สรุปบทเรียนในการทำงาน “รู้เท่าทันภาพยนตร์เพื่อสุขภาพ”


                การทำงานรู้เท่าทันภาพยนตร์เพื่อสุขภาพทั้ง 2 โครงการนั้นได้รับบทเรียนจากการทำงานดังต่อไปนี้
1.       ขั้นตอนในการทำงาน
·        เนื่องจากการทำงานในโครงการแรกนั้นเราทำงานในฐานที่เราเป็นผู้เลือกทุกอย่างให้กับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการเลือกหนัง เลือกช่วงเวลา ทำให้ผู้เข้าร่วมบางทีอาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะเป็นการจัดงานแบบเปิดให้ผู้ที่สนใจมาเข้าร่วม และในมหาวิทยาลัยก็มีหลายคณะทำให้กลุ่มเป้าหมายคลาดเคลื่อนไป ประกอบกับคณะทำงานยังไม่เข้าใจในการทำงานอย่างถ่องแท้ทำให้การทำงานไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรนัก  แต่ในโครงการที่ 2 ที่วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกนั้นมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนคือ นักเรียนพยาบาลและนักเรียนผู้ช่วยพยาบาล ทำให้สามารถจัดการได้ง่ายในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการเลือกประเด็นของหนัง การกำหนดช่วงเวลา เพราะได้มีการประชุมทำความเข้าใจกับทางวิทยาลัยหลายครั้งจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจน รวมทั้งมีการให้ความรู้เรื่อง หนังกับสุขภาพก่อนที่จะให้ดูหนัง ทำให้เข้าใจในวัตถุประสงค์มากขึ้น
·        การมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายก็มีส่วนในการทำให้การทำงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เพราะในการเตรียมงานในโครงการที่ 2 นั้นได้มีการประชุมและเล่ากระบวนการขั้นตอนการจัดงาน เพื่อให้เข้าใจและให้ผู้จัดมีส่วนแนะนำการทำงาน การเลือกภาพยนตร์ และมีส่วนร่วมในการทำงานในทุกขั้นตอนจนถึงการทำกิจกรรม ทำให้ผู้จัดเห็นความสำคัญในการทำงานและจะประเมินการทำงานกันเป็นระยะ ๆ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
·        วิทยากรที่นำมาเปิดประเด็นนั้นได้ใช้วิทยากรผู้มีความรู้เกี่ยวกับประเด็นของหนังในครั้งนั้นประกอบกับนักศึกษาที่เคยผ่านการอบรมรอบแรกมาร่วมแลกเปลี่ยนกับนักเรียนพยาบาล เพื่อเกิดการเชื่อมต่อกับโครงการแรก และชี้ให้เห็นว่าการดูหนังไม่ยากอย่างที่คิดให้กับรุ่นสอง ทำให้เป็นการง่ายในการสื่อสารกันให้เข้าใจ
·        การเปิดโอกาสให้นักเรียนพยาบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานทุกขั้นตอนทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้มีความสนใจกันอย่างดี และการมีระเบียบวินัยของนักเรียนพยาบาลนั้นทำให้มีการจัดการง่ายขึ้นอีกด้วย
2.       ด้านผู้ประสานงาน
ในระยะแรก พ.ต. ดร.วาสนา นัยพัฒน์ เป็นผู้ติดต่อกับโครงการฯ อยากให้ทาง
โครงการจัดฉายหนัง โดยยังไม่รู้รายละเอียดแต่ประการใด แต่เห็นว่าน่าสนใจเลยลองติดต่อดู และเมื่อเริ่มประชุมกันก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น แต่ยังมองภาพไม่ออก จึงเสนอให้ลองจัดฉายหนังครั้งเดียวก่อน             แต่เมื่อในวันแรกที่บรรยายภาพรวมได้เห็นกระบวนการทำงาน คือ มีการเตรียมเอกสาร เตรียมการบรรยายภาพรวม และกลวิธีการให้นักเรียนมีส่วนร่วม (ด้วยการตั้งคำถามตอบ) ส่งผลให้อาจารย์เองอยากให้จัดกิจกรรมการฉายหนังเพิ่มอีกหนึ่งวัน นั่นก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าอาจารย์สนใจในการทำกิจกรรมในครั้งนี้
3.       ด้านการปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับสารกลายเป็นผู้ส่งสาร
เนื่องจากในครั้งแรกนักเรียนพยาบาลมีฐานะเป็นเพียงผู้ชม แต่ในครั้งที่สองได้ปรับ
เปลี่ยนให้เป็นผู้จัดงานเอง โดยให้ทำหน้าที่ตั้งแต่การเลือกหนัง พร้อมทั้งเหตุผลในการเลือก รวมทั้งให้ผู้แทนนักเรียนพยาบาลเป็นผู้วิจารณ์หนังเอง
4.       การดำเนินกิจกรรมในครั้งต่อไป
นักเรียนพยาบาลมีความสนใจที่จะดำเนินกิจกรรมในลักษณะนี้กันต่อไปเพราะคิดว่า
ได้รับความรู้จากการทำกิจกรรมในครั้งนี้มาก และทางอาจารย์ยังสนใจที่จะผลักดันกิจกรรมแบบนี้เข้าสู่กิจกรรมของวิทยาลัยอีกด้วย
 
 ธิดารัตน์  แดงทองดี
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4123เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2005 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท