรุกรานทางชีวภาพ คือ เมื่อเกิดขึ้นและดำเนินไปแล้ว ความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นสามารถดำรงอยู่ต่อไปและอาจเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าได้จัดการกับต้นตอของปัญหาได้แล้วก็ตาม

ซัคเกอร์แย่งพื้นที่ปลาท้องถิ่นเกือบ 100%
          ปลาซัคเกอร์เป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานที่พบในแม่น้ำลำคลองในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย จากการวิจัยในลำคลองหนองใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พบปลาซัคเกอร์มีความทนทานต่อสภาพแหล่งน้ำทุกรูปแบบ ทั้งน้ำที่มีคุณภาพต่ำ มีธาตุอาหารสูง หรือในบริเวณที่มีน้ำเชี่ยว จึงสามารถแย่งพื้นที่อยู่อาศัยของปลาท้องถิ่นได้เกือบ 100% 

          จากการวิจัยเก็บข้อมูลของปลาซัคเกอร์ในแหล่งน้ำโดย ดร.รัฐชา ชัยชนะ คณะวิทยาศาสตร์ ดร. สันติ พ่วงเจริญ  และ ผศ. ดร. เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์ จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการสนับสนุนของโครงการ BRT พบว่าปลาซัคเกอร์ที่ระบาดอยู่ในคลองดังกล่าวมีจำนวน 1 ชนิด สามารถเติบโตได้แม้ในแหล่งน้ำที่มีสารอินทรีย์สูง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในบริเวณใกล้แหล่งชุมชน และบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำไหล ซึ่งปลาบางชนิดไม่สามารถเจริญเติบโตหรืออยู่อาศัยได้  ปลาซัคเกอร์ขนาดใหญ่จะมีความสามารถในการหาอาหารและแย่งที่อยู่ได้ดี จึงทำให้ถิ่นที่อยู่ของปลาท้องถิ่นในแหล่งน้ำลดลง ซึ่งในบริเวณที่ทำการศึกษาพบปลาท้องถิ่นเหลือเพียง 30% เท่านั้น และบางแห่งเหลือปลาท้องถิ่นไม่ถึง 1%   และจากข้อมูลในรอบปี พบว่าในฤดูฝนที่มีการพัดพาของธาตุอาหารลงสู่แหล่งน้ำจำนวนมาก จะเป็นฤดูที่มีลูกปลาซัคเกอร์เป็นจำนวนมาก ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้จึงถือเป็นการเปิดผลงานวิจัยทางชีววิทยาของปลาซัคเกอร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย 

          สำหรับแนวทางการควบคุม ควรทำการขุดลอกคลองและริมตลิ่งเพื่อลดพื้นที่ผสมพันธุ์ วางไข่ และอนุบาลตัวอ่อน การจับพ่อแม่พันธุ์ปลาซัคเกอร์ออกจากแหล่งน้ำ และให้ข้อมูลเรื่องการห้ามปล่อยปลาซัคเกอร์ลงแหล่งน้ำสาธารณะ รวมไปถึงหาวิธีการนำปลาซัคเกอร์ไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ และศึกษาชีววิทยาของปลาซัคเกอร์อย่างละเอียดเพื่อใช้ในการวางแผนควบคุมที่ได้ผลต่อไป

หวั่นหอยกะพงเทศ กระทบธุรกิจประมง
          ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ได้มีการสำรวจพบหอยสองฝาชนิดหนึ่งเกาะกลุ่มหนาแน่นบริเวณหาดแก้วลากูน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับปากทะเลสาบสงขลา และท่าเรือน้ำลึก จ.สงขลา  ภายหลังผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานหอยสองฝา ระบุว่าเป็น หอยกะพงเทศ (Mytilopsis adamsi Morrison, 1946) สัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีแหล่งกำเนิดในตอนกลางของทวีปอเมริกาด้านฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค

          นางสาว กริ่งผกา วังกุลางกูร นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หอยกะพงเทศ เป็นหอยสองฝาที่มีต้นกำเนิดในตอนกลางของทวีปอเมริกา แต่มีการแพร่กระจายพันธุ์ รุกรานไปในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น  สำหรับการแพร่กระจายนั้น คาดว่าน่าจะติดมากับน้ำในถังอับเฉาเรือเดินสมุทรที่มีตัวอ่อนของหอยกะพงเทศเจริญเติบโตอยู่ หรือจากตัวเต็มวัยที่เกาะติดมากับตัวเรือ และได้มาแพร่พันธุ์ในพื้นที่โดยเฉพาะในบริเวณหาดแก้วลากูน เป็นบริเวณอยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึก

          จากการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับการแพร่กระจาย และการดำรงชีวิตของหอยกะพงเทศ พบว่าเป็นหอยที่ทนทานต่อความเค็มและอุณหภูมิได้ในช่วงกว้าง และมีความสามารถในการสร้างกลุ่มประชากรหนาแน่น ซึ่งอาจจะเป็นการกำจัดสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดอื่น ๆ   และนอกจากนี้ยังสามารถยึดเกาะได้บนทุกพื้นผิววัสดุที่จมน้ำ ดังนั้นการครอบครองพื้นที่ของหอยกะพงเทศจึงสามารถก่อให้เกิดปัญหาต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมดุลของระบบนิเวศ และปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การลงเกาะบนตาข่ายกระชัง และเครื่องมือประมงของชาวบ้าน ยังทำให้เกิดปัญหากระแสน้ำไม่หมุนเวียนและทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องมือประมงลดลง 

          จากข้อมูลการศึกษาชีววิทยาของหอยสองฝาที่มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน คาดว่ามีความน่าจะเป็นที่จะเกิดการระบาดของหอยกะพงเทศในทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางการประมงที่สำคัญของคนในท้องถิ่นได้ ดังนั้นหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชีววิทยาพื้นฐานของหอยกะพงเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกับสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นชนิดนี้ รวมถึงประเมินความเสี่ยงการระบาด และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ปลาสอดกระโดง...มหันตภัยเงียบในทะเลสาบสงขลา
          จากการแพร่ระบาดของปลาซัคเกอร์ (ปลาเทศบาล) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการทำลายไข่ปลาท้องถิ่น ทำให้คนไทยทั่วประเทศเห็นภาพปลามากมายมหาศาลที่จับได้จากแหล่งน้ำอย่างน่าขยะแขยงแล้ว  ข่าวที่น่ากังวลแบบนี้กลับมาอีกครั้ง เมื่อมีปลาอีกชนิดหนึ่งคือ ปลาสอดกระโดง Yucatan molly, Poecilia velifera (Regan, 1914) ออกมาอาละวาดตามแหล่งน้ำทางธรรมชาติอย่างน่าเป็นห่วง

          ทำไมถึงน่าเป็นห่วง?   เพราะปลาสอดกระโดงดังกล่าวนั้น สามารถทนต่อความเค็มในช่วงกว้าง สามารถดำรงชีวิตได้ตั้งแต่น้ำจืดจนถึงน้ำที่มีความเค็มมากกว่าน้ำทะเล อีกทั้งยังสามารถดำรงชีวิตในสภาวะแหล่งน้ำที่มีก๊าซออกซิเจนในน้ำต่ำมากได้  นอกจากนั้น ปลาชนิดนี้เจริญพันธุ์เร็ว และสืบพันธุ์โดยออกลูกเป็นตัวครั้งละมาก ๆ จึงคาดว่าปลาชนิดนี้น่าจะขยายขอบเขตการแพร่กระจายได้กว้าง

          ปลาสอดกระโดงมีขอบเขตการแพร่กระจายตามธรรมชาติบริเวณตอนเหนือของคาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก แต่ปัจจุบันมีรายงานว่าพบปลาชนิดนี้แพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติของหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (รัฐฟลอริดา) โคลัมเบีย เปรู อิสราเอล สิงคโปร์ เวียดนาม ไต้หวัน และประเทศไทย
                                    
          ปลาสอดกระโดงถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2513 เพื่อค้าขายในธุรกิจปลาสวยงาม ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2530 ปลาชนิดนี้ได้ถูกนำเข้าจากไต้หวันเพื่อใช้ควบคุมสาหร่ายในนากุ้ง บริเวณชายฝั่งภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย    ในปี พ.ศ.2545 มีรายงานการพบปลาชนิดนี้ในธรรมชาติเป็นครั้งแรกบริเวณปากแม่น้ำของอ่าวไทยตอนใน และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นได้มีรายงานการพบปลาชนิดนี้บริเวณหาดแก้วลากูน อ.สิงหนคร และบริเวณริมฝั่งทะเลสาบสงขลาอีกด้วย
                                     
          จากข้อมูลข้างต้น ปลาสอดกระโดงจึงเป็นปลาต่างถิ่นอีกชนิดหนึ่งซึ่งสมควรถูกจับตามอง เฝ้าระวังและเรียนรู้เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดในธรรมชาติได้  ทั้งนี้เพื่อปกป้องความสมดุลตามธรรมชาติและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย

หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes spp.) 
          เป็นไม้เถาเลื้อยชนิดหนึ่ง ที่พยายามปรับตัวเองให้อยู่รอดได้ในพื้นที่ที่ขาดธาตุไนโตรเจนหรือพื้นที่ที่แห้งแล้ง โดยการปรับลักษณะของใบให้เป็นอวัยวะดักจับสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลง และจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยสารอาหารที่เป็นสารประกอบไนโตรเจน ทดแทนธาตุอาหารจากดิน   

          อวัยวะดักจับเหยื่อของหม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นการปรับเปลี่ยนเส้นกลางใบให้ยืดยาวและขดงอเป็นมือจับ ใช้ในการเกาะยึดกับต้นไม้อื่นเพื่อชูลำต้นและใบให้สูงขึ้นไปรับแสงแดด ปลายของมือจับนี้จะเป็นแผ่นใบ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเป็นกับดักรูปทรงกระบอก โดยแผ่นใบส่วนปลายจะเชื่อมกันตามแนวยาว และแผ่นใบด้านบนจะกลับเข้ามาอยู่ด้านใน ซึ่งภายในกระบอกจะมีต่อมผลิตน้ำย่อยที่มีสภาพเป็นกรดสามารถย่อยอาหารที่มีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมลง หรืออาจเป็นสัตว์อื่น ๆที่มีขนาดเล็ก  

          กับดักจะมีฝาปิดกันน้ำฝนตกลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำย่อยเจือจาง ซึ่งจะมีผลต่อการย่อยผนังภายใน ส่วนบนของกับดักมีสารพวกขี้ผึ้งมาฉาบไว้เป็นพิเศษ ทำให้ผิวกับดักบริเวณนี้ลื่นเป็นมัน เหยื่อจึงลื่นตกไปได้ง่าย นอกจากนี้บางชนิดยังปรับเปลี่ยนบริเวณปากของกับดักและบริเวณถัดลงมาให้มีขนแหลมที่ชี้ลงด้านล่าง ทำให้เหยื่อไต่หนีขึ้นมาได้ยาก  เหยื่อที่ตกลงไปถึงตอนล่างของกับดักจะค่อยๆ จมน้ำที่อยู่ภายในกับดักจนตาย และจะถูกน้ำย่อยซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมสร้างน้ำย่อย จากนั้นต่อมที่สร้างน้ำย่อยจะเปลี่ยนหน้าที่เป็นดูดซึมสารอาหารที่ย่อยได้โดยส่งผ่านระบบท่อลำเลียงอาหารเพื่อนำไปใช้เป็นสารอาหารต่อไป เหลือทิ้งไว้แต่กากที่ไม่สามารถย่อยได้ไว้ที่ก้นของกับดัก 

          หม้อข้าวหม้อแกงลิงแต่ละชนิดมีวิธีการล่อเหยื่อให้เดินเข้าหากับดักรูปแบบต่างๆ  เช่น สร้างน้ำหวานจากต่อมผลิตน้ำหวานบริเวณถัดจากขอบของปากกับดักทางด้านใน หรืออาจจะผลิตกลิ่นเลียนแบบกลิ่นของแมลงตัวเมียเพื่อดึงดูดแมลงตัวผู้ให้มาผสมพันธุ์ หลายชนิดมีสีสันของกับดักทั้งภายนอกและภายในที่สะดุดตาจะเป็นเครื่องดึงดูดสัตว์ทั้งหลายมาติดกับดัก และยากที่จะหนีรอดออกไป

 

หมายเลขบันทึก: 412658เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2010 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวดี ๆนะคะ  สู้ ๆต่อไป

                           ครูอำนวยพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท